ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์ /YESTERDAY ‘วันวาน’

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

YESTERDAY

‘วันวาน’

 

กำกับการแสดง Danny Boyle

นำแสดง Himesh Patel Lily James Joel Fry Ed Sheeran Robert Carlyle

 

The Beatles หรือที่คนไทยเรียกขานในนาม “สี่เต่าทอง” และฝรั่งเรียกขานด้วยฉายาว่า “The Fab Four” นับเป็นปรากฏการณ์ในโลกดนตรีแบบที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ

จากกำเนิดในลิเวอร์พูลของอังกฤษ วงนี้บุกโลกดนตรีไปถึงสหรัฐ กลายเป็นกระแส “บีตเทิลส์เมเนีย” โด่งดังไปทั่วโลกในทศวรรษ 1960 และแยกวงไปคนละทิศคนละทางเมื่อ ค.ศ.1970 ท่ามกลางความสุดแสนเสียดายของแฟนดนตรีทั่วโลก

แต่เสียงเพลงของพวกเขาก็ยังกระหึ่มดังอยู่ในใจของคนทั่วโลก

คงแทบไม่มีใครไม่รู้จักเพลง Yesterday ที่น่าจะเป็นเพลงเก่งเพลงหนึ่งของคนหัดเล่นกีตาร์

หรือเพลง Let It Be  หรือ Hey Jude และอีกหลายสิบเพลงที่เราร้องตามได้เมื่อได้ยิน

และหนังเรื่อง Yesterday ก็วางสมมติฐานอยู่ที่ว่า

จะเป็นอย่างไร ถ้าเราเป็นนักแต่งเพลงที่รู้จักเพลงของเดอะบีตเทิลส์อยู่คนเดียวในโลก

แจ๊ก มาลิก (ฮิเมช ปาเทล) เป็นนักร้อง-นักแต่งเพลงผู้ตะเกียกตะกายไขว่คว้าความสำเร็จคนนั้น ขณะที่ทำงานในร้านขายของไปเพื่อหาเลี้ยงชีพ

คนคนเดียวที่เชื่อมั่นในตัวเขาอย่างไม่แปรเปลี่ยนตลอดเวลากว่าสิบปีคือเพื่อนสาวที่รู้จักกันมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นเด็กนักเรียน และทำตัวเป็นผู้จัดการส่วนตัวของแจ๊ก คอยหางานที่จะเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความสามารถต่อหน้าผู้คน

เอลลี่ แอปเปิลตัน (ลิลี เจมส์) คือเพื่อนสาวคนนั้น

หนสุดท้ายที่เขาไปร่วมแสดงในเทศกาลดนตรี แจ๊กมีคนนั่งตบยุงฟังอยู่แค่ไม่กี่คน และกำลังหมดกำลังจะเดินหน้าต่อไปบนเส้นทางดนตรีที่เขาใฝ่ฝันนี้อยู่แล้ว

ให้เผอิญเกิดเรื่องมหัศจรรย์ขึ้นกับเขา…และอาจกับคนจำนวนมากทั่วโลก

นั่นคือเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั่วโลก

แม้จะเป็นในชั่วไม่กี่วินาที แต่สำหรับแจ๊กที่กำลังปั่นจักรยานกลับบ้าน ก็ทำให้เขาถูกรถเมล์ชนเข้าโครมใหญ่

เขาฟื้นขึ้นในโรงพยาบาล มีเอลลี่อยู่ข้างเตียง และพบว่า นอกจากฟันหน้าหักไปสองซี่แล้ว ร่างกายเขาก็ดูปกติทุกประการ

แอลลี่ซื้อกีตาร์ตัวใหม่ให้เขาทดแทนตัวที่โดนรถชนพังยับไปแล้ว

และต่อหน้าเพื่อนฝูงสี่ห้าคน แจ๊กทดลองเล่นเพลงกับกีตาร์ตัวใหม่

 

เพลงที่เขาเล่นคือเพลงที่เป็นชื่อหนังเรื่องนี้ ซึ่งเขาคิดว่าใครๆ ก็รู้จักในฐานะเพลงของเดอะบีตเทิลส์ ทว่า เพื่อนในกลุ่มนั่งฟังแบบตกตะลึงตาค้างกับพลังของเสียงเพลงซึ่งพวกเขานึกว่าเป็นเพลงใหม่ที่แจ๊กเพิ่งแต่งขึ้น

ไม่ว่าแจ๊กจะอธิบายยังไง ก็ไม่มีใครรู้จักวงนี้  อีกทั้งยังไม่รู้จักชื่อของจอห์น เลนนอน พอล แม็กคาร์ตนีย์ จอร์จ แฮร์ริสัน และริงโก สตาร์ ต่างพากันนึกว่าแจ๊กแกล้งอำพวกเขา

