บทวิเคราะห์ : หลงยุค “ขวาพิฆาตซ้าย 2019” จัดลิสต์ “ผู้นำความคิด” จับตา “สฤณี-โกวิท เอฟเฟ็กต์”

สถานการณ์ทางการเมืองแม้จะพ้นยุค คสช.ไปแล้ว แต่ความเข้มข้นในการติดตามกลุ่มเคลื่อนไหวและผู้นำทางความคิดยังคงเข้มข้นในสภาวะบ้านเมืองช่วงเปลี่ยนผ่าน

โดยเฉพาะผ่านโซเชียลมีเดียที่ถือเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ของฝ่ายความมั่นคง โดยจุดแข็งของโซเชียลคือ “3 ร.-รุนแรง รวดเร็ว ไร้พรมแดน” ที่สำคัญยากจะตรวจสอบเพราะมีเป็นร่างอวตารด้วย

ดังนั้น การแสดงความเห็นในหลายๆ เรื่องที่ล่อแหลมจึงเกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมาและยากจะควบคุมในยุคนี้

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ฝ่ายความมั่นคงมีการ “จัดลิสต์” รายชื่อต่างๆ ผ่านการแบ่งกลุ่มคน เช่น กลุ่มนักเคลื่อนไหว กลุ่มผู้นำทางความคิด เป็นต้น เพื่อง่ายแก่การติดตามและทำความเข้าใจในพฤติกรรมที่แสดงออกมา

โดยกลุ่มที่แบ่งก็มีการแบ่งย่อยลงไปอีกว่าสิ่งที่แสดงออกมาส่งผลขนาดไหน หรือ “ลำดับความเข้มข้น” เช่น เป็นภัยความมั่นคงหรือแค่เพียงเฝ้าระวังเท่านั้น เป็นต้น

ทั้งนี้ แต่ละบุคคลที่ถูกติดตามจะมีแฟ้มประวัติอยู่แล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจะเก็บรายละเอียดเอาไว้ รวมทั้งยังคงมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปในสถานที่ต่างๆ ที่มีการจัดกิจกรรมทางการเมืองหรือการเคลื่อนไหวต่างๆ ทั้งเพื่อรายงานผู้บังคับบัญชาและดูแลความสงบเรียบร้อย

แต่ในการลงพื้นที่แต่ละครั้งผู้ที่มาทำกิจกรรมการเมืองและเจ้าหน้าที่ก็รู้จักมักคุ้นกันอยู่แล้ว

หลายครั้งก็มีการขอความร่วมมือกันหน้างาน เพื่อให้แต่ละฝ่ายได้ทำหน้าที่และไม่ล้ำเส้นกัน

ทั้งนี้ สังคมยุคโซเชียลมีผลต่อการแสดงออกทางการเมืองที่เข้มข้นมากขึ้นและทำได้ง่ายแค่ปลายนิ้ว จึงใช่ว่าจะมีเพียงฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลที่ใช้เครื่องมือนี้

แต่ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลก็ใช้เครื่องมือนี้เช่นกัน

ในยุคปัจจุบันที่มีการแบ่งขั้วทางการเมืองระหว่างสนับสนุนกับต่อต้าน คสช.ในการสืบทอดอำนาจ ผ่านแนวคิดทางการเมืองที่เกิดปรากฏการณ์ “แนวคิดฝ่ายซ้าย” และ “แนวคิดฝ่ายขวา” ถูกปลุกขึ้นอีกครั้งในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

ซึ่งถูกตอกย้ำอย่างชัดเจนจาก พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. อดีตเลขาธิการ คสช. ที่เคยกล่าววาทะ “ซ้ายจัด ดัดจริต” แม้จะไม่ได้ระบุว่าสื่อสารไปยังพรรคใด แต่ถูกเพ่งเป้าไปที่พรรคอนาคตใหม่ โดยกล่าวถึงบุคคลที่ไปศึกษาต่างประเทศแล้วมีแนวคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง

หากดูจากพลังสาวกพรรคอนาคตใหม่ในโซเชียลถือว่ามีพลังอย่างมากเพราะตื่นตัวในโซเชียลสูง

แต่ฝ่ายที่ต่อต้านพรรคอนาคตใหม่หรือขั้วตรงข้ามกับฝ่ายค้านที่พลังจะอ่อนกว่าในโซเชียลก็มีการปรับตัวเช่นกัน ผ่านเพจต่างๆ ที่มีลูกล่อลูกชนและชั้นเชิงมากขึ้น ไม่ได้ทำเพจอวยรัฐบาลแบบแข็งทื่อหรือต่อว่าขั้วตรงข้ามแบบไร้ชั้นเชิง และมีผู้ติดตามหลักแสนแอ็กเคาต์ด้วย

