ในประเทศ / ‘ชวน’ สัปปายะ

ในประเทศ

 

‘ชวน’ สัปปายะ

 

อย่างที่ทราบกัน

รัฐสภาใหม่ ถูกออกแบบและก่อสร้างโดยอิงกับแนวคิด “สัปปายะสภาสถาน”

อันเป็นการรวมคำระหว่าง “สัปปายะ” และ “สภาสถาน”

โดย “สัปปายะ” หรือ “สัปปายะ 7” แปลว่า สิ่งที่สบาย, สภาพเอื้อ, สิ่งที่เกื้อกูล, สิ่งที่เหมาะสมกัน

เมื่อรวมกับ “สภาสถาน” จึงมีความหมายถึง สภาที่มีแต่ความสงบร่มเย็นสบาย

แม้จะมีความหมายที่ดี

แต่หากไปถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ว่าเห็นตามความหมายหรือไม่

เราอาจได้คำตอบอีกอย่าง

เป็นคำตอบที่แตกต่างอย่างมากกับคำว่า ที่มีแต่ความสงบร่มเย็นสบาย

เพราะที่ผ่านมา “รัฐสภา” เป็นของร้อนสำหรับผู้นำผู้นี้มากกว่า

 

ต้องไม่ลืมว่า พล.อ.ประยุทธ์เติบโตมากับระบบทหาร ที่คุ้นเคยกับการสั่งการตามสายบังคับบัญชา

มิใช่การแลกเปลี่ยน อภิปราย โต้เถียง เพื่อให้ได้ข้อสรุปตามระบอบของประชาธิปไตย

ยิ่งกว่านั้น ในฐานะผู้นำรัฐประหาร ที่เคยโค่นล้มทำลายรัฐสภามาก่อน ย่อมไม่คุ้นชินกับการต้องมานั่งอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่ตนเองเคยทำลาย

แม้จะมีความพยายามปรับตัวอย่างมาก

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับ พล.อ.ประยุทธ์ในวันแถลงนโยบาย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เข้าสู่รัฐสภา ถึงจะพยายามควบคุมตนเอง แต่ก็เอาไม่อยู่

เกิดภาวะปรี๊ดแตก ประกาศตัดพี่ตัดน้องกับ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านเป็นข่าวโด่งดัง

สะท้อนภาวะไม่สุกงอมกับระบอบประชาธิปไตย

พร้อมๆ กับพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่เข้าไปประชุมสภา โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับญัตติ หรือกระทู้ที่พุ่งเป้ามาที่ตนเองโดยตรง

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะเลี่ยงหรืออ้างเหตุต่างๆ นานา

แต่ในฐานะผู้นำประเทศ ก็มีไฟต์บังคับที่ทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยเฉพาะเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ถูกตั้งข้อกล่าวหา กระทำการขัดรัฐธรรมนูญ เพราะถวายคำสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ไม่สมบูรณ์

พรรคฝ่ายค้านขอตั้งกระทู้สด เพื่อสอบถามเรื่องนี้จาก พล.อ.ประยุทธ์

ปรากฏว่ามีการยกเอาภารกิจต่างๆ มาเป็นข้ออ้าง ไม่ยอมเข้ามาตอบกระทู้หลายครั้ง

ทำให้ฝ่ายค้านต้องยกระดับเป็นการขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติแทน

ซึ่งนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้รับญัตติดังกล่าวไว้พิจารณา

ซึ่งนอกจากเป็นการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ คือ มีผู้เข้าชื่อครบตามข้อกำหนดแล้ว

ยังเป็นที่ทราบกันทั่วไป นายชวนเป็นผู้ที่ภาคภูมิใจกับการเป็นผู้แทนราษฎรมาตลอดชีวิตการทำงานของตนเอง

สภาถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในระบอบประชาธิปไตย

นายชวนจึงยึดมั่นและให้ความสำคัญอย่างสูงกับการประชุมสภาในทุกระดับ

แม้พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล

แต่กระนั้นก็มิใช่ข้อผูกพันว่าประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภาที่นายชวนจะต้องปกป้องผู้นำรัฐบาล

ตรงกันข้าม นายชวนเลือกที่จะยึดหลักการ นั้นคือ บทบาทการตรวจสอบของสถาบันนิติบัญญัติ

เมื่อ ส.ส.ฝ่ายค้านมีข้อสงสัย และดำเนินการถูกต้องตามข้อบังคับ

เราจึงได้ยินวาทะอันเฉียบคมจากนายชวน ที่มีไปถึง พล.อ.ประยุทธ์

นั่นคือ เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์มาชี้แจงด้วยตนเอง

ด้วยวาทะอันคมกริบ

“นายกฯ จะต้องมา เพราะเป็นวิถีทางประชาธิปไตย ทุกคนต้องมาทำหน้าที่ของตนเอง”

