วรศักดิ์ มหัทธโนบล : โจทย์รักษาแผ่นดินของสุย

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

สุย-ถังกับนานาวิสาสะสมัย (5)

สุยที่รุ่งเรือง (ต่อ)

อันที่จริงแล้วแม้เฉินจะเป็นราชวงศ์ที่มีความเข้มแข็งก็จริง แต่ผู้นำของเฉินที่ตั้งตนเป็นจักรพรรดิ (ดังที่รัฐอื่นในยุคราชวงศ์ใต้-เหนือต่างก็ตั้งตนเช่นนี้) กลับวางตนอยู่ในความประมาทเป็นที่ยิ่ง

คือไม่เพียงจะดูแคลนทัพสุยที่ยกมาตั้งเผชิญหน้ากับตนเท่านั้น

หากภายในแล้วผู้เป็นจักรพรรดิยังมัวแต่ลุ่มหลงในสุรานารี ตั้งค่าใช้จ่ายในราชสำนักอย่างฟุ่มเฟือย เขียนบทกวีและร้องรำทำเพลง ขูดรีดภาษีจากราษฎรเพื่อนำเงินมาสร้างวังให้หรูหรา ไม่ใส่ใจในการปกครองด้วยการใช้ขุนนางที่ต่ำทรามให้มาทำหน้าที่

หรือไม่ใส่ใจแม้กิจต่างๆ ในราชสำนักเอง

 

แม้ภายในเฉินจะเป็นดังว่า แต่สุยก็ไม่ประมาท โดยเมื่อสุยกรีธาทัพไปตีเฉินนั้น สุยก็วางแผนศึกด้วยการแสร้งทำทีจะบุกโจมตี เพื่อให้เฉินตื่นตัวและทำให้ราษฎรไม่กล้าออกมาเก็บเกี่ยวผลผลิต ทำเช่นนี้ไปหลายครั้งจนทหารของเฉินเสียขวัญและกำลังใจ ผลผลิตที่เป็นเสบียงกรังก็ลดน้อยลง

ครั้นขอความช่วยเหลือไปยังราชสำนัก จักรพรรดิมิเพียงไม่สนองตอบ หากยังคงใช้ชีวิตที่เสพสุขต่อไปกับนางสนมคนโปรด เช่นนี้แล้วทัพสุยจึงบุกเข้ายึดเมืองหลวงเจี้ยนคังของเฉินได้สำเร็จใน ค.ศ.589 โดยจักรพรรดิของเฉินถูกจับกุมแล้วส่งตัวไปยังฉังอัน

การสยบเฉินลงได้นี้ถือเป็นหลักหมายการสิ้นสุดลงของยุคราชวงศ์ใต้-เหนือ และทำให้อำนาจของสุยมีความสมบูรณ์ขึ้นแม้จะตั้งราชวงศ์ไปแล้วประมาณแปดปี

อันที่จริงแล้วเวลาหลายร้อยปีหลังการล่มสลายของราชวงศ์ฮั่นนั้น มีหลายรัฐที่ตั้งตนเป็นใหญ่หรือตั้งราชวงศ์ได้พยายามที่จะสร้างจักรวรรดิขึ้นมาเช่นกัน แต่ก็ประสบผลสำเร็จน้อยมากหากจะเทียบกับฮั่น

ดังนั้น หากละเรื่องราวของราชวงศ์สุยที่ถูกบันทึกในชั้นหลังจนทำให้รู้อะไรเกี่ยวกับสุยมากมายแล้ว การเกิดขึ้นของสุยในขณะนั้นก็มิอาจคาดเดาได้ว่าจะจบลงด้วยบทสรุปใดเช่นกัน แต่สุยก็ไม่ต่างกับบางรัฐบางราชวงศ์ก่อนหน้านั้น ที่เมื่อตั้งตนได้แล้วก็คิดที่จะสร้างจักรวรรดิขึ้นมาใหม่

และสิ่งที่สุยได้ทำลงไปก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นอีกหนึ่งความพยายาม ซึ่งหลังจากวันเวลาของสุยผ่านพ้นไปแล้ว

ความพยายามนั้นก็ทำให้รู้ว่าคือการปฏิรูป

 

สิ่งแรกที่สุยได้ทำไปก็ไม่ต่างกับราชวงศ์ก่อนหน้านี้คือการตั้งเมืองหลวง ซึ่งก็คือฉังอัน เมืองหลวงแห่งนี้สร้างสรรค์โดยสถาปนิกและวิศวกรคนเดียวกันชื่ออี่ว์เหวินไข่ (ค.ศ.555-612) ซึ่งเป็นเพชรเม็ดงามของวงการในขณะนั้น

