สำรวจงานสร้าง “พระเมรุมาศ” สุดวิจิตร-สื่อโครงการพระราชดำริ

การเตรียมการก่อสร้างพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบเพื่อใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตลอดระยะเวลา 3 เดือนกว่าๆ ที่ผ่านมามีความคืบหน้าตามลำดับ

โดยหลังพิธีบวงสรวงปักหมุดสร้างพระเมรุมาศเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 ทีมช่างสำรวจของกรมศิลปากรได้ลงพื้นที่นำไม้มาตีผังกำหนดขอบเขตพื้นที่ก่อสร้างพระเมรุมาศเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ความยาวด้านละ 59.6 เมตร

มีการขุดเจาะสำรวจชั้นดินและเก็บชั้นดินไปตรวจสอบความหนาแน่นในห้องแล็บเพื่อวิเคราะห์ความสามารถในการรองรับน้ำหนักพระเมรุมาศ ก่อนจะปรับสภาพดินในพื้นที่ก่อสร้างพระเมรุมาศให้หน้าดินเสมอกัน

ล้อมรั้วเพื่อให้ทีมช่างเข้าไปก่อสร้างได้เต็มพื้นที่ภายในเดือนกุมภาพันธ์

 

นายพีระพงษ์ พีรสมบัติ วิศวกรโยธา กลุ่มวิศวกรรม สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร เล่าว่า การก่อสร้างพระเมรุมาศ ใช้วิธีเทพื้นคอนกรีตที่ฐานรากบริเวณที่สร้างพระเมรุมาศ ไม่ได้ปูพื้นสำเร็จรูปเหมือนที่ผ่านมา

อีกทั้งที่ฐานรากบุษบกองค์ประธานทั้ง 4 เสา จะมีโครงถักช่วยตรึงทั้ง 4 เสา เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ป้องกันกรณีที่เกิดลมแรง

และยังได้จ้างบริษัทเอกชนเจาะชั้นสำรวจดินเพื่อตรวจสอบการรับน้ำหนัก

ผลการตรวจสอบชั้นดิน พบว่ารับน้ำหนักได้ตามที่ออกแบบ ซึ่งออกแบบให้รับน้ำหนักได้ที่ 4 ตันต่อตารางเมตร

ขณะที่ชั้นดินสามารถรับน้ำหนักได้ 4 ตันครึ่งต่อตารางเมตร

ส่วนการป้องกันการติดผ้าม่านสูง 15 เมตรรอบพระเมรุมาศไม่ให้แกว่งเมื่อเจอแรงลมนั้น สถาปนิกจะใส่โซ่ซ่อนอยู่ขอบในผ้าม่านยึดกับตัวเสาโครงเพื่อช่วยถ่วงน้ำหนัก

 

นายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรม สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ผู้ออกแบบพระเมรุมาศ เล่าว่า หลังออกแบบแปลนพระเมรุมาศทุกด้านเสร็จแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างทำรายละเอียดแบบรูปตัด รูปด้าน งานโครงสร้าง งานวิศวกรรม งานไฟฟ้าสำหรับการจัดซื้อจัดจ้าง พระเมรุมาศ มีฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 59.60 เมตร สูง 50.49 เมตร มีพื้น 4 ชั้น รูปทรงบุษบก มียอดปราสาท 9 ยอด ตรงกลางเป็นบุษบกองค์ประธานมี 7 ชั้นเชิงกลอน แวดล้อมด้วยบุษบกสำซ่างลงมาที่มุมทั้งสี่ที่ชั้นชาลาที่ 3, บุษบกหอเปลื้องรอบนอกที่มุมชั้นชาลาที่ 2 วางลดหลั่นกันลงมา

