คำ ผกา | คนเถื่อนเสรี

คำ ผกา

ไปอ่านเจอในทวิตเตอร์มาว่า

“คนสมัยนี้และต่อๆไปจะไม่ทำอะไรอีกแล้ว ไม่ว่าจะเคารพธงชาติ สวดมนต์ นับถือศาสนา ใส่ยูนิฟอร์ม การบ้าน เข้าค่าย กิจกรรม วัฒนธรรม ประเพณี ขนบธรรมเนียม คือจะไม่เอาอะไรอีกแล้ว จะเป็นอิสรชน คนเถื่อนเสรี”

อ่านแล้วก็ไม่แน่ใจว่าควรจะขำ หรือควรจะเศร้ากับคนที่เขียนอะไรแบบนี้ออกมาได้ หรือควรจะเพิกเฉย ไม่ใส่ใจ ไม่พึงไปวิสาสะสนทนากับข้อความอันหาสาระมิได้เช่นนี้ สุดท้ายฉันคิดว่าควรจะแวะคุยอะไรกับแนวคิดเช่นนี้ดีกว่าให้มันลอยนวลผ่านไป

ถามว่ามีอะไรที่อันตรายในความคิด ความเชื่อเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคิดว่า สิ่งที่เป็น “กระแสหลัก” ของสังคมไทยซึ่งหลักการประชาธิปไตยถูกพรากไปจากสังคมนี้มาตั้งแต่ปี 2549 สืบเนื่องยาวนานมาถึงปัจจุบัน ที่เราแทบจะลืมไปโดยสิ้นเชิงว่า ในฐานะพลเมืองของรัฐ เราพึงมีสิทธิ มีศักดิ์ศรี อะไรและอย่างไรบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ เราต้องสำเหนียกตัวเองอยู่เสมอว่าสิ่งที่กลายเป็น ”บรรทัดฐาน” หรือ ได้ถูกสถาปนาให้กลายเป็นความถูกต้องของสังคม คือคุณค่าของความเป็นเผด็จการอำนาจนิยม

ย้ำว่า ณ ขณะนี้ไม่ว่าเราจะพูด หรือเขียนอะไรเราพึงรู้ว่า reference หรือข้ออ้างอิงว่าด้วย “ความถูกต้อง” หรือ “ความดีงาม” ของสังคมไทยนั้นเป็นความถูกต้องดีงามที่อิงอยู่กับคุณค่าของอุดมการณ์เผด็จการอำนาจนิยม

สิ่งที่ระบอบเผด็จการเห็นว่าดีและถูกต้องเช่น การเชื่อฟังคำสั่งโดยปราศจากการโต้แย้ง, การเคารพในระบบอาวุโสอย่างไม่เงื่อนไข, หน้าที่สำคัญกว่าสิทธิ, ความสามัคคีกับคนหมู่มากสำคัญกว่าความเป็นปัจเจกบุคคล ที่สำคัญระบอบอำนาจนิยมรังเกียจความรู้ที่หมายถึง “ปัญญา” แต่ยินยอมให้คนมีแค่ความรู้เชิงเทคนิคเพื่อให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เรียนหนังสือให้อ่านออกเขียนได้ เพื่อรับคำสั่ง ฟังคำสั่ง ทำตามคำสั่งอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ไม่ใช่เรียนหนังสือเพื่อให้อ่านเป็น คิดเป็น ตั้งคำถามหรือสังเคราะห์ความรู้เป็น ในระบอบนี้เราอาจจะมีหมอ มีวิศวกร ที่เก่งมากในการรักษาโรค หรือสามารถสร้างตึก สร้างสนามบิน อะไรก็ได้ ขณะเดียวกันคนที่เก่งมากๆในเชิงวิชาชีพเหล่านี้กลับไม่มี “ปัญญา” พอที่จะรู้เท่ากันการโฆษณาชวนเชื่อของระบอบอำนาจนิยมที่โดยแก่นแกนของมันคือการปฏิเสธว่ามนุษย์มีเจตจำนงเสรี มีศักดิ์ศรี มีคุณค่าในตัวเองอันเป็นคุณค่าที่ติดตัวเรามาแต่กำเนิดไม่ว่าเราจะเป็นเพศอะไร ผิวสีอะไร หน้าตาแบบไหนจะโง่ หรือจะฉลาด จะเชื่อในอะไร และจะไม่เชื่ออะไร

