ต่างประเทศ : สำมะโนประชากรอินเดีย หรือจุดเริ่มต้นวิกฤตคนไร้รัฐ?

อินเดีย ชาติที่มีประชากรจำนวนมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลกเวลานี้กำลังประสบปัญหาผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่รัฐอัสสัม รัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศที่มีผู้อพยพหลั่งไหลเข้าพื้นที่จำนวนมหาศาล นับตั้งแต่ยุคการปกครองของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ เรื่อยไปจนถึงยุคสงครามประกาศอิสรภาพของบังกลาเทศ ที่แยกตัวออกจากประเทศปากีสถาน เมื่อปี 1971

ส่งผลให้มีผู้อพยพลี้ภัยจำนวนหลายล้านคนเดินทางเข้าสู่พื้นที่แห่งนี้

ตลอดช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา รัฐอัสสัมที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดู จึงกลายเป็นศูนย์กลางปัญหาความขัดแย้งระหว่างศาสนา โดยเฉพาะกับชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม

ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดระหว่างชาติพันธุ์มากขึ้น

 

เหตุการณ์รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1983 ที่เรียกว่าการสังหารหมู่เนลลี เกิดการสังหารหมู่ชาวมุสลิมจำนวนกว่า 2,000 ราย โดยเหตุเกิดขึ้นหลังรัฐบาลอินทิรา คานธี เปิดทางให้ผู้อพยพจากบังกลาเทศมีสิทธิในการลงคะแนนเลือกตั้ง กลายเป็นเหตุสังหารหมู่ที่มีจุดเริ่มต้นทางศาสนาที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ของอินเดีย

ขณะที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความไม่พอใจกลุ่มผู้อพยพผิดกฎหมายในรัฐอัสสัม หนึ่งในรัฐที่ยากจนที่สุดของอินเดีย เริ่มคุกรุ่นขึ้นอีกครั้งเมื่อพลเมืองชาวอินเดียในพื้นที่เริ่มกล่าวหาผู้มาใหม่ว่าเข้ามาแย่งงานและที่ดินของชาวอินเดีย

นั่นเป็นเหตุผลให้รัฐบาลอินเดีย นำโดยนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรี เริ่มดำเนินการอัพเดตสำมะโนประชากรแห่งชาติ (เอ็นอาร์ซี) หรือ National Register of Citizens (NRC) ใหม่ทั่วประเทศ

โดยเริ่มต้นที่รัฐอัสสัมเป็นที่แรก เพื่อแยกประชากรชาวอินเดียออกจากผู้อพยพผิดกฎหมาย

โดยเฉพาะที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างบังกลาเทศ

 

มีข้อกำหนดโดยสรุปคือ เป็นผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่และเคยมีชื่ออยู่ในเอ็นอาร์ซีเมื่อปี 1951 หรือไม่เช่นนั้นจำเป็นต้องมีเอกสารพิสูจน์ว่าบุคคลหรือบรรพบุรุษเป็นประชากรที่พำนักในรัฐอัสสัมก่อนวันที่ 24 มีนาคม ปี 1971 ปีซึ่งผู้ลี้ภัยชาวบังกลาเทศนับล้านคนอพยพเข้าสู่ประเทศอินเดีย

เอ็นอาร์ซีที่ทำครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1951 ของอินเดีย เริ่มดำเนินการตรวจสอบและให้ประชาชนยื่นเรื่องข้ามาในกระบวนการที่ใช้เวลานานนับปี

ล่าสุดทางการอินเดียประกาศรายชื่อเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา จากผู้ยื่นเอกสารยืนยันตัวตนทั้งหมด 33 ล้านคน ตั้งแต่เมื่อปี 2018 รายชื่อล่าสุดผู้ได้สิทธิพลเมืองมีจำนวนทั้งสิ้น 31.1 ล้านคน

ส่งผลให้ที่เหลืออีก 1.9 ล้านคนมีความเสี่ยงที่จะมีสถานะเป็นบุคคลไร้รัฐ

ประทีค ฮาเจลา ผู้ประสานงานสำนักงานลงทะเบียนประชากรของรัฐอัสสัมระบุว่า ใครก็ตามที่ไม่พอใจกับการประกาศผลผู้ได้สิทธิพลเมืองสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ที่ศาลของชาวต่างชาติ

