“น้ำมันหมอเดชา” ไม่ใช่ยาวิเศษ แต่เป็นยานอนหลับที่ช่วยฟื้นฟูสุขภาพองค์รวม

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

น้ำมันหมอเดชา

ไม่ใช่ยาวิเศษ

แต่เป็นยานอนหลับที่ช่วยฟื้นฟูสุขภาพองค์รวม

 

กระจองงองๆ เจ้าข้าเอ๊ย ขอตีฆ้องร้องป่าวบอกข่าวดี มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562 รับรองตำรับยาหมอพื้นบ้าน 2 ตำรับ ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ คือ ตำรับน้ำมันจอดกระดูก ของหมอนาด ศรีหาตา จังหวัดกาฬสินธุ์ และตำรับน้ำมันหมอเดชา ของหมอเดชา ศิริภัทร จังหวัดสุพรรณบุรี

ตำรับแรกเป็นยาทาถูนวดภายนอกที่ใช้สำหรับการต่อกระดูก

ส่วนตำรับที่สองเป็นยารับประทานที่มีสรรพคุณช่วยให้นอนหลับ แก้ลมประกังหรืออาการปวดข้างเดียว ในที่นี้จะขอกล่าวถึงตำรับน้ำมันหมอเดชา ซึ่งกำลังเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์

จากกรณีอาจารย์เดชาประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเกือบเป็นผู้ต้องหาครอบครองกัญชาเถื่อน กลายมาเป็นหมอพื้นบ้านหมาดๆ คนแรกและคนเดียวแห่งเมืองขุนแผนแสนสะท้าน

 

ความดังของน้ำมันเดชา จากน้ำมันเถื่อนกลายเป็นน้ำมันถูกกฎหมายก็คือ ผู้ป่วยนับหมื่นคนที่ได้รับแจกน้ำมันเดชาฟรีมีความพอใจในผลของการใช้ยาที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้นจนถึงขนาดที่ร่ำลือกันว่า “กัญชาเป็นยาวิเศษ”

ทำให้เสียงเรียกร้องให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ในเมืองไทยอย่างถูกกฎหมายดังกระหึ่มยิ่งขึ้นทุกที

แม้ค่านิยมสังคมไทยจะรังเกียจการกินเหล้าเมากัญชา

แต่ในศาสตร์การแพทย์แผนไทยมีการใช้ตำรับยาผสมกัญชาเพื่อรักษาโรคมาช้านาน

ในขณะที่แพทย์แผนฝรั่งเพิ่งเริ่มรู้จักนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์เมื่อ 20 กว่าปีมานี้เอง

แม้หมอฝรั่งจะรู้จักใช้กัญชาทีหลัง แต่ก็ดังล้ำหน้าไปกว่าพี่หมอไทยมาก

จนหมอฝรั่งอย่างราฟาเอล มีชูแลม ได้รับยกย่องให้เป็นบิดากัญชาโลก เพราะได้รับรางวัลโนเบล สาขาวิทยาศาสตร์ชีวเคมีและฟิสิกส์จากผลงานค้นพบเภสัชสารในกัญชาที่ชื่อว่า แคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกับที่อยู่ในสมองของมนุษย์ที่เรียกว่า เอ็นโดแคนนาบินอยด์ (Endocannabinoid)

แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ ท่านพบว่าสารสำคัญในกัญชาช่วยให้ระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ (ECS-Endocannabinoid System) ในร่างกายทำงานเยียวยารักษาโรคและฟื้นฟูระบบสรีระต่างๆ ให้เป็นปกติ

ท่านถึงกับสรุปว่า “แทบจะไม่มีระบบสรีระใดในร่างกายที่ ESC ไม่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องในการทำหน้าที่ของระบบนั้นๆ”

พูดชัดๆ ก็คือ สารแคนนาบินอยด์ของกัญชา มีความเกี่ยวข้องกับการรักษาโรคเกือบทุกโรคในร่างกายมนุษย์นั่นเอง

 

บิดากัญชาโลกชาวยิวท่านนี้ยังตั้งชื่อสารแห่งความความสุขในสมองมนุษย์ที่สารกัญชาช่วยสร้างขึ้นมาว่า

“อานันดาไมด์” (Anandamide) ซึ่งมาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤตว่า “อานันท์” แปลว่า ความยินดีปรีดา

และสารความสุขอานันดาไมด์นี้เองที่ช่วยฟื้นฟูระบบภูมิคุ้มกันโรคในร่างกายให้เข้มแข็ง ซึ่งสอดคล้องกับสรรพคุณของกัญชาในยาไทยที่ระบุว่ากัญชาเป็นยานอนหลับ รักษาสรรพโรค ช่วยให้มีกำลัง กินข้าวได้ เช่น ตำรับยาศุขไสยาสน์ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ช่วยให้นอนหลับอย่างมีความสุข (สอดคล้องการพบสารแห่งความสุขอานันดาไมด์ในยุคปัจจุบัน)

ขณะนี้กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้เริ่มผลิตตำรับกัญชายาศุขไสยาสน์เพื่อผู้ป่วยในโรงพยาบาลของรัฐหลายแห่ง

