กรองกระแส / กรณี ถวายสัตย์ ปรากฏการณ์ 2 กลยุทธ์ รัฐบาล ฝ่ายค้าน

กรองกระแส

 

กรณี ถวายสัตย์

ปรากฏการณ์ 2 กลยุทธ์

รัฐบาล ฝ่ายค้าน

 

หากมองผ่านกลยุทธ์ต่อญัตติขอเปิดการอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในวันที่ 18 กันยายนก็จะสัมผัสได้

ความอุดมสมบูรณ์ของ “กลยุทธ์” จะอยู่ที่รัฐบาล

ตรงกันข้าม พรรคฝ่ายค้านภายหลังจากนายปิยบุตร แสงกนกกุล ท้วงติงเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณของรัฐบาลเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม สถานะของฝ่ายค้านก็เป็นฝ่ายรุกโดยพื้นฐาน

รุกผ่านการตั้งกระทู้ถามทุกวันพุธที่มีการประชุม ขณะที่รัฐบาลตกอยู่ในสถานะเป็นฝ่ายตั้งรับ

เห็นได้จากการไม่ยอมไปตอบกระทู้ในวันที่ 7 สิงหาคม ด้วยการอ้างว่าติดภารกิจที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ฝ่ายค้านรุกอีกด้วยการตั้งกระทู้ถามซ้ำในวันที่ 14 สิงหาคม ผลที่ตามมาก็เช่นเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อ้างว่าติดภารกิจด้วยการไปเล่นชักเย่อ และไปเตะฟุตบอล และน่าเชื่อว่าหากตั้งกระทู้ถามสดในวันที่ 21 สถานการณ์ก็จะเป็นเช่นเดียวกัน

ฝ่ายค้านจึงรุกไปอีกก้าวใหญ่ นั่นก็คือ การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ

การตั้งรับของฝ่ายรัฐบาลยิ่งสลับซับซ้อน

 

กลยุทธ์ เตะถ่วง

ตอบคำถามสภา

 

มีความเด่นชัดอย่างยิ่งว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ต้องการตอบคำถามในสภาผู้แทนราษฎร ความเด่นชัดนี้ยิ่งแสดงออกมากยิ่งขึ้นเมื่อเผชิญประสบกับญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ

นั่นเห็นได้จากการปล่อยข้อมูลในเรื่องภารกิจที่รัดตัวจนไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าจะเดินทางเข้าสภาเพื่อตอบคำถามได้หรือไม่

ตามมาด้วยหากหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็อาจเลือกที่จะให้มีการประชุมลับ

ต่อมาเมื่อวิปรัฐบาลมีมติว่าน่าจะเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรระหว่างวันที่ 11-12 กันยายน แต่ที่ประชุม ครม.มีมติว่าน่าจะเป็นวันที่ 16-17 กันยายน มากกว่า และเมื่อสภาผู้แทนราษฎรมีการประสานกับวุฒิสภาก็ปรากฏว่าวันที่ 16-17 กันยายน เป็นการประชุมวุฒิสภา

ในที่สุดก็จำเป็นต้องเลือกเอาวันที่ 18 กันยายน เท่ากับเป็นล็อกบังคับให้สามารถประชุมได้เพียง 1 วันแล้วก็ปิดสมัยประชุม

หากมองในแง่กลยุทธ์ก็เท่ากับว่าฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้กำหนด เพื่อให้ฝ่ายค้านเหลือทางเลือกน้อยที่สุด อันเท่ากับช่วยให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ต้องเผชิญหน้ากับขุนพลนักอภิปรายฝีปากกล้าของฝ่ายค้านติดต่อกัน 2 วัน

เหมือนกับจะเป็นชัยชนะ แต่ภายในชัยชนะนี้ก็สะท้อนจุดอ่อนออกมาอย่างยากจะหลีกเลี่ยงได้

 

ผลได้ ผลเสีย

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

บนพื้นฐานที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ต้องการตอบคำถาม ไม่ต้องการเผชิญหน้ากับฝ่ายค้านบนพื้นที่ที่ตนเองขาดความสันทัดจัดเจน

การล็อกเวลาการประชุมเหลือ 1 วันถือได้ว่าเป็นชัยชนะ

กระนั้น หากติดตามบทบาทและการเคลือนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นับแต่มีการท้วงติงและตั้งข้อสังเกตในที่ประชุมรัฐสภาของนายปิยบุตร แสงกนกกุล เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมเป็นต้นมา การรุกของฝ่ายค้านได้ฉายภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาอย่างเด่นชัด

เด่นชัดในความผิดพลาดและบกพร่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำด้วยตนเอง

เด่นชัดในกระบวนการแก้เกมที่ต้องการให้เรื่องจบลงโดยเร็ว แต่สถานการณ์กลับกลายเป็นตรงกันข้าม นั่นก็คือ บานปลายเข้าลักษณะ “ลิงแก้แห” ยิ่งแก้ยิ่งพัน ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง

เด่นชัดในความหวาดกลัวต่อสภาผู้แทนราษฎร กระทั่งกลายเป็นอาการของสภาซินโดรม

เด่นชัดว่าความพยายามทุกกระบวนท่าของรัฐบาลโดยผ่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือการชิงไหวชิงพริบ สร้างเงื่อนไขและความได้เปรียบในทางการเมือง

ขาดลักษณะสุภาพบุรุษ ขาดความองอาจ ขาดความสง่างาม

 

กลยุทธ์รัฐบาล

กลยุทธ์ฝ่ายค้าน

 

กรณีของการถวายสัตย์ปฏิญาณมีความแจ่มชัดตั้งแต่นายปิยบุตร แสงกนกกุล ได้ชี้และแสดงความห่วงใยมาแล้ว โดยที่รัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ยอมรับในความผิดพลาด สภาพของรัฐบาล สภาพของฝ่ายค้านจึงมีความแตกต่าง

ความเป็นจริงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความเด่นชัดต่อสังคม

ฝ่ายค้านแทบไม่ต้องงัดกลยุทธ์อะไรออกมา นอกจากเปิดปฏิบัติการรุก ยืนอยู่กับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

เพราะความรับผิดชอบทั้งหมดเป็นของรัฐบาล เป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ลักษณะการเล่นเล่ห์เพทุบายจึงออกมาจากฝ่ายรัฐบาล ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างเป็นด้านหลักเพื่อเอาตัวรอด

แต่จะรอดหรือไม่รอด สถานการณ์ในวันที่ 18 กันยายน จะเป็นคำตอบ