แล้งไป-พายุฝนมา ‘หนี้’ ท่วมครัวเรือน ศก.แย่-การเมืองยุ่ง ‘เรือเหล็ก’ เครื่องสะดุด

  • ประเทศไทยเคราะห์ซ้ำกรรมซัดจากสถานการณ์ภัยธรรมชาติเกษตรกรรายได้ยังไม่ฟื้นตัวจากภัยแล้งฝนทิ้งช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เรือกสวนไร่นาเสียหายจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อมูลค่าสูญเสียทางเศรษฐกิจนับหมื่นล้าน

เข้าสู่เดือนกันยายน สถานการณ์ก็พลิกกลับหน้ามือเป็นหลังมือ สัปดาห์เดียวพายุก่อตัวซัดกระหน่ำ 2 ลูกติด เริ่มจากดีเปรสชั่น “โพดุล” ตามด้วยโซนร้อน “คาจิกิ” ก่อเกิดเป็นอุทกภัยครั้งใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ 26 จังหวัดทุกภาคทั่วประเทศ กระทบประชาชนกว่า 60,000 ครัวเรือน
พื้นที่เพาะปลูก นาข้าวเสียหายกว่า 600,000 ไร่ พืชไร่ พืชสวนและอื่นๆ กว่า 45,000 ไร่ ประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บ่อปลา บ่อกุ้ง เสียหายเกือบ 7,000 บ่อ ด้านปศุสัตว์ โค กระบือ สุกร แพะมากกว่า 54,000 ตัว และสัตว์ปีกอีกกว่า 620,000 ตัว

ไม่รวมทรัพย์สิน บ้านเรือน วัด โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ราชการ ถนน สะพาน เสาไฟฟ้า ฯลฯ ได้รับความเสียหายจำนวนมาก และความสูญเสียที่ประเมินเป็นราคาไม่ได้
จากการเปิดเผยของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
มีผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยครั้งนี้อย่างน้อย 14 ราย

  • ผลพวงจากภัยแล้งและน้ำท่วม ถึงจะเกิดขึ้นในช่วง 2-3 เดือนแต่ก็ส่งผลลบต่อภาวะเศรษฐกิจประเทศโดยรวม จากเดิมได้รับแรงกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐอยู่แล้ว ให้ทรุดต่ำลงไปอีก
    เบื้องต้นสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ปรับประมาณการทั้งปีของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร หรือจีดีพีภาคเกษตร เหลือร้อยละ 2-2.3 จากเดิมเมื่อต้นปีประมาณการไว้ที่ร้อยละ 3.0-3.5 และเติบโตน้อยกว่าปีก่อนที่ร้อยละ 4.6

จากสถานการณ์ภัยแล้งและน้ำท่วมในภาคเหนือและภาคอีสานจากพายุโพดุล ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรเสียหายจำนวนมาก แม้จะยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ชัดเจนเนื่องจากต้องรอให้น้ำลด และให้พายุคาจิกิหมดฤทธิ์ไปก่อน

แต่เบื้องต้นพบว่าได้สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวในหลายจังหวัดภาคอีสาน ทำให้ผลผลิตลดลง บวกกับก่อนหน้านี้ที่ประสบปัญหาภัยแล้งเสียหายหลายแสนไร่

ผลที่ตามมา ข้าวเพื่อการบริโภคไม่ขาดแคลน แต่ข้าวเพื่อการส่งออกอาจมีปริมาณลดลงและราคาสูงขึ้น
“พายุทั้งสองลูกส่งผลให้นาข้าวเหนียวและหอมมะลิได้รับความเสียหาย ไม่สามารถซ่อมหรือปลูกทดแทนได้ นอกจากนี้ ยังมีพืชไร่ที่เสี่ยงเสียหายอีก คือ มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อยโรงงาน ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อมูลชัดเจนในเดือนตุลาคมนี้”
น.ส.จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสภาพัฒน์ระบุ

  • ช่วงประเทศประสบปัญหาภัยแล้งเดือนสิงหาคม รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ตัดสินใจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ วงเงินกว่า 300,000 ล้านบาท หวังกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากถึงตอนนี้ทำท่าจะละลายหายไปกับสายน้ำ

เงินเติมบัตรคนจน 2 เดือน เดือนละ 500 บาท รวม 1,000 บาท นอกจากเสียงวิจารณ์ว่าเป็นนโยบาย “ประชานิยม” ชนิดต้นตำรับยังต้องชิดซ้าย ยังถูกมองไม่ต่างจากการจ่ายยาพิษให้ดื่มแก้กระหาย

การแจกเงิน 1,000 บาทจูงใจท่องเที่ยวจังหวัดเมืองรอง ผิดจังหวะเวลาจนเปล่าประโยชน์ เพราะในปัจจุบันเศรษฐกิจไม่ดี ประชาชนส่วนใหญ่ขาดรายได้เลี้ยงชีพที่มั่นคง ไม่มีอารมณ์ออกไปท่องเที่ยว
มาตรการบรรเทาค่าครองชีพเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งปี 2562 ไม่ว่าการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ขยายเวลาชำระหนี้ และสนับสนุนต้นทุนการผลิต แต่ภัยธรรมชาติพลิกผันรวดเร็วเกินกว่าจะรับมือได้ทัน

เกษตรกรเพิ่งเป็นหนี้กู้ยืมเงินเพาะปลูกก็ต้องมาเจอกับภัยแล้ง ผ่านอุทกภัยครั้งนี้อาจต้องกู้หนักกว่าเดิม
ขณะที่รัฐบาลมีความจำเป็นต้องรักษาสถานะและคะแนนเสียง ด้วยการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยเฉพาะเกษตรกรอีกรอบ

