นิธิ เอียวศรีวงศ์ | ชังชาติ

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ถ้าใครได้อ่านประกาศพระบรมราชโองการในร.๕ เรื่องยกเลิกประเพณีหมอบคลาน บางคนคงเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เป็นคน”ชังชาติ”อย่างแน่นอน เพราะมีพระราชดำรัสโจมตีธรรมเนียมการหมอบคลานของไทยไว้อย่างรุนแรง ถึงกับทรงอ้างสิ่งที่ในปัจจุบันคงเรียกว่า”ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ซึ่งเป็นสภาวะที่นำมาสู่หลักความเสมอภาคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย

การชี้ให้เห็นความด้อย, ความไม่เหมาะแก่กาลสมัย, ความไร้”เหตุผล” (แบบตะวันตก), ความไม่มีประสิทธิภาพ, ตลอดจนการกดขี่ข่มเหงกันอย่างไม่ชอบธรรม, ฯลฯ ในวัฒนธรรมไทย, ประเพณีไทย, ระบอบปกครองไทย, หรือแม้แต่”ศาสนา”ไทย และโน้มนำหรือสั่งให้เปลี่ยนไปตามตะวันตก เป็นพระบรมราโชบายและนโยบายหลักอย่างหนึ่งของชนชั้นปกครองไทย นับตั้งแต่ร.๕ (หรือบางคนว่าร.๔) สืบมาจนปัจจุบัน

ความรู้ว่าโลกตะวันตกเขาทำหรือจัดการเรื่องนั้นๆ อย่างไร เพราะอะไร นับแต่เรื่องเล็กเรื่องน้อย เช่นการแต่งกาย, มารยาทบนโต๊ะอาหาร, การดูละครหรือฟังดนตรี ไปจนเรื่องใหญ่ๆ เช่นการก่อตั้งและจัดการสถาบันใหม่ๆ หอพระสมุดสำหรับพระนคร, ราชบัณฑิตยสภา, โบราณคดีสโมสร, มหาวิทยาลัย, หรือแม้แต่การบริหารบ้านเมือง เช่นระเบียบการดูแลหัวเมือง, การบริหารราชการ, การศึกษามวลชน, ฯลฯ ก็ริเริ่มและกระทำกันในเมืองไทย ด้วยการปรับเอารูปแบบของตะวันตกมาใช้ทั้งสิ้น รวมทั้งต้องแสดงให้เห็นข้อบกพร่องของสิ่งที่ทำกันอยู่ในเมืองไทยไปพร้อมกัน

ด้วยเหตุผลที่บางคนคงเรียกว่า”ชังชาติ”นั่นแหละ ชนชั้นนำไทยจึงปรับเปลี่ยนประเทศไทยให้เดินเข้าสู่ความทันสมัยได้ในที่สุด ทั้งยังนิยามความทันสมัยด้วยรูปแบบของตะวันตกเสียด้วยซ้ำ (เฉพาะรูปแบบนะครับ ไม่รวมเนื้อหามากนัก)

การมองตะวันตกเป็นต้นแบบ และมองไทยเป็นความบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่ง กลายเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งของจารีตทางปัญญา หรือ intellectual tradition ของไทยสืบมา

เมื่อตอนเรียนชั้นประถม (ซึ่งยังอยู่ในช่วงที่คณะราษฎรยังมีอำนาจทางการเมืองและวัฒนธรรม) ผมจำได้ว่าตำราของกระทรวงศึกษาธิการสมัยนั้นอธิบายการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน ๒๔๗๕ ว่า ทั่วทั้งโลกยังเหลือประเทศที่ยังปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่เพียงสองประเทศเท่านั้น คือประเทศอบิสสิเนียหรือเอธิโอเปียในปัจจุบัน และประเทศสยาม

นอกจากข้อกล่าวอ้างนี้ไม่จริงแล้ว ยังน่าสนใจที่จะสังเกตว่า ที่เลือกอบิสสิเนียก็เพื่อให้นักเรียนรู้สึกว่าป่าเถื่อน ทัศนะที่เห็นว่าชาวพื้นเมืองแอฟริกาย่อมป่าเถื่อนนี้เป็นทัศนะที่รับมาจากตะวันตกเต็มๆ เลย

