ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจไทย-มาเลเซีย จะนำสันติภาพมาสู่ จังหวัดทางใต้ของไทยในที่สุด

จรัญ มะลูลีม

หมายเหตุ : เส้นทางความสัมพันธ์ทางสังคม-เศรษฐกิจ ระหว่างประเทศไทย-มาเลเซีย (9)

ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ประเทศไทยและมาเลเซียมีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นและมีความร่วมมือทวิภาคีในหลายๆ ด้าน

ตัวอย่างเช่น คณะกรรมการความร่วมมือไทย-มาเลเซีย (Thailand-Malaysia Joint Commission-JC) พื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area – JDA) คณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย (Joint Development Strategy for border Area-JDS) ความสัมพันธ์และความร่วมมือในทุกด้านจะช่วยส่งเสริมกิจการต่างๆ และช่วยยกมาตรฐานชีวิตของประชาชนในพื้นที่ชายแดนของสองประเทศได้เป็นอย่างมาก (Chapa Chitpratum, ความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซีย 2004-2006, Thailand-Malaysian Relations 2004-2006 (Bangkok : Institute of Asian Studies and Thailand Research Fund, 2009, p.1)

แผนการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันนั้น มาจากข้อตกลงของทั้งสองประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1979 การพัฒนาพื้นที่ร่วมดังกล่าวเป็นเวทีที่จะทำงานร่วมกันในการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการประมง ด้านน้ำมันและก๊าซโดยที่ความสัมพันธ์ที่มีมาก่อนระหว่างประเทศไทยและมาเลเซียเป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล

สำหรับการพัฒนาพื้นที่ร่วมจะเป็นการนำเสนอการเป็นหุ้นส่วนร่วมกันระหว่างภาครัฐบาล ภาคเอกชนและประชาชน การเข้ามาเกี่ยวข้องของภาคเอกชนในการส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสองประเทศได้นำไปสู่การสนับสนุนการมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย

นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาร่วมกันในพื้นที่ชายแดนของไทยและมาเลเซียอีกด้วย อย่างเช่น การจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจ (Socio-Economic Development committee – SEDEC) ก็เป็นหนึ่งในความร่วมมือดังกล่าว

ในทำนองเดียวกันการพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle-IMT-GT) ซึ่งก่อตั้งในปี 1993 ก็มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ของไทยและมาเลเซียผ่านแนวคิดสามเหลี่ยมเศรษฐกิจมาเลเซียและไทย มาเลเซียและประเทศไทยได้กลายเป็นคู่ค้าร่วมกันทางเศรษฐกิจที่เป็นกลุ่มก้อนพร้อมๆ ไปกับอินโดนีเซียในพื้นที่ที่เป็นเศรษฐกิจธรรมชาติที่สำคัญ

(Mala Rajo Sathian, Thai-Malaysian Relation Celebrating 50 years of Friendship and Alliance, Rajaphruek Bunga Raja, p.140)

 

ทั้งสองประเทศควรจะเพิ่มความสำคัญให้กับความพยายามที่จะพัฒนาพื้นที่ทางเศรษฐกิจของภาคใต้ด้วยความคิดที่จะสร้างงานและโอกาสทางธุรกิจสำคัญสำหรับประชาชนในพื้นที่ โครงการ IMT-GT ควรจะได้รับการส่งเสริมต่อไป และความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจควรได้รับการสนับสนุน (Omar Farouk Bajunid, The Malaysian Factor in the Prospects for Peace in Southern Thailand, op.cit., p.232)

ความร่วมมือดังกล่าวสามารถเห็นได้อย่างเด่นชัดเช่นการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก (Golok River) ที่เชื่อมต่อตำบลบูเก๊ะตา (Buketa) แห่งอำเภอแว้ง (Weang) ของจังหวัดนราธิวาส กับบูกิตบุงอ (Buket Bunga) ของรัฐกลันตัน

