การ์ตูนที่รัก : The Prophet

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

“บุตรของเธอ ไม่ใช่บุตรของเธอ เขาเหล่านั้นเป็นบุตรและธิดาแห่งชีวิต

เขามาทางเธอ แต่ไม่ได้มาจากเธอ และแม้ว่าเขาอยู่กับเธอ แต่ก็ไม่ใช่สมบัติของเธอ

เธออาจให้ความรักแก่เขา แต่ไม่อาจให้ความนึกคิดได้ เพราะว่าเขาก็มีความคิดของตนเอง

เธออาจจะให้ที่อยู่อาศัยแก่ร่างกายของเขาได้ แต่มิใช่แก่วิญญาณของเขา

เพราะว่าวิญญาณของเขานั้นอยู่ในบ้านของพรุ่งนี้ ซึ่งเธอไม่อาจไปเยี่ยมเยียนได้แม้ในความฝัน

เธออาจพยายามเป็นเหมือนเขาได้ แต่อย่าได้พยายามให้เขาเหมือนเธอ

เพราะชีวิตนั้นไม่เดินถอยหลัง หรือห่วงใยอยู่กับเมื่อวันวาน”

จาก “ปรัชญาชีวิต” คาลิล ยิบราน

แปลโดย ระวี ภาวิไล

 ที่ยกมาคือหนึ่งในบทกวีจากหนังสือ The Prophet ของกวีเลบานอน คาลิล ยิบราน (Kahlil Gibran 1883-1931) เป็นหนึ่งในบทกวีที่จะมีปรากฏในหนังการ์ตูนปี 2014 Kahlil Gibran”s The Prophet ซึ่งมีแผ่นบลูเรย์สวยๆ ให้ดูแล้ว

เป็นหนังสือปี 1923 ของ คาลิล ยิบราน ที่มีผู้คนรู้จักกันมากที่สุด แปลมากกว่า 40 ภาษา และจำหน่ายมากกว่า 100 ล้านเล่มอย่างต่อเนื่อง

หนึ่งในผู้อ่านอย่างหลงใหลคือนักแสดงหญิงเม็กซิกัน ซัลมา ฮาเย็ค ซึ่งจะเป็นผู้ให้เสียงพากย์ คามิลา นางเอกของหนังการ์ตูนนี้ด้วย

ซัลมา ฮาเย็ค สร้างชื่อจากบทศิลปินชาวเม็กซิกัน Frida Kahlo ในหนังเรื่อง Frida ปี 2002 เป็นหนังอีกเรื่องหนึ่งที่คอหนังห้ามพลาด

เธอรักงานชิ้นนี้และใช้เวลาสิบปีเพื่ออำนวยการสร้างหนังการ์ตูนเรื่องนี้ให้สำเร็จ

นอกเหนือจากเธอแล้วยังมี เลียม นีสัน มาให้เสียงพากย์ มุสตาฟา กวีตัวเอกของเรื่องและอ่านบทกวีด้วยเสียงทุ้ม นุ่ม ไพเราะ ยังมี แฟรงก์ แลนเจลลา อัลเฟรด โมนิลา และ จอห์น คราคินสกี

ที่ควรเอ่ยถึงคือเด็กหญิง Quvenzhan? Wallis นักแสดงเด็กที่เคยเข้าชิงออสการ์นักแสดงนำฝ่ายหญิงปี 2012 จากเรื่อง Beasts of the Southern Wild ปีนั้นเธออายุ 9 ขวบ กลายเป็นนักแสดงเข้าชิงรางวัลนี้ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์

ครั้งนี้เธอมารับบท อัลมิตรา เด็กหญิงน่ารักที่ไม่ยอมพูดมาสองปีหลังการตายของบิดา

หนังกำกับฯ โดย Roger Allers จาก Lion King ใช้ผู้กำกับฯ และทีมนักวาดหลายทีมกำกับบทกวีแต่ละบทแล้วร้อยเชื่อมเป็นหนังเรื่องหนึ่ง แต่ละบทแต่ละช่วงดูยากง่ายต่างๆ กันแต่งดงามทุกๆ ตอน

หนังเล่าเรื่องมุสตาฟา กวีหนุ่มที่ถูกกักบริเวณที่เมืองออร์ฟาลีสมานานก่อนที่จะถูกปล่อยตัว

ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวไปลงเรือนั้นเองที่เขาได้เดินผ่านหมู่บ้านและผู้คน พบเห็นเหตุการณ์หรือได้รับการร้องขอจากชาวเมืองให้ให้พร มุสตาฟาจึงขับบทลำนำให้ฟัง

บทลำนำครอบคลุมเรื่องการดื่มกิน ความรัก การแต่งงาน การครองเรือน การทำงาน การมีบุตร ความดีความชั่ว และความตาย บางลำนำมีเพลงประกอบเพราะมากๆ คัดจากจำนวนทั้งสิ้น 26 บทในหนังสือของ คาลิล ยิบราน

หนังสือเล่าเรื่องกวีชื่อ Almustafa ถูกคุมขังที่เมือง Orphalese นาน 12 ปี เมื่อแปลงเป็นหนังการ์ตูนเริ่มเรื่องที่เด็กหญิงอัลมิตราขี้ขโมย เธอและนกนางนวลคู่ใจก่อกวนตลาดไปวันๆ สร้างความเอือมระอาแก่ผู้คนและแม่คามิลา

แม่คามิลาทำงานเป็นแม่บ้านที่เรือนพักของมุสตาฟา กวีที่ถูกกักบริเวณ บทสนทนาระหว่างเธอและกวีหนุ่มเรื่องความดื้อของลูกสาวเป็นไปดังบทกวีที่ยกมาตอนต้นเรื่อง บทที่หนึ่งนี้เพลงเพราะที่สุด

“บุตรของเธอ ไม่ใช่บุตรของเธอ เขาเหล่านั้นเป็นบุตรและธิดาแห่งชีวิต

เขามาทางเธอ แต่ไม่ได้มาจากเธอ และแม้ว่าเขาอยู่กับเธอ แต่ก็ไม่ใช่สมบัติของเธอ…”

บทอวยพรคู่บ่าวสาวในพิธีแต่งงานก็เยี่ยมมาก เป็นคำแนะนำทรงคุณค่าและกินใจ ดนตรีและอะนิเมชั่นประกอบดีจริงๆ

“Love one another but make not a bond of love, let it rather be a moving sea between the shores of your souls

Fill each other”s cup,but drink not from one cup

Give one another of your bread,but eat not from the same loaf

Sing and dance together and be joyous,but let each one of you be alone”

อัลมิตราไม่พูดตั้งแต่พ่อตาย อย่างมากเธอก็แค่ส่งเสียงอี๊อ๊าเหมือนนก ระหว่างที่มุสตาฟาเดินไปท่าเรือและให้พรชาวบ้านร้านตลาดนั่นเอง อัลมิตราแอบได้ยินแผนการร้ายของพวกทหารที่ท่าเรือ เธอและนกนางนวลจึงต้องรีบวางแผนช่วยชีวิต

มุสตาฟาจะรอดหรือเปล่าและบทกวีทรงคุณค่าจำนวนมากที่เขาเขียนเอาไว้ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ถูกคุมขังจะรอดพ้นการทำลายหรือไม่

โปรดติดตาม