ฉัตรสุมาลย์ / ผู้นำสตรี : ธรรมยาตราในเขมร

วัณณ์ สายวอน เกิด พ.ศ.2503 ที่เมืองสีโสภณ จังหวัดทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองบันทายมีนเจีย กัมพูชา เป็นลูกคนกลางในบรรดาลูก 3 คน ครอบครัวมีฐานะและมีอำนาจ เพราะพ่อเป็นนายทหาร

เธอเล่าว่า สมัยเด็กๆ มีพลทหารขับรถอย่างดีไปส่งที่โรงเรียน

เธอเคยบอกพ่อว่า เธอรู้สึกเหมือนนักโทษที่ต้องมีผู้คุมตลอดเวลา

พ่อโกรธมากที่เธอรู้สึกเช่นนั้น สำหรับพ่อ พ่อมองว่า การที่สามารถให้พลทหารไปส่งลูกไปโรงเรียนเป็นการแสดงถึงอำนาจ

ไม่นานเมื่อพล พต เข้ามามีอำนาจปกครองประเทศ ชาวเขมรจึงได้สัมผัสกับการเป็นนักโทษอย่างแท้จริง

ครอบครัวของเธอสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง พ่อหายตัวไปอย่างลึกลับ

หลังจากนั้น ครอบครัวของเธอก็ไม่มีความต้องการใดๆ เหลืออยู่อีกเลย

เธอเล่าว่า อะไรที่มีอยู่ในวันนี้ พรุ่งนี้ก็หมดไป

จากประสบการณ์เช่นนี้ สอนให้เธอรู้จักว่า ในการที่จะมีชีวิตอยู่นั้น เธอไม่ได้ต้องการอะไรมากมายเลย

 

เมื่อเขมรแดงเข้ามายึดอำนาจใน พ.ศ.2518 วัณณ์ได้รับการศึกษาเพียง ป.5 หลังจากนั้น เธอก็เข้าเรียนในโรงเรียนชีวิตที่สอนให้รู้ถึงความทุกข์อย่างแท้จริง ครูที่สอนสมาธิ คือความหิว

เธอเริ่มฝึกสมาธิในช่วงเขมรแดง เวลาหิวจัดๆ ในตอนกลางคืน เธอก็เข้าสมาธิเพราะหิวจนนอนไม่หลับ เธอตั้งใจดูลมหายใจเข้า-ออก จนลืมความหิว แต่พอเลิกทำสมาธิก็หิวอีก

เธอเล่าว่า เธอไม่รู้ว่าที่เธอทำนั้น คือการฝึกสมาธิ จนต่อมาเธอได้เรียนทำสมาธิกับสมเด็จพระมหาโฆษะนันทะ ในคราวที่เดินธรรมยาตราครั้งแรกกับท่าน

เธอจึงตระหนักว่า ที่เธอเคยปฏิบัติมานั้น คือการฝึกสมาธินั่นเอง

 

วัณณ์ไม่ค่อยสนใจในเรื่องศาสนา ประสบการณ์ชีวิตสอนให้เธอทำความดี เพื่อจะได้รับผลตอบแทนที่ดี ถ้าทำชั่วก็จะได้รับผลกรรมชั่วในชาตินี้

เธอเชื่อว่า คำสอนในศาสนาต้องผ่านการทดสอบในชีวิตจริง ถ้าเป็นจริงในชาตินี้ ก็ปฏิบัติต่อไป ด้วยท่าทีเช่นนี้ เธอจึงตั้งใจฟังคำสอน และตั้งใจที่จะเรียนรู้ไปกับการเดินธรรมยาตราที่เป็นการเดินเพื่อสันติในทุกๆ ปี

ธรรมยาตราครั้งที่ 13 เริ่มเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2546 เป็นการเดินจากนครวัด ระยะทาง 651 ก.ม. ใช้เวลาเดินทาง 45 วัน ผ่าน 7 จังหวัด ไปสิ้นสุดการเดินทางที่วัดพนมเรียเจียทรอป วัดที่มีพระบรมธาตุ ที่เมืองอูดง ถึงที่นั่นวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2546