ซึ่งแตกต่างจากเพจอวยรัฐบาลในอดีต เช่น เพจตระกูลที่มีคำพ่วงลุงตู่ต่างๆ เป็นต้น ที่นำเสนอผลงานรัฐบาล ต่อว่าฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลอย่างเรียบๆ

แต่เพจทั้งสองฝ่ายก็ไม่สามารถพิสูจน์ทราบชัดเจนว่าใครเป็นผู้จัดทำหรือแอดมินเพจ เพราะปรากฏเป็นร่างอวตารทั้งสิ้น

หากย้อนคำพูด พล.อ.อภิรัชต์ ผ่านการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์สเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2562 ถือว่ามีความชัดเจนที่สุดถึงสถานการณ์ภายในประเทศที่การแบ่งขั้วทางการเมืองเปลี่ยนไปมาก จากขั้วเสื้อเหลืองกับเสื้อแดง มาถึงขั้วสนับสนุนกับไม่สนับสนุน คสช. รวมทั้งปรากฏการณ์ที่ต้องจับตาในระยะยาวคือปรากฏการณ์ “ฝ่ายซ้าย-ฝ่ายขวา”

โดย พล.อ.อภิรัชต์ระบุกับรอยเตอร์สว่า บางพรรคที่เพิ่งก่อตั้ง 1-2 ปี มีรูปแบบของการโฆษณาชวนเชื่อที่สื่อสารโดยตรงกับประชาชนที่อยู่ในวัย 16-17 ปี โดยพยายามให้ความรู้ประชาชนกลุ่มนี้โดยใช้ข่าวปลอม ในขณะนี้กองทัพกำลังต่อสู้กับ “สงครามลูกผสม” หรือ Hybrid War ที่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลใช้ “Fake News” หลอกล่อให้คนไทยรุ่นใหม่เกิดความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับกองทัพและสถาบันกษัตริย์ เปรียบเทียบกับสมัยคอมมิวนิสต์ช่วงปี 2513-2523 ที่มาสู่โลกอินเตอร์เน็ตแทน

ทั้งนี้ พล.อ.อภิรัชต์ได้ระบุกับสื่อไทยเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2562 ถึงข่าวปลอมว่า บางครั้งคนเราถูกปลูก/yงซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็ทำให้เกิดความเชื่อจากข่าวปลอม ตนไม่อยากจะใช้คำว่า “Manipulate” แล้วก็มาเปลี่ยนพฤติกรรมทีละเล็กทีละน้อย จนทำให้เชื่อในข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง จนเชื่อว่าเป็นความจริง

หากย้อนกลับไป เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2562 พล.อ.อภิรัชต์ก็พูดถึงสื่อโซเชียลกับคนรุ่นใหม่ว่า กองทัพมีจุดอ่อนในเรื่องของการใช้โซเชียล ในขณะที่สื่อบางชนิดหรือบางแบบสามารถจะเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของ Generation อีก Generation หนึ่ง หรือคนยุคใหม่ ซึ่งในการรับรู้ก็เพียงแต่จะให้คนรับรู้เฉพาะส่วน เช่นเดียวกับข่าวที่ผมพูดออกไปยาวๆ แต่ไปตัดให้คนรู้เพียงสั้นๆ และปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อโซเชียลนั้นทรงอานุภาพยิ่งกว่าอาวุธที่กองทัพมีอยู่

ทั้งหมดนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า “คนรุ่นใหม่” และสังคมส่วนใหญ่ก็เสพข้อมูลและข่าวสารผ่านสื่อโซเชียล หนึ่งในผู้ผลิตเนื้อหาสารออกมาก็คือ “ผู้นำทางความคิด” ซึ่งมีผู้ติดตามในโซเชียลจำนวนมาก

ทำให้ชุดความคิดถูกแพร่ขยายออกไปได้รวดเร็วและกว้างขวาง

ปรากฏการณ์ของ รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ บิดา “จอห์น” วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ หลังได้รับหนังสือจากศาลรัฐธรรมนูญในการเชิญไปให้ถ้อยคำ หลังโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ กรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องวินิจฉัยเกี่ยวกับการถือหุ้นสื่อของ ส.ส.ฝั่งรัฐบาล 32 คน แต่กลับไม่ออกคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เหมือนเช่นกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หน.พรรคอนาคตใหม่

รวมทั้งกรณี “สฤณี อาชวานันทกุล” นักวิชาการอิสระ ถูกศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งฟ้องฐานละเมิดอำนาจศาลในบทความ “อันตรายภาวะนิติศาสตร์ล้นเกิน (อีกที) กรณีหุ้นสื่อของผู้สมัคร ส.ส.”

