มุกดา สุวรรณชาติ : มองปัญหาฮ่องกง ถึง…ไทย ใต้ soft power ของจีน (ตอนจบ)

มุกดา สุวรรณชาติ

เมื่อไม่ใช้กำลังปราบผู้ประท้วง
รัฐบาลจีนใช้วิธี…ปราม…ปล่อย…เปลี่ยน

เพื่อไปสู่เป้าหมาย China Dream ที่จะเป็นสังคมกินดีอยู่ดีปานกลางในปี 2021 และเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี 2049 จีนใช้นโยบาย One Belt One Road (OBOR) บุกออกต่างประเทศ ในขณะที่จีนขยายอิทธิพลออกไปไกลแต่กลับมามีปัญหาฮ่องกงอยู่ในซอกแขนตัวเอง จีนคงไม่ยอมใช้กำลังแก้ปัญหานี้เพราะจะเสียภาพของจีนยุคใหม่ ดังนั้น แนวทาง soft power ที่จีนใช้กับประเทศอื่นๆ จะถูกใช้กับฮ่องกง แต่ไม่ใช่แรงหนุน เป็นแรงบีบทางเศรษฐกิจและกฎหมาย

ปราม คือ การใช้กำลังตำรวจสกัดในจุดสำคัญ เช่น สนามบิน รถไฟใต้ดิน

ปล่อย คือ อยากประท้วงจนเศรษฐกิจฮ่องกงทรุด ก็ปล่อยให้ทำไป

เปลี่ยน คือ เปลี่ยนเอาเมืองอื่นมาแทนฮ่องกง

 

สิ่งที่จีนกำลังทำ
คือลดความสำคัญของฮ่องกง

โดยเสริมศักยภาพให้เมืองอื่นในแถบนั้น เพราะฮ่องกงถึงอย่างไรก็ต้องกลับมาเป็นของจีนอย่างสมบูรณ์ เพียงแต่จีนจะจัดการให้ฮ่องกงแต่งชุดอะไรจึงจะดูสวย เป็นประโยชน์สูงสุด ตามกาลเวลา สภาพของเกาะฮ่องกงเวลานี้มีความสำคัญต่อประเทศจีนน้อยกว่าเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว

เมื่อก่อนฮ่องกงยังเป็นประตูบานใหญ่ที่จีนใช้เป็นทางเข้า-ออก ซึ่งใช้มานานนับตั้งแต่ตอนสมัยสงคราม และช่วงถูกปิดล้อมทางเศรษฐกิจหลังการปฏิวัติ

แต่วันนี้จีนมีประตูเปิดนับร้อยบาน ใครๆ ก็ทำธุรกิจกับจีนซึ่งมีมูลค่ามหาศาล มีคนจากทั่วโลกเข้า-ออกเพื่อทำการค้าขาย มีจำนวนไม่มากนักที่จำเป็นจะต้องใช้ฮ่องกงเป็นสะพานหรือจุดแลกเปลี่ยน

วันนี้คุณสามารถเข้าถึงคู่ค้าได้ทุกมณฑล ทุกเมือง ตั้งแต่กรุงปักกิ่ง เมืองเซี่ยงไฮ้ เมืองท่าสำคัญ

และแม้กระทั่งที่ทำการมณฑลต่างๆ หรือเมืองเล็กๆ ที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจด้านสิ่งทอ ด้านอิเล็กทรอนิกส์ เหมืองแร่ ฯลฯ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องผ่านฮ่องกงอีกแล้ว ที่จีนกำลังทำคือ…

โครงการ Greater Bay Area เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล ที่ประกอบไปด้วยฮ่องกง มาเก๊า และ 9 เมืองในมณฑลกวางตุ้ง ได้แก่ กวางโจว, เซินเจิ้น, จูไห่, ฝอซาน, ฮุ่ยโจว, ตงกวน, จงซาน, เจียงเหมิน และเจ้าชิ่ง มีขนาดพื้นที่ประมาณ 5.5 หมื่นตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 69.5 ล้านคน และมีตัวเลขรวม GDP สูงถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์

เมื่อสงครามการค้ากับอเมริกาเริ่มขี้น จีนยิ่งต้องเร่งขยายเขตนี้ มีนาคมที่ผ่านมาจีนประกาศแผนสร้างศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี การวิจัย การเงิน และการคิดค้นนวัตกรรมที่เขตนี้ โดยหวังจะให้เป็นคู่แข่งของซิลิคอน วัลเลย์ ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐ ในปัจจุบัน เมืองกวางโจวเป็นที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของจีนหลายบริษัท เช่น Huawei และ Tencent

