วรศักดิ์ มหัทธโนบล : สุยยุคหยังกว่าง

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

สุยที่รุ่งเรือง (ต่อ)

โดยภาษีในสองลักษณะแรกจะเก็บจากชายและหญิงตามลำดับ (หมายถึงฝ่ายชายทำนา ฝ่ายหญิงทอผ้า) ส่วนลักษณะที่สามมาจากแรงงานชายล้วน โดยผู้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีในลักษณะที่สามนี้คือผู้ที่อยู่ในวัยที่ต่ำกว่า 17 ปีหรือสูงกว่า 59 ปี

อย่างไรก็ตาม ระบบภาษีนี้ก็ยังมีช่องว่างทางกฎหมายให้ผู้ที่จะหลีกเลี่ยงใช้กล่าวอ้าง เช่น การอ้างด้วยการให้ข้อมูลเท็จว่า ครอบครัวของตนมีแต่เพศชายที่เป็นทารก (ต่ำกว่า 17 ปี) หรือไม่ก็ชายชรา (สูงกว่า 59 ปี) ที่ต้องอุปการะเลี้ยงดู เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐ เป็นต้น

เนื่องจากมีการหลีกเลี่ยงภาษีทำนองนี้ ใน ค.ศ.585 จักรพรรดิจึงให้ทำการสำรวจครัวเรือนทั่วจักรวรรดิทั้งรายครอบครัวและรายบุคคล หากพบว่ามีครัวเรือนใดแจ้งเท็จแล้ว บุคคลในครัวเรือนนั้นจะต้องโทษเนรเทศไปยังท้องถิ่นที่ห่างไกลจากที่พักอาศัย

ผลจากที่มีการใช้มาตรการเช่นนี้ทำให้สามารถเก็บภาษีรายบุคคลเพิ่มขึ้นได้ถึง 1,641,000 ราย

 

หลังจากนั้นต่อมา เกาจ่ย์ง หนึ่งในขุนนางคนสำคัญยังได้พัฒนาระบบภาษีนี้ให้รัดกุมยิ่งขึ้น ด้วยการแบ่งครัวเรือนออกเป็นหน่วยการผลิต 3-5 หน่วยต่อ 125 ครัวเรือน แล้วให้หน่วยการผลิตเหล่านี้ทำสัญญาการจ่ายภาษีกับทางการ โดยภาษีที่พึงจ่ายจะอิงกับระบบภาษีทั้งสามลักษณะข้างต้นเป็นมาตรฐาน

ระบบนี้ไม่เพียงทำให้รัฐเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่านั้น หากยังมีความเป็นธรรมแก่ราษฎรผู้เสียภาษีอีกด้วย เพราะระบบนี้ได้แยกชาวนาออกจากเจ้าที่ดินแล้วมาทำงานให้รัฐแทน อันส่งผลให้ชาวนามีอิสระและรายได้เพิ่มขึ้น

การที่เกาจ่ย์งมีบทบาทดังกล่าวก็เพราะเขาเป็นผู้รับผิดชอบงานด้านการคลัง โดยระบบภาษีที่เขาพัฒนาขึ้นมานั้น ได้ทำให้ครัวเรือนที่พึงจ่ายภาษีที่มีอยู่ 4,000,000 ครัวเรือนใน ค.ศ.589 เพิ่มขึ้นเป็น 8,900,000 ครัวเรือนใน ค.ศ.606

นอกจากนี้ การปฏิรูปเศรษฐกิจยังได้ขยายไปถึงการจัดตั้งยุ้งฉางในท้องถิ่นต่างๆ และการจัดระบบชั่งตวงวัดและระบบเงินตราให้มีเอกภาพอีกด้วย

แต่ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไม่น้อยก็คือ งานด้านวิศวกรรมชลประทาน โดยผ่านโครงการขุดคลองภายใต้การอำนวยการของอี่ว์เหวินไข่

โครงการนี้เริ่มใน ค.ศ.584 ด้วยการขุดจากเมืองหลวงไปตะวันออกเชื่อมกับแม่น้ำเว่ยและแม่น้ำเหลือง คลองนี้ให้การขนส่งอาหารระหว่างเมืองหลวงกับเมืองด้านตะวันออกเกิดความสมดุล

และทำให้แม่น้ำเว่ยไหลไปทางตะวันออกแทนทางเหนือของเมืองหลวง จากนั้นก็จะเชื่อมต่อกับแม่น้ำเหลืองช่วงที่เป็นโค้งหักเหของแม่น้ำ

การขุดเช่นนี้จะทำให้การตกตะกอนและการตื้นเขินของแม่น้ำเป็นไปตามฤดูกาล คลองขุดนี้มีความยาวนับร้อยกิโลเมตร และแล้วเสร็จใน ค.ศ.589 จนสามารถขนส่งผลผลิตทางเกษตรไปเก็บรักษาไว้ในโกดังต่างๆ ที่ตั้งอยู่ตามจุดต่างๆ ระหว่างคลองสายนี้