ทั้งนี้ รศ.ดร.โกวิทได้เปิดแอ็กเคาต์ทวิตเตอร์เมื่อเมษายน 2562 ผ่านมา 5 เดือน มีผู้ติดตาม 1.2 แสนแอ็กเคาต์ ส่วน “สฤณี” เปิดแอ็กเคาต์ทวิตเตอร์เมื่อตุลาคม 2550 มีผู้ติดตาม 2.5 แสนแอ็กเคาต์ (ต้นกันยายน 2562)

ปรากฏการณ์ของทั้งคู่จึงถูกจับตาอย่างมาก โดยสิ่งที่ทั้งคู่ได้วิจารณ์คือเรื่อง ส.ส.ถือหุ้นสื่อ ท่ามกลางการจับตาของสังคมถึงกรณี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กับคดีหุ้นวี-ลัค ที่อยู่ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ โดย “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ มองว่า กรณีคดีหุ้นสื่อ ไปได้ไกลแค่ “ธนาธร” หลุดจากการเป็น ส.ส.เท่านั้น ไม่ถึงขั้นยุบพรรค ท่ามกลางกระแสข่าวที่เกิดขึ้นมาถึงชะตากรรมของพรรคอนาคตใหม่

ทำให้มีการมองถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นของ “สฤณี-โกวิท” เป็นการปรามในระยะยาวหรือไม่ ที่ถูกโยงกับชะตากรรมของพรรคอนาคตใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองขึ้นมา

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในนักวิชาการที่ใช้โซเชียลนำเสนอแนวคิดต่างๆ มีผู้ติดตามบนทวิตเตอร์กว่า 8.4 หมื่นคน มองปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า บทความและข้อความของทั้งคู่ถูกเผยแพร่ไว้สักพักใหญ่แล้ว แต่ทำไมจึงเลือกดำเนินการในช่วงนี้ จึงอดคิดไม่ได้ว่าไปโยงกับคดีของนายธนาธรที่กำลังจะตัดสินในเวลาอันใกล้นี้หรือไม่

และไม่ว่าการตัดสินออกไปทางใดทางหนึ่ง ก็จะต้องเกิดการวิจารณ์กว้างขวางเพราะสังคมให้ความสนใจ และอาจพลิกผันการเมืองไทยได้ ตนจึงไม่แน่ใจว่าจะตีความว่าเป็นการป้องปรามหรือป้องกัน ไม่ให้ใครกล้าวิพากษ์วิจารณ์หรือไม่ ไม่ว่าคำตัดสินจะเป็นอย่างไรก็ตาม

ซึ่งก็เหมือนเป็นการ “เชือดไก่ให้ลิงดู”

ทั้งหมดนี้ถือเป็นปรากฏการณ์โซเชียลที่เข้มข้นไม่แพ้สถานการณ์ทางการเมือง ทว่าฝ่ายความมั่นคงก็ตั้งคำถามถึงการทำงานของฝ่ายความมั่นคงด้วยกันเองว่า สุดท้ายแล้วจะต้องแยกแยะระหว่างการ “วิจารณ์” หรือ “ข่าวปลอม” ให้ชัดเจนด้วย แต่ฝ่ายความมั่นคงระบุว่า สิ่งที่ทำให้พื้นที่ออนไลน์ถูกจุดขึ้นที่ผ่านมาก็คือพรรคอนาคตใหม่นั่นเอง

ดังนั้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นต้องพิจารณาโดยองค์รวมทั้งหมด ไม่สามารถพิจารณาแยกเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งได้ เพราะทุกอย่างดูประสานสอดรับไปเสียหมด ในยุคที่ความขัดแย้งทางความคิดฝังลึกและประเด็นมีความลึกซึ้งมากขึ้น

ดังนั้น การต่อสู้กับชุดความคิดที่รัฐไม่ต้องการให้เกิดขึ้น จึงต้องทำเป็นระบบ ทั้งป้องกันและป้องปราม

รวมทั้งการตัดไฟแต่ต้นลม สร้างสภาวะความหวาดกลัวให้เกิดขึ้น ภาพรวมทั้งหมดนี้จึงเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใด