คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : “ตรียัมปวาย – ตรีปวาย” คืออะไร ของสยามและอินเดีย เป็นไฉน

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ท่านอาจารย์ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ เคยค้นคว้าไว้ว่า ชื่อพระราชพิธีของเรา “ตรียัมปวาย ตรีปวาย” มาจากคำภาษาทมิฬ ติรุเวมปาไว (Tiruvempavai) และ ติรุปาไว (Tirupavai)

ทั้งสองนี้ไม่ใช่ชื่องานพิธี แต่เป็นชื่อบทประพันธ์ร้อยกรองในภาษาทมิฬของนักบุญสองท่าน ติรุเวมปาไว ของนักบุญมณิกาวาจคร์ (Manikavasagar) หนึ่งในกลุ่มนักบุญขบวนการภักติของพระศิวะในอินเดียใต้ที่เรียกว่า นยันนาร์

ติรุเวมปาไว เป็นส่วนหนึ่งของบทประพันธ์ขนาดยาวของท่านชื่อ ติรุวาจคัม (Tiruvacagam)

ส่วนติรุปาไว เป็นบทประพันธ์ของนักบุญหญิงในไวษณพนิกาย ชื่อศรีอัณฑาล หรือโคทาเทวี หนึ่งในกลุ่มนักบุญขบวนการภักติพระวิษณุ เรียกกลุ่ม อัลวาร์

ติรุปาไวเป็นส่วนหนึ่งของ ทิพยประพันธัม (Divyaprabandham) หรือรวมกวีนิพนธ์สรรเสริญพระวิษณุของอัลวาร์

“ติรุ” ที่เห็นใช้เป็นคำนำหน้านามนี้ เป็นคำแสดงความยกย่องในภาษาทมิฬ แทนคำว่า “ศฺรี” ในภาษาสันสกฤตครับ

ท่านโคทาเทวีนี้ว่ากันว่า สุดท้ายด้วยความรักที่มีต่อพระวิษณุ พระองค์ถึงกับรับไปเป็นชายาทีเดียว และเชื่อกันว่า อัณฑาลคือพระภูเทวีหรือพระแม่ธรณีนั่นเอง

นอกจากนี้ บทสวดในพระราชพิธีทั้งสองชื่อว่า มูไรหรือมุไรนั้น มาจาก “ติรุมุไร” (Tirumurai) ซึ่งเป็นบทประพันธ์ในไศวะนิกายของนักบุญได้แก่ ติรุชญาสัมพันธร์ อัปปาร์ และสุนทรมูรติจำนวนยี่สิบบท

เฉพาะเจ็ดบทแรกของมุไร เรียกว่า เตวารัม (Tevaram) ส่วนนี่แล อาจารย์ศิริพจน์ว่าคือส่วนที่พราหมณ์สยามท่านสวดในพระราชพิธี

ปัจจุบันพระราชพิธีทั้งสองนั้นเหมือนเป็นพระราชพิธีเดียวกัน คือเริ่มด้วยพระราชพิธีตรียัมปวายตั้งแต่ขึ้นเจ็ดค่ำเดือนอ้าย ไปจนถึงแรมหนึ่งค่ำเดือนยี่บูชาพระอีศวรหรือพระศิวะ

จากนั้นไปจนแรมห้าค่ำจะเป็นพระราชพิธีตรืปวายบูชาพระนารายณ์ สำนวนเก่าว่า “พระนเรศวร์เดือนหงาย พระนารายณ์เดือนคว่ำ”

กิจกรรมหลักในพระราชพิธีทั้งสอง คือพราหมณ์สยามทั้งปวงจะ “ผูกพรต” กินถั่วงา (ปกติพราหมณ์สยามทานเนื้อสัตว์กันได้) ไม่นอนที่บ้านกับภรรยา แต่นอนค้างในเทวสถาน เช้าค่ำบูชาพระเป็นเจ้า สวดมุไร โดยมีพราหมณ์ “คู่สวด” สี่ท่านพากันสวดสลับตามบทและยกอุลุบเครื่องบูชาถวาย วันสุดท้ายสวดช้าหงส์ ส่งพระเป็นเจ้า

ช้าหงส์คือ นำเทวรูปพระเป็นเจ้าขึ้นหงส์ พราหมณ์ท่านหนึ่งคอยไกว อีกสองท่านสวดช้าหงส์

ผมเคยไปฟังช้าหงส์ บางบทพอฟังได้ว่าเป็นบทสวดภาษาสันสกฤต ที่จำได้คือบท “อรฺธนารีศวรสฺโตฺตร” ขึ้นว่า จามฺเปยเคารรฺธศรีรกาไย …

ในอดีต วันสุดท้ายการพระราชพิธีมีพิธีโล้ชิงช้า เลิกไปในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปัจจุบันยังคงพิธีเฉพาะในเทวสถานไว้ตามเดิม

