วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /ค้นแล้วได้อย่างที่การ์ตูนคุณประยูร จรรยาวงษ์ เขียนแหละครับ

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

ค้นแล้วได้อย่างที่การ์ตูนคุณประยูร จรรยาวงษ์ เขียนแหละครับ

 

เมื่อเกิดเหตุการณ์ “ตำรวจ” ขึ้นมาตรวจค้นบนสำนักหนังสือพิมพ์ “มติชน” ซึ่งพื้นที่ตรงนี้นำเสนอไปเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าระหว่างวันที่ 9-15 พฤศจิกายน 2523 ตำรวจสำราญราษฎร์ ขึ้นมาบนสำนักงานหนังสือพิมพ์มติชน แจ้งกับนายขรรค์ชัย บุนปาน บรรณาธิการด้วยวาจาว่าได้รับคำสั่งจากผู้ใหญ่ให้มาตรวจค้นเอกสารบางฉบับที่เกี่ยวกับ 14 ตุลา

ย้อนกลับไปดูนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับสัปดาห์ที่ 2-8 พฤศจิกายน 2523 คอลัมน์ “บทกวน” ผู้เขียนคือพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร เขียนว่า

สำนักงานหนังสือพิมพ์มติชน ซึ่งเป็นที่ทำการของหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับคือ มติชน และประชาชาติธุรกิจ เป็นตึก 3 ชั้น มีผู้ทำงานอยู่ในสถานที่นี้กว่า 200 คน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสารวัตรใหญ่ สารวัตรปราบปราม สอบสวน เข้าตรวจค้นสำนักงานทั้ง 3 ชั้น เพื่อหาเอกสารที่ผิดกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสารวัตรใหญ่นั้นเป็นหมายค้นตามอำนาจหน้าที่

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อตอนบ่ายวันอังคาร (ที่เท่าไหร่ผู้เขียนมิได้ระบุ) ขณะที่สำนักงานมติชนมีวุฒิสมาชิกแห่งรัฐสภาไทยในปัจจุบันท่านหนึ่งเป็นแขกของบรรณาธิการ และก่อนหน้านั้นมีเจ้าหน้าที่ทูตจากสถานทูต 2 แห่งมาเยี่ยมกองบรรณาธิการ มีนักธุรกิจการค้าระดับโลกชาวเยอรมันมารอพบบรรณาธิการ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ข่าวสารและธุรกิจ

และระหว่างการตรวจค้น บรรณาธิการได้รับการติดต่อจากสำนักงานสารนิเทศระหว่างชาติแห่งสหรัฐอเมริกา รายงานให้ทราบถึงการเดินทางของบรรณาธิการข่าวต่างประเทศของมติชน ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ไทยที่ได้รับเชิญให้ไปดูการเลือกตั้งสหรัฐ ว่าเป็นไปโดยเรียบร้อย และรองผู้อำนวยการสำนักข่าวสารญี่ปุ่นมาขอพบเพื่อเชิญบรรณาธิการไปประเทศญี่ปุ่นสัมภาษณ์พิเศษนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในเดือนพฤศจิกายน

และระหว่างการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกเหมือนกัน บรรณาธิการกำลังตอบโทรศัพท์รับคำเชิญของรองนายกรัฐมนตรี นายบุญชู โรจนเสถียร เพื่อพบปะสนทนาระหว่างรับประทานอาหารในวันพฤหัสบดี

นั้นคือเหตุการณ์ระหว่างการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

 

จากนั้นเป็นการชี้แจงของพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ซึ่งเกิดมาเป็นนักหนังสือพิมพ์เต็มตัว ทั้งจากการทำหนังสือพิมพ์ตั้งแต่เรียนหนังสือ เรียนวิชาการหนังสือพิมพ์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับทำงานหนังสือพิมพ์ระหว่างนั้น และไปเรียนระดับปริญญาโทวิชาการหนังสือพิมพ์ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ทั้งจิตวิญญาณและตัวตนคือความเป็นคนหนังสือพิมพ์ จึงมีความเข้าใจ “หนังสือพิมพ์” เป็นอย่างดี

พงษ์ศักดิ์ชี้แจงว่า ผมเรียนให้ทราบถึงธุรกิจประจำวันของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการคุยอยู่บ้าง แต่สำนักงานหนังสือพิมพ์ที่ไหนก็เหมือนๆ กันอย่างนี้ทั้งนั้น ที่เล่าสู่กันฟังนี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าสำนักงานหนังสือพิมพ์นั้นเป็นสถานที่ทำงานเปิดเผย เป็นแหล่งหลั่งไหลของข่าวในลักษณะงานอาชีพของสื่อมวลชนที่เหมือนกันทุกแห่งในโลก

สำนักงานหนังสือพิมพ์นอกจากจะเป็นลักษณะการทำงานเปิดดังกล่าวแล้ว นโยบายของการทำงานความผิดความถูกทั้งหมดก็เปิดเผยอยู่ในตัวอักษรบนหน้าหนังสือพิมพ์ทุกตัวอักษรนั้น เป็นความรับผิดชอบของหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายโดยบรรณาธิการอยู่แล้ว จะเอาผิดเอาถูกอย่างไรกับหนังสือพิมพ์ก็สามารถจะกระทำได้กับตัวอักษรเหล่านั้น