“ขณะนี้ได้ทำภาพสามมิติพระเมรุมาศเสร็จแล้ว 70% เพื่อดูความสวยงาม สี ตลอดจนขนาดของประติมากรรมว่าได้สัดส่วนเหมาะสมหรือไม่ เบื้องต้นกำหนดขนาดประติมากรรมเพื่อนำมาทดสอบ ดังนี้ ชั้นล่างสุดหรือลานพื้นอุตราวรรต มีช้าง ม้า พระโคและสิงห์ สูง 108 เซนติเมตร, ชั้นชาลาที่ 1 มีคชสีห์ ราชสีห์ สูง 115 เซนติเมตร, ชั้นชาลาที่ 2 มีครุฑ สูง 180 เซนติเมตร, ชั้นชาลาที่ 3 มีเทวดายืนเชิญฉัตร 7 ชั้น จำนวน 8 องค์ และมีมหาเทพ ได้แก่ พระอินทร์ พระพรหม พระอิศวรและพระนารายณ์ มาเฝ้ารับเสด็จและส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย”

“รูปแบบเทวดาเหมือนจริงมีกล้ามเนื้อ ลวดลายประดับเป็นศิลปะทวารวดี ศรีวิชัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ความสูงไม่รวมชฎา 185 เซนติเมตร ส่วนมหาเทพ ความสูงไม่รวมชฎา 225 เซนติเมตร”

“และชั้นชาลาที่ 4 มีประติมากรรมคุณทองแดงในอิริยาบถนั่งอยู่ด้านข้างพระจิตกาธาน ประดับฉากบังเพลิง โดยด้านหน้า เขียนภาพจิตรกรรมโครงการพระราชดำริและพระนารายณ์ ด้านในเขียนภาพดอกบัวทองและเงิน ดอกมณฑา ดอกกล้วยไม้แคทลียาควีนสิริกิติ์ และดอกหน้าวัวสีชมพู”

“ภาพจิตรกรรมที่ฉากบังเพลิง เขียนแบบศิลปะรัชกาลที่ 9 แบบจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถานตามแนวพระราชดำริ”

 

นายมณเฑียร ชูเสือหึง ข้าราชการประจำกลุ่มจิตรกรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ซึ่งเป็นผู้ออกแบบภาพเขียนจิตรกรรม เล่าว่า จะมีการคัดเลือกโครงการในพระราชดำริมาเขียนภาพจิตรกรรมที่ฉากบังเพลิง พระที่นั่งทรงธรรม และทับเกษตร ด้านหน้าส่วนบนของฉากบังเพลิง เป็นภาพจิตรกรรมพระนารายณ์อวตาร ด้านล่างเป็นโครงการในพระราชดำริ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเป็นโครงการใดบ้าง จะคัดเลือกโครงการที่เด่นๆ จากทั้งหมดกว่า 4,000 โครงการตามภูมิภาคต่างๆ มาเขียน โดยจัดหมวดหมู่เป็น 4 หมวด ได้แก่ ทิศตะวันออก คือ ไฟ, ทิศใต้ คือ ดิน, ทิศตะวันตก คือ ลม และทิศเหนือ คือ น้ำ

ส่วนประติมากรรมประดับตกแต่งพระเมรุมาศมีทั้งหมด 14 ประเภท ประกอบด้วย

1. ประติมากรรมนูนต่ำพระโพธิสัตว์

2. เทพพนม ประดับรอบท้องไม้พระเมรุมาศองค์ประธาน

3. ครุฑยุดนาค ประดับรอบท้องไม้พระเมรุมาศองค์ประธาน

4. เทวดายืนรอบพระเมรุมาศ โดยเป็นเทวดาถือพุ่มโลหะและเทวดาเชิญฉัตร

5. เทวดานั่งรอบพระเมรุ โดยเป็นเทวดาเชิญฉัตรและบังแทรก

6. เทพชุมนุมรอบฐานท้องไม้พระเมรุมาศชั้นล่าง

7. มหาเทพ ประกอบด้วยพระศิวะ พระนารายณ์ พระอินทร์ พระพรหม

8. ครุฑยืนรอบพระเมรุมาศ

9. ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ คือ ท้าวกุเวร ท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักษ์ และท้าววิรุฬหก

10. ราวบันไดนาค 1 เศียร (ชั้นที่ 1) นาค 3 เศียร (ชั้นที่ 2) และนาค 3 เศียร (ชั้นที่ 3 และ 4)

11. คชสีห์-ราชสีห์ ประทับบันได (ชั้นที่ 2)

12. สัตว์มงคลประจำทิศ ประกอบด้วยช้าง ม้า พระโค สิงห์ ประดับทางขึ้นบันได (ชั้นที่ 1)

