“น้าทิวา-เจ้าของร้านน้องฯ” “ชำแหละ” วิกฤตอุตสาหกรรมดนตรีปี’59 สู่ทาง “ฟื้นฟู” ปี’60

โดย บุญญฤทธิ์ บัวขำ www.facebook.com/matichonTV

นับตั้งแต่ระบบดิจิตอลเข้ามามีบทบาทแทนที่ระบบอะนาล็อก ดูเหมือนว่าหลายอุตสาหกรรมต้องเร่งปรับตัวเพื่อตอบสนองพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนไป

เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมดนตรี ที่การทำธุรกิจรวมถึงการทำเพลงในฐานะงานศิลปะ ต่างถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบทั้งหมด จากเดิมเพลงเป็นสินค้าหลักของค่ายเพลง

แต่ขณะนี้ทั้ง “อาร์เอส” และ “แกรมมี่” ต่างมองเพลงเป็นแค่สื่อชนิดหนึ่งเท่านั้น

ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2559 บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ตัดสินใจครั้งใหญ่ ในการเลิกผลิตแผ่นซีดีที่มียอดขายตกลงต่อเนื่อง แล้วหันมาบริหารจัดการสื่อประเภทอื่นๆ ซึ่งดูเหมือนจะมีอนาคตกว่า

ขณะที่ทางฝั่งคู่แข่งอย่างบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ก็ปรับเปลี่ยนธุรกิจด้วยเช่นกัน โดยหันมามุ่งเน้นผลลัพธ์จากสื่ออื่นๆ มากขึ้น เช่น การเปิด “GMM BRAVO!” ซึ่งนำ “เพลง” มาต่อยอดโดยการสร้างเป็น “ซีรี่ส์”

และเมื่อไม่นานมานี้ ฝั่งอาร์เอสได้ปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจการทำเพลงอีกครั้ง ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าจะลดบทบาทการทำเพลงลงอย่างชัดเจน

นั่นคือจากเดิมค่ายเพลงต้องเป็นผู้ลงทุนทำเพลงให้ศิลปิน แต่ขณะนี้ หากศิลปินอยากออกซิงเกิลใหม่ภายใต้สังกัดอาร์เอส ตัวศิลปินต้องจ่ายค่าทำเพลงเอง ยกเว้นศิลปินรายใหญ่ที่สร้างรายได้ให้บริษัทเท่านั้น

น้าทิวา – พี่อนุชา

“น้าทิวา” หรือ “ทิวา สาระจูฑะ” นักวิจารณ์เพลงและบรรณาธิการนิตยสารสีสัน เจ้าของงานมอบรางวัลดังอย่าง “สีสัน อวอร์ดส์” มองปรากฏการณ์ที่ธุรกิจเพลงซบเซาลงอย่างต่อเนื่องว่า เกิดจากการเข้ามาของเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเหมือนดาบ 2 คม

ด้านหนึ่ง ให้ความสะดวกสบาย แต่อีกด้านหนึ่ง ก็เป็นเหมือนสิ่งทำลายล้าง เพราะจากที่ค่ายเพลงเคยมีรายได้เพิ่มขึ้นจากช่องทางการดาวน์โหลด แต่พอถึงจุดหนึ่ง เพลงกลับกลายเป็นของที่อยู่บนอากาศ ซึ่งใครจะหยิบฉวยไปใช้ก็ได้

“3-4 ปีที่พวกเครือข่ายใหญ่ไม่ค่อยออกอัลบั้ม พวกอินดี้จะออกเยอะมาก เพราะว่าเทคโนโลยีกลายเป็นให้โอกาสพวกเขาได้เผยแพร่งานได้กว้างขึ้นเร็วขึ้น แต่เสร็จแล้วมันก็เป็นการทำลายตัวเองเหมือนกัน

“ในโซเชียลมีเดีย จะมีคนอัพโหลดเพลงขึ้นทุกวัน มีคุณภาพบ้าง ไม่มีบ้าง จนมันล้น แล้วเราก็เข้าไป ก็ไม่รู้จะดูอะไรเหมือนกัน บางทีมันเยอะเกินไป มันกลายเป็นว่าได้ปริมาณ แต่เราไม่ได้สกรีนคุณภาพ” น้าทิวา กล่าว

ขณะที่ “อนุชา นาคน้อย” เจ้าของร้านขายซีดีชื่อดัง “น้อง ท่าพระจันทร์” กลับมองต่างออกไป