เมืองหลวงถูกออกแบบโดยดึงเอาสิ่งละอันพันละน้อยจากที่ต่างๆ ที่มีความโดดเด่นในความเป็นเมืองมารวมไว้ในที่เดียวกัน เมืองหลวงมีความยาวระหว่างตะวันตกกับตะวันออกประมาณ 9.5 กิโลเมตร และจากเหนือจรดใต้ประมาณ 8.4 กิโลเมตร

และด้วยเหตุที่สุยมีอุดมการณ์มากกว่าหนึ่งหลักคิด

วังที่ประทับของจักรพรรดิจึงมีสัญลักษณ์ต่างๆ ที่สะท้อนฐานะโอรสแห่งสวรรค์

อีกทั้งยังมีพิธีทางศาสนาในวาระต่างๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล ชื่อของวังนี้จึงถูกตั้งขึ้นให้สอดรับกับหลักคิดดังกล่าวว่าวังจักรวาลปรมัตถ์ (ไท่จี๋เตี้ยน, Palace of the Cosmic Ultimate)

ส่วนชื่อเมืองหลวงก็ตั้งว่าต้าซิงเฉิง ซึ่งมีความหมายว่าเมืองที่เจริญรุ่งเรืองยิ่ง โดยรอบๆ เมืองหลวงให้มีการสร้างศาสนสถานทั้งพุทธและเต้านับร้อยแห่ง แต่ในระหว่างการสร้างเมืองหลวงและวังนี้เอง การปฏิรูปก็ดำเนินควบคู่กันไป

 

ดังได้กล่าวไปแล้วว่า สุยเหวินตี้มีภูมิหลังที่ใกล้ชิดกับชนชาติที่มิใช่ฮั่น ดังนั้น เมื่อก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิ บุคคลแวดล้อมพระองค์จึงมีคนกลุ่มนี้อยู่มากมายถึงร้อยละ 65 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชาติเซียนเปย ส่วนน้อยเป็นชนชาติที่เกิดจากการแต่งงานข้ามชนชาติจนมิอาจระบุชนชาติที่แท้จริงได้

แต่ทั้งหมดของคนกลุ่มนี้ล้วนคือทหาร ซึ่งต่างก็เติบโตและมีบทบาทในช่วงที่ลัทธิราชเสนาวงศ์นิยมกำลังขึ้นสู่กระแสสูง

ภูมิหลังนี้ทำให้เกิดปมปัญหาที่ขัดแย้งกันอยู่เรื่องหนึ่ง นั่นคือ ในขณะที่สุยต้องการสร้างเสถียรภาพด้วยการใช้ลัทธิขงจื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งนั้น แต่กองทัพกลับเป็นชนชาติที่มิใช่ฮั่นเป็นส่วนใหญ่ที่อาจเป็นภัยต่อเสถียรภาพได้ ดังนั้น การปฏิรูปกองทัพของสุยจึงมีโจทย์ดังกล่าวเป็นสำคัญ

และแนวทางที่สุยใช้ก็คือ กองทหารบ้าน (ฝู่ปิง)

คำสำคัญของคำว่ากองทหารบ้าน ในภาษาจีนคือคำว่า ฝู่ ที่มีความหมายโดยทั่วไปว่าหมายถึง ทำเนียบรัฐบาล สถานที่ราชการ หรือคฤหาสน์ แต่ในยุคสุยต่อเนื่องไปถึงยุคถังนั้นคำคำนี้จะหมายถึง หนึ่งในหน่วยปกครองท้องถิ่น

และในกรณีนี้คำว่ากองทหารบ้าน มิได้หมายถึงทหารบ้าน (militia) ตามรูปคำ แต่หมายถึง การบริหารกองทหารตามแนวชายแดน คำว่า ฝู่ ที่เป็นหน่วยปกครองหนึ่งในที่นี้จึงหมายถึงพื้นที่ตามเขตชายแดน

กองทหารบ้านนี้มีที่มาจากสองแหล่ง แหล่งหนึ่ง มาจากครอบครัวทหารที่มีทายาทสืบทอดตำแหน่งทางการทหารกันมาตั้งแต่ก่อนหน้าสุย อีกแหล่งหนึ่ง มาจากครอบครัวราษฎรที่มิใช่ครอบครัวทหาร แต่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่พิเศษทางการทหารแทนการใช้แรงงานตามสัญญา

กองทหารสองกลุ่มนี้จะมีส่วนหนึ่งที่ถูกเลือกให้มาประจำที่เมืองหลวง กองกำลังที่เหลือเป็นส่วนใหญ่จะกระจายอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆ โดยพื้นที่ที่สำคัญมักจะเป็นชายแดน

 

