การศึกษา / ทุจริต ‘อาหารกลางวัน’ ปัญหาซ้ำซากที่แก้ไม่ตก??

การศึกษา

 

ทุจริต ‘อาหารกลางวัน’

ปัญหาซ้ำซากที่แก้ไม่ตก??

 

การทุจริต “อาหารกลางวัน” กลายเป็นปัญหาหนึ่งของวงการศึกษาไทยไปแล้ว ที่เกิดขึ้นซ้ำซากทุกปี และยังไม่เห็นวี่แววที่รัฐ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จะแก้ไขปัญหานี้ได้

จาก “ขนมจีนคลุกน้ำปลา” โรงเรียนบ้านท่าใหม่ จ.สุราษฎร์ธานี ที่เป็นกระแสโด่งดังในปีที่ผ่านมา สู่กรณีใหม่อย่าง “ครูอ้อม” หรือ น.ส.อ้อมอารีย์ แข็งฤทธิ์ ครูประจำชั้นอนุบาล โรงเรียนวัดวงเดือน อ.หันคา จ.ชัยนาท ที่ออกมาแฉว่าอาหารกลางวันของโรงเรียนไม่มีคุณภาพ ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้ไป

เพราะเมนูอาหารกลางวันที่นักเรียนกินนั้น มีเพียงผัดบะหมี่ ที่ไม่ใส่หมู ใส่ผัก ไม่ถูกหลักโภชนาการแม้แต่น้อย!!

หลังจากที่ครูอ้อมออกมาแฉเรื่องนี้ ก็เกิดเหตุถูกปาเลือดใส่หน้าชั้นเรียน จนต้องออกมาร้องผ่านโซเชียลมีเดียว่าถูกกลั่นแกล้ง ซึ่งสาเหตุอาจจะมาจากการออกมาเปิดโปงเรื่องอาหารกลางวัน

จากนั้นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ชัยนาท ได้สั่งย้ายครูอ้อมไปช่วยปฏิบัติราชการที่ สพป.ชัยนาท แต่มีผู้ปกครองและนักเรียนออกมาให้กำลังใจ และคัดค้านจน สพป.ชัยนาททนแรงกดดันไม่ไหว ออกคำสั่งย้ายครูอ้อมกลับมาสอนที่โรงเรียนเหมือนเดิม และย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนออกไปแทน

เรื่องยังไม่จบเพียงเท่านี้ เมื่อ “แม่ครัว” ที่คาดว่าเป็นคู่กรณีของครูอ้อมได้ลาออก ทำให้ปัจุจบันนี้โรงเรียนยังหาแม่ครัวใหม่ไม่ได้!!

ขณะที่ผู้ปกครองและคนในชุมชนเป็นห่วงว่าจะกระทบต่อการจัดอาหารกลางวันให้นักเรียน จึงรวมตัวกันช่วยทำอาหารกลางวันให้นักเรียน จนกว่าจะหาแม่ครัวคนใหม่ได้!!

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาอาหารกลางวันที่ผุดขึ้นมาในปัจจุบัน เป็นปัญหาซ้ำซากที่คนในสังคมเอือมระอา

หากย้อนไปตั้งแต่ต้นปี 2562 จะพบหลายๆ กรณี เช่น ชาวบ้านร้องทุกข์มีโรงเรียนแห่งหนึ่งใน ต.วังท่าช้าง อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี นำไข่พะโล้บูดมาล้างน้ำ แล้วนำกลับมาต้มใหม่ให้นักเรียนกิน หลังเรื่องดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ผู้อำนวยการโรงเรียนได้แจกแจงว่า เป็นการจัดฉากของคนบางกลุ่มบางคน ที่ต้องการทำลายชื่อเสียงของตนและโรงเรียน

หรือจะเป็นกรณีเจ้าหน้าที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจพบโรงเรียน 4 แห่งใน จ.นครราชสีมา เข้าข่ายทุจริตโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียน เป็นต้น

ร้อนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) กำกับดูแล และตรวจสอบทุกโรงเรียนทั่วประเทศอย่างใกล้ชิดในเรื่องนี้

โดย พล.อ.ประยุทธ์ย้ำว่า ให้ความสำคัญกับคุณภาพของนักเรียนและเยาวชนอย่างมาก เพราะถือเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของชาติ และการศึกษาเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ

ด้านนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ระบุว่า ปัญหาโครงสร้างการบริหารใหญ่ของ ศธ.ที่พูดถึงอยู่ตลอด คือเรื่องอาหารกลางวัน ซึ่งกำลังแก้ไขอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับงบประมาณ และการบริหารจัดการทั้งระบบ

“ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดว่าจะใช้งบฯ ใดมาสนับสนุนเพิ่มเติม รวมถึงกฎระเบียบที่ใช้บังคับในการตรวจสอบการดำเนินการจัดทำอาหารกลางวันให้นักเรียน อาจจะแก้ไขเพิ่มเติมเช่นกัน ที่ผ่านมายอมรับว่าการตรวจสอบยังไม่สม่ำเสมอเท่าที่ควร” นายณัฏฐพลกล่าว

 