อนุชามองว่า ตลาดเพลงไม่ได้ซบเซาลงทั้งหมด อย่างในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่นและฮ่องกง ธุรกิจเพลงมีความหลากหลายมากขึ้น ในร้านขายซีดี มีการแบ่งห้องในการฟังเพลง ทำให้ผู้คนยังจับจ่ายใช้สอยแผ่นซีดีเหมือนปกติ แต่อาจจะไม่มากเท่าสมัยก่อน ต่างจากประเทศไทย ที่คนทำเพลงมีมุมมองเปลี่ยนไป โดยมองในแง่ธุรกิจมากกว่าศิลปะ

“ผู้ผลิตมองเรื่องของงานศิลปะเปลี่ยนไป มองว่าการทำเพลงขึ้นมามันเป็นธุรกิจเพลง โดยที่ไม่ได้มองถึงว่าเราเสพงานศิลปะ แล้วพฤติกรรมการฟังเพลงของคุณกลายเป็นว่าฟังยูทูบ มันเป็นของฟรี เราไม่ได้สร้างจิตสำนึกของการฟังเพลงว่าฟังเพลงเป็นศิลปะ

“เรามองอย่างเดียวว่าทำเพลงอะไรออกมาแล้วคุณต้องขายได้ แต่บางอย่างกว่าจะขายได้มันต้องใช้เวลาในการสืบทอดไป ไม่ใช่ว่าออกมาหนึ่งเพลงแล้วคุณขายได้ทันที คุณอาจจะต้องรอเวลาที่เพลงมันเดินทางไปถึงคนฟัง” อนุชา กล่าว

แม้ธุรกิจแผ่นซีดีเพลงจะย่ำแย่ จนเป็นเหตุให้อาร์เอสเลิกผลิตซีดี แต่สำหรับตลาดแผ่นเสียงไวนิลกลับโตขึ้น โดยมีประชาชนตามหาแผ่นเสียงศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบมากขึ้น จนเกิดกลุ่มค้าขายแผ่นเสียงไวนิลขึ้นมา หรือแม้แต่ค่ายเพลง รวมถึงศิลปินทั่วโลก ต่างก็ผลิตแผ่นเสียงไวนิลเพื่อรองรับตลาดด้วยเช่นกัน

อนุชาเผยว่า ตลาดแผ่นเสียงไวนิลโตขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่มีวันที่ตลาดเพลงจะหายไป แต่สิ่งที่ทำให้ธุรกิจเพลงไทยซบเซา เป็นเพราะค่ายเพลงทำการตลาดน้อยลง

“จากที่เจอกับลูกค้า ตลาดมันโตขึ้น เพียงแต่ว่าคุณก็ต้องสร้างสรรค์งานที่เป็นที่ต้องการของเขา ด้วยฝีมือหรืออะไรก็แล้วแต่ ตลาดอินดี้โตมาก ไม่ว่าอินดี้ไทยหรืออินดี้ต่างประเทศก็โตมาก เลยมองว่าตลาดเพลงจริงๆ มันไม่ได้ดาวน์ลง มันดาวน์เฉพาะเมืองไทย

“สตรีมมิ่งเองก็เกิดขึ้นเยอะ เพียงแต่ช่องทางในการซื้อเนี่ย เราอาจจะไม่สามารถกำหนดเป้าหมายได้แบบตามนั้น มันก็อาจจะต้องขยันเพิ่มขึ้นในการทำตลาด

“อย่างหลังสุด “Jelly Rocket” สร้างปรากฏการณ์มาก ภายในไม่กี่นาที ใช้คำว่าไม่กี่นาที เขาขายหมดในหน้าเว็บเขาเลย เชื่อว่าอันนี้เป็นเรื่องของผลงานเพลงเป็นหลัก หรือว่าศิลปินอีกหลายๆ คนที่ทำเพลงออกมาแล้ว อย่าง “The Yers” ก็ออกมา หมด หมด หมด! แต่ค่ายเพลงไม่ผลิตเพิ่มขึ้นมา

“ซึ่งไม่เข้าใจมุมมองในตรรกะอันนี้ เพราะว่าเป็นคนขาย” เจ้าของร้านน้อง ท่าพระจันทร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ทางด้านน้าทิวา มองว่ากระแสสะสมแผ่นเสียงไวนิลเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น และการที่จะทำให้ธุรกิจดนตรีเติบโตขึ้น ทางผู้ผลิตต้องเป็นฝ่ายหาทางออก

