เพ็ญสุภา สุขคตะ : อุทยานประวัติศาสตร์เวียงกุมกาม ความฝันที่ใกล้เป็นจริง

เพ็ญสุภา สุขคตะ

สองปีที่แล้วดิฉันเคยนำเสนอบทความเรื่อง “ร่วมสานฝันชาวล้านนา โครงการอุทยานประวัติศาสตร์เชียงแสนและเวียงกุมกาม” โดยเปิดประเด็นว่าทางกรมศิลปากรมีดำริที่จะจัดตั้งอุทยานประวัติศาสตร์แห่งแรกให้แก่ชาวล้านนา ไม่ที่ใดก็ที่หนึ่ง ระหว่างแหล่งโบราณสถาน “เชียงแสน” หรือ “เวียงกุมกาม”

แห่งไหนได้ก่อนไม่สำคัญ ย่อมยังความปลื้มอกปลื้มใจให้แก่ชาวล้านนาเสมอเหมือนกัน เพราะเมื่อมีหนึ่งก็ต้องมีสองสามสี่ ไม่ว่าเชียงแสนหรือเวียงกุมกามจะได้ก่อน เรายังมีเวียงท่ากาน เวียงเกาะกลางรออยู่อีกหลายแหล่ง

ซึ่งหากชั่งน้ำหนักดูแล้ว เวียงเชียงแสนดูจะมีภาษีดีกว่า เนื่องจากโบราณสถานส่วนใหญ่ยังไม่ใช่พื้นที่เอกชน น่าจะสามารถพัฒนาพื้นที่ยกระดับขึ้นเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ได้ง่ายกว่า เมื่อเทียบกับเวียงกุมกามที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นบ้านเรือนเอกชนสลับแทรกปนกับโบราณสถาน คล้ายจะเป็นปัญหาอันใหญ่หลวง หากจะเข้าไปบริหารจัดการพื้นที่ ทำให้คนล้านนาเริ่มถอดใจหรือ “แขวน” เวียงกุมกามไว้ก่อน แล้วเทใจไปลุ้นเมืองโบราณเชียงแสนแทนแบบเต็มร้อย

แต่ในที่สุด ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กรมศิลปากรตัดสินใจเลือกพื้นที่ที่ว่าปราบเซียนนักปราบเซียนหนามาลองทำโมเดลดูก่อน นั่นคือประสานให้นักวิชาการจากคณะโบราณคดี และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมทั้งคณาจารย์จากสาขาวิชาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต มาลงพื้นที่วิจัยเก็บข้อมูลแบบเจาะลึกไล่เรียงดูจุดอ่อน-จุดแข็ง วิกฤต-โอกาสของเวียงกุมกามในทุกๆ มิติ

จนได้ข้อสรุปว่า หากจะยกเวียงกุมกามขึ้นเป็นอุทยานประวัติศาสตร์จริงๆ แล้วไซร้ หาใช่เรื่องยากทางตัน ปิดประตูตายเลยเสียทีเดียวไม่ ในทางกลับกัน อุปสรรคที่เราเคยวิตกกังวลต่างๆ นานานั้น เริ่มมองเห็นช่องทางที่จะแก้ไขได้ทีละเปลาะๆ แล้ว

ทางแก้นั้นใช้วิธีใดล่ะหรือ?

 

จากเวทีเสวนากิจกรรม “เล่าเรื่องเมืองเก่า ผ่านเส้น แสง สี : เวียงกุมกามนครโบราณที่มีลมหายใจ” จัดขึ้น ณ หอสมุดแห่งชาติฯ เชียงใหม่ เมื่อวันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมานั้น

นายสายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีจากสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ พร้อมด้วยคณะนักวิชาการที่ได้รับมอบหมายให้จัดทำแผนแม่บทเพื่อเสนอร่างอุทยานประวัติศาสตร์เวียงกุมกาม นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ขาวเขียว คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้นำเสนอทางออกให้แก่ชาวล้านนาไว้อย่างน่าฟัง พอจะประมวลเนื้อความได้ว่า

ในเมื่อเราไม่สามารถยกโบราณสถานทั้งหมดของเวียงกุมกามขึ้นจัดตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ได้แบบเป็นเขตอุทยานผืนใหญ่ เนื่องจากมีทั้งบ้าน วัด โรงเรียน ร้านค้า โรงแรม รีสอร์ต แทรกปนกันอยู่กับโบราณสถานเป็นระยะๆ นั้น