เมื่อระบอบเผด็จการอำนาจนิยมต้องการให้คน “เชื่อ” มากกว่าให้คน “คิด” สิ่งหนึ่งที่เผด็จการต้องปลูกฝังลงไปในสังคมอีกประการหนึ่งคือการให้คนเชื่อว่าความจริงและความถูกต้องมีเพียงหนึ่งเดียว อารมณ์

“ผิดจากนี้ไม่ใช่” ดังนั้นสังคมเผด็จการจึงเป็นสังคมที่ไม่สิ่งที่เรียกว่า “ทางเลือก” ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า alternative

กลับไปที่ข้อเขียนข้างบนที่บอกว่า

“คนสมัยนี้และต่อๆไปจะไม่ทำอะไรอีกแล้ว ไม่ว่าจะเคารพธงชาติ สวดมนต์ นับถือศาสนา ใส่ยูนิฟอร์ม การบ้าน เข้าค่าย กิจกรรม วัฒนธรรม ประเพณี ขนบธรรมเนียม คือจะไม่เอาอะไรอีกแล้ว จะเป็นอิสรชน คนเถื่อนเสรี”

ในชั้นที่ตื้นที่สุด นี่คือตัวอย่างของคนที่ถูกกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูหรือพูดให้กระชับว่าถูกล้างสมองมาให้หลงใหลในระบอบเผด็จการ นั่นคือเขาเชื่ออย่างไร้ข้อกังขาว่า ความดีงาม ความถูกต้องนั้นมีแค่หนึ่งเดียว เช่น ต้องนับถือศาสนา ต้องสวดมนต์ ต้องเข้าค่าย ต้องมีกิจกรรม ต้องใส่ยูนิฟอร์ม วัฒนธรรมประเพณี – ผิดจากนี้ ถือเป็นความเลว. เป็นคนเถื่อน!?

มิหนำซ้ำการเริ่มต้นประโยคว่า “คนสมัยนี้” ก็ชวนให้สงสัยว่า “คนสมัยโน้น” ในจินตนาการของเขาเป็นคนสมัยไหน? ธงชาติที่เป็นธงไตรรงค์ของไทยนั้นมีกำเนิดเมื่อปี 2460, เพลงชาติไทยมีครั้งแรกในปี 2477 ก่อนจะปรับมาเป็นเวอร์ชั่นปัจจุบันในปี 2482 ส่วนการเคารพธชาตินั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2485 หรือเมื่อ77 ปีที่ผ่านมา

ในส่วนของยูนิฟอร์มนั้น ถ้าหมายถึงชุดนักเรียนนั้นมีการประกาศลงพระราชกิจจานุเบกษาเรื่องชุดนักเรียนเป็นครั้งแรกในปี 2482

ส่วนเรื่องการนักถือศาสนา สวดมนต์นั้นแม้ผู้คนในดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันจะนับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ก็ไม่มีหลักฐานปรากฎชัดเจนว่าคนสยามและคนพื้นเมืองทั้งหลายสวดมนด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอเป็นกิจวัตร หรือ ไม่ปรากฎว่าให้เห็นในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใดๆว่าคนที่ไม่สวดมนต์จะเป็นคนเถื่อนคนชั่วอะไร และเป็นที่รู้กันว่าคนสยามและคนพื้นเมืองในถิ่นนี้นับถือทั้งศาสนาพุทธควบคู่ไปกับการนับถือผีมีปรพณีพิธีกรรมว่าด้วยการนับถือผีปรากฎให้เห็นและตกค้างมาจนถึงปัจจุบัน

เรื่องการ “เข้าค่าย” และ “การบ้าน” ยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่ามันต้องเป็นเรื่องที่ใหม่มากๆ และเป็นเรื่องของคน “สมัยนี้” มากกว่าของคน “สมัยโน้น” อย่างแน่นอน