จะเห็นได้ว่ากองทหารบ้านนี้มิใช่ระบบที่ถูกคิดขึ้นโดยไร้ที่มาที่ไป แท้จริงแล้วระบบนี้มีความเป็นมาที่แนบแน่นกับยุคราชวงศ์ใต้-เหนือ อันเป็นยุคที่ผู้ตั้งตนเป็นใหญ่ล้วนมีภูมิหลังเป็นทหาร และพอตั้งตนเป็นใหญ่แล้วต่างก็บริหารจัดการกองกำลังทหารของตนด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งก็มีทั้งที่สำเร็จและล้มเหลว

จนเมื่อสุยตั้งตนเป็นราชวงศ์แล้ว สุยก็นำเอาประสบการณ์ที่ตนเคยมีในสมัยโจวเหนือมาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ ระบบกองทหารบ้านนี้ทำให้เห็นว่า แม้สุยจะปฏิรูปกองทัพเพื่อเสถียรภาพของตนก็ตาม แต่การปฏิรูปนี้มีพื้นฐานของความไว้วางใจที่สูง ด้วยส่วนใหญ่ของกองกำลังนี้ล้วนเป็นชนชาติที่มิใช่ฮั่น ซึ่งอาจเป็นภัยคุกคามสุยได้ไม่ยาก

แต่กระนั้นสุยก็ประสบผลสำเร็จพอสมควร เมื่อกองทหารบ้านแสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดี อย่างน้อยก็ในยุคของสุยเหวินตี้เอง

 

ส่วนในทางเศรษฐกิจนั้น การปฏิรูปที่สำคัญในยุคนี้ก็คือนโยบายการจัดสรรที่ดินทำกินและการเก็บภาษีที่ดิน เริ่มจากการจัดสรรที่ดินด้วยการแบ่งที่ดินเป็นสามประเภท ประเภทแรกคือ ที่ดินเพื่อการเพาะปลูก

โดยผู้ที่ได้รับการจัดสรรประเภทนี้จะเป็นราษฎรในวัยเยาว์และในวัยผู้ใหญ่ ซึ่งเกณฑ์อายุที่ใช้ในยุคนี้จะอยู่ในระหว่างอายุ 17 จนถึง 59 ปี

และเมื่อพ้นวัยที่ว่าไปแล้วที่ดินดังกล่าวจะถูกนำมาจัดสรรใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ประเภทต่อมาคือ ที่ดินที่ผู้ถือครองได้รับผ่านการสืบทอดจากบุพการี ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นที่ดินที่เพาะปลูกต้นหม่อนหรือปอ

ประเภทที่สามคือ ที่ดินสำหรับที่พักอาศัยและสวน ที่ดินประเภทนี้ได้มาจากการสืบทอดเช่นกัน

พ้นไปจากนี้แล้วจะเป็นที่ดินที่ถือครองโดยชนชั้นสูงที่มียศศักดิ์หรือเป็นขุนนาง ที่ดินของบุคคลกลุ่มนี้มีสองประเภท

ประเภทแรก เป็นที่ดินที่มาจากการสืบทอด ซึ่งในยุคนี้ตั้งเกณฑ์การถือครองสูงสุดไม่เกิน 10,000 หมู่ ต่ำสุด 50 หมู่ โดยในทางปฏิบัติแล้วไม่ได้ถือครองจริงตามตัวเลขที่ว่า แต่จะถือครองตามที่แต่ละบุคคลได้รับอนุญาต

ประเภทที่สอง เป็นที่ดินที่ได้มาพร้อมกับตำแหน่งเฉพาะบุคคล โดยรายได้ที่ได้จากที่ดินส่วนหนึ่งจะถูกแบ่งเป็นเงินเดือนของบุคคลนั้น ที่เหลือนอกนั้นจะถูกใช้ไปในการบริหารงานสาธารณะ หรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เป็นต้น

การจัดสรรที่ดินจากที่ว่ามานี้ย่อมนำมาซึ่งรายได้ของบุคคลหรือราษฎรที่ชัดเจนและมีระบบ และทำให้การเรียกเก็บภาษีมีความชัดเจนมากขึ้น

 

นับจาก ค.ศ.582 เป็นต้นมา สุยสามารถสร้างระบบภาษีขึ้นมาใช้กับภาคส่วนต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ โดยระบบภาษีนี้แบ่งได้เป็นสามลักษณะด้วยกัน ลักษณะแรก เป็นภาษีที่เก็บผ่านการตวงผลผลิตต่อครัวเรือนต่อปี

ลักษณะต่อมา เป็นภาษีที่เก็บผ่านความยาว 20 ฟุตของผ้าไหมหรือผ้าลินิน (จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 40 ฟุต) ที่ทอได้จากใยไหมหนักสามออนซ์หรือจากใยปอที่หนักสามปอนด์ ซึ่งเป็นเกณฑ์กำหนดของทางการ

ลักษณะที่สาม เป็นภาษีที่เก็บผ่านการใช้แรงงานเกณฑ์วัยผู้ใหญ่ 20 วันจากแรงงานที่ใช้ไปทั้งปี