ตามตัวเลขเดิมกระทรวงการคลังชดเชยให้ ข้าวไร่ละ 1,113 บาท/ไร่ พืชไร่ 1,148 บาท/ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 1,690 บาท/ไร่ ชดเชยรายละไม่เกิน 30 ไร่ กรณีพืชที่เพาะปลูกถูกดิน หิน ทราย ไม้ โคลนทับให้ช่วยเหลือ 7,000 บาท ไม่เกิน 5 ไร่/ราย


“ตัวเลขเหล่านี้เป็นตัวเลขล้าสมัย ควรพิจารณาปรับเพิ่มขึ้นให้เกษตรกร” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ พรรคพลังประชารัฐระบุ

ซึ่งนั่นอาจหมายถึงงบประมาณจำนวนไม่น้อย น้ำท่วม-ภัยแล้ง ยังเป็นปัจจัยเสริมส่งให้สถานการณ์ “หนี้ครัวเรือน” ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้ามีความน่าเป็นห่วงมากขึ้น

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยในไตรมาสแรกปี 2562 พบว่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560
ปัจจุบันมีมูลค่ารวมถึง 12.97 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78.7 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี เข้าใกล้ภาวะวิกฤตที่ร้อยละ 80 ถึงจุดที่สภาพัฒน์มองว่า เป็นสถานการณ์น่ากังวลเพราะเป็นการเพิ่มขึ้นในช่วงเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว

โดยปัจจุบันตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยติดอยู่ในอันดับ 11 จาก 74 ประเทศทั่วโลก เป็นอันดับ 2 ของเอเชียรองจากเกาหลีใต้

กระนั้นก็ตาม ตัวเลขที่สภาพัฒน์เปิดเผยเป็นตัวเลขในไตรมาสแรกปีนี้เท่านั้น คือช่วงมกราคม-มีนาคม จึงต้องรอดูผลสำรวจไตรมาสสองและสาม

โดยเฉพาะไตรมาสสาม กรกฎาคม-กันยายน ที่ประชาชนจำนวนมากต้องเจอกับภัยแล้งและน้ำท่วม โดยเฉพาะผู้อยู่ในภาคการเกษตร 12 ล้านคน พ้นช่วงนี้ไปจะมีหนี้สินพอกพูนขึ้นอีกหรือไม่
ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ปรากฏข่าวคนฆ่าตัวตายเพราะพิษเศรษฐกิจหลายราย มีทั้งฆ่าตัวตายคนเดียว มีทั้งฆ่าตัวตายแบบยกครัว สาเหตุเพราะธุรกิจที่ทำอยู่ต้องประสบการขาดทุน หมดสิ้นหนทางหาเงินมาชำระหนี้ไม่ว่าในระบบหรือนอกระบบ

  • ขณะที่รัฐบาลความหวังสุดท้ายของประชาชน กลับไม่ฉับไวต่อปัญหา เนื่องจากต้องแบกน้ำหนักหลายเรื่องพร้อมกันที่ปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง โดยเฉพาะกรณีถวายสัตย์ไม่ครบ ที่เป็นเหมือนชนักปักหลัง

กว่าที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมจะนำคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่น้ำท่วม จ.พิษณุโลก และสุโขทัยเยี่ยมเยียนประชาชนผู้ประสบอุทกภัยก็เข้าสู่ช่วงปลายพายุคาจิกิ ทั้งยังถูกคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย โชว์เดินลุยน้ำปาดหน้าไปก่อนที่ จ.ร้อยเอ็ด

ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์ นายกฯ และรัฐบาลมัวกังวลอยู่กับการแก้เกมการเมืองเรื่องถวายสัตย์ไม่ครบ จนไม่มีเวลาเหลือให้กับการแก้ไขปัญหาปากท้อง ความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชนอย่างจริงจัง

ต้องรอดูฉากที่รัฐบาลเตรียมเปิดลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยรอบใหม่ภายในสิ้นปีนี้ จะมีคนจนเพิ่มขึ้นหรือน้อยลง จากปัจจุบันที่มีผู้ถือบัตรคนจนจำนวน 14.5 ล้านใบ


มีความพยายามก่อกระแสกดดันฝ่ายค้านให้รามือจากกรณีถวายสัตย์ อ้างว่าเพื่อเป็นการเปิดทางรัฐบาลเดินหน้าบริหารประเทศ ทำงานแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องประชาชนได้เต็มที่ ฝ่ายค้านไม่ควรสกัดขัดขวาง

แต่ก็ถูกสวนในมุมกลับ ฝ่ายค้านเปิดโอกาสให้รัฐบาลหาทางแก้ไขเรื่องนี้มานานนับเดือน แต่เป็นรัฐบาลเองที่เลี้ยวลด เลี่ยงไปเลี่ยงมา จัดการกับปัญหาแบบผิดวิธี จนกลายเป็นเข้าทำนองลิงแก้แห ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง
สะดุดทั้งการเมือง สะดุดทั้งเศรษฐกิจ สองปัญหาใหญ่ที่แยกจากกันไม่ออก เจอพายุโพดุล-คาจิกิถล่มซ้ำติดกัน 2 ลูกซ้อน เรือเหล็กปริ่มน้ำจำเป็นต้องเลือกทิ้งประชาชนไว้ข้างหลัง ถ่ายน้ำหนักเอาตัวเองรอดก่อนชั่วคราว

ตั้งหลักได้เมื่อไหร่ค่อยว่ากันอีกที