พระราชพิธีนี้ยังถือว่าเป็นขึ้นปีใหม่ของพราหมณ์ด้วย น่าสนใจที่วันสุดท้ายของพระราชพิธีมักจะตรงกับ วัน “มกรสังกรานติ” หรือสงกรานต์ในเดือนมกราคม (พระอาทิตย์ย้ายเข้าราศีมังกร) ตามปฏิทินฮินดูในอินเดีย ซึ่งถือพระอาทิตย์ว่า ย้ายเข้าใน “อุตรายัน” หรือซีกวงโคจรด้านเหนือ อันเป็นช่วงอบอุ่นและมีชีวิต จะนับเป็นปีใหม่ (ยังมีอีกหลายปีใหม่ในอินเดีย) ก็ไม่ผิดอันใด

คนอินเดีย โดยเฉพาะชาวทมิฬนี่ตื่นเต้นมากนะครับ เมื่อทราบว่าเราทำพิธีแบบ “ทมิฬ” ท่านศังกราจารย์แห่งกาญจีปุรัมองค์ที่แล้ว มหาสวามีจันทรเศขรเป็นผู้ศึกษาเรื่องนี้ไว้ก่อนท่านอื่น แล้วช่วยให้ทราบความเป็นมาเป็นไปมากขึ้น

ผมไปค้นเจอว่า T.P.Meenakshisundaram เขียนไว้ในบทความท่านว่า บทสวด “เปิดประตูศิวาลัยไกรลาส” ที่พราหมณ์สยามท่านใช้เปิดเทวสถานพระอีศวร และใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกด้วยนั้น มาจาก “ติรุมุไร”นั่นเอง โดยมาจากบทกวีของ นักบุญอัปปาร์ ที่ขึ้นด้วย “กุรรยินาวารุ” (kurrayinavaru) ในภาษาทมิฬ

บทนี้กวีอัปปาร์คร่ำครวญถึงความทุกข์จากอาการเจ็บป่วยในช่องท้องแต่เมื่อยังไม่ได้เป็นชาวไศวะ ต่อมาจึงขอยึดเอาพระบาทของพระศิวะเป็นที่พึ่งและกล่าวถึงว่าพระองค์เป็นเจ้าแห่ง ติรุวติไก ริมแม่น้ำ เกติลัม (Ketilam) ซึ่งเป็นสถานที่ที่อัปปาร์พบนิมิตพระเป็นเจ้าและหายจากอาการป่วย

มีนากษีสุนทรัมตีความว่า บทนี้น่าจะแสดงถึงความทุกข์ยากของคนทมิฬที่ต้องจากบ้านเมือง และนิมิตที่มีต่อ “ไกรลาส” ของอัปปาร์ในฐานะที่เป็นที่พึ่งพิงของชาวไศวะ และอาจจะเป็นไปได้ว่าในอดีตคงจะสวดขับบทนี้ก่อนจะเปิดเทวสถาน

ธรรมเนียมการใช้บทกวีของอัปปาร์เพื่อเปิดประตูศิวาลัยไกรลาสจึงยังคงมีมาถึงปัจจุบันในสยามนี่เอง

แม้จะรักษาบทขับสวดจากทมิฬต้นกำเนิดมาไว้ได้อย่างยาวนาน แต่เมื่อลองค้นว่าความหมายของ ทั้ง ติรุเวมปาไว และติรุปาไวเป็นอย่างไร ก็เห็นว่าพิธีนี้เปลี่ยนรูปรอยไปอย่างไรบ้างในสยามเรา

ทั้งติรุเวมปาไว และติรุปาไว ในอินเดีย เกี่ยวข้องกับพิธีของ “ผู้หญิง” เขาครับไม่ใช่ของพราหมณ์

ทั้งติรุปาไวและติรุเวมปาไวมีไว้ให้ผู้หญิง “ขับ” (ไม่ใช่สวดนะครับ) โดยมุ่งหมายเพื่อให้ได้สามีที่ดี

ติรุเวมปาไวเป็นของหญิงสาว (โสด) ที่นับถือพระศิวะ ส่วนติรุปาไวเป็นของผู้หญิง (โสด) ที่นับถือพระวิษณุ ช่วงพิธีผู้นับถือพระศิวะจะมาถึงก่อน ส่วนไวษณพมาทีหลัง ตรงกับเดือนมารคศีของทมิฬ ตกราวธันวาคม-มกราคมของทุกปี

ตรงกันกับของเรา แต่ของเขาพิธีจะมีวันที่ยาวกว่า

พอถึงช่วงเวลานี้ของปี หญิงสาวโสดจะถือ “พรต” ภาษาทมิฬเรียก นอนพู (nonbu) เรียกพรตในพิธีนี้ว่า ปาไวนอนพู (Pavai nonbu)

คำว่า “ปาไว” ที่เป็นทั้งชื่อบทประพันธ์และชื่อพิธีถือพรต แปลว่า หญิงสาว ตุ๊กตาหรือรูปปั้นก็ได้