ในส่วนของไทยการสร้างสะพานแห่งนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นการเชื่อมความเป็นมิตรระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศเท่านั้น แต่ยังหมายถึงว่าประชาชนที่อยู่ตามฝั่งแม่น้ำโก-ลกเป็นมิตรและเป็นครอบครัวที่ใกล้ชิดกัน สะพานนี้ยังมีส่วนช่วยในการวางรูปแบบยุทธศาสตร์ทางการค้าตามชายแดน และเขตอุตสาหกรรมของจังหวัดนราธิวาสอีกด้วย

สะพานแห่งใหม่ที่จะเชื่อมต่อประเทศไทยและมาเลเซียนั้นถูกวางแผนเอาไว้ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนายุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของชายแดน สะพานสองสะพานจะถูกสร้างขึ้นข้ามแม่น้ำโก-ลก เชื่อมอำเภอตากใบของจังหวัดนราธิวาสไปยังประเทศมาเลเซีย

รัฐบาลไทยได้ให้การรับรองงบประมาณ 21 ล้านบาทสำหรับสะพานหนึ่งแห่ง ในขณะที่มาเลเซียจะรับผิดชอบสะพานอีกแห่งหนึ่ง คาดว่าสะพานทั้งสองแห่งจะสำเร็จพร้อมๆ กัน

นอกจากนี้ มาเลเซียและไทยยังได้มีแผนร่วมกันในการขยายทางผ่านชายแดนสะเดาที่มีคนหนาแน่น โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและโครงการพัฒนาความร่วมมือสำหรับอุตสาหกรรมยาง

ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวจะนำเอาสันติภาพกลับมายังพื้นที่ทางใต้ของประเทศไทยในที่สุด

 

การเชื่อมโยงนี้จะมีส่วนช่วยให้ผู้ที่เข้ามายังพื้นที่แห่งนี้ได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยว การขยายการส่งออกสินค้าเกษตรด้วยการใช้ถนนที่เชื่อมโยงสะพานบูเก๊ะตา-บูกิตบุงอหรือบูกิตบุหงา ไปยังเมืองตุมปัต (Tumpat) ของรัฐกลันตันได้

สำหรับมาเลเซียแล้ว เส้นทางนี้จะเป็นการขานรับยุทธศาสตร์พื้นที่เศรษฐกิจชายฝั่งตะวันออก (East Coast Economic Region-ECER) ซึ่งครอบคลุมรัฐกลันตัน ปาหัง ตรังกานูและบางส่วนของตำบลเมอร์ซิงรัฐยะโฮร์ พื้นที่เศรษฐกิจดังกล่าวจะนำไปสู่การพัฒนาในด้านเศรษฐกิจและการลงทุน รวมทั้งการท่องเที่ยวชายฝั่งตะวันออกตามลำดับ ศักยภาพในการเชื่อมต่อดังกล่าวนั้นมีอย่างไม่จำกัด

หนึ่งในข้อเลือกแรกๆ ก็คือการพัฒนาร่วมระหว่างภาคใต้ของไทยกับภาคเหนือของมาเลเซีย รวมทั้งการพัฒนาผ่านยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ด้วย

ในที่นี้การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกที่เชื่อมต่อบูเกะตาของจังหวัดนราธิวาส และบูกิตบุงอของรัฐกลันตันก็เป็นสัญลักษณ์ของความพยายามอย่างไม่สิ้นสุดของการเชื่อมโยงผู้คนสองประเทศที่มีจุดหมายเดียวกันในเรื่องของสันติภาพและความรุ่งเรือง

 

นอกเหนือไปจากความสัมพันธ์ทวิภาคีแล้ว ประเทศไทยและมาเลเซียยังคงเป็นคู่ค้าที่มีความใกล้ชิดในการส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคและในระดับโลกในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ทั้งชุมชนไทยและมาเลเซียจึงเป็นพันธมิตรตามธรรมชาติในการทำให้ ASEAN ก้าวหน้าและมีประชาชนเป็นจุดมุ่งหมาย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดดังกล่าวยังจะมาจากเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น การเสวนาว่าด้วยสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย

การเสวนาว่าด้วยความร่วมมือแห่งเอเชียหรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation) เป็นต้น (Message from General Surayud Chulanont, Former Prime Minister of the Kingdom of Thailand, Rajaphrueh Bunga Raja, p.7)