ว่ากันโดยที่จริงแล้วกฎหมายสารพัดสารพันเกี่ยวกับการทำงานหนังสือพิมพ์ ซึ่งมีอยู่ขณะนี้นั้นก็ให้อำนาจครอบจักรวาลแก่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะจัดการหนังสือพิมพ์อยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องมากระทำการตรวจค้นอันเป็นการคุกคามสร้างสงครามประสาท เป็นการแสดงอำนาจขู่เข็ญหนังสือพิมพ์ซึ่งไม่มีใครเขาทำกัน

ในเมืองไทยเอง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใดๆ ที่ผ่านมาในอดีตก็มิได้กระทำการตรวจค้นสำนักงานหนังสือพิมพ์ ซึ่งสากลถือว่าเป็นการคุกคามเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ จะมีก็แต่ในภาวะที่รัฐบาลเป็นเผด็จการสั่งตรวจค้นหนังสือพิมพ์เสร็จก็จับกุมนักหนังสือพิมพ์ไปคุมขังเท่านั้น

จึงเป็นเรื่องที่น่าฉงนสนเท่ห์ว่ารัฐบาลนี้จะหวนกลับไปมีนโยบายข่มขู่หนังสือพิมพ์เหมือนรัฐบาลเผด็จการสมัยก่อนอีกหรืออย่างไร

 

พงษ์ศักดิ์กล่าวถึงผู้ที่ได้รับทราบการตรวจค้นมติชนมีแต่ติดต่อสอบถามมาด้วยความห่วงใย ตั้งแต่ระดับผู้บริหารประเทศ นักการเมือง ทหาร แม้แต่อดีตอธิบดีตำรวจ ซึ่งแสดงความสนเท่ห์ใจถึงเหตุการณ์นี้

แล้วพงษ์ศักดิ์ชี้แจงความรู้สึกของพวกเราว่า มิได้โวยวายเกินกว่าเหตุ ทั้งยินยอมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจค้นตามคำสั่งของผู้ใหญ่ดังกล่าวด้วยความเห็นอกเห็นใจเจ้าหน้าที่ซึ่งมีสีหน้าไม่สบายนัก …แต่เรายืนยันในหลักการว่า การตรวจค้นสำนักงานหนังสือพิมพ์เป็นการคุกคามเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ที่มีน้อยอยู่แล้ว ซึ่งไม่เพียงแต่ผู้รับคำสั่งมาปฏิบัติหน้าที่จะต้องรับผิดชอบเท่านั้น ผู้ออกคำสั่ง และรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบ และชี้แจงในข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วยว่า อะไรเป็นอะไร

…เรื่องนี้มิใช่ว่าเมื่อเกิดกับเราเท่านั้นจึงว่าเช่นนี้ เมื่อครั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐถูกสั่งปิดอย่างไม่มีเหตุผลเมื่อเร็วๆ นี้ เราต่อสู้มากยิ่งกว่า

และดูเหมือนจะถูก “เขม่น” มากกว่าหนังสือพิมพ์ที่ถูกปิดเสียอีก

 

มติชนสุดสัปดาห์ฉบับต่อมา บทกวนของพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร หน้า 4 แสดงบทบาทของความเป็นบทกวนออกมาให้อ่านกันทั่วหน้า

ขึ้นต้นด้วย ระหว่างนั้น (หลังการตรวจค้นมติชน) ยังไม่ได้รับคำตอบให้เป็นที่กระจ่างว่าค้นอะไร ทำไมถึงค้น ค้นแล้วประสงค์อะไร ใครมีคำสั่งมาให้ค้น

ยังไม่มีคำตอบ มีแต่คำถาม จากทุกส่วน ทุกฝ่าย…

ผู้สื่อข่าวมติชนรายงานว่า บนตึกกรมตำรวจระหว่างนี้กระหึ่มแต่ข้อสนทนาอย่างนี้

“ท่านเป็นคนออกคำสั่งหรือเปล่าครับ ?” คำถาม ถามอธิบดีกรมตำรวจ

“อั๊วเปล่าสั่งใคร นครบาลสั่งหรือเปล่าล่ะ” – “นครบาลก็เปล่า” – “หยั่งงั้น กองเอกสารสันติบาลสั่งมั้ง” – “พ้มก็ไม่ได้สั่ง” สันติบาลว่า – “ไม่มีใครสั่ง บ๊ะ! รึว่าไอ้หมอที่ยืนอุ้มคนอยู่หน้ากรมนี่มันแอบสั่ง” – “เฮ้ยๆๆ คำสั่งบ้าๆ อย่างนี้ ผมก็ไม่ได้สั่ง”

พงษ์ศักดิ์จบบทกวนว่า ที่ถูกใจผมเห็นจะเป็นการ์ตูนของคุณประยูร จรรยาวงษ์ ในไทยรัฐ นั่งตีความกันแบบเซนแล้วจะให้ความหมายหลายทางมาก อย่างน้อยก็ชี้ว่า ค้นแล้วค้นเล่า ไม่เห็นจะได้อะไรขึ้นมาที่เป็นมรรคเป็นผล นอกจากอย่างที่เห็น (โปรดพิจารณากันเองนะขอรับกระผม)