พิธีของผู้ที่นับถือพระเป็นเจ้าทั้งสองนี้คล้ายๆ กัน หญิงสาวจะตื่นแต่ก่อนอรุณ (ในบทกวีจึงมีเนื้อหาของการปลุกให้ตื่น หรือเรียกให้สาวๆ ไปทำพิธีแต่เช้าด้วย) แล้วจะพากันไปยังแม่น้ำกาลินที หรือแม่น้ำท่าน้ำใกล้เคียง ลงสระสนาน แล้วปั้นตุ๊กตาดิน “ปาไว” เป็นรูปเจ้าแม่กัตยายนี (ปางหนึ่งของพระแม่ปารวตี) จากดินท่าน้ำ บูชารูปปั้นนั้น อดอาหารจนพระอาทิตย์ตกดิน

ระหว่างเดินแห่ขบวนกันไปท่าน้ำหรือเทวสถาน ก็ร่วมกันขับร้องติรุเวมปาไว หรือติรุปาไวกัน

ปัจจุบัน อาจไม่ได้ทำกันเช่นนี้แล้ว แต่เหลือการตื่นเช้าสระสนาน ไปเทวสถานและขับบทจากติรุเวมปาไว และติรุปาไว

 

ติรุเวมปาไวนอกจากสรรเสริญพระเจ้า ยังพูดถึงความรักด้วย ส่วนติรุปาไวนั้นก็ชื่นชมซาบซึ้งลีลารักของพระกฤษณะ บทกวีนี้จึงไม่ใช้บทสวดที่ศํกดิ์สิทธิ์ ในความหมายของพลังเร้นลับน่าเกรงขามอย่างพิธีในสยาม แต่เป็นบทกวีรัก เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่าพิธีทั้งสองมีเพื่อขอ “สามี” ที่ดี

ซึ่งจะเป็นใครไปไม่ได้นอกเสียจากพระศิวะและพระกฤษณะ (พระนารายณ์) ในบทกวีนั้นเอง

ครูไมค์ผู้ล่วงลับกล่าวไว้ว่า ที่จริงพรตนี้เป็นพิธีขอฝนด้วย เพราะเนื้อหาในเชิง “ร่วมรัก” ในบทกวีนั้นเป็นสัญญะของพิธีของฝนเพื่อความสมบูรณ์ (เปิดประตูเถิด ฝนหลั่งเถิด ฯลฯ) และสมัยกรุงเก่ากษัตริย์ต้องรับน้ำอภิเษกพิธี “ตริปาวายสนาน” เพื่อบ้านเมืองด้วย

ผมได้ติรุปาไวฉบับทมิฬแปลภาษาอังกฤษมาเล่มหนึ่ง จัดพิมพ์โดยสำนักศรีรามกฤษณะมัธที่เจนไน ขอลองแปลสักบท (เรียกปาสุราม) ให้ลองลิ้มกัน

“ในเดือนมารคศี วันปูรณจันทร์อันมงคลยิ่ง โอ้สาวน้อยผู้รุ่มรวยแห่งอารยบท (ดินแดนของพระกฤษณะ) ขอเราพากันไปสระสนานและสวดมนตร์กันเถิด

บุตรแห่งนันทโคบาลผู้มีปฏักแหลม ผู้ทำลายศัตรู หนุ่มสิงห์ตางามของยโศธา ผู้มีพรรณงามดุจเมฆใหม่ ดวงพักตร์งามเหมือนสูรย์จันทร์ อันมิใช่ผู้ใดนอกจากพระนารายณ์เนตรกลีบปทุมา

โปรดประทานผลแห่งปาไวพรตของเรา ขอพวกเราสาวๆ ไปอาบน้ำและทำพรตให้สมบูรณ์กันเถิด” (บทที่ 1)

“หลังจากประพฤติพรตปาไว และเข้าสู่ฟากฟ้าเวหนแล้ว โอ้สาวบุญหนักผู้ยังง่วงงุนเอ๋ย ไฉนจึงยังมิเปิดประตูของเจ้า หรืออย่างน้อยช่วยขานตอบเสียงเรียกนี้…” (10)

 

จากพิธีชาวบ้านกลายเป็นพระราชพิธี จากพิธีของหญิงโสดกลายเป็นพิธีของพราหมณ์ จากเจือรสรักหวานซึ้งกลายเป็นจริงจังขึงขัง จากร้องขับกลายเป็นสวดเข้มขลัง

เหตุไฉนพิธีจากอินเดียเมื่อมาสู่สยามจึงเปลี่ยนแปลงไป คงต้องช่วยกันพิเคราะห์ค้นคว้ากันอีก

แต่ใครมีเวลาว่างในช่วงนี้ ลองไปชมพระราชพิธีตรียัมปวายตรีปวายที่เทวสถานโบสถ์พราหมณ์กันเถิด

เผื่อได้ข้อสังเกตอะไรจะได้ช่วยกันคิดต่อ