คนของโลก : ซิดนีย์ ริตเทนเบิร์ก ชาวอเมริกันลึกลับในพรรคคอมมิวนิสต์จีน

Sidney Rittenberg in his office in Fox Island, Wash., in October. Rittenberg went from being active in the Communist Party in China to being a high-priced global go-between for American companies and entrepreneurs wanting to cash in on the booming Chinese economy. (Duncan James Livingston/The New York Times)

การเสียชีวิตของซิดนีย์ ริตเทนเบิร์ก อดีตทหารและนักภาษาศาสตร์ชาวอเมริกัน ที่บ้านในรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยวัย 98 ปี อาจเป็นการสูญเสียของครอบครัวชาวอเมริกันธรรมดาครอบครัวหนึ่งเท่านั้น

หากแต่เรื่องราวชีวิตอันโชกชนของริตเทนเบิร์ก ในฐานะ “ชาวต่างชาติลึกลับ” ที่ปรึกษาประธานเหมา เจ๋อ ตุง และนายกรัฐมนตรีโจว เอิน ไหล ตัวจักรสำคัญในงานโฆษณาชวนเชื่อ เคยถูกจับขังนาน 16 ปี

และสามารถกอบโกยเงินกับอาชีพที่ปรึกษาให้บริษัทอเมริกันยักษ์ใหญ่ที่ต้องการเปิดตลาดในจีนได้

นั่นทำให้การเสียชีวิตของริตเทนเบิร์กเป็นการสูญเสียบุคลากรชาวอเมริกันผู้โลดแล่นในประวัติศาสตร์จีนอย่างฝังลึก

และทำให้เรื่องราวของเขาถูกนำมาเล่าใหม่อีกครั้ง

 

ซิดนีย์ ริตเทนเบิร์ก เกิดในปี 1921 สำเร็จการศึกษาด้านปรัชญาจากมหาวิทยาลัยนอร์ธ แคโรไลนา ชาร์เปล ฮิลล์ ในปี 1941 เคยเข้าร่วมพรรคอเมริกันคอมมิวนิสต์ช่วงสั้นๆ ก่อนจบการศึกษา

ริตเทนเบิร์ก ผู้เชี่ยวชาญภาษาจีน ถูกเกณฑ์ร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยหลังปลดประจำการได้เข้าร่วมหน่วยงานบรรเทาทุกข์ขององค์การสหประชาชาติ ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน

ที่ซึ่งริตเทนเบิร์กถูกชวนให้เข้าร่วมขบวนการคอมมิวนิสต์ในจีน

ช่วงชีวิต 35 ปีในจีนของริตเทนเบิร์ก ระหว่างปี 1945-1980 เริ่มต้นจากการเดินเท้าขึ้นเขาในเหยียนอันเป็นเวลา 45 วันเพื่อเข้าร่วมกับกลุ่มกองโจรคอมมิวนิสต์

และได้ใกล้ชิดกับกลุ่มผู้นำอย่างเหมา เจ๋อ ตุง โจว เอิน ไหล และผู้นำระดับสูงอีกหลายคนนับตั้งแต่นั้น

ริตเทนเบิร์กร่วมพรรคคอมมิวนิสต์อย่างเป็นทางการในฐานะล่ามภาษาอังกฤษสำหรับในการสื่อสารโฆษณาชวนเชื่อกับสื่อต่างประเทศ

รวมถึงเป็นล่ามแปลแถลงการณ์ของพรรค สื่อสารกับผู้นำนานาชาติ

และมีส่วนร่วมในชัยชนะสงครามกลางเมืองที่นำไปสู่การตั้งรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้สำเร็จในปี 1949

 

ริตเทนเบิร์กต้องถูกจับด้วยการถูกใส่ร้ายถึง 2 ครั้ง 2 ครา ครั้งแรก โจเซฟ สตาลิน ผู้นำสหภาพโซเวียตออกแถลงการณ์ถึงประธานเหมา ระบุว่าริตเทนเบิร์กเป็นสายลับอเมริกัน ส่งผลให้ริตเทนเบิร์กถูกจับกุมคุมขังทันทีโดยไม่มีการไต่สวนและต้องถูกขังเดี่ยวนานถึง 6 ปี

ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในปี 1955 เมื่อทางการพบว่าริตเทนเบิร์กบริสุทธิ์

ริตเทนเบิร์กกลับสู่ตำแหน่งระดับสูงในพรรค ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บริหารในสำนักงานกระจายเสียงของจีน ก่อนก้าวสู่ผู้อำนวยการ “เรดิโอปักกิ่ง” นำเสนอเนื้อหาโฆษณาชวนเชื่อโจมตีสหรัฐอเมริกา และมีงานเขียนลงในสำนักข่าวนิวส์ไชน่านิวส์ กระบอกเสียงทางการจีน

และมีบทบาทสำคัญยิ่งใน “ก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่” ของเหมา ระหว่างปี 1958-1961 รวมไปถึงมีส่วนร่วมโดยตรงกับ “การปฏิวัติวัฒนธรรม” นโยบายที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตนับล้านๆ คน

อาจด้วยความใกล้ชิดกับประธานเหมา ส่งผลให้ริตเทนเบิร์กถูกใส่ร้ายอีกครั้งโดยเจียง ชิง ภริยาของประธานเหมา ที่กล่าวหาว่าริตเทนเบิร์กแอบวางแผนโค่นล้มรัฐบาล

โดยในปี 1968 ริตเทนเบิร์กถูกจับและถูกขังเดี่ยวนานถึง 10 ปี

หลังเหมามีสุขภาพไม่ดี กลุ่ม “แก๊งออฟโฟร์” นำโดยเจียง ชิง ภรรยาเหมา และนักการเมืองจากเซี่ยงไฮ้ 3 คน ขึ้นครองอำนาจ ช่วงเวลาที่ริตเทนเบิร์กระบุว่าเกิดการคอร์รัปชั่นและแก่งแย่งชิงดีกันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

 

ริตเทนเบิร์กถูกปล่อยตัวในปี 1977 หลังการเสียชีวิตของเหมา เจ๋อ ตุง ขณะที่เจียง ชิง ถูกจับกุม และช่วงเวลานี้เองที่ริตเทนเบิร์กเริ่มตาสวางจากลัทธิคอมมิวนิสต์มากขึ้น ก่อนตัดสินใจกลับสหรัฐอเมริกา โดยที่ยังคงมีสัมพันธ์อันดีกับผู้มีอิทธิพลในจีนอย่างแน่นแฟ้น

ริตเทนเบิร์กใช้ความสัมพันธ์กับจีนในการกอบโกยเงินในฐานะที่ปรึกษาธุรกิจผ่านบริษัทที่ปรึกษา “ริตเทนเบิร์ก แอนด์ แอสโซซิเอต” นำบริษัทอเมริกันยักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟท์ อินเทล พรูเดนเชียลประกันภัย เข้าสู่ตลาดจีน

ความรู้เกี่ยวกับจีนของริตเทนเบิร์ก ทำให้เขาได้ทำหน้าที่อาจารย์ในคณะจีนศึกษา มหาวิทยาลัยแปซิฟิก ลูเธอรัน ในรัฐวอชิงตัน รวมไปถึงมีงานเขียนเกี่ยวกับตลาดจีน ผ่านหนังสือรวมบทความรายสัปดาห์ สเตรเทจิก นิวส์ เซอร์วิส

ริตเทนเบิร์กเคยแสดงความเสียใจที่ตนเข้าร่วมกับเหมา เจ๋อ ตุง เอาไว้เมื่อปี 2013 โดยระบุถึงเหมาว่า เป็น “ผู้นำยิ่งใหญ่แห่งยุค และก็เป็นอาชญากรยิ่งใหญ่แห่งยุคเช่นกัน”

นั่นคือเรื่องราวบางส่วนของนายทหารนักภาษาศาสตร์ชาวอเมริกันผู้หนึ่งที่ชีวิตสะท้อนภาพจีนที่ผ่านพ้นยุครัฐคอมมิวนิสต์ที่ปิดตัวเองจากภายนอก ไปสู่การเป็นประเทศที่เปิดรับการแข่งขันทางธุรกิจเต็มรูปแบบในเวลานี้