 

จากวาทะดังกล่าว สะท้อนชัดเจนการให้ความหมายสัปปายะสภาสถานของนายชวน แตกต่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ อย่างมาก

แน่นอน ของนายชวนออกไปทางที่ว่า “สิ่งที่เหมาะสมกัน” คือการมาชี้แจงต่อสภาด้วยตนเอง ตามระบอบประชาธิปไตย

แต่กระนั้น พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังคงเอียงไปในทางที่แม้จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการชี้แจงต่อสภาได้

แต่ก็จะพยายามวางกรอบ วางแท็กติกมิให้ฝ่ายค้านเข้ามากระทบกระทั่งตนเองได้อย่างง่ายๆ ต้องมีเกราะกำบังอะไรบางอย่างด้วย

ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มแลเห็นแล้ว นั่นคือ

หนึ่ง จะยอมให้ฝ่ายค้านอภิปรายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 กรณีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน เพียง 1 วันเท่านั้น

คือวันที่ 18 กันยายน

ที่เป็นวันที่ 18 กันยายน ก็เพราะเป็นวันสุดท้ายก่อนการปิดสมัยประชุม ทำให้ฝ่ายค้านไม่สามารถเล่นเกมยื้อเวลาออกไปหลายๆ วันได้

ซึ่งนายชวนได้เล่าในเชิงเบื้องหลังว่า

เดิมวิปรัฐบาลเสนอให้ประชุมวันที่ 11-12 กันยายน ซึ่งก็เห็นด้วย

แต่ว่านายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ประสานงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้โทร.มาแจ้งกับตนว่า วันที่ 11-12 กันยายน พล.อ.ประยุทธ์ติดภารกิจ แต่หากเป็นวันที่ 16 กันยายน สามารถมาตอบญัตติของฝ่ายค้านได้

จึงได้เจรจากับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา แต่เนื่องจากวุฒิสภาจะใช้ห้องประชุมวันที่ 16-17 กันยายน เป็นการประชุมนัดสุดท้ายก่อนที่จะปิดสมัยประชุม

จึงให้ความสะดวกแก่ทุกฝ่าย คือวันที่ 18 กันยายนนี้

“ผมเห็นด้วยกับวิปรัฐบาลที่เสนอวันที่ 11-12 กันยายน แต่พอเสนอไปรัฐบาลก็ไม่ว่าง ผมก็ไม่อยากฝืน อยากให้ทุกฝ่ายพร้อม ผมเข้าใจว่ารัฐบาลมีภารกิจรับแขกต่างประเทศและแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่ในส่วนภารกิจของสภาทุกฝ่ายก็ต้องรับผิดชอบร่วมกันด้วย” ประธานสภากล่าว

ซึ่งดูจะสะท้อนความพยายามเป็นกลางของนายชวน คือแม้อยากให้อภิปรายสองวัน แต่เมื่อจำเป็นก็ยอมให้เหลือ 1 วัน

ซึ่งก็คงทำให้ฟากบริหารพอใจเช่นกัน ที่ประธานสภาไม่ไปรับลูกฝ่ายค้านจนเกินไป

 

การวางกรอบ วางแท็กติกมิให้ฝ่ายค้านอภิปรายถล่ม พล.อ.ประยุทธ์เสรีเกินไป อย่างที่สองนั่นก็คือ การที่ฟากรัฐบาลจะยกเอากรณีที่เรื่องการถวายสัตย์ ถูกส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า ขัดรัฐธรรมนูญ

ซึ่งคำวินิจฉัยดังกล่าวจะถือเป็น “ที่สุด” ของเรื่องนี้

ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จึงออกมาเตือนล่วงหน้าว่า

“ต้องระมัดระวังในการพูดเรื่องต่างๆ ทุกคนต้องรับผิดชอบในคำพูดของตัวเอง เพราะวันนี้เรื่องอยู่ในกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว”

“ผมเองก็ต้องระมัดระวังคำพูดของผม เพราะเป็นประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาอยู่ จะไปเป็นผู้ชี้นำได้อย่างไร ก็ขอให้เห็นใจผมตรงนี้บ้างสิ”

ซึ่งจุดนี้ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์อาจจะใช้รวบรัดการอภิปรายในสภาได้ โดยชี้ว่า เรื่องอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรก้าวล่วง

