
ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม - 5 กันยายน 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
สุจิตต์ วงษ์เทศ
‘ต้นตอ’ สุโขทัย
ไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย
“สุโขทัยราชธานีแห่งแรกของไทย ไม่มีในหนังสือสุโขทัยเมืองพระร่วง ที่กรมศิลปากรพิมพ์ใหม่” ผู้ทรงคุณวุฒิของกรมศิลปากร (พิเศษ เจียจันทร์พงษ์) บอกในที่เสวนาวิชาการของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นอกจากนั้นหนังสือและเอกสารประกอบนิทรรศการของกรมศิลปากรก็ไม่มีอีกแล้วว่าสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย
“สุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย” พิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก พ.ศ.2526 มีต้นตอเป็นแรงกระตุ้นจากข้อเขียนของ อ.ศรีศักร วัลลิโภดม “เรื่องการตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย” พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2524 ผมบอกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในเล่มพร้อมทั้งยกข้อเขียนทั้งหมดลงพิมพ์ไว้โดยไม่ตัดทอน เพื่อสนองผู้อ่านสมัยนั้นที่เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ลำบาก
เล่มนี้ “สุโขทัยไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย” เป็นหนังสือรายงานข้อมูลข่าวสารตามภาระหน้าที่ของสื่อ โดยยกข้อเขียนเชิงวิชาการก้าวหน้าครั้งนั้นเป็นแกนหลักหรือตัวตั้ง แล้วดัดแปลงแต่งปรุงใหม่ด้วยการขยายความทำให้ง่าย อ่านไม่ยาก เพื่อสนองคนอ่านทั่วไปที่ไม่เป็นนักวิชาการ และไม่ต้องการรกรุงรังด้วยเชิงอรรถ (ฟุตโน้ต)
ทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่ผมทำอยู่ทุกๆ เดือนใน “ศิลปวัฒนธรรม” ซึ่งไม่ถูกใจนักอนุรักษ์ที่อำนาจนิยมด้วยข้อมูล “ชุดเดียว” แล้วห้ามถาม และห้ามเถียง
“ศิลปวัฒนธรรม” หนังสือรายเดือน เริ่มฉบับแรก พฤศจิกายน 2522 เพื่อแบ่งปันข้อมูลประวัติศาสตร์โบราณคดี “คนละชุด” ซึ่งต่างจากกระแสหลักสมัยนั้น ขณะเดียวกันก็คัดค้านและตอบโต้แนวคิดประวัติศาสตร์โบราณคดีของทางการ ที่เสกสรรปั้นแต่งประวัติศาสตร์ไทยแบบชาตินิยมเป็นเส้นตรงจากเทือกเขาอัลไต, อาณาจักรน่านเจ้า, สุโขทัยราชธานีแห่งแรกของไทย ฯลฯ ซึ่งเป็นงานวรรณกรรมล้วนๆ โดยไม่แสดงหลักฐานวิชาการรองรับสนับสนุนเพราะหาไม่ได้และไม่มี
เหตุจากคิดต่างทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ทำให้ในครั้งนั้นผมถูกด่าทอต่อว่าด้วยนานา “เฮตสปีช” ว่า ทำลายชาติ ทำลายความเป็นไทย ทำลายสารพัดจาก “นัก” ทุกสารทิศ ได้แก่ นักประวัติศาสตร์, นักโบราณคดี, นักวรรณคดี, นักภาษา ฯลฯ ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง เช่น ที่ประชุมสัมมนาวิชาการ และในห้องเรียนบางมหาวิทยาลัยโดยครูบาอาจารย์ที่เกี่ยวข้องวิชาการด้านนี้
