เทศมองไทย : ปืนผาหน้าไม้ วัฒนธรรมกับความรุนแรง

“ซาคารี ฟราย” แห่งอาเซียนทูเดย์ เขียนบทความแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่ “โดน” ใจผมอีกแล้ว
ข้อเขียนของเขาเมื่อ 29 สิงหาคม หยิบเรื่องซึ่งเราเห็นกันทุกเมื่อเชื่อวันผ่านหน้าจอโทรทัศน์มาตั้งคำถามไว้อย่างแหลมคมมาก ว่าด้วย “วัฒนธรรมปืน” ในสังคมไทย ที่ก่อเหตุรุนแรงมากมายได้ทุกวี่ทุกวัน แต่คนไทยเรากลับมองข้ามปัญหานี้ไปเสียหมดแบบหน้าตาเฉย

แม้ผมจะเคยได้ยินคำอุทานกับหูมามากมายหลายครั้ง ในทำนองว่า “ทำไมปืนเมืองไทยมันหาง่ายนัก (วะ)”
แต่กลับไม่ได้คิดว่ามันคือ “ปัญหา” ผมก็ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน

ซาคารี ฟราย บอกว่า เมืองไทยเรามีปัญหากับ “วัฒนธรรมปืน” ที่ส่งผลให้เป็นประเทศที่มีสัดส่วน “ผู้ครอบครองอาวุธปืน” สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน 10 ประเทศด้วยกัน

ผลก็คือ ไทยเป็นชาติที่มีอัตราการเสียชีวิตจาก “อาวุธปืน” สูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน

จะเป็นรองก็แต่ฟิลิปปินส์อยู่ประเทศเดียวเท่านั้น

 

ข้อที่ผู้เขียนย้ำเอาไว้ชัดเจน ที่ทำให้ผมตกใจหนักมากขึ้นก็คือ

“ในปี 2011 อัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนของไทยโดยรวมทั้งหมด จัดอยู่ในอันดับสูงเป็นอันดับ 11 ของโลก เบียดเอาชนะอัตราการตายที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนในประเทศที่ดูเหมือนจะอันตรายอย่างยิ่ง อย่างแอฟริกาใต้, อิรัก และอัฟกานิสถานด้วยซ้ำไป”

ผมพยายามมองหาแต่ไม่เห็นตัวเลขรายงานประกอบเอาไว้ มีเพียงตัวเลขเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค ซึ่งก็น่าตกใจอยู่เหมือนกัน

ซาคารี ฟราย บอกว่า ในปี 2016 เกิดเหตุรุนแรงโดยใช้อาวุธปืนขึ้นในไทยจนทำให้ถึงกับเสียชีวิต 1,729 ครั้ง เทียบกับตัวเลขเดียวกันในห้วงเวลาเดียวกันในมาเลเซีย ซึ่งมีเพียง 74 รายเท่านั้น

ในปี 2016 เดียวกันนั้น ในประเทศอินโดนีเซียซึ่งมีจำนวนประชากรมากกว่าประเทศไทย 4 เท่าตัว มีจำนวนการก่อเหตุรุนแรงฆ่าผู้อื่นเพียง 1,200 รายเท่านั้นเอง

แถมในหลายๆ คดีฆาตกรรมเหล่านั้นมีจำนวนน้อยมากที่ได้ก่อเหตุด้วยการใช้อาวุธปืนด้วยซ้ำไป
การตายจากอาวุธปืนส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการก่อเหตุรุนแรงในครอบครัว, หรือไม่ก็เป็นความขัดแย้งส่วนตัวระหว่างคนต่อคน

ส่วนที่เป็นการก่อเหตุแบบสุ่ม หรือการก่อเหตุขึ้นระหว่างแก๊งจนเป็นเหตุให้เกิดการตายกันขึ้นนั้นก็มี แต่ก็เป็นส่วนน้อย

“ในไทย วัฒนธรรมอาวุธปืนแนบแน่นอยู่กับสังคม เมื่อรวมเข้ากับตลาดใต้ดินขนาดใหญ่ ก็ทำให้ปืนหาได้ง่ายๆ ทำให้ยากต่อการจัดการกับความรุนแรงเหล่านั้น” ซาคารี ฟราย ตั้งข้อสังเกต

เขายืนยันว่า กฎหมายว่าด้วยอาวุธปืนของไทยเข้มแข็งดีพอ แต่ตลาดปืนเถื่อนที่เข้าถึงได้ง่าย ราคาซื้อหากันได้ ทำให้ประสิทธิภาพของกฎหมายจำกัดมาก

เขาบอกว่า ในเมืองไทยมีผู้ครอบครองอาวุธปืนอยู่มากมายถึงกว่า 10 ล้านคน แต่ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้นั้น มีเพียงแค่ 6 ล้านคน หรือแค่ไม่ถึง 60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

องค์กรรณรงค์เรื่องนี้บอกว่า พบเห็นกันบ่อยๆ ว่ามีการโฆษณาขายอาวุธปืน “เถื่อน” กันอย่างเปิดเผยผ่านเว็บไซต์โซเชียลมีเดีย ไม่จำเป็นต้องรู้วิธีการเข้าถึง “ดาร์กเว็บ” เหมือนอย่างใครเขาแต่อย่างใดทั้งสิ้น

โทษทัณฑ์ที่ได้รับอย่างเก่งก็แค่ปิดเว็บหรือเลิกหน้าเพจไปก็เท่านั้นเอง

 

ข้อสังเกตอีกอย่างของซาคารี ฟราย ก็คือ ความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืน ไม่ได้เป็นประเด็นใหญ่โตในทางการเมืองในเมืองไทย ไม่เหมือนกับในสหรัฐอเมริกาที่รณรงค์ให้ขายกับรณรงค์ต่อต้านการขายกันอย่างหนัก

ยิ่งไปกว่านั้น “ปืน” ยังกลายเป็นสัญลักษณ์แสดงสถานะทางสังคมประการหนึ่งไปอีกต่างหาก ใครใหญ่ ใครโต ใครมีอิทธิพล วัดกันตรงที่พกปืนก๋าได้หรือไม่นั่นแหละครับ

ซาคารี ฟราย บอกว่า เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ไม่ว่าจะดำเนินความพยายามเท่าใด การครอบครองอาวุธปืนในไทยก็ยังง่ายอยู่นั่นแหละ แม้แต่การครอบครองและการพกพาที่ถูกกฎหมายก็ตาม

ถ้าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ก็ควรต้องเริ่มต้นจากการให้ความสำคัญกับการป้องกันอาชญากรรมจากปืนเป็นหลัก กฎหมายอนุญาตให้ครอบครอง อนุญาตให้พกพา ควรมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการเสียชีวิตจากอาวุธปืน แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่ประวัติและความมั่งมี และต้องมีเหตุผลที่เข้มงวด วางกรอบให้ชัดเจน สำหรับการขออนุญาตครอบครองและพกพา

เหตุผลที่ใช้กันจนเป็นการทั่วไปอย่าง “เพื่อป้องกันตัวเอง” นั้นควรยกเลิกได้แล้ว เขาบอก

ที่สำคัญก็คือ เรื่องนี้จะยังเป็นจริงเป็นจังไม่ได้ ถ้าหากสังคมไทยยังคงมอง “ปืน” แบบเดียวกับที่เป็นอยู่ในเวลานี้ต่อไป

ทัศนะต่อปืนของคนไทยควรเปลี่ยนไปได้แล้ว เพราะมันคือยมทูตแห่งความตายชัดๆ ครับ