คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : “กินฉี่” ธรรมเนียมพราหมณ์-พุทธของอินเดีย ไม่ใช่ฉี่คน แต่เป็นฉี่โค

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ตอนนี้ในโลกออนไลน์กำลังมีประเด็นเรื่องการดื่มฉี่ (ของคน)

ฝ่ายหนึ่งก็เชื่อว่าเป็นยาวิเศษ รักษาได้ทุกโรค

ฝ่ายหนึ่งก็ว่ามันไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นได้ เพราะขึ้นชื่อว่าของเสีย ก็มีเชื้อโรคและของเสียต่างๆ ตามธรรมชาติปะปนอยู่

สุดท้ายฝ่ายสนับสนุนกล่าวยกขึ้นมาว่า แม้แต่พระพุทธะยังให้พระภิกษุฉันยาดอง “มูตรเน่า” (มูตรคือฉี่) เป็นประจำ

แถมยังให้ถือเป็นสิ่งควรปฏิบัติในนิสสัยสี่ประการในพระวินัยด้วย

นอกจากมีหลักฐานในพระไตรปิฎกแล้ว ยังกล่าวถึงการปฏิบัติของครูบาอาจารย์ในสายวัดป่าว่าพระธุดงค์ทั้งหลายมักฉันยาดองมูตรเน่าเมื่อออกธุดงค์ หรือแม้อยู่จำพรรษาในวัดห่างไกล

ยาเหล่านี้มักเป็นการนำเอาน้ำปัสสาวะไปผสมกับน้ำและไปดองกับพืชสมุนไพรต่างๆ เช่น ลูกสมอ มะขามป้อม ฯลฯ

แต่พระพุทธะสนับสนุนให้พระภิกษุดื่มปัสสาวะจริงหรือไม่ ผมคิดว่าเรื่องนี้ต้องย้อนไปดูธรรมเนียมของนักบวชในศาสนาต่างๆ ของอินเดียด้วย

 

ผมเคยได้ยินคำอธิบายจากพระภิกษุว่า (เสียดายเลือนไปแล้วว่าผู้เล่าคือใคร) การฉันยาดองมูตรเน่านั้น ก็เกิดขึ้นจากความจำเป็น พระภิกษุในอดีตเดินทางธุดงค์ไปในป่าเขา จะหาหยูกยาก็ไม่มี จึงต้องฉันปัสสาวะตนเองแทนยา ซึ่งผมไม่แน่ใจนักว่าคำอธิบายนี้เป็นคำอธิบายที่ถูกต้อง

อันที่จริงผมเคยกล่าวถึง “ปัญจควยะ” หรือเบญจคัพย์ ที่หมายถึง ของจากโคทั้งห้าอย่าง อันได้แก่ กษีระ นมโค, ทธิ โยเกิร์ต, ฆฤตัส เนยใส, โคมัย มูลโค และ โคมูตร ฉี่โค รวมกันเป็นห้าอย่าง ใช้ในพิธีต่างๆ รวมทั้งพระราชพิธีในสยามก็รับเอาชื่อมาใช้แต่แปลงไปตามธรรมเนียมของตน

การใช้ปัญจควยะนี้ แบ่งออกตามวัตถุประสงค์ออกเป็นสามอย่าง อย่างแรกใช้ในพิธีกรรมหรือการบูชา (ปูชนมฺ) สำหรับใช้เป็นยา (เอาษธมฺ) และใช้ในทางการเกษตร (กฤษิ พีโชปติ)

ดังนั้น จึงมีการใช้ฉี่โคในทางการแพทย์มาตั้งแต่สมัยโบราณของอินเดียแล้วครับ มีระบุไว้ในคัมภีร์อายุรเวทหรือคัมภีร์ทางการแพทย์ต่างๆ เช่น สุศรุตสัมหิตา จารกะสัมหิตา ภาวปรกาศ ฯลฯ ซึ่งบางที่ยกย่องไว้มาก กล่าวว่าเป็น “อมฤต” อย่างหนึ่งทีเดียว

ในการใช้ จะใช้รวมกับปัญจควยะ หรือใช้เป็นกระสายยา หรือผสมกับตัวยาอื่นๆ ก็มี และมีกรรมวิธีหรือขั้นตอนอยู่

 

ผมคงต้องเล่าด้วยว่า การใช้ปัญจควยะทั้งสามแบบนั้นมีลักษณะการใช้ที่ต่างกัน แบบแรกสำหรับการบูชาและทำพิธี ท่านว่าส่วนผสมเฉพาะที่เป็นโคมูตรและโคมัยให้ผสมลงเพียงน้อยนิด คือไม่เกินสิบเปอร์เซ็นต์ของส่วนประกอบทั้งหมด โดยมีจุดมุ่งหมายสำหรับ “การชำระให้บริสุทธิ์” เป็นหลัก