โดยผู้ที่ไม่อยู่ในรายชื่อที่ประกาศมีเวลา 120 วันในการหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความเป็นพลเมืองที่ศาลชาวต่างชาติ ที่มีอยู่หลายร้อยแห่งกระจายอยู่ในรัฐอัสสัม โดยหากถูกตัดสินให้เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายอีกก็สามารถยื่นอุทธรณ์กับศาลที่สูงกว่าได้

 

อย่างไรก็ตาม การผ่านกระบวนการอันซับซ้อนดังกล่าวนับเป็นความท้าทายใหญ่หลวงของชาวอัสสัม พื้นที่ยากจนที่อัตราผู้ไม่รู้หนังสือมีในระดับสูง ส่งผลให้มีประชาชนจำนวนมากไม่มีเอกสารยืนยันตัวตน

ขณะที่พรรคภราติยะ ชนตะ (บีเจพี) ของนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรี พรรคแนวคิดชาตินิยมที่ปกครองรัฐอัสสัมอยู่ในเวลานี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันว่า พยายามยั่วยุความไม่พอใจให้เกิดขึ้นกับผู้อพยพผิดกฎหมาย และใช้ประโยชน์จากเอ็นอาร์ซีเพื่อมุ่งเป้าไปที่พลเมืองชาวอินเดียที่เป็นชาวมุสลิมเองด้วย

ข้อกล่าวหาดังกล่าวมีเหตุผลขึ้นโดยเฉพาะเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาสภาผู้แทนราษฎรของประเทศอินเดียผ่านกฎหมายที่เปิดทางให้สิทธิพลเมืองกับผู้ที่เข้ามาพำนักในอินเดียเป็นเวลาเพียง 6 ปีได้ ตราบใดก็ตามที่บุคคลเหล่านี้ไม่ใช่มุสลิม

พฤติการณ์ดังกล่าวของรัฐบาลอินเดียจึงสร้างความหวาดกลัวให้กับชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในอินเดียที่มีจำนวนมากถึง 170 ล้านคนถึงอนาคตของตัวเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐมนตรีมหาดไทยอมิต ชาห์ มือขวาของโมดีเองก็เคยประกาศในช่วงหาเสียงด้วยว่า จะกวาดล้างผู้อพยพผิดกฎหมายออกจากประเทศ

โดยเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่าพวก “มดปลวก”

 

กลุ่มคนที่ถูกปฏิเสธในการให้สิทธิพลเมืองจากศาลในทุกกระบวนการแล้วจะถูกประกาศให้เป็น “ชาวต่างชาติ” และในทางทฤษฎีแล้ว จะถูกส่งตัวไปที่ศูนย์ควบคุมตัวผู้ลี้ภัยผิดกฎหมาย 6 แห่ง และจะสร้างเพิ่มอีกนับ 10 แห่ง เพื่อเตรียมตัวส่งกลับประเทศต้นทาง อย่างไรก็ตาม ชาติเพื่อนบ้านอย่างบังกลาเทศยังไม่มีการส่งสัญญาณว่าจะให้ความร่วมมือในเรื่องนี้

ปัจจุบันศูนย์ควบคุมตัวผู้อพยพดังกล่าวมีผู้ลี้ภัยผิดกฎหมายอยู่แล้วจำนวน 1,135 คน ดำเนินการมาแล้วนานหลายปี

ขณะที่กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนวิพากษ์วิจารณ์ความผิดพลาดคลาดเคลื่อนของเอ็นอาร์ซีหลายกรณี วิจารณ์มาตรฐานการพิจารณาคดีของศาลชาวต่างชาติที่ต่ำกว่ามาตรฐาน รวมไปถึงสภาพความเป็นอยู่ของศูนย์ควบคุมตัวผู้ลี้ภัยผิดกฎหมายที่ไม่ได้มาตรฐาน

คงต้องติดตามกันต่อไปว่าการลงทะเบียนพลเมือง หรือเอ็นอาร์ซีครั้งมโหฬารของอินเดียนั้นจะแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยผิดกฎหมายในประเทศได้จริงหรือไม่

หรือนั่นจะเป็นเพียงนโยบายชาตินิยมของบีเจพี ที่อาจส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์คนไร้รัฐ อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาในพม่ามาก่อนหน้านี้แล้ว