13. สัตว์หิมพานต์ ช้าง 10 ตระกูล สิงห์ 4 ตระกูล ม้า และวัว

และ 14. ครุฑประดับหัวเสา ทั้งนี้ นายสตวัน ฮ่มซ้าย ผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ระบุว่างานปั้นมีความคืบหน้า 30% แล้ว

 

ด้าน ดร.พรธรรม ธรรมวิมล ภูมิสถาปนิก สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ซึ่งเป็นผู้ที่กำหนดการวางผังที่ตั้ง และออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมพระเมรุเบื้องต้น ระบุว่า การกำหนดผังที่ตั้งของพระเมรุมาศ กำหนดตามแกนที่ตัดกันระหว่างแกนพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กับแกนอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร

พร้อมกันนี้ได้จัดทำภาพ 3 มิติภูมิสถาปัตยกรรม โดยมีโครงการในพระราชดำริต่างๆ เกี่ยวกับ หญ้าแฝก ข้าว การขุดบ่อแก้มลิง กังหันชัยพัฒนา ฝายน้ำล้น ต้นยางนา (ไบโอดีเซล) ต้นมะม่วงมหาชนก ดอกหน้าวัวสีชมพู ที่พระราชทานให้แก่ประชาชนได้อยู่ดีกินดี

โดยที่ในส่วนของนาข้าว จะออกแบบคันนาเป็นเลขเก้าไทยสีทอง เป็นเชิงสัญลักษณ์สื่อว่าพระเมรุมาศที่สร้างขึ้น ถวายให้กับในหลวงรัชกาลที่ 9

ส่วนงบประมาณในการก่อสร้างพระเมรุมาศและการจัดภูมิสถาปัตยกรรม เบื้องต้นจะมีเสนอกรมศิลปากรกว่า 500 ล้านบาท

นางเหมือนแก้ว จารุดล วชิระเธียรชัย ภูมิสถาปนิก สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร เล่าถึงลายกระถางที่ใช้ประดับพระเมรุมาศว่า มี 3 ลาย ได้แก่

1. ลายพันธุ์พฤกษาที่เกี่ยวเนื่องกับพระองค์

2. ลายกระต่ายซึ่งเป็นปีประสูติ

และ 3. ลายที่เกี่ยวกับโครงการในพระราชดำริ

ใช้ทั้งหมดเกือบ 300 ใบ

 

ส่วนความคืบหน้าการสร้างพระโกศจันทน์และหีบพระบรมศพจันทน์นั้น นายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กลุ่มงานศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เล่าว่า ช่างเริ่มฉลุไม้จันทน์เพื่อเป็นตัวอย่างให้อาสาสมัครดู

พระโกศจันทน์สร้างขึ้นโดยล้อตามพระโกศทองใหญ่ ต่างกันเพียงวัสดุและรูปทรง พระโกศจันทน์ออกแบบเป็นลายบัวกลีบขนุน มีเทพพนมสถิตอยู่ตรงกลาง ส่วนฐานพระโกศจันทน์หรือหีบพระบรมศพจันทน์ ออกแบบลายครุฑหน้าอัดวางอยู่ตรงกลางลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านขด เพื่อเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่าพระองค์คือพระนารายณ์ทรงครุฑ

ส่วนพระโกศทองคำลงยาบรรจุพระบรมอัฐิ มีทั้งหมด 3 แบบ ออกแบบโดยนายช่าง 3 คน คือ

นายอำพล สัมมาวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านศิลปกรรม (วิจัยและพัฒนาศิลปกรรม) สำนักช่างสิบหมู่ ซึ่งเป็นผู้ออกแบบพระโกศองค์หลัก เก็บไว้ที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ส่วนอีก 2 องค์ออกแบบโดย นายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร และ นายณัฐพงค์ ปิยมาภรณ์ นักวิชาการช่างศิลป์ชำนาญการพิเศษ สำนักช่างสิบหมู่

ซึ่งขณะนี้ทั้ง 3 แบบออกแบบเสร็จแล้ว เทิดพระเกียรติว่าพระองค์คือพระนารายณ์ทรงครุฑ