และเช่นเดียวกับคนแทบทุกคนในโลกสมัยนี้ คือเมื่ออยากรู้อะไร ให้ถามอากู๋ แจ๊กกลับบ้านไปถามกูเกิลชื่อเดอะบีตเทิลส์

แต่ก็พบแต่ตัวสะกดที่ต่างไปเล็กน้อย ซึ่งเป็นแมลงชนิดหนึ่ง อย่างที่คนไทยเรียกว่า ตัวเต่าทอง นั่นเอง ไม่ว่าแจ๊กจะใช้เครื่องมือค้นหาแตกต่างออกไปในรูปต่างๆ ก็ยังไม่ปรากฏชื่อวงดนตรีที่แจ๊กรู้จักว่าโด่งดังทะลุฟ้าวงนี้เลย

โดยสรุป แจ๊กฟื้นขึ้นมาในโลกคู่ขนาน ณ ที่ซึ่งไม่มีใครรู้จักเดอะบีตเทิลส์ เพราะวงเดอะบีตเทิลส์ไม่เคยมีอยู่ เสียงเพลงทั้งหมดที่พวกเขาแต่งขึ้นและเป็นมรดกที่ยิ่งใหญ่ในโลกดนตรี จึงไม่เคยมีอยู่

นั่นคือจุดเริ่มต้นในอาชีพนักแต่งเพลงของแจ๊ก ซึ่งกลายเป็นคนเดียวในโลกที่จดจำเพลงอันทรงพลังทั้งหลายของวงนี้ได้

…ก็ไม่เชิงว่าเป็นคนเดียวเสียทีเดียวหรอก เพราะยังมีจุดหักเหในพล็อตที่ตามต่อมาเหมือนกัน…

 

หนังเรื่องนี้เป็นหนังตลกมากกว่าหนังเพลงนะคะ แม้ว่าจะมีเพลงเพราะๆ ของวงเดอะบีตเทิลส์ให้ฟังกว่าสิบเพลง แต่แฟนเพลงก็ยังฟังไม่เต็มอิ่มนัก เพราะหนังดูเน้นที่องค์ประกอบของพล็อตแบบโรแมนติกคอเมดี้ และความน่าขันของสถานการณ์และตัวละครมากกว่า

ต้องบอกว่ามีมุขตลกดีๆ หลายตอน ที่ “เวิร์ก” แบบจี้เส้น ต้องหัวเราะออกมาดังๆ เลยล่ะ

อย่างเช่น การที่แจ๊กได้พบว่า โลกหลังจากอุบัติเหตุของเขานั้น นอกจากไม่มีเดอะบีตเทิลส์แล้ว ยังไม่มีวง Oasis ไม่มีใครรู้จัก “โค้ก” หรือ โคคา-โคลา (กูเกิลค้นคำนี้มาให้เป็นเจ้าพ่อค้ายาเสพติด เนื่องจากคำว่าโค้กมีความหมายว่าเป็นยาเสพติดด้วย) ไม่มีใครรู้จักคำว่า “บุหรี่” และไม่มีใครรู้จัก “แฮรี่ พอตเตอร์”

แม้ว่าไอเดียของโลกที่ปราศจากวัฒนธรรมมวลชน แบบที่เรารู้จักกันแพร่หลายในทุกวันนี้ จะเป็นไอเดียที่น่าสนใจและน่าติดตาม แต่หนังก็ใส่เข้ามาเป็นเพียงมุขขำขัน และไม่ได้ติดตามต่อ

สงสัยว่าไอเดียเหล่านี้อาจกระตุ้นให้คนเขียนบทคนทำหนังเกิดแรงบันดาลใจสร้างสรรค์ต่อไปอีก

 

บิ๊กไอเดียในหนังคือ โลกที่ไม่มีเดอะบีตเทิลส์ค่ะ

และคนคนเดียวที่แนะนำเพลงอมตะของวงนี้ให้โลกรู้จัก คือแจ๊ก มาลิก ผู้กำลังจะกลายเป็นพลังที่หาใครเทียบไม่ได้อีกแล้วในโลกดนตรี

เอ็ด ชีรัน (ซึ่งเล่นเป็นตัวเอง) นักแต่งเพลงคนสำคัญ เข้ามามีบทบาทในเส้นทางสู่ความสำเร็จของแจ๊ก โดยขอให้เขาไปแสดงเป็นวงเปิดรายการก่อนการแสดงหลักของเอ็ด ชีรัน เอง ที่มอสโกในรัสเซีย

