ศัลยา ประชาชาติ : เปลี่ยนสนามบินเป็นสนามรบ สมรภูมิ “สุวรรณภูมิ” ระอุ ยักษ์ค้าปลีกดาหน้าปักธง

นับวัน “สุวรรณภูมิ” จะเป็นทำเลทองที่ร้อนแรงขึ้นทุกวัน และดึงดูดการลงทุนจากทั่วสารทิศ ได้รับความสนใจจากหลากหลายธุรกิจ ด้วยระบบคมนาคมขนส่ง ของเส้นบางนา-ตราด ที่เชื่อมกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก ยาวไปจนถึงชลบุรี ระยอง และตราด ลากผ่านจุดสำคัญๆ ทั้งสนามบินสุวรรณภูมิ ที่รองรับนักท่องเที่ยวมากกว่า 62 ล้านคนต่อปี รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก

และที่สำคัญ เมกะโปรเจ็กต์ที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่าง “เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” (EEC) ที่จะดึงดูดนักลงทุนจากทุกมุมโลก เกิดเป็นโครงการขนาดใหญ่อีกหลายโครงการ

ภาพเหล่านี้สะท้อนถึงศักยภาพของสุวรรณภูมิและกำลังซื้อขนาดมหาศาลในย่านนี้ได้เป็นอย่างดี จึงไม่แปลกหากจะมีโครงการต่างๆ ทยอยเปิดตัวกันเป็นระยะๆ

และมิได้มีเฉพาะกลุ่มเซ็นทรัล ที่เพิ่งจะเป็นกรณีขัดแย้งเกรียวกราวกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เท่านั้น หากลงไปไล่สำรวจดูก็จะพบว่า สมรภูมิรอบพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิกำลังกลายเป็นแนวรบที่ร้อนระอุสำหรับการลงทุนโดยเฉพาะในกลุ่มพัฒนาที่ดินและค้าปลีก

 

ที่น่าสนใจและมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง หลักๆ ยังเป็นธุรกิจค้าปลีก ที่ “บิ๊กทรี” ของเมืองไทย “เซ็นทรัล-เดอะมอลล์-สยามพิวรรธน์” ที่ประกาศปักธงการลงทุนกันครบทุกค่าย

เริ่มจาก “เซ็นทรัล วิลเลจ” โครงการลักชัวรี่ เอาต์เล็ต ของกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา หรือซีพีเอ็น ที่เปิดแทบจะติดสนามบินสุวรรณภูมิ และเพิ่งจะตัดริบบิ้นไปหมาดๆ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 5,000 ล้านบาท บนพื้นที่ 100 ไร่ รวม 40,000 ตร.ม.

พร้อมร้านค้าแบรนด์ดังที่เข้ามาจับจองพื้นที่กว่า 150 แบรนด์ รองรับกำลังซื้อทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวและคนไทย ที่คาดว่าจะเข้ามาใช้บริการเฉลี่ย 20,000 คนต่อวัน

ขณะที่กลุ่มสยามพิวรรธน์ ที่จับมือกับไซม่อน พร็อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป ยักษ์ค้าปลีกระดับโลก ที่เป็นเจ้าของพรีเมียมเอาต์เล็ตกว่า 69 แห่งทั่วโลก ลงทุนสร้างลักชัวรี่ พรีเมียมเอาต์เล็ต ในชื่อของ “สยาม พรีเมียม เอาต์เล็ต” ที่ปักธงใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิ บริเวณทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ-ชลบุรี) ก.ม.23 มูลค่าราวๆ 3.5-4 พันล้านบาท คาดว่าจะเปิดตัวในช่วงปลายปีนี้ โครงการนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 150 ไร่ รวม 5 หมื่น ตร.ม. กว่า 200 ร้านค้า

“ชฎาทิพ จูตระกูล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด หวังจะเข้าไปตอบโจทย์ความต้องการของคนไทย และนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในคอนเซ็ปต์ “อินเตอร์เนชั่นแนล ลักชัวรี่ เอาต์เล็ต”

และมีแผนการซื้อที่ดินข้างๆ เพิ่มอีก 50-75 ไร่ เพื่อต่อยอดไปสู่การทำโครงการอสังหาริมทรัพย์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ฯลฯ

เช่นเดียวกับค่ายเดอะมอลล์กรุ๊ป ที่เพิ่งวางศิลาฤกษ์และตอกเสาเข็มโครงการอย่าง “แบงค็อก มอลล์” เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยโครงการนี้จะขยับจากสุวรรณภูมิเข้าใกล้เมืองมาหน่อย ที่บริเวณสี่แยกบางนา

ซึ่งเป็นจุดตัดของถนนบางนา-ตราด มีรถไฟฟ้าบีทีเอส รองรับเชื่อมต่อการเดินทางภายในกรุงเทพฯ ชั้นใน และสถานีขนส่งผู้โดยสารสายตะวันออก ที่จะย้ายจากเอกมัย เข้ามาอยู่ในพื้นที่ของแบงค็อก มอลล์ ในอนาคต

ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างเพื่อเปิดตัวให้ทันภายในปี 2565-2566 ภายใต้งบฯ ลงทุนกว่า 50,000 ล้านบาท บนพื้นที่กว่า 100 ไร่ รวม 1.2 ล้าน ตร.ม. ซึ่งจะมีทั้งห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต พลาซ่า อารีน่า ฮอลล์ ขนาดความจุ 1.6 หมื่นที่นั่ง โรงภาพยนตร์ 15 โรง สวนน้ำ สวนสนุก ฯลฯ

ท่ามกลางการเกิดขึ้นของโครงการใหม่ๆ ที่ต้องการเข้ามาชิงกำลังซื้อในย่านนี้ แน่นอนว่าต้องสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับผู้เล่นรายเดิมอยู่ไม่น้อย

 

ด้านความเคลื่อนไหวของ “เมกา บางนา” ศูนย์การค้าของบริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ที่ครองกำลังซื้อโซนสุวรรณภูมิ และเส้นบางนา-ตราด เอาไว้อย่างเหนียวแน่นในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา พร้อมพาร์ตเนอร์แม็กเน็ตระดับโลกอย่างอิเกีย ทำให้ทราฟฟิกของผู้ที่มาใช้บริการภายในศูนย์สูงถึงปีละ 42 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด เมกา บางนามีแผนจะพัฒนาที่ดินที่เหลืออีก 50 ไร่ จากทั้งหมด 400 ไร่ เพื่อสร้างที่จอดรถอีก 2,000 คัน รวมถึงโรงแรมและอาคารสำนักงานเพิ่ม พร้อมกับพัฒนาโครงการให้เป็น “เมกาซิตี้” ศูนย์กลางการใช้ชีวิต ทั้งทำงาน พักอาศัย ช้อปปิ้ง รับประทานอาหาร ซึ่งจะประกอบไปด้วยศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย และสถาบันการศึกษา ตลอดจนโครงการคอนโดมิเนียมที่จะเปิดปลายปีหน้า

เมกา บางนา แม้โลเกชั่นของเมกา บางนาอาจจะห่างจากสนามบินท่าสุวรรณภูมิ เมื่อเทียบกับ “เซ็นทรัล วิลเลจ” หรือ “สยาม พรีเมียม เอาต์เล็ต” แต่ก็ยังมีความโดดเด่นในแง่ของเส้นทางการเดินทางที่สะดวกสบาย และสามารถเดินทางและเชื่อมต่อไปเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซีได้ง่าย

และในอนาคตจะมีระบบขนส่งมวลชนที่มาเชื่อมต่อทั้งรถไฟฟ้าและโมโนเรล

 

นอกจากการลงทุนของกลุ่มค้าปลีกแล้ว “กลุ่มทุนจิวเวลรี่” ก็เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ทุ่มเม็ดเงินจำนวนมาก เปิดร้านรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะคนจีน

อาทิ กลุ่มบริษัทโอเอ ทรานสปอร์ต ผู้ให้บริการรถบัสนำเที่ยว และร้านรอยัล เจมส์ ที่ตั้งอยู่ย่านลาดกระบัง

รวมถึงกลุ่มโมเดิร์นเจมส์ และกลุ่มวังถลาง ตลอดจนการลงทุนของกลุ่มทุนใหญ่อย่างคิง เพาเวอร์ ภายใต้โครงการ คิง เพาเวอร์ ศรีวารี คอมเพล็กซ์ บริเวณถนนบางนา-ตราด ก.ม.18

หากสังเกตจะเห็นการลงทุนของผู้ประกอบการเหล่านี้จะเน้นไปที่ทำเลย่านบางนา-ตราด ลาดกระบัง และเทพารักษ์ เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำกว่าพื้นที่ทางทิศเหนือของสนามบินสุวรรณภูมิ และมีการเดินทางไปสนามบินได้ไม่ยาก เพื่อรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้า-ออกที่สนามบินสุวรรณภูมิเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน เร็วๆ นี้ยังมีความเคลื่อนไหวของเจ้าของที่ดินแปลงใหญ่ย่านบางนา-ตราด โดย “สิทธิชัย เจริญขจรกุล” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เบสท์ โอเชียนกอล์ฟ จำกัด เจ้าของพื้นที่ดังกล่าว มีแผนที่จะพัฒนาโครงการ “ทรัสต์ซิตี้” บนพื้นที่ 500 ไร่ ในบริเวณถนนเทพรัตน ก.ม.29 (บางนา) เพื่อเป็นศูนย์รวมสินค้าของโลก โดยเฟสแรกจะทำเอ็กซิบิชั่นเทรดเดอร์ จำนวน 200-400 ร้านค้าก่อน จากนั้นจะพัฒนาเฟสต่อไปเป็นโรงแรม 5 ดาว คาดว่ามูลค่าการลงทุนทั้งหมดจะไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้านบาท

นี่ยังไม่นับรวมถึงโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อีกหลายโครงการที่ทยอยเปิดตัวมาเป็นระยะๆ และทำให้เกิดชุมชนและกำลังซื้อตามมาอย่างมหาศาล

ณ เวลานี้ “สุวรรณภูมิ” จึงถือได้ว่าเป็นทำเลทองของกลุ่มทุนต่างๆ อย่างแท้จริง