โดยประเด็นนี้จะเชื่อมโยงกับกรอบที่สาม ที่จะป้องกันไม่ให้ฝ่ายค้านอภิปรายได้โดยไร้ข้อจำกัด นั่นก็คือ จะมีการยกเหตุผลว่า เรื่องการถวายสัตย์ เกี่ยวข้องกับ “สถาบัน” จึงอาจจะไม่เป็นการบังควรที่จะอภิปรายพาดพิงถึง ซึ่งหากส่อว่าจะละเมิด มีความเป็นไปได้ที่จะมีผู้เสนอให้ “ประชุมลับ”

อันจะทำให้การประชุมเป็นการประชุม “ปิด” ไปในทันที

พล.อ.ประยุทธ์ให้ความเห็นกรณีนี้ว่า “ไม่รู้เหมือนกันว่าเรื่องนี้ควรจะลับหรือไม่ลับ จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาร่วมกัน ก็สุดแล้วแต่ว่าสภาจะตัดสินใจอย่างไร และยังไม่รู้ว่าที่ประชุมสภาจะให้ประชุมลับหรือไม่”

 

แม้ในนาทีนี้ต่างฝ่ายต่างอุบแท็กติกที่จะใช้ในการอภิปรายทั่วไป แต่การที่ฝ่ายรัฐบาลรุกคืบด้วยการให้เปิดอภิปรายเพียง 1 วัน

ทำให้พรรคฝ่ายค้านต้องปรับเกมพอสมควร

โดยนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ระบุว่า ตรงนี้แสดงให้เห็นถึงเจตนาว่ารัฐบาลค่อนข้างใจแคบ ค่อนข้างจะกลัว จึงบีบให้ฝ่ายค้านได้อภิปรายเพียงวันเดียว คงต้องจำใจรับ ส่วนการจัดทีมอภิปรายนั้น คงต้องมีการปรับใหม่ โดยอาจจะต้องลดเนื้อหาและจำนวนผู้อภิปรายลง เพื่อให้สัมพันธ์กับเวลา

“แน่นอนว่าเนื้อหาสาระนั้นก็คงจะต้องหายไปบ้าง เพราะจริงๆ แล้วฝ่ายค้านตั้งใจที่จะอภิปรายเป็นเวลา 2 วัน หรืออย่างน้อยก็ 1 วันครึ่ง ขณะที่ควรจะเป็นการประชุมลับหรือไม่นั้น จริงๆ แล้วก็ไม่ควรลับ”

และแย้มว่า ฝ่ายค้านจะอภิปรายใน 2 ประเด็นคือ การกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนตามมาตรา 161 และการไม่ชี้แจงที่มารายได้ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาตรา 162

ซึ่งก็คงดุเดือดตามสมควร แม้ว่าจะมีเวลาจำกัดเพียงวันเดียว

นอกจากนี้ พรรคฝ่ายค้านยังประกาศจะดำเนินการ “เพิ่ม” กับรัฐบาลอีกต่อเนื่อง

โดยเรื่องหนึ่งจะรวบรวมรายชื่อ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของทั้งหมด เพื่อยื่นเรื่องผ่านนายชวน ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากขัด รัฐบาลก็จะต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก

ในเบื้องต้น ทั้ง พท.และพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) เห็นตรงกันว่า การตรา พ.ร.ก.ดังกล่าว ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 ที่มีเงื่อนไข 4 ประการคือ 1.เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ 2.ความปลอดภัยสาธารณะ 3.ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ 4.การปัดป้องภัยพิบัติสาธารณะ จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นของการตรา พ.ร.ก.ดังกล่าว เกิดจากความไม่พร้อมของภาครัฐในการปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ถือว่าเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

ยิ่งกว่านั้น พรรคฝ่ายค้านยังจะมีกระทู้ถามสดเรื่องการเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงขณะถูกควบคุมตัวภายในหน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ว่า นายอับดุลเลาะเสียชีวิตขณะถูกควบคุมตัวของทหาร ดังนั้น รัฐบาลต้องชี้แจงให้ได้ว่าเสียชีวิตด้วยเหตุอันใด ใครกระทำผิดต้องนำมาลงโทษ

 

ซึ่งนั่นก็หมายถึงว่า สภายังมีเรื่องร้อนๆ รอ พล.อ.ประยุทธ์อยู่อย่างต่อเนื่อง

“สัปปายะสภาสถาน” จึงไม่น่าจะมีความหมายว่า สภาที่มีแต่ความสงบร่มเย็นสบาย

พล.อ.ประยุทธ์เลี่ยงที่จะไม่เข้าประชุมได้ก็รีบเลี่ยง!

     และคงไม่อาจรู้สึกดีๆ กับสภาได้อย่างที่นายชวน หลีกภัย มีอย่างแน่นอน!