ย้อนดูคำพิพากษา นปช.ไม่ได้เผาเมืองจริงหรือ?/บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

ย้อนดูคำพิพากษา

นปช.ไม่ได้เผาเมืองจริงหรือ?

หลังจากมีคำพิพากษาศาลก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะคดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์ ปี 2553 ที่ศาลยกฟ้อง นปช. 2 คน เพราะไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นคนเผา

และตามด้วยคำพิพากษาศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ยกฟ้องแกนนำ นปช. 24 คน อาทิ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายเหวง โตจิราการ ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “ก่อการร้าย”

ดูเหมือนว่าฝ่ายเชียร์ นปช.จะครึ้มอกครึ้มใจกันยกใหญ่ พร้อมกับรีบฉวยคำพิพากษามาสรุปเข้าข้างตัวเองว่า เป็นเครื่องพิสูจน์ “ชัดเจน” ว่า นปช.ไม่ได้เผาบ้านเผาเมือง

ศาลยกฟ้องโดยให้เหตุผลว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 24 คน ไม่เข้าองค์ประกอบก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 135/1 (ใช้กำลังประทุษร้ายจนเป็นอันตรายร้ายแรงต่อชีวิต-สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อระบบขนส่งสาธารณะ ระบบโทรคมนาคม ฯลฯ) และมาตรา 135/2 (ขู่เข็ญรัฐว่าจะก่อการร้าย-สะสมอาวุธและกำลังพลเพื่อก่อการร้าย)

จะเห็นว่า การที่ศาลยกฟ้องน่าจะเป็นเพราะหลักฐานของฝ่ายโจทก์ (อัยการ) อ่อน การตั้งข้อหาก่อการร้ายอาจเป็นจุดอ่อนในตัวเองเพราะยากที่จะเข้าองค์ประกอบครบ

หากอัยการฟ้องในข้อหาอื่นที่ไม่ใช่ก่อการร้าย โอกาสชนะอาจมีมากกว่านี้ ขณะเดียวกันจะเห็นว่าในคำพิพากษานี้ระบุด้วยว่า ทางโจทก์ (อัยการ) ไม่ได้ขอให้ศาลลงโทษจำเลยในข้อหาอื่น

การยกฟ้องในคดีก่อการร้ายจึงเป็นคนละเรื่องกับความผิดในสถานอื่น และไม่ใช่คำรับรองว่า นปช.ไม่ได้ทำอะไรผิดหรือไม่ได้ก่อความเสียหายในลักษณะอื่น

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากคนเสื้อแดงและฝ่ายเชียร์ดีใจได้แค่สัปดาห์เดียว ก็มีคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ในคดีที่โจทก์ 4 ราย เป็นบุคคล 3 ราย และบริษัท 1 ราย ฟ้องเรียกค่าเสียหายรวมประมาณ 385 ล้านบาทเนื่องจากทรัพย์สินของโจทก์บนถนนราชปรารภถูกเผาระหว่างการชุมนุมของ นปช. ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาให้นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 19 ล้านบาทเศษ

เพราะตามพฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุให้เชื่อได้ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่อาคารและทรัพย์สินที่ถูกผู้ชุมนุมในกลุ่ม นปช.วางเพลิงเผาทำลายนั้น เป็นผลที่เกิดขึ้นจากคำกล่าวปราศรัยของนายจตุพร นายณัฐวุฒิ และนายอริสมันต์

ที่ผ่านมาฝ่าย นปช.มักอ้างผลคำพิพากษาคดี (อาญา) เซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งตัดสินไปเมื่อปี 2556 มารับประกันความบริสุทธิ์ของตัวเอง ว่านี่คือสิ่งที่จะลบล้างวาทกรรมใส่ร้าย นปช.ว่าเผาบ้านเผาเมือง

คดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์ที่อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนั้น ศาลอาญายกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ไม่เพียงพอ ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด จึง “ยกประโยชน์แห่งความสงสัย” ให้จำเลย

แปลว่าพยานหลักฐาน “ไม่ชัดเจน” ว่าเผาหรือไม่เผา ต่างจากคำว่า “ปราศจากข้อสงสัย”

แต่ฝ่ายเชียร์ นปช.กลับบิดคำไปเองว่า “ชัดเจน” ศาลบอกว่า นปช.ไม่ได้เผา

 

ตามหลักกฎหมายที่ถือปฏิบัติกัน “ปล่อยคนผิด 100 คน ดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิ์เพียงคนเดียว” ดังนั้น คำพิพากษาจึงไม่ได้เป็นการรับประกันว่าไม่ได้เผา เพียงแต่หาหลักฐานมามัดแน่นไม่ได้