เธอเล่าว่า ชาวเขมรเชื่อว่าธรรมยาตราจะนำสันติสุขมาให้

พวกเขาเลิกกลัวสงคราม บางคนเชื่อต่อไปว่า เวลาขบวนธรรมยาตรามาถึงที่หมู่บ้านของเขา จะเป็นการนำฝนมาให้ ทำให้พวกเขาทำนาได้ เวลาขบวนธรรมยาตรามาถึง จะช่วยสงบความรุนแรงทั้งปวง ชาวบ้านจะพากันเรียกพวกผู้ชายที่ชอบทุบตีภรรยาให้ออกมารับน้ำมนต์จากพระสงฆ์ที่เดินนำมาในขบวนธรรมยาตรา รวมทั้งคนที่เคยใช้ความรุนแรงในหมู่บ้าน ให้ออกมารับน้ำมนต์ ด้วยการกระทำเช่นนี้ ชาวบ้านจึงเชื่อว่า ธรรมยาตรานำสันติสุขมาสู่ชาวบ้านอย่างเป็นรูปธรรม

วัณณ์ในฐานะผู้จัดการขบวนธรรมยาตราครั้งนั้น ได้รับการต้อนรับจากชาวบ้านอย่างอบอุ่น เธอรู้สึกเช่นนั้น นับตั้งแต่ครั้งแรกที่เธอได้พบสมเด็จพระมหาโฆษะนันทะที่ข้ามมาจากไทยกลับคืนสู่เขมรตั้งแต่ พ.ศ.2535

วัณณ์เดินทางไปปอยเปตเมื่อเธอได้ยินเกี่ยวกับธรรมยาตราครั้งแรก แต่เธอไม่เคยเห็นด้วยตนเอง เธอผ่านการสู้รบมาตั้งแต่สมัยสมเด็จสีหนุ นายพลลอนนอล พล พต เวียดนาม เมื่อเธอมาได้ยินเรื่องธรรมยาตรา เธอจึงสนใจมาก

เมื่ออายุ 43 วัณณ์ได้เป็นผู้จัดการการเดินธรรมยาตราประจำปี และจัดทำมาทุกปีตั้งแต่ พ.ศ.2542

 

บางทีพวกข้าราชการถามเธอว่า ทำไมเธอยังจัดการเดินธรรมยาตราอีก ในเมื่อตอนนี้เขมรก็สงบสุขดีแล้ว เธอถามพวกเขากลับว่า จริงหรือ ที่ว่าเขมรหมดภาวะสงครามแล้ว สงครามภายใจในเล่า ทุกๆ วัน เขมรยังสู้รบกันเรื่องเงิน เรื่องอาหาร เรื่องอำนาจ ฯลฯ

ธรรมยาตราจะไม่รอให้เกิดสงครามอีก แต่อยากให้ทุกคน ทุกพื้นที่ได้ปรับเปลี่ยนที่หัวใจ กลับไปสู่หัวใจของชาวเขมรดั้งเดิม ที่มีความอ่อนนุ่ม อ่อนโยน…หัวใจเขมรที่แท้จริง

ใน พ.ศ.2540 วัณณ์เคยเดินทางมาประเทศไทย และเศร้าใจกับความทุกข์ที่เธอได้เห็นจากคนที่ป่วยด้วยโรคเอดส์

เธอได้พบพระภิกษุที่ทำงานด้านช่วยเหลือผู้ได้ทุกข์ด้วยโรคนี้ ตอนนั้น เธอรู้เลยว่า ในอนาคตเขมรก็จะเจอสภาพเดียวกัน

เธอเองไม่ได้รับการฝึกอบรมทางการพยาบาลและดูแลรักษาคนป่วย

แต่สิ่งที่เธอทำได้คือ สอนเด็กและเยาวชนให้ยึดมั่นในการรักษาศีล 5 หากเรามั่นคงในการรักษาศีล ก็จะเป็นการป้องกันโรคเอดส์ไม่ให้เป็นปัญหาใหญ่แก่ชาวเขมรได้

เธอเลิกกิจการส่วนตัวที่มีร้านขายของในตลาด งานธรรมยาตราเป็นงานที่วัณณ์ทำทุกวัน เธอเริ่มสอนสมาธิและศีล 5 ให้แก่นักเรียนและเยาวชนตามโรงเรียน ตามวัดที่มียายชี (แม่ชี) สอนหมอตำแย และพยาบาล

