บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ /ประท้วงฮ่องกง ‘หนาวถึงอังกฤษ’ ‘ผู้ดี’ ชิ่งไม่อยากรับไปอยู่ด้วย

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

 

ประท้วงฮ่องกง ‘หนาวถึงอังกฤษ’

‘ผู้ดี’ ชิ่งไม่อยากรับไปอยู่ด้วย

 

เกิดเป็นคนฮ่องกง ก็จะรู้สึกสับสนอยู่ไม่น้อยว่าสรุปแล้วตัวเองเป็นลูกใคร เนื่องจากมีพ่อ-แม่หลายคน อังกฤษเปรียบเหมือนพ่อ-แม่บุญธรรม ส่วนจีนเหมือนพ่อ-แม่ผู้ให้กำเนิด

อย่างที่ทราบกัน การอยู่ใต้ปกครองของอังกฤษมาเกือบ 100 ปี ทำให้คนฮ่องกงไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนจีน แต่รู้สึกว่า “เหนือกว่า-สูงส่งกว่า” คนจีนแผ่นดินใหญ่

แต่ครั้นอยากจะถีบตัวเองขึ้นสูงเทียบเท่าพลเมืองอังกฤษ ก็ไม่ได้การยอมรับอีก

คนฮ่องกงจึงติดอยู่ระหว่างครึ่งๆ กลางๆ ไม่อยากเป็นคนจีน แต่ก็ไม่สามารถเป็นคนอังกฤษได้เต็มภาคภูมิ

การประท้วงของคนฮ่องกงซึ่งดำเนินมา 3 เดือนเศษมีจุดเริ่มมาจากการต้องการเป็นอิสระจากแผ่นดินใหญ่ ไม่อยากให้พ่อ-แม่ผู้ให้กำเนิดมายุ่งเกี่ยวใดๆ ในฮ่องกง โดยเฉพาะเรื่องเสรีภาพ เพราะว่าติดใจประชาธิปไตยที่พ่อ-แม่บุญธรรมปลูกฝังมา แม้จะเป็นประชาธิปไตยที่คนฮ่องกงไม่เคยได้เลือกตั้งผู้ปกครองตลอด 99 ปีก็ตาม อังกฤษส่งใครมาปกครอง ก็ต้องยอมรับตามนั้น

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นบนเกาะฮ่องกง คืออาการที่คนฮ่องกงไม่ยอมรับความจริงด้วยการพยายามตัดขาดจากพ่อ-แม่ผู้ให้กำเนิด ซึ่งการตัดขาดด้านชีววิทยาเช่นนี้ทำไม่ได้

เพราะถึงอย่างไรก็คือเลือดเนื้อเชื้อไข ดีเอ็นเอเดียวกัน

 

แม้จีนจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจกระทั่งคนจีนแผ่นดินแม่มีฐานะมั่งคั่งขึ้นในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา และผงาดขึ้นแท่นมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากอเมริกา และมีส่วนเกื้อกูลอย่างสำคัญต่อเศรษฐกิจฮ่องกง แต่คนฮ่องกงก็ยังรังเกียจคนจีนแผ่นดินแม่ ดังจะเห็นจากข่าวอยู่บ่อยครั้งว่าคนฮ่องกงต่อต้านไม่อยากให้คนจีนแผ่นดินใหญ่มาเที่ยวฮ่องกง อ้างว่าสร้างความแออัด อ้างว่าคนจีนมารยาทไม่ดีทำให้คนฮ่องกงถูกเข้าใจผิดและขายหน้า

แต่คนฮ่องกงเองจะรู้หรือไม่ว่าในสายตาคนภายนอก ก็มองว่าคนฮ่องกงส่วนใหญ่มารยาทไม่ค่อยน่ารัก เย็นชา หา service mind (จิตใจบริการ) ได้ค่อนข้างยาก หลายคนบอกว่าไปเที่ยวจีนแผ่นดินใหญ่ยังเจอคนที่มีมิตรไมตรีมากกว่าฮ่องกง

การประท้วงในรอบนี้ คนฮ่องกงเริ่มเรียกร้องเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ ให้อังกฤษมอบสถานะพลเมืองอังกฤษแก่คนฮ่องกง เพื่อให้มีสิทธิทำงานและอาศัยอยู่ในอังกฤษ

เสียงเรียกร้องนี้เกิดขึ้นหลังจากไม่แน่ใจว่ารัฐบาลแผ่นดินใหญ่จะส่งกำลังเข้าปราบปรามหรือไม่

 