แต่กรณีนี้มีพยานคือ รปภ.ของห้างเซ็นทรัลมายืนยัน แต่ศาลบอกว่าพยานเห็นหน้าจำเลยในระยะ 30 เมตร ไกลเกินกว่าที่จะจดจำหน้าได้แม่นยำ

ทฤษฎีของฝ่าย นปช.ที่พูดกันบ่อยมากในคดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์ก็คือ ฝ่ายรัฐบาลทำเองเพื่อใส่ร้าย นปช. โดยตั้งข้อสงสัยว่าการเผาเกิดขึ้นหลังแกนนำประกาศยุติชุมนุมไปแล้ว 2-3 ชั่วโมง

และอ้างว่าทหารเข้าควบคุมพื้นที่ได้หมดแล้ว พร้อมทั้งตั้งข้อสงสัยว่าทำไมมีการยิงสกัดรถดับเพลิงไม่ให้เข้าไป คนที่ยิงใส่รถดับเพลิงน่าจะเป็นทหารหรือฝ่ายรัฐ

หากคิดแบบสมเหตุสมผล ถ้าอยากใส่ร้าย นปช. ทำไมรัฐบาลถึงต้องลงทุนเผาพวกเดียวกันเองตั้ง 34 แห่งในวันนั้น ถ้าอยากใส่ร้ายทำไมต้องเผาหลังจากสลายการชุมนุมได้แล้ว

หากฟังจากปากผู้ที่อยู่ในสถานการณ์จริงในวันนั้น อย่าง พ.ต.อ.ฤชากร จรเจวุฒิ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 เจ้าของพื้นที่ สน.ปทุมวัน และ พล.ต.ต.วิทยา รัตนวิชช์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 ที่เคยเล่าเบื้องหลังการเสี่ยงตายเข้าไปช่วยห้างเซ็นทรัลเวิลด์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ก็จะเห็นเบาะแสว่าใครเผา

ตำรวจทั้งสองท่านบอกว่า ได้รับแจ้งขอความช่วยเหลือจากพนักงานห้างเซ็นทรัลเวิลด์ 400 กว่าคนที่ตกอยู่ในอันตรายไม่สามารถหนีลงมาด้านนอกห้างได้เนื่องจากมีคนบางกลุ่มอยู่ที่บริเวณชั้นหนึ่งซึ่งมีทีท่าว่าจะเข้ามาปล้น-เผาห้าง ทำการยิงและโยนระเบิดสกัดไม่ให้พวกตนหลบหนี

ทีม รปภ.ที่เข้าไปขัดขวางคนร้ายได้รับบาดเจ็บหลายคน

 

หลังรับแจ้งได้นำกำลัง 150 นายรุดไปช่วย ปรากฏว่าเมื่อไปถึงโดนคนร้ายใช้ระเบิดปิงปองและประทัดยักษ์สู้ ชุลมุนอยู่นาน ในที่สุดสามารถจับกุมผู้เตรียมก่อเหตุเผาห้างได้ 9 คน กับของกลาง เช่น สายกระสุนปืนกล เครื่องประดับที่โจรกรรมภายในห้าง

หลังจากคืนอิสรภาพให้พนักงานเซ็นทรัลได้แล้ว ภารกิจต่อไปคือฝ่ากระสุนเพื่อนำทางรถดับเพลิงเข้าไปดับไฟที่โหมในเซ็นทรัลและบิ๊กซี “รถดับเพลิงไม่สามารถเข้าไปได้ เพราะถูกผู้ชุมนุมเอาปืนจ่อหัวและยิงสกัด อีกทั้งมีกลุ่มฮาร์ดคอร์อยู่ในวัดปทุมฯ มากมาย ทางทหารก็บอกว่ายังเคลียร์พื้นที่ไม่ได้ แต่เราทนไม่ได้ที่จะเห็นไฟไหม้ต่อหน้าต่อตาจึงนำกำลังเข้าไปในพื้นที่ ทั้งที่กลัวเหมือนกันเพราะไม่รู้ว่าจะมีคนร้ายซุ่มยิงหรือไม่”

