โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/พระนาคปรกใบมะขาม หลวงพ่อเงิน ธัมมปัญโญ วัดท้ายตลาด บางกอกใหญ่

หลวงพ่อเงิน ธัมมปัญโญ

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

พระนาคปรกใบมะขาม

หลวงพ่อเงิน ธัมมปัญโญ

วัดท้ายตลาด บางกอกใหญ่

 

 

“หลวงพ่อเงิน ธัมมปัญโญ” หรือพระสนิทสมณคุณ อดีตเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ด้วยความมีศีลาจารวัตรงดงาม เมตตาธรรม และสมถะ

ทรัพย์และปัจจัยใดๆ ที่ได้มานั้น จะนำไปทำนุบำรุงและบูรณะเสนาสนะต่างๆ ทุกครั้งไป

จนมีประวัติอยู่ในหนังสือ “คนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก เล่ม 2” พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แม้กระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนับเป็นสหชาติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทักษิณานุปทานในงานเฉลิมพระชนมพรรษาครบรอบในทุกคราว

ทั้งนี้ หลวงพ่อเงินได้สร้างวัตถุมงคลไว้และมีชื่อเสียงโด่งดัง รู้จักกันดีคือ “พระนาคปรกใบมะขาม”

เพื่อแจกเป็นที่ระลึกในโอกาสอายุครบ 5 รอบ ในปี พ.ศ.2456 โดยนำเอาตะกรุดทองคำ 2 ดอก จาก 3 ดอกที่ท่านคาดเอว ตั้งแต่เมื่อครั้งอยู่ที่เมืองพระตะบอง แต่ละดอกน้ำหนักถึง 20 บาท ให้ลูกศิษย์นำไปเป็นมวลสารในการจัดสร้างและผสมด้วยทองแดง เพื่อให้เนื้อแข็งขึ้น ทำให้พระนาคปรกใบมะขามของท่านมีสีออกไปทางสีนาก

พระปรกใบมะขาม มีขนาดความกว้างประมาณ 0.5 เซนติเมตร และสูง 1.4 เซนติเมตร พุทธศิลปะสมัยลพบุรี

ด้านหน้า เป็นองค์พระปฏิมากรประทับนั่ง แสดงปางสมาธิราบ มีพญานาค 7 เศียร ขดเป็นพุทธบังลังก์ 3 ชั้น แผ่พังพานเหนือพระเศียรขององค์พระ

ด้านหลัง พื้นเรียบ จารึกอักขระขอมจาร 4 ตัว คือ นะทรหด 2 ตัว และอุณาโลม 2 ตัว อยู่ด้านบนและด้านล่าง

นับเป็นหนึ่งในวัตถุมงคลพระนาคปรกยอดนิยมในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่อง ปัจจุบันหาดูของแท้ได้ยากยิ่ง

พระนาคปรกใบมะขาม หลวงพ่อเงิน วัดท้ายตลาด

 

หลวงพ่อเงิน เป็นพระภิกษุชาวเขมร เกิดที่เมืองพระตะบอง เมื่อปี พ.ศ.2396 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 ของสยามประเทศ ศึกษาเล่าเรียนอักขระสมัยในสำนักพระธรรมโกษาวัดนรา เมืองพระตะบอง ตั้งแต่อายุได้ 8 ปี

ต่อมาบรรพชา และอุปสมบท จากนั้นเข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมในกรุงเทพฯ ที่วัดอรุณราชวราราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

ต่อมาได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นที่พระครูปัญญาคทาวุธ ตำแหน่งเจ้าคณะเมืองพระตะบอง แล้วเลื่อนเป็นพระราชาคณะที่พระปัญญาคทาวุธ และพระสนิทสมณคุณ ผู้ช่วยเจ้าคณะมณฑล ตามลำดับ

ครั้นเมื่อไทยคืนเมืองพระตะบองและเสียมราฐให้แก่กรุงกัมพูชา จึงพาเหล่าศิษยานุศิษย์อพยพเข้ามาอยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นคราวเดียวกับหลวงพ่อคง สุวัณโณ พระเกจิผู้เรืองนามอีกรูปหนึ่ง มาจำพรรษาที่วัดซำป่างาม จ.ฉะเชิงเทรา

หลังจากได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม ได้บูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานและศาสนวัตถุในวัดที่ชำรุดทรุดโทรม รวมทั้งสร้างเสนาสนะต่างๆ ภายในวัด จนวัดโมลีโลกยารามเจริญรุ่งเรืองเป็นที่เชิดหน้าชูตา เป็นที่เคารพศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนโดยถ้วนทั่ว

นอกจากเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาคมแล้ว ยังมีความรู้ด้านแพทย์แผนโบราณด้วย ช่วยรักษาชาวบ้าน จนมีชื่อเสียงโด่งดังมากในสมัยนั้น

มรณภาพลงอย่างสงบ ในปี พ.ศ.2463 สิริอายุรวม 68 ปี

 

กล่าวสำหรับ “วัดโมลีโลกยาราม” เป็นวัดโบราณ มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เรียกกันว่า “วัดท้ายตลาด” เพราะอยู่ต่อจากตลาดเมืองธนบุรี สมัยกรุงธนบุรีเขตวัดนี้ถูกรวมเข้าไปในเขตพระราชวัง จึงเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์ตลอดสมัยกรุงธนบุรี

ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 1 จึงนิมนต์พระมาอยู่ ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 2 ได้ทรงขนานนามใหม่ว่า “วัดพุทไธสวรรย์” ถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งพระอาราม ทรงเปลี่ยนนามใหม่อีกว่า “วัดโมลีโลกสุทธาราม” ต่อมาเรียกกันสั้นๆ ว่า “วัดโมลีโลก”

ภายหลังต้องการให้มีคำว่าอารามอยู่ท้ายจึงต่อว่า “โมลีโลกยาราม”

ในสมัยรัชกาลที่ 1 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) เป็นพระราชาคณะวัดโมลีโลกฯ ที่ทรงคุณธรรม และสมัยนั้นสถานที่ศึกษาวิชาการอยู่ตามวัด พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อทรงพระเยาว์จึงเสด็จไปศึกษาอักษรสมัยเบื้องต้นในสำนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) ซึ่งยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระโฆษาจารย์หลายพระองค์ นับแต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น

ครั้นถึงรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดให้กระทำผาติกรรมย้ายพระตำหนักแดงไปสร้างเป็นกุฏิเจ้าอาวาสวัดเขมาภิรตาราม ซึ่งเป็นวัดที่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีทรงบูรณปฏิสังขรณ์ และทรงสร้างกุฏิตึกประราชทานเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกฯ แทนพระตำหนักแดง

นอกจากนี้ ทรงปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุและปูชนียวัตถุตลอดทั้งพระอาราม

วัดโมลีโลกยาราม ตั้งอยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ติดกับกองทัพเรือ ปากทางเข้าเป็นซอยในชุมชนวัดโมลีฯ เป็นชุมชนเล็กๆ ที่มีความเงียบสงบ

ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านมีความเรียบง่าย