ก่อนการส่งมอบเกาะฮ่องกงแก่จีนใน ค.ศ.1997 ทางอังกฤษได้ออกพาสปอร์ตที่เรียกว่า British Dependent Territories citizenship (BDTC) ให้กับคนฮ่องกงประมาณ 3 ล้านคน โดยมอบสถานะ “พลเมืองดินแดนของอังกฤษ” ซึ่งได้สิทธิการพักอาศัยและทำงานในอังกฤษได้

ต่อมาอังกฤษได้เปลี่ยนรูปแบบพาสปอร์ตที่มอบให้คนฮ่องกงเป็น British National (Overseas) หรือ BN (O) ซึ่งลดสิทธิคนฮ่องกงลง กล่าวคือ คนฮ่องกงที่ถือพาสปอร์ตนี้ได้รับสัญชาติอังกฤษและมีสิทธิเดินทางเข้าอังกฤษได้โดยไม่ต้องมีวีซ่า แต่ไม่ได้รับสิทธิให้ทำงานหรืออาศัยในอังกฤษ ด้วยเหตุนี้ พาสปอร์ตดังกล่าวจึงถูกล้อเลียนว่าหมายถึง Britain says NO

ประเมินว่ามีคนฮ่องกงถือพาสปอร์ต BN (O) ประมาณ 1.7 แสนคน จากทั้งหมด 3 ล้านกว่าคน เนื่องจากไม่ได้ต่ออายุหลังจากพาสปอร์ตหมดอายุ

ประกอบกับมีราคาค่อนข้างแพง อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังนี้ โดยเฉพาะหลังจากมีการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงเมื่อ 5 ปีที่แล้ว และปะทุรุนแรงในปีนี้ จำนวนคนฮ่องกงที่ขอต่ออายุพาสปอร์ต BN (O) เพิ่มขึ้นอย่างมาก

พร้อมเรียกร้องอังกฤษให้ออกพาสปอร์ตนี้แก่คนฮ่องกงมากขึ้น

แอนสัน ชาน อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงอันดับสองของฮ่องกง บอกว่า อังกฤษควรพิจารณาออกพาสปอร์ตนี้อีกครั้ง

“คุณสัญญากับฮ่องกงอย่างเต็มเปี่ยมว่าจะสามารถปกครองตนเองได้อย่างอิสระ มีสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ในเมื่อสิ่งเหล่านั้นถูกพรากไปแล้ว แน่นอนว่าอังกฤษมีความรับผิดชอบทั้งในเชิงกฎหมายและศีลธรรมที่จะจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่คุณเป็นผู้ลงนามสัญญากับจีน”

 

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนของอังกฤษเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งอ้างรายงานของหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์สอีกทอดหนึ่ง แฉว่า เอกสารราชการที่ถูกปลดออกจากชั้นความลับเมื่อปีที่แล้ว เผยให้เห็นว่าก่อนจะมอบเกาะฮ่องกงคืนแก่จีนนั้น รัฐบาลอังกฤษไปกดดันโปรตุเกสครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ให้มอบสิทธิพลเมืองแก่คนมาเก๊า หนึ่งในดินแดนของจีนที่อยู่ติดกับฮ่องกง เพราะกลัวว่าจะเพิ่มแรงกดดันต่ออังกฤษในการให้สิทธิเดียวกันแก่คนฮ่องกง

มาเก๊าเคยเป็นอาณานิคมโปรตุเกสเป็นเวลานาน ก่อนถูกส่งคืนแก่จีนใน ค.ศ.1999 โดยก่อนส่งมอบ ทางโปรตุเกสได้ออกพาสปอร์ตให้กับคนมาเก๊า โดยมอบสถานะพลเมืองโปรตุเกสและได้รับสิทธิต่างๆ เหมือนคนโปรตุเกส และอนุญาตให้ส่งผ่านสถานะพลเมืองและสิทธินี้แก่ลูกๆ ของผู้ถือพาสปอร์ตดังกล่าวด้วย บรรดารัฐมนตรีของโปรตุเกสก็สนับสนุนแนวคิดนี้ ต่างจากพาสปอร์ต BN (O) ที่อังกฤษออกให้กับคนฮ่องกงที่ได้สิทธิเฉพาะตัว ไม่สามารถส่งผ่านไปถึงลูกได้

พาสปอร์ต BN (O) ช่วยให้ผู้ถือพาสปอร์ตสามารถเดินทางเข้าอังกฤษและอีก 150 ประเทศโดยไม่ต้องใช้วีซ่า แต่มีราคาแพงกว่าพาสปอร์ต  Hong Kong Special Administrative Region (HKSAR) ที่ออกโดยรัฐบาลฮ่องกง ค่อนข้างมาก ทั้งที่ HKSAR นั้นก็ให้สิทธิแก่ผู้ถือแบบเดียวกัน กล่าวคือ เดินทางเข้า 150 ประเทศได้โดยไม่ต้องมีวีซ่า ทำให้เมื่อ 5 ปีที่แล้วอังกฤษยอมลดค่าธรรมเนียมลง 35%

