วิเคราะห์ : รัฐบาลรับมือปัญหาน่าห่วงในตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังไง

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับปรุงมาตรการ LTV [loan to value] ผ่อนปรนให้ผู้กู้ร่วมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเอง ให้สามารถซื้อที่อยู่อาศัยและกู้สินเชื่อได้ใหม่โดยไม่ถือเป็นที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 ที่ต้องจ่ายเงินดาวน์สูงกว่า

เรื่องเดิมมีอยู่ว่า มาตรการ LTV ที่บังคับใช้ตั้งแต่ 1 เมษายน 2562 กำหนดว่า ผู้ที่เอาชื่อตัวเองไปกู้ร่วมกับพ่อ แม่ ญาติพี่น้องเพื่อให้เครดิตถึง ธนาคารปล่อยกู้นั้น แม้จะมีที่ชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยหลังนั้นๆ แต่ให้ถือว่ามีการกู้เงินซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองไปแล้ว หากจะมีการกู้ซื้อของตัวเองจริงๆ ให้นับเป็นหลังที่ 2 ซึ่งตามมาตรการนี้ ต้องจ่ายเงินดาวน์สูงกว่าและกู้ได้ต่ำลง ธปท.จึงแก้ไขเสียใหม่

มองให้แง่ดี เจตนาของ ธปท.ก็คือผ่อนปรนมาตรการให้ไม่เป็นภาระกับผู้กู้ร่วม แต่ถ้าพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตลาดที่อยู่อาศัยหลายฝ่ายก็มองคล้ายๆ กันว่า คงจะมีผลกับคนที่มีปัญหาเข้าข่ายกรณีดังกล่าวบ้าง

แต่คงไม่ถึงกับมีผลกับกำลังซื้อของตลาดเพราะคนที่กู้ร่วมไม่ได้มีสัดส่วนมาก

 

มองในแง่น่ากลัว ก็จะน่ากลัวมาก เพราะเป็นการสะท้อนถึงการมองการเข้าใจปัญหาของ ธปท.ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมนโยบายการเงินของประเทศ มองปัญหาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังเผชิญอยู่

คือมองเห็นเป็นแค่เรื่องปกติ เป็นเรื่องของการควบคุมคุณภาพการปล่อยสินเชื่อของระบบสถาบันการเงินเท่านั้น

ไม่เห็นว่าที่จ่ออยู่ขณะนี้เป็นปัญหาใหญ่ ที่คนที่อยู่ในสนามธุรกิจจริงรู้สึกแล้วว่าอาจจะเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจครั้งใหญ่

ซึ่งสังเกตได้ สัมผัสได้จากกำลังซื้อวันต่อวัน สัปดาห์ต่อสัปดาห์ หรือเดือนต่อเดือน เห็นได้ชัดว่า กำลังซื้อลดน้อยถอยลง อารมณ์จับจ่ายใช้สอยผู้บริโภคลดน้อยลง และอารมณ์คนทำธุรกิจเริ่มมีความกังวลมากขึ้น
ตัวเลขผลประกอบการจริงของบริษัทต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ผ่านมาแล้ว 2 ไตรมาส ก็จะพบตัวเลขยอดขายและผลกำไรมีทิศทางลดลง

เชื่อว่า ถ้าให้ผู้บริหารธุรกิจบริษัทต่างๆ ประมาณการจากประสบการณ์ไปถึงสิ้นปีนี้ คงได้คำตอบไม่ต่างกันว่า แย่ลง

ขณะที่ผู้บริหารการคลังของประเทศ คือรัฐบาล ส่วนที่รับผิดชอบกับการบริหารเศรษฐกิจ เห็นปัญหาเศรษฐกิจทุกวันนี้เป็นแค่การชะลอตัว “กินยาแก้ปวดหัวก็หาย”

ก็จะยิ่งรู้สึกน่ากลัวมากขึ้นไปอีก

 

เพราะหมายความว่า ทั้งผู้ที่มีหน้าที่บริหารการเงินและการคลังของประเทศ เห็นปัญหาเศรษฐกิจที่เผชิญอยู่เป็นเรื่องสิวๆ ไม่ใหญ่โตอะไร

มองเรื่องเงินตราต่างประเทศทะลักไหลเข้าไทย ว่าไทยเป็นสวรรค์ทางการเงินที่เขานำเงินเข้ามาพักไว้ ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ทำให้ค่าเงินบาทไทยแข็งกว่าประเทศคู่ค้าต่างๆ ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวไทยที่เป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจตัวเดียวที่ยังทำงานเกิดการสะดุด เพราะชาวต่างชาติจะต้องจ่ายแพงขึ้นในการมาเที่ยวประเทศไทย

ความเป็นไปได้จึงมีอยู่ 2 ทางคือ

หนึ่ง ฝ่ายบริหารการเงินการคลังประเทศ ประเมินขนาดปัญหาไม่ตรงกับความเป็นจริง เห็นเรื่องใหญ่เป็นเรื่องเล็ก เมื่อเกิดปัญหา ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร

สอง ฝ่ายบริหารประเทศไม่รู้ ไม่เข้าใจ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่เป็น เมื่อเผชิญปัญหาจริง ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร

เตรียมตัว เตรียมรับมือตามนี้