ส่วนวัฒนธรรม ประเพณี ขนบธรรมเนียมนั้น ผู้ที่ได้รับการศึกษามาบ้างย่อมรู้ว่า วัฒนธรรมนั้นเป็นคำกลางๆ เราไม่อาจไปว่าใครได้เลยว่าเขาไม่ทำตาม “วัฒนธรรม” ทว่าเราต้องระบุไปด้วยว่าเขาไม่ทำตามวัฒนธรรมอะไร? เพราะวัฒนธรรมมีทั้งแต่ วัฒนธรรมไทย อันต้องแบ่งออกเป็นไทยยุคไหน? ไทยรัตนโกสินทร์ต้องต้น? ไทยร่วมสมัย? ไทยราชสำนัก? ไทยชาวบ้าน? ถ้าจะหมายถึงไทยร่วมสมัยก็ต้องเจาะจงว่าเป็นไทยราชการ (Official Thai) หรือ ไทยชาวบ้านร้านตลาดทีเรียกว่าวัฒนธรรมวลชน ในกลุ่มของวัฒนธรรมมวลชนก็ยังมีแยกย่ออยออกเป็นกลุ่ม sub culture ออกไปอีกมาก เช่น วัฒนธรรมเด็กแว้น ถือเป็นกลุ่มวัฒธรรมย่อยของ youth culture หรือวัฒนธรรมวัยรุ่นหนุ่มสาว มีวัฒนธรรมของกลุ่มชนชั้นแรงงาน วัฒนธรรมของกลุ่มสาวข้ามเพศ วัฒนธรรมกะเทยไทย และอะไรอื่นๆอีกมากมายที่ลงหลักปักฐานกลายเป็น “วัฒนธรรม” ขึ้นมาได้

ส่วนประเพณี ขนบธรรมเนียม นั้นก็เป็นสิ่งที่ถูกปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับยุคสมัย และวิถีชีวิตของผู้คนมาโดยตลอด นับตั้งแต่ประเพณีงานศพ งานแต่ง งานหมั้น การขึ้นบ้านใหม่ ซึ่งคงไม่จำเป็นต้องมานั่งอธิบายว่าทุกประเพณีอันเกี่ยวเนื่องกับการเกิด แก่ เจ็บตาย ของคนไทยเรานั้นเปลี่ยนแปลงมาอย่างไรจากอดีต ถึงปัจจุบัน เอาเดี๋ยวนี้เรายังมีพวงหรีดพัดลม แทนพวงหรีดดอกไม้ มิพักต้องบอกว่าธรรมเนียมการมอบพวงหรีดดอกไม้นั้นก็เป็นสิ่งที่เพิ่งมีมาไม่นานเช่นกัน หาใช่ขนบธรรมเนียมประเพณีโบราณอะไร , งานแต่งงานสมัยนี้ก็ไม่มีใครจัดที่บ้านมีแต่ไปจัดที่โรงแรม เป็นต้น

สิ่งที่น่าสนใจมากคือคนที่เขียนไอ้ข้อความบ้าๆบอข้างต้นนั้นคือผลผลิตของการถูกล่อมเกลาทางสังคมของไทยอันฉันไม่แน่ใจว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ทั้งการศึกษาในโรงเรียน, สื่อมวลชนกระแสหลักที่เขาเติบโตมากับมัน, คำพูดและเรื่องราวในหนังในละครที่เขาดู แต่มันสะท้อนว่า เขามีชุดความรู้สำเร็จรูปเรื่องเมืองไทยคล้ายๆกับที่อยู่ในแผ่นพับโฆษณาประเทศไทยของททท. นั่นคือพูดถึงประเทศไทยปุ๊บก็คือประเทศไทยสำเร็จรูปเลย มีธงชาติ มีเพลงชาติ มีวัด มีการสวดมนต์ มีโรงเรียน มีเสาธง มีขนบธรรมเนียมประเพณีไทย มีข้าวแช่ มีรำไทย มีชุดไทย มีดนตรีไทย มีสงกรานต์ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ มีไหว้ มีคำว่าสวัสดี มีเครื่องแบบนักเรียน นิสิต นักศึกษา มีการบ้าน มีครูที่เป็นที่เคารพและมีบุญคุณ มีการบ้าน มีเข้าค่าย มีเด็กผู้หญิงที่รักนวลสงวนตัว มีเด็กผู้ชายที่เป็นสุภาพบุรุษ มีผ้าไทย ฯลฯ – นี่คือเมืองไทย สังคมไทยในมโนฯของคนที่เขียนอะไรแบบนี้