ซ้ำเหตุผลที่ใช้อ้างนี้ยัง”ชังชาติ”เป็นอย่างยิ่ง แต่ความ”ชังชาติ”นี้เป็นจุดเริ่มต้นไปสู่ความเปลี่ยนแปลง อันเป็นข้ออ้างที่คณะราษฎรใช้อย่างเดียวกับที่เจ้านายรุ่นก่อนหน้าก็ใช้เหมือนกัน เพียงแต่สิ่งที่คณะราษฎรเลือกจะ”ชัง”นั้น แตกต่างจากสิ่งที่เจ้านายรุ่นก่อนเลือก

ชนชั้นนำไทยสร้างตัวแบบที่เป็นขั้วตรงข้ามขึ้นอันหนึ่ง เพื่ออธิบายความเปลี่ยนแปลงนี้ ที่ขั้วหนึ่งคือสังคมป่าเถื่อน และอีกขั้วหนึ่งคือสังคม”ศรีวิไล” (น่าสนใจที่เป็นคำบัญญัติซึ่งเลียนเสียงภาษาอังกฤษ) สยามในพระราชมติของร.๔ อยู่ตรงกลาง กำลังเคลื่อนเข้าสู่สังคมศรีวิไล ในขณะที่กัมพูชายังเอียงอยู่ทางสังคมป่าเถื่อน

(น่าตกใจอยู่ไม่น้อย เพราะที่จริงเขมรคือครูใหญ่ของไทยภาคกลาง แค่ตัดคำเขมรออกจากภาษาไทยสำเนียงภาคกลางลงให้หมด เราก็แทบจะคุยกันไม่รู้เรื่อง)

ควบคู่กันไปกับการมองเห็นข้อด้อยของความเป็นไทยเมื่อเปรียบเทียบกับตะวันตกแล้ว ยังมีจารีตทางปัญญาของชนชั้นนำไทยอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นไปในทางตรงกันข้าม นั่นคือถึงจะปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับมหาอำนาจตะวันตกอย่างไร ไทยก็ยังควรมีอัตลักษณ์ของตนเองที่แตกต่างจากคนอื่น

(ภาพจากหนังสือ ดนตรีอุษาคเนย์ โดยเจนจิรา เบญจพงศ์ และเสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2555)

อัตลักษณ์ไทยย่อมประกอบด้วยการรักษาสืบทอดสิ่ง”ดีๆ”ที่ตกทอดมาแต่อดีตให้ดำรงอยู่สืบไป แต่ก็ไม่ได้รักษาสืบทอดอย่างไม่ลืมหูลืมตา ต้องปรับเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นให้มีความหมายใหม่ที่สอดคล้องกับวิธีคิดของคนตะวันตกด้วย

สิ่ง”ดีๆ”อย่างแรกที่ต้องรักษาไว้ด้วยการปรับให้สอดคล้องกับตะวันตกคือพุทธศาสนาไทย โดยการชำระสิ่งที่ดูไม่มีเหตุผลเชิงประจักษ์ทั้งหลายออกไป เช่นไสยศาสตร์ ทั้งในความเชื่อและการปฏิบัติ ไปจนถึงการอธิบายผลของกรรมไปในทางโลกียะ เช่นเพราะหมั่นเพียรจึงประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ

กระแสความคิดแบบนี้จึงเป็นห้ามล้อให้แก่ความเปลี่ยนแปลงที่เดินตามตะวันตก นับตั้งแต่ประมาณกลางรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เป็นต้นมา ห้ามล้อนี้ก็เริ่มทำงานมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจและการศึกษาที่เปลี่ยนไปมากขึ้น จึงทำให้คนที่ได้เรียนรู้วัฒนธรรมตะวันตกขยายตัวออกไป ยากที่ชนชั้นนำไทยจะควบคุมความเปลี่ยนแปลงไว้ได้

ในระยะแรก เหตุผลที่ใช้เบรคความเปลี่ยนแปลงก็คือ สิ่งนั้นๆ ยังไม่เหมาะกับคนไทย (เช่นสภาที่มาจากการเลือกตั้ง จะไม่กล้าแสดงความเห็นขัดแย้งกับพระราโชบาย)แต่เมื่อการริเริ่มความเปลี่ยนแปลงขยายออกไปยังผู้คนที่ยังอยู่นอกวงของชนชั้นนำมากขึ้น การเรียกร้องให้รักษาอัตลักษณ์ไทยก็มีความหมายไปในทางที่เห็นว่าวัฒนธรรมตะวันตกบางอย่างนั้น ขัดกับความเป็นไทยโดยตรงทีเดียว

