ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ / ตอบ อ.เชฟหมี : พราหมณ์แขกโล้ชิงช้า อย่างพราหมณ์สยามจริงหรือ?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

รายชื่อพระราชพิธี 12 เดือนในกฎมณเฑียรบาล (ที่ต่อมาจะถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งในกฎหมายตราสามดวง) ที่ถูกใช้มาอย่างน้อยตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของกรุงศรีอยุธยานั้น มีข้อความระบุว่า

“เดือน 1 ไล่เรือ เถลีงพิทธีตรียำพวาย” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

พิธี “ตรียำพวาย” ที่ว่าก็คือ “ตรียัมปวาย” ตามอักขรวิธีปัจจุบัน และก็เป็นพิธีเดียวกันกับที่มักจะเหมารวมกันไปว่าคือ “พิธีโล้ชิงช้า” นั่นเอง

แต่ “ตรียัมปวาย” ของพ่อพราหมณ์อินเดียเขาจะเป็นเรื่องเดียวกับ “การโล้ชิงช้า” จริงๆ หรือครับ?

คำว่า “ตรียัมปวาย” เพี้ยนมาจากคำว่า “ติรุเว็มปาไว” ในภาษาทมิฬ ทางตอนใต้ของอินเดีย ซึ่งไม่ใช่ชื่อของงานพิธี แต่เป็นชื่อบทประพันธ์ร้อยกรองของนักบุญที่ชื่อมณิกวาจคัร ผู้ภักดีต่อพระศิวะ (องค์เดียวกับพระอิศวร)

คู่กันกับพิธีตรียัมปวายนั้น ในไทยยังมีพิธี “ตรีปวาย” ที่จัดต่อเนื่องจากพิธีตรียัมปวาย โดยชื่อพิธีดังกล่าวนี้ก็เพี้ยนมาจากคำว่า “ติรุปาไว” ซึ่งก็เป็นชื่อบทประพันธ์ในภาษาทมิฬเช่นกัน แต่เป็นบทประพันธ์ของนักบุญหญิงแห่งไวษณพนิกาย ที่นับถือพระวิษณุ (คือพระนารายณ์) เป็นใหญ่ ที่ชื่อศรีอัณฑาฬ หรือโคทาเทวี (เชื่อกันว่า พระวิษณุได้รับนักบุญท่านนี้ไปเป็นชายา)

เอาเข้าจริงแล้ว ทั้งชื่อเรียกพิธีตรียัมปวาย และตรีปวาย จึงไม่ได้แสดงให้เห็นถึงร่องรอยที่เกี่ยวกับการโล้ชิงช้า มากเท่ากับเรื่องของการสรรเสริญบูชามหาเทพของพวกพราหมณ์อย่างพระศิวะ และพระนารายณ์ ซึ่งในพิธีทั้งสองดังกล่าวนั้นก็มีการจัดบูชาองค์เทพอยู่เทวสถานจริงๆ เสียด้วย

 

ในสุวรรณภูมิมีร่องรอยหลักฐานของประเพณีพื้นเมืองที่เกี่ยวกับการ “โล้ชิงช้า” โดยตรง อย่างน้อยที่สุดก็เหลืออยู่ในกลุ่มชาวอาข่า (ที่มักจะถูกคนนอกเรียกว่า อีก้อ)

พวกอาข่าจะทำพิธีโล้ชิงช้ากันในเดือนสิบของพวกเขา ซึ่งก็จะตรงกับราวช่วงปลายเดือนสิงหาคมของทุกปี (ทางล้านนาจะนับเดือนเร็วกว่าทางภาคกลางราว 2 เดือน เพราะสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อวงจรการทำเกษตรกรรมที่แตกต่างกัน) เพื่อฉลองรวงข้าว โดยมีตำนานเล่ากำกับไว้ด้วยว่า การโล้ชิงช้าทำเพื่อบูชาเทพีอึ่มซาแยะ ที่ประทานความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พืชผลที่กำลังงอกงามอยู่นั่นเอง

(อันที่จริงแล้ว การเรียก “อึ่มซาแยะ” ว่าเป็น “เทพี” นั้นก็คงจะไม่ถูกต้องอะไรนัก เพราะตามปรัมปราคติของชาวอาข่าถือว่า อึ่มซาแยะเป็น “บรรพสตรี” ของเผ่าตนเอง ดังนั้น จึงมีสถานะเป็น “ผีบรรพชน” ที่สามารถให้คุณ ให้โทษ ต้องเซ่นให้ดี ต้องพลีให้ถูก ตามคติในศาสนาผีพื้นเมืองสุวรรณภูมิโดยทั่วไปมากกว่า การใช้คำว่าเทพีในที่นี้เป็นไปเพื่อให้เห็นภาพกว้างๆ เท่านั้น)