แต่ในความเป็นจริง เราสามารถ “ยกพื้นที่บางส่วนของเวียงกุมกามในเขตคอร์โซน (Core zone คือแก่นแกนเนื้อใน)” ที่ไม่ใช่พื้นที่ประชากรอาศัย ขึ้นเป็นพื้นที่นำร่องของอุทยานประวัติศาสตร์ไปก่อนได้เลย คือไม่จำเป็นต้องรอเคลียร์ชำระสะสางด้านปัญหาทางกฎหมายเรื่องที่ดินกับเอกชนรายย่อยทั่วทุกบ้านจนกว่าจะครบหมดทุกรายแล้วจึงค่อยประกาศ

กว่าจะถึงวันนั้นอีกไม่รู้กี่สิบปีจึงจะเคลียร์ได้หมด

ซึ่งเขตคอร์โซนนี้มีประมาณ 18 ไร่ นั่นคือบริเวณโบราณสถานวัดร้างต่างๆ ที่ต่อเชื่อมเป็นผืนเดียวกัน อาทิ วัดอีก้าง วัดปู่เปี้ย วัดหนานช้าง ฯลฯ และอีก 10 กว่าแห่ง มาจนถึงเขตอาคารหอประชุม อาคารอเนกประสงค์ เวทีแสดงแสงสีเสียง ที่เคยจัดสร้างไว้รองรับนักท่องเที่ยวนานนับ 10 ปีแล้ว ยุคที่เวียงกุมกามเคยบูมอย่างมาก

พื้นที่ตรงนี้สามารถประกาศเป็นเขตอุทยานประวัติศาสตร์ได้เลย เพราะไม่กระทบกระเทือนสิทธิชุมชน ไม่ส่งผลในข้อกฎหมายใดๆ ต่อผู้อาศัยรายรอบ แล้ววันข้างหน้า หากเราได้รับงบประมาณมากพอ ก็หาทางซื้อพื้นที่ของเอกชนขยับขยายเขตอุทยานเพิ่มออกไปเรื่อยๆ

กล่าวให้ง่ายก็ประมาณว่า ประกาศเฉพาะเขตพื้นที่ที่พร้อมเท่านั้นก่อน พื้นที่ไหนไม่พร้อม พื้นที่ไหนที่เป็นจุดเปราะบางสร้างปัญหา ก็ชะลอไว้ก่อน

แนวคิดดังกล่าวได้รับการขานรับเป็นอย่างดีจากผู้เข้าร่วมเสวนา เป็นการจุดประกายความหวังขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่เคยริบหรี่รางเลือนลงไปแล้วเมื่อสองปีก่อน ให้หวนกลับมาลุกโชติอีกครั้ง

แม้กระนั้นก็ยังมีคำถามที่ตามมาว่า “จะบริหารจัดการเวียงกุมกามกันอย่างไรในอนาคต หากได้รับการประกาศเป็นอุทยานประวัติศาสตร์จริง” เนื่องจากพื้นที่ที่จะประกาศเป็นอุทยานนั้นอยู่ด้านในค่อนข้างลึก ส่วนศูนย์ข้อมูลกับพิพิธภัณฑ์ที่มีมาแต่เดิมนั้นพร้อมจุดรอขึ้นรถรางอยู่ด้านนอกซึ่งบริหารจัดการโดยอีกหน่วยงานหนึ่ง

จริงอยู่ที่กรมศิลปากรเป็นผู้จัดทำเนื้อหาข้อมูลทางวิชาการให้แก่ศูนย์ แต่ทุกวันนี้เจ้าหน้าที่ศูนย์ก็ไม่ใช่บุคลากรของกรมศิลปากร แต่เป็นหน่วยงานอิสระ

หากกรมศิลปากรตั้งสำนักงานขึ้นใหม่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ด้านใน จัดทำศูนย์ข้อมูลขึ้นอีกแห่งหนึ่ง แล้วศูนย์ข้อมูลเดิมจะอยู่อย่างไร จะซ้ำซ้อนกันไหม

ไหนจะต้องรับแรงเสียดทานอันอาจเกิดขึ้นจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เคยมีบทบาทดูแลขับเคลื่อนเรื่องการท่องเที่ยวให้เวียงกุมกามมาก่อน ในยุคที่เน้นการกระจายอำนาจ อาทิ เทศบาล อบต.ต่างๆ จำนวนหลายตำบล เนื่องจากเวียงกุมกามครอบคลุมพื้นที่มหาศาล ไหนจะไกด์ท้องถิ่น ชมรมรถราง รถม้า

รวมทั้งวัด และพ่อค้าแม่ขายในบางพื้นที่ ที่เคยมีเรื่องมีราวระหองระแหงกันอยู่บ้าง

ประเด็นนี้ ได้รับคำตอบจากสายกลาง จินดาสุ ว่า “อุทยานประวัติศาสตร์เวียงกุมกาม” จะเป็นโมเดลใหม่ในกรอบนิยามของคำว่า “อุทยานประวัติศาสตร์แบบมีชีวิต” โดยการบริหารจัดการ จะไม่ใช้วิธีให้กรมศิลปากรดูแลแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนกับอุทยานประวัติศาสตร์แห่งอื่นๆ ที่ผ่านมา