ความสำเร็จของโครงการนี้จะถูกสานต่อโดยรัชกาลต่อมา

 

จากที่กล่าวมานี้คือสุยในช่วงต้น อันเป็นช่วงที่จีนได้ฟื้นขึ้นมาเป็นจักรวรรดิอีกครั้ง ซึ่งจะเห็นได้ว่า เงื่อนปัจจัยหนึ่งที่ยังความสำเร็จให้กับสุยในช่วงนี้อย่างสำคัญคือ การปฏิรูปในด้านต่างๆ ที่เป็นไปอย่างจริงจัง
นอกจากการปฏิรูปตามที่กล่าวมาแล้ว การปฏิรูปในด้านการเมืองการปกครองก็เกิดขึ้นในยุคนี้เช่นกัน ซึ่งหากไม่นับระบบการคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการดังได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ ที่มีส่วนเอื้อให้การปฏิรูปในด้านอื่นประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีแล้ว ในส่วนที่เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับระบบการเมืองการปกครองก็มีส่วนต่อผลสำเร็จเช่นกัน

ซ้ำในยุคถังยังได้นำมาสานต่อจนประสบผลสำเร็จเช่นกัน ดังนั้น ในประเด็นนี้จะได้นำไปกล่าวรวมกับยุคถังในตอนท้ายของงานศึกษานี้

จะอย่างไรก็ตาม จากเท่าที่ได้กล่าวมานี้ก็ทำให้เห็นได้ว่า นับจากที่สิ้นราชวงศ์ฮั่นเป็นต้นมา ความพยายามในการสร้างจักรวรรดิอย่างไม่หยุดหย่อนในยุคต่างๆ ที่ผ่านมาอาจกล่าวได้ว่า มิอาจเทียบได้กับที่สุยได้สร้างไว้

และสุยคงจะสร้างให้จักรวรรดิเติบใหญ่ได้ยิ่งกว่านี้ หากสุยไม่ล่มสลายไปเสียก่อนเมื่อถึงรัชกาลต่อมา

 

สุยในช่วงปลาย

ความสำเร็จในการปฏิรูปของสุยเหวินตี้เป็นเรื่องที่ได้รับกล่าวขานในเวลาต่อมา และน่าที่จะเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่รัชกาลต่อมาได้สืบสาน แต่แบบอย่างนี้คงมิได้มีเฉพาะนโยบายการปฏิรูปเพียงเรื่องเดียว หากแต่การครองตนของสุยเหวินตี้ก็เป็นแบบอย่างที่เกื้อหนุนความสำเร็จอยู่ด้วย

กล่าวกันว่า สุยเหวินตี้ทรงครองตนสมถะมัธยัสถ์ยิ่ง ไม่ว่าจะการกิน การอยู่ และการแต่งกายล้วนเรียบง่าย ทั้งทรงอบรมโอรสและธิดาให้ครองตนเช่นนี้ด้วย มีอยู่ครั้งหนึ่งรัชทายาทหยังหย่งทรงได้เสื้อเกราะที่สร้างอย่างพิถีพิถันงดงามมาชุดหนึ่ง จึงโปรดนำเสื้อเกราะนี้มาทรงเล่นอยู่เสมอ

เมื่อสุยหยังตี้เห็นเข้าก็ทรงวิจารณ์ว่า “บุรพกษัตริย์จักรพรรดิในกาลก่อน มิเคยมีองค์ใดที่ครองบ้านเมืองได้ยาวนานและศานติ ด้วยการครองตนฟุ่มเฟือยและเสื่อมโทรม เธอเป็นรัชทายาท ก็พึงครองตนสมถะมัธยัสถ์ด้วยความตระหนักรู้เถิด”

การครองตนเช่นนี้เอื้อต่อการปฏิรูปและฐานะทางการคลังให้แก่ราชวงศ์อย่างยิ่ง ส่วนที่ทรงวิจารณ์องค์รัชทายาทในครั้งนั้นจะมีผลเช่นไรกลับกล่าวได้ยาก เพราะหลังจากนั้นได้เกิดปัญหาการเมืองภายในขึ้น จนทำให้มีการเปลี่ยนรัชทายาทจากหยังหย่งมาเป็นหยังกว่าง

และเมื่อสุยเหวินตี้สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ.604 หยังกว่างจึงขึ้นมาเป็นจักรพรรดิแทน และแล้วสุยก็สิ้นวงศ์ลงในรัชกาลนี้

การที่สุยสิ้นวงศ์ลงเพียงในรัชกาลที่สองนี้ย่อมสะท้อนให้เห็นในเบื้องต้นว่า คงมีบางสิ่งบางอย่างที่ผิดพลาดขึ้นในรัชกาลนี้ และประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ก็ถูกบันทึกด้วยเรื่องราวที่อื้อฉาวอยู่ไม่น้อย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องราวที่มากด้วยสีสัน