และยินดีสอนทุกคนที่เขาเชิญเธอไปบรรยาย

 

พ.ศ.2543 เมื่อไม่ทราบว่า สมเด็จพระมหาโฆษะนันทะ ที่เดินทางไปดูแลอีกวัดหนึ่งที่อเมริกาจะเดินทางกลับมาเขมรหรือไม่

วัณณ์จึงริเริ่มธรรมยาตราเองในจังหวัดที่เธออยู่ การเดินธรรมยาตราในครั้งนั้น มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก ทั้งจากต่างจังหวัด ในประเทศเขมรเอง และจากต่างประเทศ แม้สมเด็จพระมหาโฆษะนันทะผู้ริเริ่มการเดินธรรมยาตราจะไม่ได้อยู่ด้วย แต่เธอก็ยังมั่นคงในการจัดการเดินธรรมยาตราเพื่อสันติภาพต่อมา

เมื่อถามว่า “เขมรอาจจะมีศึกอีกไหม?”

เธอคิดว่า อาจจะมี ตราบใดที่ชาวเขมรไม่เคารพในกฎธรรมชาติ กฎแห่งชีวิต ฯลฯ บางทีเธอก็อยากเลิกทำ

แต่ขณะเดียวกัน เธอก็อยากเอาชนะ

 

เป้าหมายของวัณณ์ในการเดินธรรมยาตราเพื่อนำศีล 5 ไปสู่เยาวชน และชาวบ้านที่อยู่ห่างไกล เธออยากให้เด็กๆ ทำสมาธิเป็น สมาธิที่จะทำให้พวกเขาเกิดปัญญา ปัญญาสำหรับหัวใจชาวเขมร ตามที่สมเด็จพระมหาโฆษะนันทะเพียรสอนเสมอๆ ว่า

ปัญญาและกรุณาต้องไปด้วยกัน

เธอว่า หากเธอมีทุนสนับสนุน ก็จะเดินกันไปตลอดเลยทีเดียว

เดินไป

เพื่อประโยชน์ของประชาชน

เพื่อความสุขของประชาชน

ด้วยความกรุณาต่อโลก

วัณณ์เดินต่อไป และเป็นผู้นำในการจัดหาทุนรอน และเป็นผู้นำในการเดินธรรมยาตรา เพื่อสร้างสังคมที่เข้มแข็ง แม้สมเด็จพระมหาโฆษะนันทะจะมรณภาพไปแล้ว เธอก็ยังเป็นผู้นำการเดินธรรมยาตราต่อมาทุกปี

นำทั้งพระภิกษุสงฆ์ ดอนชี (แม่ชี) อุบาสก อุบาสิกา

 

จนกระทั่ง พ.ศ.2561 วัณณ์ไม่สามารถจัดธรรมยาตราได้ พระภิกษุสงฆ์ที่ร่วมเดินกับเธอทุกปี ก็ไม่มีความสามารถที่จะรวมกำลังกันจัดการเดินธรรมยาตรา

เธอเสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งในเดือนธันวาคม 2561

ลุงบ็อบ ชาวอเมริกัน เดิมเป็นพระในนิกายเจซูอิต เข้ามาร่วมงานรับใช้สมเด็จพระมหาโฆษะนันทะตั้งแต่แรกเริ่ม รายงานมาว่า จนบัดนี้ คือเดือนสิงหาคม 2562 ก็ยังไม่มีวี่แววว่าพระภิกษุชาวเขมรจะมีการเคลื่อนไหวเพื่อทำให้การเดินธรรมยาตรากลับมาเป็นความจริงอีกครั้งหนึ่ง

งานเยียวยาสังคมเขมรด้วยวิธีการเดินธรรมยาตราเข้าสู่หมู่บ้าน เป็นวิธีการที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม พระภิกษุที่มาร่วมเดินอาจจะนำเสนอโครงการกับพระผู้ใหญ่ ขอบารมีให้ท่านช่วยเหลือในด้านทุนรอน ส่วนพระภิกษุสงฆ์เองสามารถบริหารจัดการให้การเดินธรรมยาตราเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้

เราจะเข้าไปร่วมกับพี่น้องชาวเขมรเดินธรรมยาตรากันดีไหม