สมหมาย ปาริจฉัตต์ : เรียนรู้รอบ ก่อนเรียนรู้ลึก (3)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

ภารกิจแรกของคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชนและกีฬา พร้อมผู้บริหารการศึกษาระดับสูงของกัมพูชาผ่านไปด้วยความราบรื่น ต่างยืนยันความร่วมมือที่จะดำเนินต่อไป

คณะผู้มาเยือนบอกลาเจ้าภาพ ก่อนเดินทางไปสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ เพื่อแนะนำตัวครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีของกัมพูชาทั้ง 3 รุ่น ให้รู้จัก และหารือเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางการศึกษาร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งในกัมพูชาและอาเซียน

นายปัญญารักษ์ พูลทรัพย์ เอกอัครราชทูตฯ และทีมทูตไทยทุกฝ่ายรอรับอย่างพร้อมเพรียง ก่อนย้ายมาประจำที่กัมพูชาเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำเวียดนาม ปี 2014

เส้นทางชีวิตนักการทูตเริ่มงานแรกเป็นเจ้าหน้าที่ประจำโต๊ะกัมพูชา ในกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างนั้นเป็นช่วงที่กัมพูชามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายใน ต่อมาต้นศตวรรษที่ 19 ไปประจำที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา

ได้รับมอบหมายให้ติดตามพัฒนาการทางการเมืองของกัมพูชา ประสบการณ์ครั้งโน้นเป็นประโยชน์มาก ทำให้เข้าใจประวัติศาสตร์ ความเป็นมา และประชาชนกัมพูชาเรื่อยมา

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาทางด้านเศรษฐกิจการค้า ถึงวันนี้มีมูลค่า 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ความร่วมมือยังคงขยายตัวไปเรื่อยๆ เพราะชายแดนติดต่อกัน เราคาดหวังว่ามูลค่าทางการค้าจะเพิ่มขึ้นอีกจนถึง 15,000 ล้านเหรียญในปี 2020

การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน นักท่องเที่ยวไทยเดินทางมากัมพูชาปีละ 4 แสนคน กัมพูชามาไทย 800,000 คน โดยเฉพาะเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ ส่วนคนงานกัมพูชาเข้ามาทำงานกว่า 1.5 ล้านคนที่ผ่านการจดทะเบียนถูกต้อง

“ด้านการศึกษา นักศึกษากัมพูชามาเรียนในเมืองไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้โครงการทุนพระราชทานมหาจักรีสิรินทรกว่า 300 ทุนต่อปี ประชาชนกัมพูชาเหล่านี้ไม่ใช่แค่กลับประเทศไปพร้อมกับความรู้เพื่อพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอน แต่ทำให้ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างสองประเทศเข้มแข็งยิ่งขึ้น”

โครงการทุนพระราชทานระยะยาวรวมถึงการสร้างและพัฒนาสถานศึกษา อาทิ สถาบันเทคโนโลยีกัมปงสปือและกัมปงชนัง มีโครงการกำจัดมาลาเรีย ในจังหวัดรัตนคีรีและมณฑลคีรี

ความร่วมมือระดับนานาชาติของไทย (Thailand International Cooperation Agency) TICA นอกจากให้ทุนการศึกษาแล้วมีโครงการเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเกษตร การสอนภาษาไทย โครงการเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ได้รับการชื่นชมจากรัฐบาลกัมพูชา

 

หลังจากแนะนำคณะกรรมการมูลนิธิที่ร่วมเดินทางมา รศ.ดร.คุณหญิงสมุณฑา รองประธานมูลนิธิ พูดถึงกระบวนการคัดเลือกครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ในส่วนของประเทศไทยเลือกมาตามลำดับตั้งแต่ระดับจังหวัด จนถึงระดับชาติ เหลือ 150 คน คัดอีกเหลือ 3 จนสุดท้ายเหลือ 1 รางวัล เป็นรางวัลที่ไม่ใช่ใครก็สมัครได้ แต่ต้องผ่านการเสนอ คัดเลือก โดยเฉพาะจากลูกศิษย์ ต้องเป็นครูผู้เปลี่ยนชีวิตเด็กจริงๆ

“คนไม่เข้าใจ คิดว่าการศึกษาเป็นเรื่องธรรมดา จริงๆ แล้วการศึกษาต้องทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเปลี่ยนชีวิตศิษย์ คนเราถ้ามีใครคนหนึ่งมาเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนชีวิตเรา เราจะจำคนนั้นได้ดี นั่นแหละคือครู หวังว่ารางวัลนี้จะทำให้ครูได้พัฒนา ไม่ใช่แค่เป็นผู้รับจ้างสอน”

โครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาครู พัฒนาการศึกษานี้ ถ้ามีบริษัทเอกชนไทยมาช่วยสนับสนุน ทำความดี ซีเอสอาร์ทางการศึกษา โดยเฉพาะระดับประถมศึกษามีความสำคัญมาก ทำให้เกิดผล อย่างที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทำมาอย่างต่อเนื่อง โครงการโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน

“ทรงเน้นอะไรที่นอกระบบ ในระบบ พอการเมืองเปลี่ยนกระทบระบบการศึกษา ทรงเอาราชการมาช่วย อย่างทรงทำเรื่องนักวิทยาศาสตร์น้อย ส่วนราชการต่างๆ ก็มาช่วยกัน ส่งผลไปยังโรงเรียนในระบบ 20,000 โรง เมื่อครั้งเสด็จไปเยี่ยมโรงเรียนแต่ละประเทศ เช่น ที่ติมอร์ เลสเต พระทัยพระองค์ท่านจะเสด็จไปเยี่ยมถึงโรงเรียนเลย แต่ต้องใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมง เลยให้ครูที่ได้รับพระราชทานรางวัลมาดีกว่า ครูมาเข้าเฝ้าฯ ดีใจมาก กราบทูลว่า รางวัลที่ได้รับ 10,000 เหรียญสหรัฐ ประมาณ 3 แสน”

“ไม่ได้เอาไปใช้ส่วนตัว แต่ใช้เพื่อพัฒนาโรงเรียน นักเรียน และเพื่อนครู”

 

บทสนทนาดำเนินไปอย่างเป็นกันเอง จนเจ้าหน้าที่ส่งสัญญาณให้ขึ้นโต๊ะ ในฐานะอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาอีกหน้าที่หนึ่ง คุณหญิงเล่าต่อ

“เด็กกัมพูชาไปเรียนเมืองไทยขยันมาก รัฐมนตรีศึกษาฯ บอกว่าปีละ 200 คน ที่สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา 6 คนเป็นที่รักของเพื่อนๆ ทุกคนรวมทั้งแม่ครัว บอกเธอมากินข้าวฟรีนะ พูดไทยยังไม่ชัด เจอหน้าทีไรจะยิ้มเห็นฟันขาวก่อนเพื่อน ใครทำอะไรจะคอยไปช่วย อย่างมีการทำเทียนพรรษาให้มหาวิทยาลัยต่างๆ”

 

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเคยรับสั่งให้ฟัง ตอนแรกอยากเรียนอาชีวะ อยากทำโรงเรียนอาชีวะ แต่ไม่ได้เรียน ชอบตามเสด็จสมเด็จพระราชบิดาในหลวงรัชกาลที่เก้าไปดูโรงยานยนต์ ช่างซ่อมเครื่องยนต์ เมื่อทรงเปิดสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาเลยเปิดสอนช่างยนต์เป็นสาขาแรก บริษัทต่างๆ มาช่วยบริจาคเครื่องมืออุปกรณ์ใช้ในการเรียนการสอน การปฏิบัติงาน นักศึกษายังไม่จบเลยมีคนมาจองตัวแล้ว

“รับนักเรียนมาจากต่างจังหวัดเยอะ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอพัก ทำหลักสูตรที่ไม่มีใครทำ เช่น สร้างเครื่องดนตรีไทย หาเด็กจากที่ไหน ก็ไปเอาจากเด็กต่างจังหวัด ปีละ 5-6 คน 2 รุ่น ได้เล่นดนตรีทั้งวัน ว่างแกก็ไปทำช่างไม้ ทำซอด้วง เครื่องดนตรีไทยมีร้านทำอยู่แค่ 2-3 ร้าน เจ้าของก็แก่มากแล้ว รุ่นลูกไม่ทำต่อ ทรงสนพระทัยไวโอลิน รับสั่งให้ไปตามหาสิว่ามีคนไทยเคยทำไวโอลินไหม พบว่านักไวโอลินในไทยทำแค่ 250 อัน

“อีกอย่างงานฝีมือเย็บปักถักร้อย เสด็จฯ เยอรมนีไปเจอหนังสือเย็บปักถักร้อย ทรงเอามาให้ ต่อมาไม่นานทรงหาผ้ามาให้อีก ทรงเก็บโน่น เก็บนี่เอามาให้สอนเด็ก งานเย็บปักถักร้อยนับวันมีแต่จะหายไป ตอนนี้สายใจไทยตั้งเป็นชมรมแล้ว”

“รวมหลักสูตรที่เปิดสอนตอนนี้ จากช่างยนต์ ช่างกลอุตสาหกรรม เทคโนโลยีไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การจัดการธุรกิจอาหาร ดนตรีไทย มีโครงการจัดตั้งคณะเทคโนโลยีดิจิตอล 2 ปีท้ายให้เรียนเกี่ยวกับการบริหารจัดการ เป็นแมเนเจอร์ เด็กไม่พอป้อนให้บริษัท”

“การศึกษาที่ถูกต้อง จึงต้องเรียนรู้รอบ ก่อนเรียนรู้ลึก” คุณหญิงทิ้งท้าย

ก่อนต่างคนต่างย้ายเข้าห้องประชุมเป็นทางการ เพื่อร่วมเวทีครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี 3 คนของกัมพูชาพบเอกอัครราชทูตไทย คณะนักธุรกิจไทยในกัมพูชาและตอบคำถามสื่อมวลชนกัมพูชาที่มาร่วมงานอย่างคึกคัก