นอกเหนือจากนี้ยังมีหลักฐานอยู่ในคำศัพท์เก่าของชาวกะเหรี่ยง ที่ถูกตีพิมพ์เอาไว้ในสมุดราชบุรี (ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2468 สำหรับใช้ประกอบในงานแสดงสยามรัฐพิพิธภัณฑ์) ว่า ชาวกะเหรี่ยงเรียก “เดือนอ้าย” ว่า “ลาชิงช้า”

ในหนังสือเก่า อายุเฉียดๆ จะร้อยปีเล่มเดียวกันนี้ยังระบุไว้ด้วยว่า ในภาษากะเหรี่ยง คำว่า “ลา” แปลว่า “พระจันทร์” หรือ “เดือน” ส่วนจำนวนนับ “หนึ่ง” นั้น ภาษากะเหรี่ยงว่า “ละเบ๊ง”

คำว่า “ชิงช้า” ที่ประกอบกับคำว่า “ลา” แล้วหมายถึงเดือนอ้าย จึงไม่ได้นำมาจากจำนวนนับ แต่น่าจะหมายถึงเดือนที่มีพิธีกรรมสำคัญอย่างการโล้ชิงช้ามากกว่า

ที่สำคัญก็คือ ร่องรอยจากสมุดราชบุรี แสดงให้เห็นว่า พวกกะเหรี่ยง (ซึ่งก็คงเป็นกะเหรี่ยงในมณฑลราชบุรีขณะนั้น อันประกอบไปด้วย สมุทรสงคราม ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์) มีพิธีโล้ชิงช้ากันในช่วงเดือนอ้าย ตรงกับธรรมเนียมในยุคต้นของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งก็คงเป็นด้วยเขตภูมิอากาศเดียวกัน (และต่างไปจากล้านนาที่พวกอาข่าอาศัยอยู่) เพียงแต่หลักฐานในกฎมณเฑียรบาลของอยุธยานั้น พิธีโล้ชิงช้าถูกเรียกด้วยศัพท์ของพวกพราหมณ์ว่า “ตรียำพวาย” ไปเสียแล้ว

 

และก็เป็นด้วยข้อมูลทำนองนี้แหละครับ ที่ทำให้ผมได้เคยสรุปเอาไว้ตอนทำวิจัยให้กรุงเทพมหานคร เมื่อคราวที่เขาเปลี่ยนเสาชิงช้าใหม่เมื่อ พ.ศ.2550 ว่า ประเพณีโล้ชิงช้าเป็นประเพณีพื้นเมืองสุวรรณภูมิ ที่ถูกจับบวชให้เป็นพราหมณ์ด้วยการปรับเปลี่ยนปกรณัมความเชื่อ และปั้นเสริมเติมแต่งพิธีกรรมให้เกี่ยวข้องกับเทพเจ้า โดยจัดให้มีพิธีตรียัมปวาย แล้วผนวกการโล้ชิงช้าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในนั้น

จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ.2559 มิตรสหายผู้เป็นพราหมณ์ตัวจริงอย่าง อ.คมกฤช “เชฟหมี” อุ่ยเต็กเค่ง ได้ตั้งข้อสังเกต พร้อมกับคำถามเอาไว้ในข้อเขียนที่ชื่อ “พราหมณ์แขกมี “โล้ชิงช้า” ไหม?” เอาไว้ในมติชนสุดสัปดาห์ คอลัมน์ ผี พราหมณ์ พุทธ (มีรวมเล่มอยู่ใน “ภารตะ-สยาม ผี พราหมณ์ พุทธ” ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2560) โดยได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า ในอินเดียก็มีการใช้ “ชิงช้า” ในพิธีกรรมของพวกพราหมณ์ โดยเฉพาะในอินเดียใต้ ที่มีการไกวชิงช้า พร้อมกับร้องเพลงขับกล่อมให้กับคู่บ่าวสาวในพิธีแต่งงาน หรือเทศกาลไมถุนา-สังกรานติ ที่หญิงสาวชาวแคว้นโอริสสาจะบูชาพระแม่ธรณีด้วยการเล่นชิงช้าประทับดอกไม้ ที่ผูกระหว่างต้นไม้สองต้น

แน่นอนว่า เทศกาลเหล่านี้มี “ชิงช้า” เป็นเครื่องประกอบในพิธีกรรม แต่หากพิจารณาถึงกรรมวิธีการเล่น ก็ดูจะห่างไกลกันมากกับการโล้ชิงช้าของไทย ที่รัชกาลที่ 5 ทรงเคยเปรียบเปรยเอาไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระราชพิธี 12 เดือน” ว่า “เล่นเซอคัสโล้ชิงช้า” คือทำนองเล่นกายกรรมโลดโผนอยู่มากทีเดียว

การไกวชิงช้าทำนองชิลๆ ในพิธีพราหมณ์อย่างนี้ ยังมีแบบที่ไม่ได้ให้คนขึ้นไปนั่งบนชิงช้า แต่นำเอาเทวรูปขึ้นไปประดิษฐานไว้แทน แล้วก็ไกวพร้อมขับกล่อมอีกด้วยอีกหลายพิธี เช่น พิธีฮินโดละบรรพ เป็นต้น