เช่นเดียวกับน้ำมันหมอเดชา ซึ่งกรมการแพทย์แผนไทยฯ กำลังผลิตยาตำรับนี้เพื่อผู้ป่วยในเดือนกันยายนนี้

ต้องขอบอกกล่าวข่าวดีว่า อาจารย์เดชา ศิริภัทร ได้มอบตำรับยาของท่านให้เป็นสมบัติของชาติไปเรียบร้อยโรงเรียนกระทรวงสาธารณสุขแล้ว

อาจารย์เดชามอบตำรับยาของท่านให้เป็นโอสถทานแก่สาธารณชน โดยมีจุดมุ่งหมายให้ประชาชนพึ่งตัวเองในทางยาที่มีราคาแพง

จึงสมควรที่คนไทยจะได้รู้จักการปรุงยาตำรับนี้ไว้

 

เริ่มจากการเตรียมเครื่องยา ประกอบด้วยดอกกัญชาแห้ง 100 กรัม และน้ำมันมะพร้าวหีบเย็น 1,000 มิลลิลิตร

ขั้นตอนการปรุงยา : ตั้งน้ำมันมะพร้าวในกระทะร้อนในระดับอุณหภูมิ 120 องศาเซลเซียส คงที่ โดยใช้เครื่องวัดอุณหภูมิอินฟราเรด จากนั้นจึงใส่ดอกกัญชาลงไปเจียวในน้ำมัน ใช้เวลา 30 นาทีจึงดับไฟและใช้กระชอนตักกากกัญชาออกมา น้ำมันในกระทะที่ได้คือ “น้ำมันหมอเดชา”

ที่มีกลิ่นหอมและรสชาติเฉพาะของกัญชาซึ่งเป็นกลุ่มสารเทอร์ปีน (Terpenes) ที่ได้จากการสกัดด้วยน้ำมันมะพร้าว

ซึ่งนอกจากช่วยให้น้ำมันหมอเดชาหอมหวนชวนรับประทานแล้วยังเสริมฤทธิ์การหลับลึกอีกด้วย

มีคำถามว่าทำไมต้อง 120 องศาเซลเซียส

นี่คือเคล็ดลับของการหุงน้ำมันกัญชา ณ องศานี้แหละ เหมาะสมที่สุดที่จะทำให้เกิดกระบวนการดีคาร์บ็อกซีเลชั่น (Decarboxylation) คือ การถอดกลุ่มคาร์บอกซิล (Carboxyl :-COOH) ออกจากโครงสร้างเคมีของกัญชา

เพื่อให้ได้อนุพันธุ์กัญชาที่ออกฤทธิ์ยาที่มีประสิทธิผลมากที่สุดนั่นเอง

แต่ทั้งนี้ต้องใช้เวลา 20-30 นาที เพราะถ้าหุงนานเกินกว่านี้ก็จะได้อนุพันธุ์ชนิดอื่นที่ไม่ใช่สารกลุ่มแคนนาบินอยด์ที่ตรงกับสารในสมองมนุษย์

 

ขนาดการใช้น้ำมันยาเพื่อช่วยให้นอนหลับ สำหรับผู้ใหญ่ควรเริ่มต้นที่ 5 หยดใส่ช้อนรับประทานครั้งเดียวก่อนนอน

สำหรับเด็กลดลงตามส่วนอายุและน้ำหนัก

ถ้าหากขนาดการใช้ดังกล่าวยังไม่ได้ผลภายใน 5-7 วัน ให้ปรับขึ้นเป็น 8-10 หยด หรือมากกว่านี้จนกว่าจะช่วยให้หลับลึก

ข้อควรระวังคือ ห้ามใช้น้ำมันยาในขนาดที่ทำให้เมา เมื่อได้ขนาดยาที่เหมาะสมแล้วสามารถใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะสูตรน้ำมันหมอเดชาเป็นสูตรฤทธิ์อ่อน (microcode) สามารถปรับใช้ได้ตามความเหมาะสมของแต่ละคน โดยสามารถใช้ต่อเนื่องอย่างปลอดภัยจนกว่าโรคหายจึงชะลอการใช้หรือเว้นระยะการใช้ห่างออกไป

“น้ำมันหมอเดชา” เป็นนิมิตหมายของความร่วมมือที่ดีระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน ที่เห็นแก่ประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง

จึงขอให้ผู้ที่ต้องการยาฟังข่าวจากกรมการแพทย์แผนไทยฯ ว่า “น้ำมันหมอเดชา” ล็อตแรกจำนวนแสนขวด (ขนาดบรรจุ 5 มิลลิลิตร) จะประกาศให้ใช้ที่โรงพยาบาลของรัฐแห่งใด เพื่อจะได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครผู้ป่วยในโครงการวิจัยน้ำมันหมอเดชา กับโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านท่านมากที่สุด

นอกจากผู้ป่วยจะได้รับน้ำมันกัญชาที่มีมาตรฐานฟรีๆ ไม่ต้องจ่ายแพงให้กับกัญชาใต้ดินแล้ว

ท่านยังมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการพัฒนาคุณภาพตำรับยากัญชาไทยให้ก้าวไกลอีกด้วย