หรือหากฟังจากปากของผู้บริหารเซ็นทรัลเวิลด์ ที่อยู่ในเหตุการณ์ก็บอกว่า ก่อนหน้าจะมีการเผา ทางห้างได้เตรียมถังดับเพลิงและคนเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง แต่ในที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้ความบ้าคลั่งของผู้ชุมนุมบางคน “พอแกนนำประกาศยุติการชุมนุม ก็มีระเบิดเอ็ม 79 ตกลงหน้าห้าง 1 ลูก จากนั้นผู้ชุมนุมก็ทุบกระจกกรูเข้ามาในห้างและเผาห้างต่อหน้าต่อตา รปภ. พนักงานหลายคนจะวิ่งเข้าไปดับก็โดนยิงจนต้องหนี แต่ก็หนีไม่ได้ คิดว่าต้องตายแน่แล้ว”

จากคำให้การของตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว จะเห็นว่า ณ เวลาเกิดเหตุเผา ทหารยังเข้าเคลียร์พื้นที่ไม่หมด ยังมีผู้ชุมนุมหลงเหลืออยู่

และมีพวกฮาร์ดคอร์ติดอาวุธอยู่ในวัดปทุมฯ (ใกล้กับเซ็นทรัลเวิลด์)

 

แม้ในคำพิพากษาของศาลในการยกฟ้องคดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์ จะระบุว่าไม่มีเหตุจูงใจให้ผู้ชุมนุมเผา เพราะการเผาเกิดขึ้น 2-3 ชั่วโมงหลังแกนนำประกาศยุติการชุมนุมและผู้ชุมนุมทยอยกลับ แต่อย่าลืมว่า ณ เวลาเกิดเหตุ ทหารยังเข้าควบคุมพื้นที่ได้ไม่หมด และไม่มีอะไรมาพิสูจน์ว่าผู้ชุมนุมกลับบ้านหมดแล้ว อีกทั้งต้องไม่ปฏิเสธประเด็นที่ว่าแกนนำไม่สามารถควบคุมฝูงชนได้ทั้งหมด มีกลุ่มหัวรุนแรงติดอาวุธปะปนอยู่ด้วย

การที่เกิดการเผา ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งไม่พอใจที่แกนนำยอมแพ้เร็วเกินไป อาจรู้สึกอยากเอาคืน อยากแก้แค้นรัฐบาลที่เข้าสลายการชุมนุม

เพราะอุตส่าห์ชุมนุมมาเกือบ 2 เดือนต้องได้ชัยชนะกลับไปบ้าง

 

อีกคดีหนึ่งที่บ่งบอกว่า นปช.เผา ก็คือคดีห้างเซ็นเตอร์วันบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่ถูกเผาในวันเดียวกันนั้น ศาลแพ่งพิพากษาให้บริษัทประกันภัยไม่ต้องชดใช้สินไหม เนื่องจากศาลเห็นว่าเป็นการลุกฮือของประชาชน การเผาเกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง อยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของกรมธรรม์ บริษัทประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดชอบ คดีสิ้นสุดที่ศาลอุทธรณ์ เพราะศาลฎีกาไม่รับฎีกา ซึ่งคดีนี้ตัดสินและยุติไปในปี 2556

ตอนหนึ่งของคำพิพากษาคดีห้างเซ็นเตอร์วันระบุว่า “วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 รัฐบาลสลายการชุมนุม นปช.ที่สี่แยกศาลาแดงและราชประสงค์ ผู้ชุมนุมบางส่วนย้ายไปชุมนุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ช่วงบ่ายแกนนำประกาศยุติชุมนุมก่อนเกิดการเผาสถานที่ในกรุงเทพฯ 34 แห่งรวมทั้งเผาศูนย์การค้าของโจทก์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการเผาสาเหตุหนึ่งมาจากการปราศรัยของแกนนำกลุ่ม นปช. น่าเชื่อว่าประสงค์ให้เกิดความเสียหายทางบ้านเมือง เมื่อรถดับเพลิงเข้าไป ปรากฏว่าถูกกลุ่มผู้ชุมนุมขัดขวาง สรุปว่าการเผาเกิดจากการกระทำของผู้ชุมนุม นปช.บางส่วนที่ต้องการใช้ความรุนแรงหรือข่มขู่บุคคลเพื่อหวังผลทางการเมือง”

จากคำพิพากษานี้ นำมาสู่การตั้งคำถามว่า ในเมื่อศาลระบุว่า นปช.เผาห้างเซ็นเตอร์วัน แล้วทำไมจะเผาห้างอื่นและสถานที่อื่นไม่ได้ อีกทั้งพฤติการณ์ก็เหมือนเซ็นทรัลเวิลด์ คือสกัดไม่ให้รถดับเพลิงเข้าไป จุดประสงค์ก็น่าจะต้องการเผาให้สำเร็จ