จิตต์สุภา ฉิน : เทคโนโลยีสัตว์เลี้ยง PeTech กำลังมาแรง

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ฉันชอบกลับบ้านที่ต่างจังหวัดเพราะในบ้านจะเต็มไปด้วยหมาแมวให้เล่นให้ฟัดไม่ว่างเว้น

ลูบหัวตัวหนึ่งเสร็จ ก็ย้ายไปหยิกแก้มอีกตัวหนึ่งต่อ

การที่นานๆ ทีกลับไปที ภาระหน้าที่ของฉันในการดูแลพวกมันจึงไม่ค่อยมี

กลับไปสามสี่วันก็เน้นเล่นเสียเป็นส่วนใหญ่ คิดงานไม่ออกก็ปิดคอมพ์เดินออกไปเล่นกับหมาแมวก็จะช่วยให้หัวโล่งพอที่จะกลับมาทำงานต่อได้แล้ว

พอได้ลองเลี้ยงหมาของตัวเองดูบ้างก็พบว่าสไตล์การมีปฏิสัมพันธ์แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

หมาที่อยู่ด้วยกันในพื้นที่ที่ไม่กว้างนัก และมีแค่ตัวเดียวก็ทำให้ไม่ต้องแบ่งความสนใจมากและทุ่มเทให้กับมันได้เต็มที่

จึงเป็นที่มาของการช้อปปิ้งหนักหน่วงเพื่อน้องหมา ทั้งเสื้อผ้า ขนม ลามไปจนถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีที่จะทำให้ฉันติดต่อสื่อสารกับมันได้ในช่วงระหว่างวันที่ฉันไม่อยู่บ้าน

อย่าง Pawbo ที่ทำหน้าที่ได้หลายอย่าง ทั้งเป็นกล้องให้เราคอยสอดส่องความเคลื่อนไหวเวลามันอยู่บ้านตัวเดียว

เป็นที่ให้ขนมที่เราสามารถกดปุ่มในแอพพ์เพื่อให้มันปล่อยขนมออกมาให้ทีละชิ้น เป็นลำโพงให้ฉันส่งเสียงไปทักทายให้มันงงเล่น

เป็นไมโครโฟนให้ฉันแอบฟังเสียง

ไปจนถึงความสามารถในการยิงแสงเลเซอร์เพื่อหลอกล่อให้มันคอยไล่ตะครุบเป็นนัยๆ ว่าให้มันได้ออกกำลังกายแม้ว่าเราจะไม่ได้อยู่เล่นด้วยอะไรแบบนั้น

(แต่น่าเสียดายที่หมาฉันไม่ค่อยแอ๊กทีฟกับสิ่งเร้ารอบตัวเท่าไหร่ มันเลยใช้ประโยชน์จากฟีเจอร์ปล่อยขนมมากสุดและแทบไม่แยแสกับอะไรอย่างอื่นเลย)

 

เทคโนโลยีสัตว์เลี้ยง หรือ PeTech มีแนวโน้มที่จะเติบโตไปพร้อมๆ กับอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงที่ก็โตขึ้นเรื่อยๆ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์เลี้ยงก็ใกล้ชิดผูกพันกันมากขึ้น

คู่รักหลายคู่ที่ตัดสินใจไม่มีลูก หรือมีลูกช้า ก็เลือกกลบหลุมที่อาจจะเกิดขึ้นในใจด้วยการเลี้ยงหมาหรือแมวแทน

ในขณะที่คนยุคก่อนที่ลูกเริ่มโตและย้ายออกจากบ้านไปแล้วก็อาจจะรู้สึกว่าบ้านว่างเปล่าวังเวงจนต้องมีหมาสักตัวมาอยู่เป็นเพื่อนกัน
รู้ตัวอีกทีก็สนิทกับหมามากกว่าลูกไปเสียแล้ว

สถิติในสหรัฐอเมริการะบุว่าในปี 2018 ปีเดียว มีการลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัพที่ทำเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงมากกว่า 500 ล้านดอลลาร์ และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2019 นี้ จนน่าจะกลายเป็นภาคส่วนที่ฮอตฮิตที่สุดส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของโลกเลยทีเดียว

การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงสำหรับคนยุคใหม่ไม่ใช่แค่ให้มันกินอิ่มนอนหลับเท่านั้น แต่ยังดูแลไปจนถึงขั้นที่ต้องรู้ว่าน้องหมาน้องแมวของเรามีความสุขและสุขภาพดีด้วย คล้ายๆ กับการเลี้ยงลูกเลยนั่นแหละ

เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของสัตว์เลี้ยงดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง ในเมื่อคนมีสายรัดข้อมือหรือนาฬิกาสมาร์ตวอตช์ที่คอยเก็บข้อมูลสุขภาพ การเดิน การนอน การออกกำลังกายของเราอยู่ตลอดเวลา ทำไมสัตว์เลี้ยงของเราจะมีบ้างไม่ได้ แบรนด์อย่าง FitBark หรือ Pitpat เป็นแทร็กเกอร์คล้องคอสุนัขเพื่อคอยเก็บข้อมูลกิจกรรมต่างๆ ที่พวกมันทำในแต่ละวัน ทั้งการเดิน วิ่ง นอน และคอยเตือนเราว่ามีอะไรผิดปกติที่ต้องคอยจับตาดูบ้างหรือเปล่า
คิดจะเป็นสัตว์เลี้ยงในยุคเทคโนโลยีเฟื่องฟูแบบนี้อย่าเผลอคิดไปว่าแค่รอให้เจ้าของออกจากบ้านก็จะสะบัดตูดไปนอนเหยียดยาวขี้เกียจอยู่บนโซฟาได้ทั้งวันเชียว