เมื่อกรมศิลปากรมีกิจกรรมวิชาการล่าสุดขณะนี้ไม่พูดถึงอีกต่อไปว่า “สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย” ดังนั้น เพื่อให้รู้ต้นตอของปัญหาเรื่องนี้ ผมขอคัดข้อเขียน อ.ศรีศักร วัลลิโภดม มาแบ่งปันไว้เป็นพยาน
เรื่องการตั้งกรุงสุโขทัย
เป็นราชธานีแห่งแรกของชนชาติไทย
โดย ศรีศักร วัลลิโภดม (เผยแพร่ครั้งแรก พ.ศ.2524)
เนื้อความในประวัติศาสตร์ตอนนี้มีอย่างย่อๆ ว่า ชนชาติไทยอพยพเข้ามาในดินแดนประเทศไทยแล้วแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 18 มาอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของพวกขอม ต่อมาเมื่อขอมเสื่อมอำนาจลงชาวไทยที่อยู่ทางตอนเหนือของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอันมีพ่อขุนบานเมืองเจ้าเมืองราด และพ่อขุนบางกลางหาวเจ้าเมืองบางยาง ได้ขับไล่ขุนนางขอมที่ปกครองเมืองสุโขทัยได้สำเร็จแล้วตั้งตัวเป็นอิสระ มีพ่อขุนบางกลางหาวปกครองกรุงสุโขทัย ทรงพระนามว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ แต่นั้นมาอำนาจของสุโขทัยก็แผ่ไปทั่วดินแดนในประเทศไทย จึงถือกันว่ากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของเมืองไทย
เรื่องราวประวัติศาสตร์ตอนนี้ นักประวัติศาสตร์ท่านสร้างขึ้นจากข้อมูล 2 อย่างด้วยกัน
อย่างแรกเป็นเรื่องสมมุติขึ้นตามความเชื่อในเรื่องเชื้อชาติ และทฤษฎีในเรื่องชัยชนะ คือเรื่องที่ว่าคนไทยอพยพเข้ามาในดินแดนประเทศไทย แต่ราวพุทธศตวรรษที่ 18 แล้วเข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจขอม เรื่องดังกล่าวนี้ไม่มีอยู่ในหลักฐานทั้งทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีเลย
ข้อมูลอย่างที่สองคือเรื่องเกี่ยวกับพ่อขุนผาเมือง พ่อขุนบางกลางหาว และการก่อตั้งกรุงสุโขทัยนั้นมีอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ 2 ของกรุงสุโขทัย แต่ในเรื่องราวที่มีอยู่ในศิลาจารึกนั้นไม่มีอะไรเพียงพอเลยที่จะระบุว่า พ่อขุนผาเมืองและพ่อขุนบางกลางหาวรบพุ่งชิงเมืองสุโขทัยจากขุนนางขอมที่กรุงกัมพูชาส่งมาปกครองดินแดนในประเทศไทย หรืออีกนัยหนึ่งจารึกไม่ได้กล่าวเลยว่า การรบพุ่งชิงเมืองสุโขทัยและการขึ้นครองราชย์ของพ่อขุนบางกลางหาวนั้นเป็นการที่คนไทยตั้งตัวเป็นอิสระจากพวกขอม นักประวัติศาสตร์ท่านมีความลำเอียงและเชื่อในเรื่องเชื้อชาติ และทฤษฎีแห่งชัยชนะอยู่แล้ว พอพบอะไรในจารึกที่เกี่ยวกับขอมหน่อยก็เลยลากเอาไปเข้าเป็นเรื่องเป็นราวปะติดปะต่อกับสิ่งที่ตนคิดไว้ก่อนแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้จึงละเลยข้อมูลอื่นๆ ที่มีอยู่ในจารึกที่เห็นว่าไม่เกี่ยวข้องเสีย
