แจ๊ก หม่า : เทพเจ้าดิจิตอล หรือนายหน้าค้าความเป็นมนุษย์ | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ชื่อเสียงของแจ๊ก หม่า ในฐานะนักธุรกิจระดับโลกเป็นเรื่องที่ไม่มีใครปฏิเสธได้อีกต่อไป ถ้ายอมรับว่าทศวรรษที่แล้วแทบไม่มีใครรู้ว่าหม่าคือใคร

ระยะเวลาที่ผ่านไปเพียงสิบปีทำให้หม่ายกสถานะจากนักธุรกิจค้าปลีกในจีนสู่นักธุรกิจระดับโลก จากนั้นก็คือผู้นำเชิงสัญลักษณ์ของยุคสมัยในปัจจุบัน

ถ้าทุนนิยมในทศวรรษ 2000 มีสตีฟ จอบส์ เป็นวีรบุรุษผู้สะท้อนจิตวิญญาณแห่งยุคสมัยที่สามารถสร้างเทคโนโลยีเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม

ทุนนิยมในทศวรรษ 2010 ก็มีแจ๊ก หม่า เป็นวีรบุรุษผู้สะท้อนยุคสมัยที่ใช้เทคโนโลยีด้านข้อมูลข่าวสารเพื่อกำกับพฤติกรรมมนุษย์จนเกิดการบริโภคอย่างกว้างขวางตามมา

ขณะที่จอบส์โดดเด่นตรงการผสมผสานความเป็นนักประดิษฐ์กับการออกแบบที่ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นด้านการใช้สอยและแสดงรสนิยมไปพร้อมกัน

หม่าโดดเด่นเรื่องการสร้าง Platform ซึ่งเปรียบได้กับชานชาลาที่ดึงดูดผู้บริโภคกับผู้ขายให้มาบรรจบกันรวดเร็วที่สุด ไม่ว่าสินค้านั้นจะเป็นอะไรก็ตาม

คำขวัญว่าข้อมูลข่าวสารคืออำนาจเป็นเรื่องที่คนพูดกันมานาน

แต่ความสามารถสร้าง Platform ที่ประกอบด้วยผู้บริโภคและผู้ขายมหาศาลทำให้หม่าเป็นหนึ่งในคนที่มีข้อมูลด้านพฤติกรรมมนุษย์มากที่สุดในโลก

ทรัพยากรที่หม่ามีเหนือกว่าคนอื่นได้แก่ความสามารถในการคาดคะเนอนาคตจากโครงข่ายข้อมูล

แน่นอนว่าหม่าไม่ใช่คนแรกที่ได้ประโยชน์จากโครงข่ายข้อมูล เพราะถ้าเข้าใจว่าสิ่งที่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ทำกับเฟซบุ๊กคือการสร้าง “เครือข่ายสังคม” ให้คนใช้เวลามากที่สุด ภาพที่ควรเห็นต่อไปก็คือหัวใจของ “โซเชียล” ได้แก่ การดึงเวลามนุษย์ไปสู่ “เครือข่ายสังคม” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายข้อมูลในระยะยาว

ต่อยอดจากการที่ซักเคอร์เบิร์กสร้าง “เครือข่าย” เพื่อดึงดูด “เวลา” อันจะทำให้เกิดโครงข่ายข้อมูลเพื่อสินค้าที่จับต้องไม่ได้อย่างธุรกิจข้อมูลข่าวสารและโฆษณา สิ่งที่หม่าทำคือการดึงดูด “เวลา” เพื่อสร้างการบริโภคสินค้าที่จับต้องได้ในชีวิตมนุษย์แทบทุกมิติจน “ระบบตลาด” ขยายตัวตามไปด้วยอย่างไม่เคยเป็น

ในโลกที่ทุกคนกังวลว่าความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีจะทำให้หลายอุตสาหกรรมล่มสลาย สัมฤทธิผลของหม่าด้านบริหารเทคโนโลยีข้อมูลจนธุรกิจขยายตัวขั้นที่ “การบริโภค” และ “ระบบตลาด” เติบโตตามนั้น

ทำให้หม่าถูกยกย่องเสมือนเทพเจ้าในโลกดิจิตอลตามไปด้วย แม้ความจริงหม่าคือเจ้าสัวคนหนึ่งก็ตาม

ในการขึ้นเวทีดีเบตเรื่อง AI หรือ “ปัญญาประดิษฐ์” ในที่ประชุม World Artificial Conference เมื่อเดือนสิงหาคม ความเป็นเทพเจ้าของหม่าทำให้คู่สนทนากลายเป็นเด็กเนิร์ดที่ดูพูดไม่รู้เรื่องจนไม่น่าเชื่อ

ถึงแม้คู่สนทนาคนนั้นคืออีลอน มัสก์ ซึ่งเป็นนักประดิษฐ์ที่เป็นนักธุรกิจยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในยุคสมัยนี้ก็ตาม

FILE PHOTO: Tesla Chief Executive Elon Musk stands on the podium as he attends a forum on startups in Hong Kong, China January 26, 2016. REUTERS/Bobby Yip/File Photo

หนึ่งในหัวข้อที่สองคนนี้เห็นต่างกันคือ “ปัญญาประดิษฐ์” จะส่งผลกระทบต่อมนุษย์อย่างไร

มัสก์ผู้ก่อตั้งเทสลาและ Space X เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการเดินทางทางอวกาศเห็นว่า AI หรือ “ปัญญาประดิษฐ์” ฉลาดกว่ามนุษย์จน “แย่งงาน” หรือเป็น “ภัยคุกคาม” มนุษย์ในระยะยาว

ขณะที่หม่าเห็นต่างจากมัสก์โดยสิ้นเชิง

ขณะที่มนุษย์ซึ่งเข้าใจความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สุด อย่างมัสก์ซึ่งเห็น “ปัญญาประดิษฐ์” เป็นเรื่องที่น่ากังวล

หม่ากลับระบุว่า “ปัญญาประดิษฐ์” จะทำให้มนุษย์เข้าใจตัวเองมากขึ้น, มีความสุขขึ้น, อายุยืนขึ้น และมีเวลามากขึ้น จนถึงขั้นที่ทำงานเพียงสัปดาห์ละ 3 วัน โดยแต่ละวันทำงานเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้นเอง

ตรงข้ามกับมัสก์ซึ่งเห็นว่าทุกวันนี้ “ปัญญาประดิษฐ์” ฉลาดกว่ามนุษย์จนเป็นภัยคุกคามที่พึงกังวล

หม่าบอกว่าปัญญาประดิษฐ์อาจมี “ความฉลาด” (Clever) กว่ามนุษย์จริง แต่ปัญญาประดิษฐ์ไม่มีวันมี “ความเฉียบแหลม” (Smarter) กว่ามนุษย์ไปได้ ปัญญาประดิษฐ์จึงเป็นได้แค่เครื่องมือของมนุษย์เท่านั้นเอง

ในมุมมองของหม่า ทางรอดของมนุษยชาติคือการเติมสิ่งที่เรียกว่า “ความคิดสร้างสรรค์” (Creativity) ลงไปในตัวมนุษย์ให้มากที่สุด ปัญญาประดิษฐ์ถูกสร้างให้คิดแค่เรื่องที่คาดหมายได้และคำนวณได้

แต่ “ความคิดสร้างสรรค์” แบบมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่ปัญญาประดิษฐ์ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้อย่างสิ้นเชิง

ด้วยเหตุที่มัสก์ฉายภาพปัจจุบันและอนาคตที่เลวร้ายจนสังคมมนุษย์เดินหน้าสู่ความเป็นทาสและฝันร้ายที่กลายเป็นจริง (Dystopia)

หม่าในวันนั้นเป็นเสมือนพระเจ้าผู้ประทานเรือโนอาให้สรรพสัตว์มีชีวิตต่อไปทั้งหมด

ถึงแม้ความจริงหม่าจะเป็นพ่อค้าที่ใช้เทคโนโลยียิ่งกว่ามัสก์ที่เป็นผู้สร้างเทคโนโลยีอนาคตเอง

จริงอยู่ว่าเรื่องเล่าของหม่าชวนให้เห็นอนาคตที่มนุษย์จะมีชีวิตดีขึ้นจนน่าประทับใจ

แต่ด้วยความที่หม่าเป็นพ่อค้ามากกว่าจะเป็นคนมีวิสัยทัศน์จริงๆ เรื่องเล่าของหม่าจึงไม่ต่างจากคำสอนของ Life Coach ที่ให้ความหวังคนในเรื่องที่ไม่จริงด้วยลีลาของนักพูดที่ถูกฝึกฝนมาอย่างดีเพื่อกลบเกลื่อนความลวง

ท่ามกลางเรื่องเล่าที่หม่าพรรณนาว่าเทคโนโลยีจะไม่ทำให้มนุษย์ว่างงาน

เรื่องจริงที่ปรากฏในสังคมทุนนิยมร่วมสมัยคือจำนวนคนที่สูญเสียงานเพราะเทคโนโลยีมีมากจนน่าตระหนก

“อาชีพ” ที่เทคโนโลยีทำให้หมดความจำเป็นทำให้ “แรงงาน” ที่มีโอกาสตกงานเป็นกลุ่มที่มีฝีมือด้วย ไม่ใช่มีแค่แรงงานไร้ฝีมือ

“ความคิดสร้างสรรค์” เป็นตัวแปรที่ทำให้มนุษย์มีคุณค่าจนมีมูลค่าทางเศรษฐกิจพอที่จะถูกจ้างงาน แต่ประตูสู่ความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่ประตูที่มนุษย์มีโอกาสเดินผ่านเสมอภาคเหมือนกันหมด