พิธีการไกวชิงช้าเนิบๆ อย่างนี้ น่าจะเป็นต้นเค้าของพิธี “ช้าหงส์” ซึ่งก็คือการนำเอาเทวรูปขึ้นไปประทับบนบุษบกรูปหงส์ แล้วเห่กล่อม พร้อมไกวเหมือนเป็นชิงช้า หรือเปล ภายในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ระหว่างพิธีตรียัมปวาย และตรีปวาย โดยอาจจะเป็นอย่างที่ อ.คมกฤชให้ความเห็นไว้ในข้อเขียนชิ้นเดียวกันนั้นว่า

“การโล้ชิงช้าของพราหมณ์สยามจึงอาจจะไม่ถึงกับไม่มีอะไรเชื่อมโยงกับอินเดียเลย ผมเดาว่าน่าจะเป็นไปในลักษณะนำของพื้นเมืองมาเชื่อมกับของที่มีอยู่เดิม จนเกิดเป็นประเพณีใหม่ของตนเอง”

ย่อหน้าข้างบนนี้ผมเห็นด้วยกับ อ.คมกฤชอย่างสุดขั้วหัวใจ แต่อาจจะเห็นต่างกันเล็กน้อยตรงที่ผมคิดว่า การนำของที่มีอยู่เดิมในอินเดียมาใช้ น่าจะเป็นอะไรที่กลายมาเป็นการ “ช้าเจ้าหงส์” ในโบสถ์ ที่เชื่อมโยงเข้ากับ “การเซอคัสโล้ชิงช้า” อย่างพื้นเมืองที่นอกโบสถ์ มากกว่าที่จะเป็นการนำวิธีโล้ชิงช้ามาจากพิธีพราหมณ์อินเดียจริงๆ

 

อ.คมกฤชยังได้กล่าวถึงภาพพิมพ์เก่าของการโล้ชิงช้าในอินเดียเหนือ ที่จะทำชิงช้าขึ้นกลางแจ้งแล้วให้คนกลับหัวกลับหางขึ้นโล้ชิงช้าเพื่อขอฝน แต่ไม่ได้กล่าวถึงชื่อพิธี หรือนำภาพพิมพ์เก่าที่ว่ามาลงประกอบข้อเขียนไว้

ผมจึงได้แต่เดาเอาเองว่า น่าจะเป็นพิธี Churuk Puja ที่พวกอังกฤษได้บันทึกไว้ในยุคอาณานิคม

และถึงแม้ว่าพิธี “Churuk Puja” ถูกพวกอังกฤษนิยามไว้ว่าเป็น “swinging ceremony” ในทำนองเดียวกับพิธีโล้ชิงช้า แต่ในทางปฏิบัติที่ได้ถูกพรรณนา และวาดภาพเอาไว้นั้นต่างกันมากทีเดียวนะครับ เพราะเสาที่ถูกตั้งขึ้นไม่ได้มีชิงช้าให้ถีบเหมือนอย่างในไทย แต่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นแกน แล้วสร้างคานที่ยอดเสาผูกเชือกห้อยลงมา ที่ปลายเชือกมีปลายเหล็กแหลมไว้ใช้เสียบกับแผ่นหลังของคน แล้วให้กระเด้งกระดอนไปมาอยู่กลางอากาศต่างหาก

ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ อ.คมกฤชยังพูดถึงการโล้ชิงช้าในเทศกาลโอนัมของแคว้นเกราละ เพื่อฉลองวามนาวตาร (อวตารหนึ่งของพระนารายณ์) กับท้าวพลี

โดยทั่วไปแล้ว ชาวเกราละมักจะฉลองเทศกาลโอนัมด้วยหลายๆ วิธีการ เช่น การแข่งเรือ, การระบำรำฟ้อน, การเล่นระบำหน้ากาก (กถักกฬิ) หรือจัดให้มีขบวนแห่ต่างๆ เป็นต้น ดังนั้น ถ้าจะมีการโล้ชิงช้าอยู่ด้วยบ้างก็ไม่แปลก เพราะก็มีข้อมูลด้วยว่า พิธี Tiruvaatirai ซึ่งชาวเกราละถือว่าเป็นวันประสูติของพระศิวะ ก็มีการละเล่นโล้ชิงช้า

ก็อย่างที่ อ.คมกฤชว่าเอาไว้นะครับว่า วัฒนธรรมของแคว้นเกราละนั้น มีความสัมพันธ์และละม้ายคล้ายเหมือนกับอุษาคเนย์เราอยู่หลายอย่าง ข้อเขียนของอาจารย์จึงได้ช่วยเปิดโลกให้ผมต้องย้อนกลับไปพิจารณาเรื่องพิธีโล้ชิงช้าอีก และมันก็ไม่สามารถเขียนจบได้ในตอนเดียวเสียด้วย