เนื่องจากจุดเริ่มต้นของการ (กว่าจะได้) จัดตั้งอุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้นั้น ต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการ ทำให้ได้รับรู้ปัญหาตื้นลึกหนาบาง ความขัดแย้งจากผู้คนทุกฝักทุกฝ่ายมาอย่างหนักหน่วง ตั้งแต่ยังเป็นแค่ “แหล่งโบราณสถานเวียงกุมกาม” ดังนั้น เมื่อยิ่งหากสามารถยกระดับขึ้นเป็น “อุทยานประวัติศาสตร์เวียงกุมกาม” ได้ การบริหารจัดการในเรื่องที่คอขาดบาดตายหากจะพึงมีนั้น จะเป็นไปในลักษณะขอคำปรึกษาหารือกับคณะกรรมการชุดหนึ่งที่จะตั้งขึ้นมา

คณะกรรมการที่จะเชิญมาเป็นที่ปรึกษาประกอบด้วยบุคคลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ ไม่ว่าฝ่ายวัดฝ่ายบ้านฝ่ายปกครอง

รวมไปถึงบุคลากรในองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการดูแลวัดร้าง-โบราณสถานร่วมกันกับกรมศิลปากร เช่น ตัวแทนสำนักงานพระพุทธศาสนา สำนักงานวัฒนธรรม สภาวัฒนธรรม สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ด้วย เป็นต้น

หมายความว่า ปัญหาใดๆ อันอาจบังเกิดขึ้นในอนาคต ภายหลังจากการประกาศเป็นอุทยานประวัติศาสตร์เวียงกุมกามแล้ว กรมศิลปากรจะนำปัญหาเหล่านั้นมาพูดคุยหาทางออกร่วมกันในท่ามกลางหมู่คณะกรรมการจากทุกภาคส่วน ที่ล้วนแล้วแต่รับรู้เงื่อนไขและข้อจำกัดของเวียงกุมกามมาแต่เดิมอยู่ก่อนแล้ว

ข้อกฎหมายใดๆ ที่กรมศิลปากรต้องถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด มอบอำนาจให้หน่วยงานอื่นปฏิบัติแทนมิได้ กรมศิลปากรก็จักทำไป เช่น มาตรฐานด้านงานขุดค้นทางโบราณคดี หรือการป้องกันความเสียหายต่อโบราณสถานโบราณวัตถุ ฯลฯ

แต่ปัญหาที่เป็นเรื่องของการกระทบกระทั่งระหว่างบุคคล ภาคเอกชนต่างๆ เรื่องความไม่เข้าใจในการทำงานของหน่วยงานระหว่างรัฐต่อรัฐ ปัญหาเหล่านี้จะใช้วิธีแก้ไขในรูปแบบการขอความเห็นจากคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ให้มีทางออกร่วมกัน

หากออกมาในลักษณะเช่นนี้ ก็พอจะมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ค่อนข้างชัดขึ้นๆ ทีละน้อยแล้วว่า ณ วันนี้ “เวียงกุมกาม” มีความพร้อมที่จะประกาศเป็นอุทยานประวัติศาสตร์

ชัดเจนทั้งด้านเขตพื้นที่คอร์โซน ชัดเจนทั้งด้านรูปแบบการบริหารจัดการที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน

 

ตอนนี้ เราก็คงได้แต่นับถอยหลัง เฝ้ารอวันที่เวียงกุมกามจะได้รับการประกาศเป็นอุทยานประวัติศาสตร์จากคณะกรรมการระดับชาติที่มีกรมศิลปากรเป็นผู้ชงเรื่องอย่างใจจดใจจ่อเท่านั้น

ระหว่างนี้ก็คงถึงเวลาที่ “ฟ้อนเวียงกุมกาม” ซึ่งวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่เพียรประดิษฐ์ท่าร่ายรำให้ในยุคที่เวียงกุมกามเฟื่องสุดขีด จักหวนกลับมาฉายเฉิดเจิดจรัสอีกครั้ง

และไม่เคยลืมเลยว่าครั้งหนึ่งเวียงกุมกามเคยเป็นสถานที่รองรับการประชุมผู้นำโลกมากกว่า 24 ประเทศ มาระดมสมองหารือกันเรื่อง “น้ำ” ในเวทีระดับนานาชาติมาแล้วในปีที่น้ำท่วมใหญ่ 2554

ร่วมส่งกำลังใจให้เกิดการพลิกฟื้น “เวียงกุมกาม” หวนคืนสู่ความงดงามในทุกมิติอีกครา สถาวรและยั่งยืน