โอกาสทางการศึกษาทำให้คนสามารถพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ไม่เท่ากัน ไม่ต้องพูดถึงคุณภาพการศึกษาที่ไม่เท่าเทียม

แม้เรื่องเล่าของหม่าจะคล้ายศรัทธาในความเป็นมนุษย์จนหม่าดูเป็นเทพเจ้าผู้เปี่ยมด้วยทัศนะมนุษยนิยม แต่เนื้อแท้แล้วหม่าคือนักธุรกิจที่ไม่ยอมรับว่าปัญหาการสูญเสียงานเป็นปัญหาจริง, โอกาสในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคนไม่เท่ากัน และปัญญาประดิษฐ์กีดกันคนกลุ่มใหญ่ไปจากระบบทุนนิยม

โลกทัศน์ของหม่าคือโลกทัศน์ของเจ้าสัวดิจิตอลที่ปล่อยให้ “ระบบตลาด” กวาดล้างคนมหาศาลออกจากโครงสร้างสังคม แต่ที่โหดร้ายกว่านั้นคนที่ถูกกวาดล้างครั้งนี้อาจเป็นคนที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปก็ได้ หากทักษะที่เขามีนั้นถูกเทคโนโลยีแทนที่ได้หมดหรือแม้แต่เพียงบางส่วนก็ตาม

ด้วยโครงสร้างของงานที่ล่มสลายเพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนไป ผู้ว่างงานจึงหางานทำทดแทนได้ไม่ง่าย ยกเว้นจะปรับตัวไปเป็นกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือไปเลย แต่แรงงานไร้ฝีมือในสังคมไหนก็เป็นเป้าหมายของการถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีอยู่แล้ว

สิ่งที่เราจะเห็นจึงได้แก่กองทัพคนว่างงานที่จะเติบโตท่วมท้นทวีคูณ

นอกจากเรื่องเล่าที่แสนมนุษยนิยมของหม่าจะห่อหุ้มความจริงอันขมขื่นอย่างที่กล่าวไป

หม่าในฐานะนักธุรกิจเองก็ได้ชื่อว่าใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics) เร่งทำการผลิตและขนส่งสินค้าอย่างกว้างขวาง

อาลีบาบาของหม่าโด่งดังในฐานะโรงงานที่แทบไม่ใช้มนุษย์ หรืออีกนัยคือโรงงานที่ไม่จำเป็นต้องจ้างงาน

ในธุรกิจของหม่าซึ่งลงทุนตามคำเชื้อเชิญของรัฐบาลไทย สิ่งที่หม่าจะทำคือทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้าน Logistics หรือขนส่งและกระจายสินค้าในภูมิภาคทั้งหมด เม็ดเงินของหม่าที่จะไหลเข้าประเทศไทยจึงทำให้เกิดการจ้างงานน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่จะถูกใช้เพื่อซื้อ Automation ซึ่งผู้ประกอบการไทยไม่มี

จุดเกาะเกี่ยวอย่างเดียวของการพัฒนาเศรษฐกิจกับการพัฒนาสังคมคือการจ้างงานที่มั่นคงและเป็นธรรม

แต่ในวิสัยทัศน์ของการสร้างโลกแบบที่หม่าวาดให้คนจำนวนมากคล้อยตาม ความมั่นคงของการจ้างงานกลายเป็นเรื่องที่ไม่มีความหมายไปหมด โลกของหม่าจึงเป็นโลกของผู้ประกอบการที่ปรับตัวได้เท่านั้นเอง

แจ๊ก หม่า เป็นนักธุรกิจที่ผันตัวเป็นสัญลักษณ์ของจิตวิญญาณแห่งยุคสมัยในสังคม

ทว่า ในเส้นทางของการสร้างตัวตนทางจิตวิญญาณดังนี้ ทุนนิยมกำลังเดินหน้าสู่ทิศทางที่ยอมรับการทำให้คนมหาศาลว่างงานอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

เรื่องเล่าแบบมนุษยนิยมปกปิดโลกที่แบ่งขั้วอย่างโหดร้ายยิ่งกว่ายุคสมัยใดๆ

ในสังคมที่เทคโนโลยีกำลังทำให้มนุษย์มหาศาลตายทั้งเป็นแบบนี้ สิ่งที่คนซึ่งเชื่อมนุษยนิยมจริงๆ ต้องทำให้เกิดขึ้นก็คือระบบเศรษฐกิจที่ตลาดไม่ได้ขับเคลื่อนกลไกทั้งหมดล้วนๆ

แต่คือการแทรกแซงบางระดับจากคนทุกกลุ่มในสังคมซึ่งมีจิตสำนึกร่วมกันเรื่องความเป็นธรรมและความเท่าเทียม