ความขัดแย้งกันเองเช่นนี้มีรัชกาลที่สองเป็นใจกลาง และมีผลงานต่างๆ ที่เกิดขึ้นในยุคนี้แวดล้อมใจกลางนั้น เช่นนี้แล้วจึงไม่แปลกที่เรื่องราวดังกล่าวจะถูกตั้งคำถามที่ขัดแย้งกันเองไปด้วยในตัว ว่าถึงที่สุดแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปลายของสุยนี้พึงวินิจฉัยอย่างไร

 

ภูมิหลังของหยังกว่าง

หยังกว่าง (ค.ศ.569-618) เป็นบุตรคนที่สองของหยังเจียนจากที่มีทั้งหมดห้าคน ช่วงที่เขาเกิดนั้น หยังเจียนยังมิได้ตั้งตนเป็นใหญ่ แต่ก็มีตำแหน่งสูงอยู่ในโจวเหนือ ด้วยเหตุที่มีฐานะดีและสูงส่ง หยังกว่างจึงได้รับการศึกษาเยี่ยงกุลบุตรของชนชั้นสูงพึงได้รับ

และในเมื่อครอบครัวสมาทานในพุทธศาสนา หยังกว่างจึงย่อมได้รับอิทธิพลทางความคิดความเชื่อของศาสนานี้มาแต่เด็กเช่นเดียวกับผู้เป็นบิดา แต่อิทธิพลนี้ย่อมแยกออกเป็นคนละส่วนกับชีวิตจริงในทางโลกย์ ที่เมื่อหยังกว่างเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็ย่อมหลีกหนีชีวิตข้าราชการไปไม่ได้

โดยเมื่อมีอายุ 13 ปีเขาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์ของรัฐจิ้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของสุยเหวินตี้ที่ต้องการให้ญาติวงศ์ที่ใกล้ชิดไปปกครองรัฐต่างๆ เพื่อจะได้แน่ใจในความมั่นคงของราชวงศ์

และตอนที่ปกครองจิ้นนี้เองที่เขาได้แต่งงานกับธิดาของกษัตริย์ราชวงศ์เหลียงตะวันตก อันเป็นราชวงศ์เล็กๆ ที่ขึ้นต่อโจวเหนือของหยังเจียนในยุคราชวงศ์ใต้-เหนือ

แต่ผลงานที่ดูจะโดดเด่นก็คือ การเข้าร่วมไปในทัพที่ยกไปตีเฉิน แม้การร่วมทัพในครั้งนี้ของหยังกว่างจะมีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการก็ตาม แต่ก็เป็นแต่เพียงในนามเท่านั้น

เพราะผู้บัญชาการตัวจริงคือ เกาจ่ย์งกับขุนศึกที่ใกล้ชิดจำนวนหนึ่ง เช่น หยังซู่ เป็นต้น
เมื่อทัพสุยยึดเฉินได้แล้ว หยังกว่างก็ได้แสดงถึงอุปนิสัยใจคอของตนให้เห็นในบางเรื่องบางราว
เช่น เขาส่งนางสนมคนโปรดของจักรพรรดิของรัฐเฉินให้แก่เกาจ่ย์ง แต่เกาจ่ย์งไม่เพียงไม่ยอมรับ หากยังเห็นนางสนมนี้เป็นกาลกิณีและสั่งให้ประหารนางอีกด้วย เรื่องนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หยังกว่างเกลียดชังเสนามาตย์ที่ใกล้ชิดบิดาของเขา (ในกรณีนี้คือเกาจ่ย์ง)

หรือการที่หยังกว่างสั่งให้ประหารชีวิตเสนามาตย์ของเฉินเฉพาะที่มีชื่อไปในทางที่ไม่ดี หรือที่ปกครองราษฎรอย่างกดขี่ แทนที่จะสั่งให้ประหารทั้งหมดตามธรรมเนียมการศึกที่มีต่อผู้แพ้ที่ถือปฏิบัติกันมาช้านาน

หรือการที่เขาสั่งให้ปิดผนึกท้องพระคลังของเฉินโดยมิได้หยิบฉวยสมบัติใดๆ ไปแม้แต่ชิ้นเดียว เป็นต้น นอกจากนี้ เมื่อต้องมีส่วนในการปกครองเฉินหลังจากที่ยึดครองได้แล้ว หยังกว่างยังได้ลดหย่อนผ่อนปรนภาษีให้กับเฉินนานสิบปีอีกด้วย

นอกจากท่าทีดังกล่าวแล้ว ประเด็นวัฒนธรรมก็เป็นสิ่งที่หยังกว่างก็สะท้อนให้เห็นเช่นกัน