นอกจากจะเห็นประเทศไทยเป็นของสำเร็จรูปปราศจากพัฒนาการ และความขัดแย้ง เปลี่ยนแปลงใดๆแล้ว สำนึกทาง “เวลา” ของเขา ยังเป็นสำนึกทางเวลาที่เห็นว่าเวลานั้นเดินจากโมงยามแห่งความเรืองรองไปสู่ความเสื่อมทรามที่รออยู่ข้างหน้า สำนึกทางเวลาเช่นนี้ชวนให้คนกลัวความเปลี่ยนแปลง กลัวอนาคต และจมปลักอยู่กับเรื่องเล่าว่าด้วยความสำเร็จของบรรพชน ยุคทองมักเป็นยุคของคนที่เป็นบรรพบุรุษของเราเสมอ ส่วนเราซึ่งมีชีวิตกับปัจจุบันนั้นก็จะเฝ้าคร่ำครวญว่า เราไม่มีอะไรดีพอที่จะเคียบเคียงกับบรรพชนในอดีต จึงต้องเจียมตัว และสำนึกในบุญคุณของบรรพชนให้มาก ส่วนคนรุ่นหลังเรานั้นก็ยิ่งเหลวแหลก เละเทะ ละทิ้งมรดก วัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามที่บรรพชนเพียรสร้างเอาไว้ให้

สุดท้ายสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในข้อความที่ดูเหมือนจะไม่เป็นพิษเป็นภัยนี้คือการตอกย้ำอุดมการณ์ของสังคมเผด็จการอำนาจนิยมว่าความถูกต้องเพียงหนึ่งเดียว

ถ้าไม่นับถือศาสนา – ผิด

ไม่สวดมนต์ – ผิด

ไม่เคารพธงชาติ – ผิด

ไม่สวมเครื่องแบบผิด – ผิด

ฯลฯ

กลับมาที่หลักการของสังคมประชาธิปไตยในโลกสมัยใหม่ (คำว่าสมัยใหม่หมายถึงโลกในศตวรรษที่ 20 ลงมา) ที่อู่อารยธรรมของโลกยุคนี้วัดกันที่ “สิทธิมนุษยชน” สิ่งที่ทรงคุณค่าที่สุดคือ คุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่รัฐจะต้องทั้งประกันและปกป้องสิทธิความเป็น “คน” ของพลเมืองของตนเองเอาไว้เป็นสำคัญ

สิทธิและคุณค่าแห่งความเป็นคนไม่ว่าจะเป็นเพศไหน หน้าตาอย่างไร มีไอคิวเท่าไหร่ นับถือศาสนาอะไร หรือไม่นับถือศาสนา หรือแม้เมือคนๆนั้นทำผิดกฎหมายของรัฐ แต่ไม่ได้แปลว่า ความเป็น “คน” ของเขาจะไม่ถูกพิทักา์ รับรองปกป้องโดยรัฐ

ด้วยหลักการนี้รัฐสมัยใหม่ที่มี “วัฒนธรรม” ว่าด้วยการเป้นคุณค่าของความเป็นมนุษย์จึงต้องประกาศความเป็น “รัฐฆราวาส” ด้วยนั่นแปลว่า ศาสนาเป็น “สิทธิส่วนบุคคล” เป็นความเชื่อส่วนบุคคล จะมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ และ รัฐไม่พึงชี้นำพลเมืองของตนให้มีหรือไม่มีศาสนา และต้องปฏิบัติต่อคนทั้งมีศาสนา ไม่มีศาสนา อย่างเสมอภาคกัน