เพราะแก็ดเจ็ตอย่าง CleverPet จะทำให้หมาแมวต้องลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสายและฝึกสมองอยู่เรื่อยๆ

 

CleverPet เป็นแก็ดเจ็ตที่ออกแบบมาคล้ายๆ หมวกก่อสร้างที่ส่วนหน้าเว้ากลับเข้าไป บริเวณปีกหมวกจะมีปุ่มสัมผัสสามปุ่มที่เปลี่ยนสีไปเรื่อยๆ แล้วแต่เกมที่ออกแบบมาให้หมาแมวเล่น
พอเล่นเสร็จก็จะเปิดฝาให้ขนมเป็นรางวัล

บริษัทผู้ผลิตบอกว่ามีเกมพัซเซิลให้เล่นหลายแบบ ความยากง่ายขึ้นอยู่กับความสามารถของหมาแต่ละตัว

ซึ่งแต่ละเกมก็ออกแบบมาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านความสามารถในการรับรู้ของสัตว์เลี้ยงโดยตรง

จบจากสุขภาพของสัตว์เลี้ยงแล้วก็มาที่ความสะดวกสบายต่อ Sure PetCare คิดค้นเทคโนโลยีประตูอัจฉริยะสำหรับสุนัขที่เปิดเองได้อัตโนมัติทันทีที่มันสัมผัสได้ว่าไมโครชิพที่ฝังไว้ในตัวสัตว์เลี้ยงกำลังเดินเข้ามาใกล้

แม้ว่าประโยชน์ดูเหมือนจะเล็กน้อยแค่ช่วยให้มันไม่ต้องเปิดประตูด้วยตัวเอง

แต่จริงๆ มีมากกว่านั้น คือการป้องกันไม่ให้สัตว์อื่นๆ จากภายนอกบ้านใช้ประตูเดียวกันนี้เข้ามาในบ้านได้

เพราะประตูจะเปิดให้กับสัตว์เลี้ยงที่มีไมโครชิพตรงกับในฐานข้อมูลเท่านั้น

อำนวยความสะดวกเรื่องประตูแล้ว ก็ยังมีเทคโนโลยีที่ดูแลจัดการในด้านอื่นๆ อีก เช่น ชามอาหารอัจฉริยะ ชามน้ำอัจฉริยะ ห้องน้ำแมวที่ทำความสะอาดตัวเองได้และยังคอยตรวจวัดข้อมูลด้านโภชนาการของหมาแมวด้วย

วันไหนเจ้าของจะไม่อยู่ ต้องเดินทางไปต่างจังหวัด ต่างประเทศ ก็มีบริการให้หาคนดูแลสุนัขได้ผ่านแอพพลิเคชั่น

คล้ายๆ กับที่เราใช้แอพพ์หาคู่เดต หาช่าง หาแม่บ้าน อะไรแบบนั้น
อย่างน้อยที่สุด เทคโนโลยีที่ช่วยเก็บข้อมูลสุขภาพของสัตว์เลี้ยงเราอย่างละเอียดก็มีประโยชน์ในการทำให้เรารู้จักสัตว์เลี้ยงของเราดีขึ้น
มีบันทึกข้อมูลทุกอย่างว่าวันไหนน้องหมาน้องแมวของเราน้ำหนักเท่าไหร่

สัตวแพทย์เคยจ่ายยาอะไรมาให้บ้าง กินดี หลับดี แค่ไหน
ซึ่งข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้ยังสามารถถูกส่งต่อไปให้สัตวแพทย์ใช้ในการช่วยรักษาดูแลได้อย่างละเอียดกว่าเดิม

หรือส่งให้กลุ่มคนเลี้ยงหมาแมวด้วยกันได้ใช้อ้างอิง

เทียบกับการไม่ใช้เทคโนโลยีแต่อาศัยการสังเกตเอาเฉยๆ ข้อมูลที่ได้ก็อาจจะไม่แม่นยำและไม่ถูกต้องก็ได้

พอเราเริ่มเก็บข้อมูลในแบบที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย เราในฐานะเจ้าของก็จะมีความท้าทายที่จะทำให้ข้อมูลนั้นดีขึ้น อย่างเช่น เล่นกับมันมากขึ้น พาไปออกกำลังกายมากขึ้น หาอาหารดีๆ ให้กินมากขึ้น

 

ทั้งหมดนี้น่าจะพอทำให้เราได้เห็นว่าเทรนด์ของเทคโนโลยีสัตว์เลี้ยง หรือ PeTech น่าจะยังเติบโตได้อีกเยอะ จะยังมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกมาให้เราได้ใช้กับหมาแมวที่เรารักเหมือนลูกมากขึ้นในแบบที่เราก็อาจจะคิดไม่ถึง อุตสาหกรรมนี้จะมีผู้เล่นลงมาแข่งขันกันเยอะขึ้น

และตราบใดก็ตามที่รายจ่ายของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายอย่างเราไม่ได้ถูกถ่ายเทไปที่ค่าเทอม ค่าเรียนพิเศษ ค่าอาหาร เสื้อผ้า ของเล่น อุปกรณ์ดูแลลูก และอื่นๆ อีกมากมายไม่มีวันหมด

ก็จะมีเหลือเพียงพอที่จะให้เราทุ่มลงไปกับน้องหมาและแมวที่รักของเราได้เต็มๆ