ศูนย์วิจัยของ Huawei ดูเหมือนเมืองที่สวยงามของยุโรป เหมือนสถานที่ท่องเที่ยว มีพนักงาน 25,000 คนที่ทำงานด้านค้นคว้า วิจัย

 

ฮ่องกงจะเป็นอย่างไรในอนาคต

รัฐบาลจีนและกลุ่มผู้ประท้วงจะต้องเลือกว่าจะทำให้ฮ่องกงมีคุณค่าหรือมีมูลค่ามากน้อยขนาดไหน

ถ้าปล่อยให้ฮ่องกงด้อยค่าลง เมืองอื่นๆ ในย่านนั้นจะขึ้นมาแทนในหลายด้าน

ถ้ารัฐบาลจีนปล่อยให้การประท้วงทำได้เรื่อยๆ ก็คงจะทำให้นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจค่อยๆ หายไปจากฮ่องกง

และอาจจะมีสถานการณ์อื่นๆ เกิดขึ้นตามมา ทำให้ลดเครดิตของฮ่องกงลงมาอีก คนอาจตกงานมากขึ้น

สำหรับรัฐบาลจีนนั้น…ถ้าใครอยากอยู่ฮ่องกงก็อยู่ ใครอยากจะย้ายไปที่อื่นก็ไม่ว่าอะไร

ยิ่งคนที่ไม่ชอบรัฐบาลจีนย้ายออกไปก็ยิ่งดี ออกไป 2 ล้าน ก็ไม่ว่ากัน จีนสามารถเติมคนเข้ามาได้เรื่อยๆ ถ้าที่ดินบ้านราคาตกลง ก็จะปล่อยให้ตกลงไปอีก แล้วก็จะมีคนมาช้อนซื้อเก็บไว้ รอเวลาจะขายราคาแพงต่อไป

ถ้าค่าเงินฮ่องกงลดลงต่ำกว่าหยวนเรื่อยๆ นั่นคือสัญญาณ…ปล่อยชัดเจน

บทจบของการต่อสู้ทางการเมืองในฮ่องกงจะไม่เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด

แต่มันจะเหมือนกับน้ำแข็งก้อนใหญ่ที่ถูกความร้อนจากบรรยากาศรอบข้าง ทำให้ค่อยๆ ละลายกลายเป็นน้ำ

ผลสุดท้ายฮ่องกงก็จะกลายเป็นน้ำธรรมดาเหมือนเดิม

เพราะจีนไม่มีวันปล่อยให้ฮ่องกงเปลี่ยนสถานะไปสู่ความมีเสรีภาพมากกว่านี้ หลังจากถูกลัทธิล่าอาณานิคมยึดครองเป็นเมืองขึ้นนานมากพออยู่แล้ว แต่ที่ยอมทนมาตลอดก็เพราะฮ่องกงเป็นประตูสำคัญในการเข้า-ออกประเทศจีน อนาคตจีนอาจจะใช้ฮ่องกงเป็นแค่หน้าต่างบานหนึ่งเท่านั้น เพราะจีนมีเรื่องต้องทำมากมายในโลกนี้

แต่ที่น่าเห็นใจคือคนหนุ่มสาวในฮ่องกง เขาต้องเข้าใจว่า ถ้าจีนไม่เปลี่ยน ฮ่องกงก็เปลี่ยนยาก

 

จีนทำอะไรในโลกกว้าง

วันนี้มังกรยักษ์ได้ออกสู่โลกกว้างแล้ว นโยบาย One Belt One Road ที่จีนกำลังใช้อยู่ มีคนบอกว่าเหมือนเป็นกับดักและมีจุดมุ่งหมายแอบแฝง

แต่ทีมวิเคราะห์มองว่า เมื่อแนวทางของจีนคือ…ยามศึกต้องพร้อมรบ ยามสงบต้องค้าขาย…

นโยบาย One Belt One Road จะยังคงดำเนินต่อไป เพราะนี่เป็น soft power ที่เหมาะกับการรุกในสถานการณ์โลกเวลานี้ที่สุด แบบที่คนไทยเรียกว่า…

นาคีมีพิษเพี้ยง สุริโย

เลื้อยบ่ทำเดโช แช่มช้า

ลองมาดูกันว่าทำไมถึงมีคนหวาดระแวงอย่างนั้น

การประชุมระหว่างจีนและแอฟริกา ที่จัดขึ้นในกรุงปักกิ่ง นายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้ขึ้นกล่าวบนเวทีว่าจีนจะลงทุนและมอบเงินช่วยเหลือให้กับประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกาอีก 60,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท

แม้ว่าจีนกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ากำลังล่อลวงให้ประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ ประเทศติดกับดักเป็นหนี้กับจีน จนท้ายที่สุดก็ต้องขายกิจการต่างๆ ที่กู้ยืมเงินมาจากจีนให้จีนเข้ามาควบคุม

เช่นศรีลังกา ต้องยกเมืองท่าฮัมบันโตตาให้จีนถือหุ้นถึงร้อยละ 80 ท่าเรือแห่งนี้ได้เงินกู้ยืมทุนสร้างจากจีนและสร้างโดยบริษัทจีน โดยมีมูลค่าถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ แต่ไม่มีธุรกิจมากพอที่จะเลี้ยงตัวเองได้ ศรีลังกาไม่สามารถหาเงินมาใช้หนี้จีน จึงตกลงให้จีนถือหุ้นท่าเรือดังกล่าวเพื่อหักหนี้บางส่วน เนื่องจากศรีลังกาติดหนี้จีนอยู่รวม 64,000 ล้านดอลลาร์

ประเทศจิบูตี (Djibouti) ในแอฟริกาตะวันออก แต่มีทำเล ช่องแคบที่ควบคุมทางเข้า-ออกของทะเลแดงและคาบสมุทรอาหรับ มีประเทศเยเมน ห่างจากฝั่งของจิบูตี 20 กิโลเมตร ถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งของทวีปแอฟริกา

แต่จิบูตีเป็นประเทศยากจน การที่มีฐานทัพต่างชาติ คือรายได้สำคัญ สหรัฐจ่ายเงินปีละ 63 ล้านดอลลาร์, ฝรั่งเศสจ่าย 36 ล้าน, จีนจ่าย 20 ล้าน และอิตาลีจ่าย 2.6 ล้าน

ใครที่ใช้น้ำมันมากๆ จากตะวันออกกลาง ล้วนต้องมาคุมเชิงตรงนี้ แม้แต่ญี่ปุ่น

แต่จีนใช้ soft power ไปช่วยลงทุนสร้างทางรถไฟ, ทำเหมืองแร่, ธุรกิจการส่งน้ำมันและก๊าซ แล้วเจรจาขอสร้างฐานทัพเรือใน พ.ศ.2558 โดยชำระค่าเช่าเพียงปีละ 20 ล้านดอลลาร์

พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือทางการทหารกับกองทัพจิบูตี ซึ่งถือว่าเป็นฐานทัพของจีนแห่งแรกในทวีปแอฟริกา

นอกจากนี้ จีนยังมีลูกหนี้ในแอฟริกาที่ไปก่อสร้างให้ เช่น แซมเบีย เคนยา แองโกลา ที่ยังสามารถไปมีอิทธิพลได้

 

โครงการจีนใกล้เมืองไทย

ปากีสถาน… ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเยือนกรุงอิสลามาบัดของปากีสถาน ประกาศลงทุนจำนวน 46,000 ล้านดอลลาร์ มี 19 โครงการ เริ่มต้นที่เมืองท่ากวาดาร์ โดยจะเชื่อมต่อไปยังเขตปกครองพิเศษซินเจียง ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุด เพราะเป็นเส้นทางลัดในการนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางโดยการผ่านท่อน้ำมันมาสู่ท่าเรือกวาดาร์ และส่งต่อไปยังซินเจียง ซึ่งโครงการนี้ยังสอดรับกับยุทธศาสตร์ “เส้นทางสายไหมใหม่”

พม่า…ท่อน้ำมันดิบระหว่างท่าเรือจอก์พยู ทางตะวันตกของพม่า และเมืองคุนหมิงของจีน จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลาง นอกเหนือจากการส่งผ่านช่องแคบมะละกาและสิงคโปร์ ซึ่งเส้นทางนี้สั้นกว่าและเร็วกว่า โดยก๊าซธรรมชาติส่งมาจากแหล่งก๊าซธรรมชาติริมทะเลของพม่า และน้ำมันดิบส่งมาจากตะวันออกกลางและแอฟริกา

กัมพูชา อเมริกากล่าวหาว่าให้สิทธิพิเศษแก่จีนในการใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของฐานทัพเรือเรียมของกัมพูชาเป็นเวลา 30 ปีโดยจะมีการต่ออายุใช้ฐานทัพให้แก่จีนโดยอัตโนมัติทุกๆ 10 ปี ซึ่งจะทำให้กองทัพจีนสามารถส่งทหารมาประจำการ ตั้งคลังแสงอาวุธ และนำเรือรบเข้ามาประจำการได้