แม้ว่าจารีตทางปัญญาสองกระแสดังกล่าวจะขัดแย้งเป็นตรงข้ามกัน แต่ดูเหมือนมีเส้นแบ่งระหว่างความเป็นไทยที่ต้องรักษาไว้ กับความ”ก้าวหน้า”แบบตะวันตก อันเป็นเส้นแบ่งที่ทำให้สองกระแสความคิดที่ตรงข้ามกันนี้อยู่ด้วยกันได้ แม้ในบุคคลคนเดียวกัน หรือในสำนักคิดเดียวกัน

วัฒนธรรมตะวันตกซึ่งชนชั้นนำไทยรับเอาเข้ามาในช่วงร.๔-ร.๗ นั้น อาจกล่าวได้ว่า มีลักษณะค่อนไปทางวัตถุที่จับต้องได้ หรือส่วนที่ค่อนเป็นรูปธรรม เช่นรถไฟ, ไฟฟ้า, เครื่องแต่งกาย, โดยสรุปคือเทคโนโลยีและผลผลิตของเทคโนโลยีสมัยใหม่

แม้แต่รูปแบบการปกครองทั้งส่วนกลางหรือหัวเมือง ก็รับรูปแบบการแบ่งส่วนราชการที่ตะวันตกใช้ในประเทศตนเองหรือในอาณานิคม ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นส่วนรูปธรรม แต่ไม่รวมถึงหลักการและเป้าหมายที่เป็นนามธรรม เช่นไม่รวมหลักการว่า การบริการประชาชนเป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งของระบบราชการ เพราะการบริการจะช่วยให้รัฐสามารถรักษาอำนาจของตนไว้ได้ และด้วยเหตุดังนั้นระบบราชการจึงไม่ใช่สถานที่สำหรับบรรจุคนลงตามสถานภาพทางสังคม แต่ต้องบรรจุคนเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

ในทางตรงกันข้าม ส่วนดีสุดในความเป็นไทยคือด้านนามธรรม จะปรับเปลี่ยนรูปแบบภายนอกไปอย่างไรก็ได้ แต่ต้องรักษาส่วนที่เป็นสาระทางนามธรรมของสิ่งนั้นไว้

คนไทยมีชีวิตอยู่ท่ามกลางจารีตทางปัญญาที่ขัดแย้งกันเป็นตรงข้ามเช่นนี้มาได้อย่างสงบสุข และคล่องแคล่วในการจัดการกับความก้าวหน้าแบบตะวันตกให้สอดรับกับความเป็นไทยได้อย่างสบาย เราเรียนวิทยาศาสตร์เพื่อสามารถใช้และผลิตเครื่องไม้เครื่องมือสมัยใหม่ได้ แต่เราไม่สนใจวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ ผบ.ทบ.ชื่นชมคุณภาพของยุทธภัณฑ์อเมริกัน แต่ระบอบปกครองที่เคารพความเสมอภาคของพลเมืองเป็นสมบัติของ”สำนักฝรั่งเศส”ที่น่ารังเกียจ

อาจไม่จำเป็น แต่ก็อยากเตือนไว้ด้วยว่า อะไรที่เป็น”อัตลักษณ์”ก็ตาม อะไรที่เป็นความเหมาะสมก็ตาม ล้วนถูกนิยามหรือกำหนดขึ้นทั้งนั้น ในสังคมที่เต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียมเช่นสังคมไทย ใครจะเป็นผู้นิยามหรือกำหนดไปได้ นอกจากชนชั้นนำซึ่งเป็นผู้ควบคุมห้ามล้อด้วย