อันที่จริงถ้านักประวัติศาสตร์ท่านไม่หลงในเรื่องเชื้อชาติ และทฤษฎีแห่งชัยชนะแล้ว และพิจารณาข้อมูลในศิลาจารึกกรุงสุโขทัยหลักที่ 2 และหลักอื่นๆ ตลอดจนเอกสารในด้านตำนานและพงศาวดารให้ดีแล้วก็น่าจะพบเรื่องราวการรบพุ่งชิงเมืองสุโขทัยของพ่อขุนผาเมืองและพ่อขุนบางกลางหาวนั้น ตีความได้แต่เพียงว่าเป็นการรบพุ่งชิงบ้านเมืองกันเองในระหว่างบ้านเมืองในแคว้นสุโขทัยในดินแดนประเทศไทยเท่านั้น หาได้เกี่ยวข้องในเรื่องการที่กรุงกัมพูชามีอำนาจปกครองดินแดนในแดนในประเทศไทยไม่ การเกี่ยวข้องกับกรุงกัมพูชานั้นเป็นในด้านไมตรีและการแต่งงานระหว่างกษัตริย์ในดินแดนประเทศไทยกับกัมพูชาเท่านั้น ข้อขัดแย้งในเรื่องการแปลความเรื่องราวในศิลาจารึกกรุงสุโขทัยไปในทำนองที่มีอำนาจทางการเมืองของขอมในดินแดนประเทศไทยนี้ ผู้เขียนได้เคยเขียนบทความโต้แย้งคัดค้านไว้แล้วในวารสารช่อฟ้า
ความหลงเชื่อในแนวความคิดเรื่องเชื้อชาติ และทฤษฎีแห่งชัยชนะของนักประวัติศาสตร์นั้นทำให้บานปลายใหญ่ จะเห็นว่าท่านเชื่อไปว่าพอคนไทยตั้งตัวเป็นอิสระจากพวกขอมแล้ว พอถึงรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงก็ปรากฏว่ากรุงสุโขทัยมีอำนาจยิ่งใหญ่เหนือดินแดนประเทศไทยทั้งหมด นอกจากนั้น ยังกินเลยเข้าไปในเมืองเมาะตะมะ หงสาวดี และเวียงจันทน์เวียงคำในดินแดนประเทศลาวอีกด้วย ท่านมองไปในลักษณะที่ว่าคนไทยขับไล่ขอม ขอมหมดไป ดินแดนประเทศไทยจึงเป็นของกรุงสุโขทัยแต่ผู้เดียว ทั้งๆ ที่เรื่องราวในจารึกก็ดี ตำนานพงศาวดารในสมัยนั้นก็ดี ระบุอยู่ว่าสุโขทัยไม่ใช่เป็นทั้งหมดของดินแดนประเทศไทย ไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของชนชาติไทย สมัยนั้นบ้านเมืองในดินแดนประเทศไทยแบ่งออกเป็นแคว้นๆ เช่น แคว้นอยุธยา แคว้นนครศรีธรรมราช แคว้นล้านช้าง แคว้นลานนาไทย เป็นต้น โดยเฉพาะแคว้นลานนาไทยนั้นประชาชนมีความเป็นคนไทยมากกว่าทางสุโขทัยเสียอีก ถ้าหากเชื่อในเรื่องที่ว่าคนไทยมาจากประเทศจีน แต่นับว่าแปลกประหลาดที่นักประวัติศาสตร์ท่านกลับถือว่าลานนาไทยเป็นลาวไป โดยเหตุนี้สุโขทัยจึงเป็นราชธานีแห่งแรกของชนชาติไทย นักเรียนเรียนกันแต่ประวัติศาสตร์สุโขทัย ส่วนลานนาไทยไม่ปรากฏว่าเรียนกัน
ผู้เขียนคิดว่านักประวัติศาสตร์ผู้สร้างประวัติศาสตร์ไทยตอนที่กล่าวมานี้ นอกจากงมงายในเรื่องเชื้อชาติ และเรื่องทฤษฎีแห่งชัยชนะแล้ว ยังไม่มีการวัดค่าของข้อมูล โดยเฉพาะศิลาจารึกว่ามีความแน่นอนเพียงใด ความผันแปรเพียงใด ตามหลักของวิชาวิจัยอีกด้วย จึงคิดว่าอะไรๆ ที่มีอยู่ในศิลาจารึกเป็นเชื่อได้หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ทั้งนั้น
[บางตอนจากบทความเรื่อง “ข้อขัดแย้งเกี่ยวกับประวิตศาสตร์ไทย” พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือนภศูล (ฉบับที่ 1 ปีการศึกษา 2524) ของชุมนุมศึกษาวัฒนธรรม-โบราณคดี สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ต่อมาพิมพ์ซ้ำรวมอยู่ในหนังสือ ข้อขัดแย้งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย ของ ศรีศักร วัลลิโภดม สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2524 หน้า 9-10]