ถ้าใช้สำหรับการเกษตร มีส่วนของโคมูตรและโคมัยมากกว่าส่วนอื่น โดยใช้การหมักก่อนจะนำไปใช้ ในทำนองของปุ๋ยชีวภาพ

เรื่องการใช้โคมูตรในการเกษตรนี้ มุขมนตรีของอุตรประเทศ คือโยคีอาทิตยนาถ (เป็นนักบวชจริงๆ ได้รับการเลือกให้เป็นมุขมนตรีครับ) กำลังพยายามชูประเด็น “การปกป้องโค” (โครักษะ) จึงรณรงค์ให้เกษตรกรใช้โคมูตรเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและยังเป็นการตลาดพืช “ออร์แกนิก” ด้วย

ส่วนการใช้ทางการแพทย์นั้น ในคัมภีร์ทางอายุรเวททั้งหลาย ระบุให้ใช้ในปริมาณที่น้อยแล้ว ยังต้องเป็นฉี่โคที่ผ่านกระบวนการ “กลั่น” ไม่ได้ใช้ฉี่โคสดๆ ตรงๆ

ฉี่โคกลั่นนี้ สันสกฤตเรียกว่า โคมูตรอรกะ (อรกะ แปลว่าทำให้ร้อน) ในปัจจุบันมีการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมออกมามากมายหลายยี่ห้อ

สรรพคุณของโคมูตรที่ระบุไว้ในคัมภีร์มีมากมายมหาศาล แต่ในทางการแพทย์ก็ยังเป็นที่ถกเถียงและยังคงมีการวิจัยอยู่

ท่านใดสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ โปรดอ่านบทความเรื่อง “GOMUTRA (COW URINE) : A MULTIDIMENSIONAL DRUG” ของ Amit Nakanekar ตีพิมพ์ใน International Journal of Research in Ayurveda and Pharmacy 8(5) : 1-6 October 2017.

ส่วนมีบางคนเข้าใจไปว่า การดื่มฉี่มนุษย์เป็นข้อปฏิบัติในศาสนาฮินดูนั้น เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะไม่มีปรากฏในคัมภีร์ใดที่ให้ดื่มฉี่มนุษย์เป็นยา แม้ว่าจะมีนักบวชบางพวก เช่น อโฆรี (แปลว่าดุร้าย) ดื่มฉี่ตนเองบ้าง แต่ต้องเข้าใจว่า อโฆรี มีความประพฤติไม่เหมือนคนทั่วไป เช่น เปลือยกาย อยู่ป่าช้า กินซากศพเป็นอาหาร ใช้กะโหลกแทนชามข้าว ความประพฤติของนักบวชเหล่านี้ก็มิได้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในสังคมฮินดู จะเหมารวมว่าการดื่มฉี่มนุษย์เป็นหลักปฏิบัติในศาสนาไม่ได้

ส่วนในพุทธศาสนานั้น ผมคิดว่า หากพิจารณาจากข้อมูลข้างต้น ก็เป็นไปได้ว่า ยาดองมูตรเน่า หรือในพระบาลีว่า “ปูติมุตตะ” (ปูติ – เน่าหรือเหม็น, มุตต – ฉี่ สันสกฤตว่า มูตร) ไม่ใช่ฉี่คน เพราะไม่ใช่ความประพฤติทั่วไปในอินเดีย แต่หมายถึงฉี่โค ซึ่งรู้กันอยู่แพร่หลายมาตั้งแต่สมัยโบราณว่าเป็นยาชนิดหนึ่ง

อีกทั้งคำว่า เน่า (ปูติ) ไม่จำเป็นจะต้องดองให้เน่าเหม็นก่อน แต่มีไขความในพระบาลีว่า แม้ฉี่ใหม่ก็เรียกว่าเน่า เพราะร่างกายแม้สวยงามดุจทองคำก็เป็นร่างกายที่เน่าเปื่อยฉันใด ฉี่ใหม่ก็ฉันนั้น

ในพระไตรปิฎก อรรถกถาขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ อิติวุตตกวรรณนาไขว่า มูตรเน่านั้น หมายถึง ฉี่โค “พระบาลีว่า ปติมุตตํ ได้แก่ น้ำมูตรโคชนิดใดชนิดหนึ่ง” แต่จะหมายถึงยาที่ดองด้วยฉี่โคก็ได้ พระบาลีว่า “อาจารย์บางพวกเรียกชิ้นสมอที่ดองด้วยมูตรโคว่า น้ำมูตรเน่า”

หรือจะหมายถึงยาที่เขาทิ้งเสียแล้วก็ได้ พระบาลีว่า “อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า เภสัชชนิดใดชนิดหนึ่ง ที่เขาสละ คือ ทิ้ง ได้แก่ นำออกมาจากร้านตลาด เป็นต้น เพราะเป็นของเสีย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์เอาว่า เป็นน้ำมูตรเน่า”

ที่ว่า น้ำมูตรของ “โคชนิดใดชนิดหนึ่งนั้น” ก็เพราะในคัมภีร์อายุรเวทแบ่งโคออกเป็นชนิดต่างๆ ตามเพศ สีสัน และรูปร่าง ซึ่งให้ฉี่ที่มีคุณสมบัติต่างๆ กัน ว่ากันว่า ฉี่ของแม่โคที่ตั้งครรภ์ นับว่ามีประโยชน์ที่สุด

ผมคิดว่า โดยหลักฐานดังนี้ก็น่าจะพอสรุปได้ว่า ยาดองมูตรเน่า หรือฉี่ที่ถูกนำมากินในพุทธศาสนานั้น มิได้หมายถึงฉี่คน แต่เป็นฉี่โค ซึ่งใช้ร่วมกันในวัฒนธรรมพุทธ-พราหมณ์ของอินเดียมาตั้งแต่โบราณ

 

ส่วนเหตุผลที่พระพุทธะสนับสนุนให้พระสาวกฉันยามูตรเน่านี้ ผมคิดว่ามีคำตอบอยู่ในพระสูตรชื่อ “สุลภสูตร” (พระสูตรว่าด้วยปัจจัยที่หาได้ง่าย) มีเนื้อความดังนี้ครับ

“แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ ภิกษุทั้งหลาย ปัจจัย 4 อย่างนี้ มีค่าน้อย หาได้ง่าย และไม่มีโทษ ปัจจัย 4 อย่าง อะไรบ้าง คือ

1. บรรดาจีวร บังสุกุลจีวร (ผ้าที่ได้มาจากกองฝุ่น) มีค่าน้อย หาได้ง่ายและไม่มีโทษ

2. บรรดาโภชนะ ปิณฑิยาโลปโภชนะ (โภชนะคือคำข้าวที่ได้มาด้วยกำลังปลีแข้ง) มีค่าน้อย หาได้ง่าย และไม่มีโทษ

3. บรรดาเสนาสนะ รุกขมูลเสนาสนะ (เสนาสนะคือโคนไม้) มีค่าน้อย หาได้ง่าย และไม่มีโทษ

4. บรรดายารักษาโรค ปูติมุตตเภสัช (ยาดองน้ำมูตรเน่า) มีค่าน้อย หาได้ง่าย และไม่มีโทษ”

ปัจจัย 4 อย่างนี้แล มีค่าน้อย หาได้ง่าย และไม่มีโทษ

ฉะนั้น โดยพุทธเจตนารมณ์คือต้องการให้พระภิกษุใช้ปัจจัยสี่ให้น้อยและง่ายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้ยาก็ควรใช้ยาที่มันไม่มีราคา หรือหาได้ง่ายที่สุด ซึ่งในยุคพุทธกาลคือยาฉี่โคนั่นเอง เพราะวัวควายที่ไหนก็มี ฉี่มันก็ไม่ใช่ของหวงของมีราคาอะไร

ด้วยเหตุนี้ ยาดองมูตรเน่าจึงไม่ได้เป็นพุทธบัญญัติ ไม่ได้ทรงยืนยันเป็นของดีวิเศษในตนเอง หากแต่ในบ้านเรา เรื่องนี้ถูกขยายไปจนฉี่โคกลายเป็นฉี่คน และฉี่คนกลายเป็นของวิเศษ

 

ดังนั้น ผมคิดว่าหากพระจะฉันยาก็ควรเป็นไปตามพุทธมตินี้ คือ เป็นยาที่ประหยัด หาได้ง่าย ไม่ได้บำรุงบำเรอร่างกาย และไม่จำเป็นต้องฉันยามูตรเน่าจากโค ซึ่งน่าจะหายากกว่ายาสามัญทั่วๆ ไปเสียอีกในปัจจุบัน

ที่สำคัญ บทความนี้มิได้สนับสนุนให้พากันไปกินโคมูตรเป็นยานะครับ เพียงแต่พยายามเล่าที่มาที่ไปของเรื่องนี้เท่านั้น ส่วนใครจะกินฉี่ตัวเองหรือฉี่ใครก็ตามแต่เถิด พิจารณาให้ถี่ถ้วนและรับผิดชอบตนเองละกันครับ

แต่อย่าไปแอบเอาให้คนอื่นกินโดยเขาไม่รู้และไม่ยินยอม ดังว่ากันว่าครูคนหนึ่งกระทำเช่นนี้กับนักเรียน โดยนักเรียนไม่รู้ ซึ่งปรากฏเล่าลือฮือฮาในโลกออนไลน์

อันนั้นไม่เรียกว่าหวังดี แต่เรียกว่าอาชญากรรม