สำหรับ HKSAR นั้นจะออกให้เฉพาะผู้พักอาศัยถาวรในฮ่องกงและถือสัญชาติจีน

 

ยังไม่มีใครประเมินได้ว่า จีนแผ่นดินใหญ่จะส่งกำลังเข้าควบคุมสถานการณ์ในฮ่องกงหรือไม่ การประท้วงที่ยืดเยื้อสร้างแรงกดดันต่อผู้ประท้วงที่ใช้ความรุนแรงมากขึ้นและติดกับดักความรุนแรงไปเรื่อยๆ เพราะอยากดึงความสนใจของนานาชาติ ซึ่งในอีกทางหนึ่งก็จะหมดความชอบธรรมไปทีละน้อย

เพราะคนฮ่องกงเองได้รับความเสียหายทางธุรกิจ ไม่ได้เห็นด้วยกับผู้ประท้วงทั้งหมด

บางทีอาจเป็นไปได้ที่จีนจะปล่อยให้ฮ่องกงแห้งเหี่ยวไปเอง โดยไม่ใช้กำลังเข้าจัดการให้เสียชื่อ เพราะในสายตานักวิเคราะห์บางคนเห็นว่าในอดีตจีนนั้นใช้การลองผิดลองถูกมามากในการพัฒนาเศรษฐกิจ หากโมเดลไหนประสบความสำเร็จจีนก็นำไปใช้และอุ้มชูให้เติบโต โมเดลไหนไม่มีอนาคตก็ถูกลืมและปล่อยทิ้ง

แนวโน้มนี้ดูเป็นไปได้ เห็นได้จากการที่จีนประกาศแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ “เซินเจิ้น” ซึ่งอยู่อีกฝั่งของฮ่องกง ให้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-นวัตกรรมตามแผนพัฒนาพื้นที่อ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า หรือ Greater Bay Area การประกาศนี้เกิดขึ้นในห้วงที่การประท้วงในฮ่องกงทวีความรุนแรง

แม้จีนจะไม่พูดชัดว่าลดความสำคัญของฮ่องกงลง แต่นี่คือการส่งสัญญาณว่าให้ความสำคัญกับเซินเจิ้นเหนือฮ่องกง เพราะเวลานี้เซินเจิ้นได้ชื่อว่าเป็นซิลิคอนวัลเลย์ของจีน และที่สำคัญจีดีพีแซงหน้าฮ่องกงไปแล้ว

 

หากฮ่องกงประท้วงยืดเยื้อ เศรษฐกิจทรุดลง ฮ่องกงก็อาจกลายเป็นโมเดลที่จีนไม่อยากอุ้มชูอีกต่อไป

ถ้าการประท้วงครั้งนี้ไม่สามารถเอาชนะจีนแผ่นดินใหญ่ได้ ก็มีแนวโน้มที่เสียงเรียกร้องของคนฮ่องกงจะเทไปที่อังกฤษ นั่นคือขอให้เปิดรับคนฮ่องกงไปเป็นพลเมือง ให้อยู่อาศัยและทำงานในอังกฤษได้

ในขณะที่อังกฤษเองก็มีปัญหาวิกฤตจากเรื่อง Brexit (ออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป) ที่เสี่ยงจะทำให้เศรษฐกิจอังกฤษย่ำแย่ร้ายแรง นอกจากนั้น ยังทำให้สังคมขัดแย้งกันอย่างสูงระหว่างฝ่ายที่อยากออกและไม่อยากออกจากอียู มีการประท้วงเป็นระยะ มีการปะทะกันระหว่างฝ่ายต่อต้านและสนับสนุน เกิดความตึงเครียดในสังคมไม่แพ้ฮ่องกง ส่วนรัฐบาลตกอยู่ในสภาพไร้เสถียรภาพมาตลอดเพราะนักการเมืองสองฝ่ายงัดข้อกัน

อนาคตของอังกฤษตอนนี้เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน คนอังกฤษวิตกกังวลค่อนข้างมากหากต้องออกจากอียูแบบไร้ข้อตกลง ไม่แพ้คนฮ่องกงที่กังวลอนาคตตัวเอง ด้วยเหตุนั้นอังกฤษคงไม่มีแรงที่จะมาดูแลปัญหาคนฮ่องกง