“การแข่งขันในอนาคตของพวกผลิตฮาร์ดแวร์ พวกวิทยุพวกอะไรพวกนี้ เขาต้องคุยกันแล้ว เพราะเขากำลังแพ้พวกคอมพิวเตอร์อยู่ แพ้พวกโน้ตบุ๊ก พวกอะไร ถ้าเขาคุยกันจนสามารถหาช่องทางว่าจะยืนแบบไหน แชร์ตลาดยังไงได้ แข็งแรงแล้วเนี่ย ตัวพวกซอฟต์แวร์ก็จะตามมา ก็จะมีคนกลับมาผลิตซีดี กลับมาผลิตเทปคาสเส็ต”

น้าทิวา แสดงความหวัง

คําถามสำคัญเบื้องต้น ณ จุดนี้ คือ เมื่ออุตสาหกรรมดนตรีตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ทิศทางในปี 2560 จะออกมาในรูปแบบใด?

อนุชาคาดการณ์ว่า จะมีศิลปินอินดี้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีโรงเรียนดนตรีเกิดขึ้นหลายแห่ง รวมถึงต้นทุนในการทำเพลงก็ต่ำลงกว่าเมื่อก่อน ทำให้ศิลปินไร้สังกัดสามารถผลิตผลงานออกมาได้อย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่จะทำให้วงการเพลงไทยดีขึ้นคือ ศิลปินควรหันมาใส่ใจเรื่องศิลปะมากขึ้น

“ต้องนึกถึงตอนที่เขาเริ่มเล่นเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นครั้งแรก เขามองว่าการเล่นกีตาร์ตัวนึง เล่นเปียโน หรือเล่นเครื่องดนตรีอะไรก็แล้วแต่ มันเป็นงานศิลปะ เมื่อไหร่ที่คุณไม่ได้มองผลงานที่คุณสร้างออกมาเป็นศิลปะ มองเป็นเรื่องของการทำเงินเนี่ย เชื่อว่าธุรกิจนี้ไม่มีทางโต

“แต่ถ้าคุณมองทุกอย่างเป็นศิลปะเหมือนศิลปินหลายๆ คนที่ประสบความสำเร็จ เชื่อว่าธุรกิจนี้มันจะโตขึ้น” อนุชา ฝากความหวังเอาไว้

ขณะที่น้าทิวา ชี้ว่านี่เป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดเดาได้ เนื่องจากค่ายเพลงไม่รวมตัวกันหาทางออก ดังนั้น เมื่อค่ายเพลงไม่พูดคุยกัน ทางฝั่งนักดนตรีและคนทำเพลงจึงจะต้องหันมาทำงานให้มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น

“1.เริ่มต้นทำให้มันมีคุณภาพก่อน 2.หาวิธีที่จะขายด้วยตัวเอง ขายด้วยตัวเองก่อน ก็คืออาจจะใช้โซเชียลมีเดีย, เฟซบุ๊ก, ทำเว็บเพจหรืออะไรก็ได้ 3.ออกเคลื่อนไหวด้วยการแสดงคอนเสิร์ต

“ศิลปินค่ายใหญ่บางทีก็มีความเคยตัว มีคนป้อนงานให้หมด พอเจองานที่ไม่มีใครป้อน ก็ไม่ทำ อะไรอย่างนี้ สังเกตมั้ยว่าคนอย่างพวก พงษ์สิทธิ์ คำภีร์, คาราบาว พวกนี้ก็ยังทำงานสม่ำเสมอนะ ถึงว่าจะขายไม่ได้ ยอดจะตก

“นี่คือ 1.เขาทำเพราะว่าเขาเป็นศิลปิน เขามีอาชีพนี้ เขาก็ต้องทำ 2.ตอบแทนแฟนเพลงที่คิดถึง จะขายได้ไม่ได้ แฟนจะชอบไม่ชอบ ก็ทำไปเรื่อย มันก็ต้องเป็นอย่างนั้น” น้าทิวา กล่าว

แม้การเข้ามาของเทคโนโลยีจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อยอดขายผลิตภัณฑ์ของค่ายเพลงในช่องทางต่างๆ ทั่วโลก จนทำให้หลายคนคิดว่าธุรกิจเพลงซบเซาลง

แต่ทั้ง “น้าทิวา” และเจ้าของร้าน “น้อง ท่าพระจันทร์” ต่างเชื่อคล้ายกันว่า หากผลงานเพลงมีคุณภาพถูกใจผู้ฟัง ถูกผลิตออกมามากขึ้น ผู้ฟังก็จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง แล้วหันกลับมาอุดหนุนงานเพลงของศิลปินอย่างแน่นอน