ในส่วนของ “เครื่องแบบ” นั้น หากไม่ใช่เครื่องแบบที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ เช่น อาชีพโฟร์แมนในไซต์ก่อสร้างต้องถูกบังคับให้สวมรองเทาชนิดหนึ่งเป็นการจำเพาะเพื่อความปลอดภัย และถือเป็นเครื่องแบบ หรือ เครื่องแบบที่มีฟังก์ชั่นต่ออาชีพการงาน ย่อมไม่ใช่สิ่งที่พึงเอามาบังคับให้สวมใส่โดยไม่จำเป็น

ดังนั้นหากจะมีโรงเรียน หรือ มหาวิทยาลัย ที่นึกไม่ออกว่ามีเหตุผลอะไรที่ต้องให้นักเรียน นักศึกษาแต่งตัวตามข้อบังคับของเครื่องแบบที่เป้ฯอยู่ก็ย่อมสามารถคิดเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบหรือยกเลิกการบังคับไปเสียก็ย่อมได้

พูดให้สั้นการที่คนกลุ่มหนึ่งในสังคมพยายามหาเหตุผลของการมีอยู่ของข้อบังคับต่างๆในสังคมแล้วหาไม่เจอ เช่น คุณภาพการศึกษาของเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับเครื่องแบบนักเรียนเลยแม้แต่น้อย แล้วถ้าการไม่มีเครื่องแบบมันจะทำให้ชีวิจตงาสยกว่า สนุกกว่า ทำไมเรายังต้องมีมันล่ะ?

การบ้านทำให้เราเรียนเก่งขึ้น และมีความรับผิดชอบขึ้นจริงหรือไม่? หรือมันทำให้เรามีทักษะการลอกการบ้านที่น่าทึ่งกันแน่?

การเข้าค่ายนั้นทำให้เราเป้นคนดีขึ้นหรือทำประโยชน์ให้กับสังคมจริงหรือ?

ความรักชาติวัดจากการยืนเคารพธงชาติเท่านั้นหรือ? เราแสดงออกซึ่งความรักชาติด้วยวิธีอื่นได้หรือไม่?

ประเทศอื่นๆที่พลเมือของเขาก็รักชาติ เคารพกติกา กฎหมาย บ้านเมืองเจริญ เขารักชาติกันอย่างไรบ้าง?

การตั้งคำถามเหล่านี้ทำให้พวกเขากลายเป็น ”เสรีชนคนเถื่อน” หรือ?

แล้วถ้าการเป็นคนเอื่นจะหมายถึงการเป็นคนที่ตั้งคำถามต่อการใช้อำนาจควบคุมกดทับความเป็นมนุษย์ที่พึงมีเจตจำนงเสรีเป็นของตนเองภายใต้กฏหมายภายใต้รัฐธรรมนูญแล้วการเป็นคนเถื่อนก็น่าจะดีกว่าการเป็นคนเชื่องหรือไม่?

ในรัฐหรือในสังคมที่เคารพความเป็นมนุษย์ให้คุณค่ากับความเป็นมนุษย์ ย่อมไม่ปราถนาพลเมืองที่เชื่องเซื่องซึม แต่ปราถนาพลเมืองที่คิดได้ ตั้งคำถามได้ ภูมิใจในตัวเอง และมุ่งหวังให้ตัวเองเป็นแรงขับเคลื่อนสังคมให้ดียิ่งๆขึ้นไป สังคมที่ดีคือสังคมที่เพื่อนร่วมโลกของเราแม้ในข้อจำกัดอย่างที่สุดก็พึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะมีได้ นั่นหมายถึงสังคมอันสามารถจัดสรรทรัพยากรในการดูแลคนทุกคนให้พอจะมีชีวิตที่มีศักดิ์ศรีพอประมาณ

ไม่ใช่สังคมที่โอนเงินเข้าบัญชีเขาสามร้อยห้าร้อยแล้วต้องงกๆเงิ่นๆพยายามกดเอทีเอ็ม หรือ นำเงินในบัตรไปซื้อน้ำมันพืช น้ำตาล น้ำปลาภายใต้เงื่อนไขมากมายก่ายกองแถมยังถูกทวงบุญคุณอย่างไม่รู้แล้ว

ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามสำหรับฉันคำว่า “อิสรชน” นั้นเป็นคำที่สวยงามและทรงคุณค่า