แต่ความสงบสุขและสบายแบบไทยๆ นั้นเริ่มสะดุดหยุดลง โดยเฉพาะในปัจจุบันเมื่อผู้คนที่เคยอยู่ระดับล่างเผยอขึ้นมาเป็นประชาชนที่ต้องการนโยบายรัฐหนุนช่วยการทำมาหากินของตนเอง แต่ที่จริงนับตั้งแต่ ๒๔๗๕ เป็นต้นมาแล้ว ที่คณะราษฎรนำเสนอความเปลี่ยนแปลงในส่วนที่เป็นนามธรรม คือไม่ใช่เพียงสภาที่มาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลที่ได้รับความไว้วางใจจากสภาเท่านั้น แต่รวมถึงเสรีภาพและเสมอภาพของประชาชนทุกคนด้วย อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่การรัฐประหาร ๒๔๙๐ เป็นต้นมา ข้อเสนอของคณะราษฎรถูกทำให้เป็นอุดมคติที่อยู่ห่างไกล และด้วยเหตุดังนั้นจึงเกินความจำเป็นของสังคมไทย

ชนชั้นนำไทยสามารถรื้อฟื้นความสงบสุขและความสบายแบบไทยๆ ให้กลับคืนมาได้อีก

จนสัก ๓๐ ปีที่ผ่านมา ความสงบสุขและสบายแบบไทยๆ จึงเริ่มถูกตั้งคำถามมากขึ้น เพราะความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมขนานใหญ่ที่เกิดขึ้น ผู้คนเริ่มเรียกหาความเปลี่ยนแปลงในระดับนามธรรมมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่อยากให้มีอินเตอร์เนททุกหมู่บ้าน แต่อยากให้มีเสรีภาพที่จะใช้อินเตอร์เนทเพื่อตอบสนองชีวิตของแต่ละคนได้อย่างกว้างขวางด้วย ไม่ใช่เพียงอยากมีจีดีพีที่สูง แต่อยากให้จีดีพีที่สูงนี้กระจายผลประโยชน์ไปสู่ประชาชนให้กว้างกว่าเดิม ไม่ใช่อยากมีหมอที่ดี แต่อยากให้ทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดีโดยทั่วกัน ฯลฯ

ความเปลี่ยนแปลงที่คนไทยจำนวนมากเรียกร้องเวลานี้ ไม่ใช่ความเปลี่ยนแปลงเชิงรูปธรรมซึ่งชนชั้นนำได้จัดให้มานานแล้ว แต่เป็นความเปลี่ยนแปลงเชิงนามธรรม อันจะเป็นผลให้ระบบช่วงชั้น, การจำกัดมิให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงการจัดการสาธารณะ, อภิสิทธิ์ซึ่งเคยเป็นที่ยอมรับ, ฯลฯ ต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างไม่เคยเกิดขึ้นอย่างไพศาลเช่นนี้มาก่อน

คำประณามว่า”ชังชาติ”จึงเกิดในช่วงนี้อยู่บ่อยๆ จากคนที่ไม่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ไพศาลเช่นนี้เกิดขึ้น

น่าประหลาดที่ในความเป็นจริงแล้ว หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงเชิงนามธรรมซึ่งเป็นที่เรียกร้องกัน โดยตรงหรือโดยนัยะก็ตาม คือความหมายของ”ชาติ”นี่แหละ

“ชาติ”เป็นแนวคิดใหม่ที่รับจากตะวันตกและเริ่มเผยแพร่จนเป็นที่ยอมรับกันมาก่อน ๒๔๗๕ แต่ความหมายของชาติถูกจำกัดให้เหลือแต่เพียง”รัฐ”ซึ่งเป็นส่วนรูปธรรมของชาติ โดยไม่พูดถึงความหมายที่เป็นนามธรรมของ”ชาติ”เลย

การปฏิวัติ ๒๔๗๕ นำความหมายนามธรรมมาให้แก่ชาติ นั่นคือชาติเป็นสมบัติของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ความเป็นเจ้าของชาติเช่นนี้ แสดงออกได้ด้วยการจัดให้”อำนาจอนุมัติ”สูงสุดอยู่ในมือของประชาชน

แต่ความหมายทั้งรูปธรรมและนามธรรมของชาติในเมืองไทยยังประสานเข้ากันได้ไม่สนิท คนที่เที่ยวบริภาษผู้อื่นว่า”ชังชาติ”นั้น เอาเข้าจริงเขาหมายถึง”ชังรัฐ” ในขณะที่”ชาติ”ในความหมายเชิงนามธรรมแทบไม่อยู่ในสายตาของเขาด้วยซ้ำ