ล่าสุดทางการกัมพูชายังให้สัมปทานแก่บริษัทจีนเช่าที่เกาะกงเป็นเวลา 99 ปี มีมูลค่า 3,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อพัฒนาพื้นที่ ก่อสร้างสนามบิน ท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม ตลอดจนรีสอร์ตหรู โรงไฟฟ้า โรงบำบัดน้ำเสีย และโรงพยาบาล

อเมริกาตั้งข้อสังเกตว่า ท่าเรือใหม่นี้อาจมีไว้เพื่อรองรับเรือขนาดใหญ่ของกองทัพเรือจีน

ส่วนสนามบินก็มีการสร้างรันเวย์ยาว 3.2 กิโลเมตร และใหญ่มาก สามารถดัดแปลงไปใช้เป็นสนามบินทหารได้

 

โครงการไทย-จีน ไทยไม่เป็นรอง ต้องรู้จักต่อ

ลาว…ไม่มีกำลังต่อรอง จะเห็นว่าโครงการทั้งหลายล้วนเป็นความต้องการของจีน จีนจะได้ผลประโยชน์สูงสุด ประเทศรอบบ้านเรา เช่น ลาว ยังมองไม่เห็นว่าจะได้ประโยชน์อะไรจากรถไฟความเร็วสูง และจะเอาเงินที่ไหนมาใช้หนี้จีน แม้ลาวจะถือหุ้นแค่ร้อยละ 30

มาเลเซีย รู้จักต่อรอง นายกรัฐมนตรีมหาธีร์ โมฮัมหมัด มีเชิงพอควร สั่งระงับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง หลังเริ่มดำเนินโครงการไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 จีนรีบวิ่งมาเจรจา และยอมลดงบฯ ก่อสร้างโครงการนี้ลงเหลือ 44,000 ล้านริงกิต หรือราว 330,331 ล้านบาท จากงบฯ เดิม 65,000 ล้านริงกิต

สำหรับไทย รถไฟความเร็วสูง จีนอยากสร้างที่สุด เพราะได้ประโยชน์มากก็ต้องจ่ายมาก ไทยไม่มีเงินเหลือมากเหมือนจีน คนก็ไม่มีเป็นพันล้าน คนที่ต้องการความเร็วส่วนใหญ่ก็นั่งเครื่องบิน เร็วกว่ารถไฟอยู่แล้ว ประเทศไทยตอนนี้ควรเร่งสร้างรถไฟรางคู่ ความเร็ว 160 ตามโครงการเดิม

ส่วนจีนอยากสร้างความเร็วสูงจากลาวผ่านไทยไปเชื่อมมาเลเซีย

ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยควรต่อรองได้ เราไม่จำเป็นต้องร่วมมือตามความต้องการของจีนทุกอย่าง แต่ควรต่อรองจนเราได้ประโยชน์เต็มที่ จีนมีคน 1,400 ล้านจำเป็นต้องทำทุกอย่างเพื่อประเทศเขา ถ้าดูความจำเป็นของจีนกับการเห็นใจเพื่อนบ้านให้ดูจาก…

เขื่อน 10 เขื่อนของจีนในแม่น้ำโขงตอนบน เรียงกันยังกับบันได น้ำที่ไหนจะผ่าน 10 ด่านมาได้ จีนกักน้ำเอาไว้ทำไฟฟ้าโดยไม่สนใจประเทศตอนล่างแม่น้ำ แต่จีนไม่ยอมทำให้แม่น้ำโขงเป็นโครงการ One Belt One River

ดังนั้น เรื่องการขุดคลองไทยเชื่อมมหาสมุทรอินเดีย ประโยชน์ส่วนใหญ่ก็เป็นของจีน

เพราะท่าเรือจีนในกัมพูชาจะมีค่ามาก ถ้ามีการขุดคลองเชื่อมอ่าวไทยและมหาสมุทรอินเดีย เรือสินค้าและเรือรบจะข้ามอ่าวไทย จากกัมพูชา ผ่านคลองที่ขุด เข้าสู่มหาสมุทรอินเดียได้ทันที สนามบินที่เกาะกง ก็จะสามารถคุ้มกันดูแลข้ามไปถึงคลองขุดในไทยที่เชื่อมสองมหาสมุทร

ไทยอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ ไม่เพียงจีน มหาอำนาจอื่นก็สนใจ เพราะทางบกไม่เพียงเชื่อมอาเซียน ตะวันออก-ตะวันตก ยังเชื่อมเหนือ-ใต้ ทางทะเล ออกได้ทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย มีประโยชน์ทั้งการค้ายามสงบ และใช้ในยามสงครามก็ได้

ไทย…เจ้าของประเทศจะคิดหาประโยชน์อย่างไร จึงจะปลอดภัย