ฝากฝั่งนักวิชาการอย่าง ผศ.ดร.กิตติ สรณเจริญพงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) กล่าวว่า มองว่าการใช้งบฯ หรือเงินเป็นตัวแก้ไขปัญหาอาหารกลางวัน อาจไม่ใช่วิธีแก้ไขที่ถูกต้องอีกต่อไป ปัญหาคือ ผู้ที่ถือเงิน ไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการจัดการอาหารกลางวันมากพอ ดังนั้น ศธ.ควรมีกระบวนการ หรือจัดอบรมสร้างความเข้าใจให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ถึงการบริหารจัดการอาหารกลางวัน ว่ามีความสำคัญต่อพัฒนาการของนักเรียน ผู้อำนวยการ และครู ไม่ควรขโมยเงินเด็ก

“นอกจากปัญหาเรื่องการจัดการแล้ว งบฯ อุดหนุนอาหารกลางวันควรที่จะเปลี่ยนแปลงด้วย โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็ก และขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ได้รับเงินอุดหนุน 20 บาทต่อคนต่อหัว โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนน้อย เงินอุดหนุนที่ได้ก็น้อยตาม ทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการได้ ในขณะที่โรงเรียนขนาดใหญ่ สามารถบริหารจัดการได้อยู่แล้ว”

นอกจากนี้ ผศ.ดร.กิตติให้ข้อคิดเห็นว่า ทุกโรงเรียนควรมี “นักโภชนาการ” ประจำโรงเรียน หากไม่สามารถทำได้ ก็ควรมีนักโภชนาการประจำทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทำหน้าที่ตรวจสอบ กำกับดูแลการโภชนาการของเด็ก เพราะเรื่องเหล่านี้ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กควรจะได้รับ ดังนั้น ต้องมีกฎระเบียบ บทลงโทษที่ชัดเจน สำหรับผู้ที่ทุจริตอาหารกลางวันด้วย

เช่นเดียวกับ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาอาหารกลางวันที่พบ มองว่าเกิดจาก 3 สาเหตุ คือ การขาดธรรมาภิบาล ขาดจริยธรรม และระบบการจัดการที่ยังไม่ดีพอ ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่เข้าใจถึงความสำคัญของการจัดการอาหารกลางวัน ว่าหากนักเรียนไม่ได้กินตามหลักโภชนาการ จะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง เช่น พัฒนาการของนักเรียนตามช่วงวัยจะล่าช้าไป 1-2 ปี รูปร่างผิดส่วน ผอม ตัวสั้น ไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์ หรืออ้วน มีปัญหาเรื่องพัฒนาการด้านอารมณ์ และพฤติกรรมของเด็ก เป็นต้น

“อย่ามองว่าเรื่องอาหารกลางวันเป็นเรื่องเล็ก เรื่องนี้มีผลต่อพัฒนาการของเด็กอย่างมาก ทั้งทางตรง และทางอ้อม หากต้องการจัดการปัญหาเหล่านี้ ควรจะรื้อระบบ และจัดระเบียบใหม่ทั้งหมด ควรมีระบบการติดตามตรวจสอบที่ชัดเจน และครอบคลุมเพิ่มมากขึ้น” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว

ซึ่งความเห็นของ ศ.ดร.สมพงษ์ ในเรื่องการสร้างระบบการติดตามตรวจสอบการดำเนินการอาหารกลางวัน สอดคล้องกับความคิดเห็นของนายสง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการด้านโภชนาการ ที่มองว่า ถึงเวลาที่รัฐบาลควรตั้งองค์กรกลางขึ้นมา เพื่อดูแลเรื่องอาหารโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารกลางวัน น้ำดื่ม นม ขนม ที่นำมาวางขายในโรงเรียน รวมถึงการควบคุมกำกับ ติดตามตรวจสอบ พัฒนาบุคลากร ให้มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องการบริหารจัดการ

“เพราะที่ผ่านมา คนไทยทั่วประเทศยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของอาหารกลางวันของนักเรียน ที่ส่งผลต่อสุขภาพ คิดว่าให้กินอะไรก็ได้ ขอแค่อิ่มเท่านั้น ที่สำคัญ หากโรงเรียนเห็นนักเรียนเป็นลูก และมีความรับผิดชอบต่อเด็ก การทุจริตคอร์รัปชั่นจะไม่เกิดขึ้น รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่มีความรู้เรื่องการทำอาหารมากนัก และการบริหารจัดการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่นำเอาผู้บริหาร ครู และแม่ครัว มาอบรมสร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องการบริหารจัดการอาหารกลางวันให้ได้คุณภาพ” นายสง่าระบุ

ได้แต่หวังว่าผู้รับผิดชอบในระดับต่างๆ ตั้งแต่รัฐบาล รัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ลงไปจนถึงผู้อำนวยการโรงเรียน จะเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาทุจริตโครงการอาหารกลางวัน ตรวจสอบ และป้องกันการทุจริต รวมถึงส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการอาหารกลางวันดีกว่าที่ผ่านมา

ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดปัญหาแล้วค่อยล้อมคอก หรือปล่อยให้มีการทุจริตครั้งแล้วครั้งเล่า

สุดท้าย เด็กตาดำๆ ก็ตกเป็น “เหยื่อ” ซ้ำๆ ซากๆ!!