และแจ๊กเล่นเพลง Back to USSR ที่เราคุ้นหูกันดี ท่ามกลางแฟนเพลงที่ตอบรับอย่างกึกก้อง คำถามที่เกิดขึ้นตอนนั้นมีเพียงว่า รัสเซียไม่ได้เรียกชื่อประเทศว่า USSR แล้ว ทำไมเพลงที่แจ๊กเพิ่งแต่งถึงยังเรียกชื่อนี้อยู่อีก…เป็นมุขค่ะ

ความสามารถของแจ๊กทำให้เอ็ดที่รู้สึกว่าตัวเองโดนท้าทาย อดไม่ได้ที่จะท้าแจ๊กแต่งเพลงกันสดๆ ตรงหน้าเลย แต่งกันคนละเพลงภายในเวลาที่กำหนด แล้วเล่นให้คนฟังโหวตกันว่าใครจะเก่งกว่ากัน

ตรงนี้แจ๊กเลือกเล่นเพลง The Long and Winding Road ซึ่งคนฟัง รวมทั้งเอ็ด ฟังอย่างตะลึงตะไล และเอ็ดยอมแพ้แก่อัจฉริยภาพทางดนตรีอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ขอเสียงโหวตด้วยซ้ำ

 

แม้จะยังฟังเพลงเดอะบีตเทิลส์ไม่จุใจสำหรับหนังทั้งเรื่อง (ซึ่งมีเพลงไม่กี่เพลงที่ร้องและเล่นเต็มทั้งเพลง) แต่ผู้เขียนก็ชอบเพลงที่คัดมาเล่นในแต่ละตอน เป็นเพลงที่ให้ความหมายและเข้ากับเรื่องได้พอเหมาะพอเจาะ ลงตัวที่สุด

ทั้ง Yesterday ที่บอกความหมายของวันวานยังหวานอยู่ เทียบกับวันนี้ที่เศร้าสร้อย

I Want to Hold Your Hand และ In My Life บอกความในใจเหมือนการสารภาพรัก

The Long and Winding Road เส้นทางที่ยืดยาวและคดเคี้ยว ซึ่งจะพาเราไปสู่จุดหมายใดก็ยังไม่รู้

Help! ซึ่งแจ๊กร้องอย่างสุดชีวิตจิตใจ เหมือนคนกำลังจะจมน้ำและกำลังหาความช่วยเหลือ

และท้ายสุด Ob-La-Di, Ob-La-Da เล่าชีวิตแสนสุขเรียบง่ายของแจ๊กกับแอลลี่ตามชื่อตัวละครในเพลงคือเดสมอนด์กับมอลลี่

แถมหนังยังมีเซอร์ไพรส์สุดยอด ที่ตามมาจากเซอร์ไพรส์จากแฟนเพลงอีกสองคนในโลกที่ยังจดจำเดอะบีตเทิลส์ได้ ซึ่งทีแรกแจ๊กรู้สึกว่าสองคนนี้เป็นสิ่งคุกคามจะเปิดโปงความหลอกลวงของเขาต่อคนทั้งโลก

แต่เรื่องก็พลิกผันด้วยเหตุผลที่เข้าท่าที่สุด

เซอร์ไพรส์สุดยอดมาในรูปของสมาชิกในวงเดอะบีตเทิลส์ที่ยังมีชีวิตมาถึงวัย 78 ปี และตอนที่เปิดประตูโผล่หน้ามานั้น เรารู้สึกเหมือนถูกผีหลอกเลย เพราะช่างหานักแสดงและการแต่งหน้าที่ละม้ายจนน่าทึ่ง

คำถามฉลาดๆ ข้อหนึ่งของหนังคือ “ความสำเร็จในชีวิต” นั้นหมายความว่าอะไร

 

ขอชมคนเขียนบท คือ ริชาร์ด เคอร์ติส (Four Weddings and a Funeral, Notting Hill, Love Actually) ที่สอดแทรกอารมณ์ขันและความหมายดีๆ ไว้ตลอด

ดูจบแล้วยังอยากกลับไปดูซ้ำอีก และคงจะดูได้หลายรอบ

แถมยังคิดถึงเดอะบีตเทิลส์มากเสียจนต้องกลับไปดู Across the Universe อีกหน

นี่เป็นหนังของจูลี่ เทย์มอร์ ที่ร้อยเรียงเพลงเดอะบีตเทิลส์เข้าไว้ด้วยกันด้วยเรื่องราวและภาพที่น่าตื่นตาอย่างยิ่ง