อภิญญา ตะวันออก : ฤๅเคยมี “เจ้าคุณพระ” ในราชสำนักเขมร?

อภิญญา ตะวันออก

อย่างหาที่สุดมิได้ในราชทินนามเจ้านายฝ่ายในของไทย “เจ้าคุณพระ” ได้รับการรื้อฟื้นนำมาสถาปนาเป็นอีกครั้งหลังจากเคยปรากฏอยู่ในราชสำนักสยามเมื่อ 98 ปีก่อนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (2464)

และหาที่สุดมิได้ หากว่าอาจจะเคยมีตำแหน่งเดียวกันนี้ในราชสำนักเขมรด้วยหรือไม่? ซึ่งมีเค้าว่า อยู่รัชสมัยเดียวกับพระบาทนโรดม (2377-2447) ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5

แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานนี้ปรากฏในพระสุบรรณบัตร หรือราชกิจจานุเบกษาแห่งราชวงศ์องค์ด้วงก็ตาม อย่างที่ทราบ เอกสารต่างๆ ได้ผ่านมากว่าร้อยปีแล้ว อีกกัมพูชาเองก็เป็นประเทศที่ประสบหายนะจากการกวาดล้างทำลายในสงครามกลางเมือง จนแทบจะเรียกว่าทุกสถาบันองค์กรต้องรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่

รวมทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์

หากแต่หลักฐานที่นำไปสู่เรื่องนี้ มาจากวรรณกรรมเรื่องเดียวที่อื้อฉาว แต่งโดยโรลองด์ เมเยร์ (Roland Theodore Emile Meyer) อดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาลอินโดจีนประจำกรุงพนมเปญระหว่างปี พ.ศ.2452-2464 ที่เปิดโปงชีวิตส่วนตัวพระมหากษัตริย์กัมพูชากับนางรำแห่งวังหลวง ที่ส่วนใหญ่ล้วนเป็นนางสนมในพระองค์

และนั่นเอง จากมุมหนึ่งของนวนิยายอื้อฉาวเรื่องนี้ ที่ทำให้ประวัติศาสตร์ราชสำนักกัมพูชาถูกรื้อฟื้นอีกครั้ง ต่อเรื่องราวแห่งปราสาทบรรยงค์และเทวาวินิจฉัย โดยพระองค์และเหล่านางรำเป็นตัวละคร จนถูกห้ามจำหน่าย และอัปเปหินักเขียนออกนอกประเทศ

“สารามณี : นาฏการนางรำเขมร” (Saramani Danseurs Khmer) คือนวนิยายเล่มนั้น เขียนขึ้นในปี 2455 ตีพิมพ์เล่มใหญ่กระดาษปอนด์สวยงามพร้อมภาพประกอบ ที่สำนักพิมพ์ไซ่ง่อน (ไพรนคร) ในปี พ.ศ.2462

สารามณี เป็นตัวเองของนวนิยายและเป็น 1 ในบรรดานางรำ ที่นำผู้อ่านไปสู่เรื่องราวหญิงชาววังกัมพูชาคนอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นเจ้าจอมหม่อมห้าม หรือพระสนมของกษัตริย์ พ่วงด้วยตำแหน่งนางรำแห่งวังหลวง ที่มาของคำว่า “ภรรยาของพระมหากษัตริย์ที่ไม่ใช่เจ้านาย” ฉบับเขมร

และตำแหน่ง “คุณพระ” หรือ “เจ้าคุณพระ” นั้นด้วย (*)

 

แม้นวนิยายเรื่องนี้จะเขียนและตีพิมพ์ในรัชสมัยพระบาทสีโสวัตถิ์ (2447-2470) และเนื้อหาส่วนใหญ่อยู่ปลายสมัยพระบาทนโรดมและต้นรัชกาลพระบาทสีโสวัตถิ์

จึงกล่าวได้ว่า ตัวละครนางรำในสารามณี เป็นนางรำ 2 รัชกาลแล้ว แต่ที่มากกว่านั้น บางกลุ่มนางรำยังเกี่ยวกับราชสำนักสยาม อย่างน้อย 3 คณะที่อุปถัมภ์โดยพระบาทนโรดม มีความเกี่ยวพันกับชาติตระกูลทางสยาม

ถ้าไม่ใช่ชาวเขมรที่อพยพตามเจ้านายเชื้อพระวงศ์มาตั้งรกรากในกรุงเทพฯ ก่อนอพยพกลับกัมพูชา (ราวปลายรัชกาลที่ 4) ในจำนวนนี้มีทั้งหัวหน้าคณะละคร นักดนตรีวงพิณพาทย์ หญิงรับใช้ ฯลฯ จากคำบอกเล่าของสารามณี คนเหล่านี้ที่มีวัฒนธรรมความเป็นอยู่แบบชาวสยาม

อีกทั้งยังเป็นกลุ่มคนที่ในหลวงโปรดปรานและทรงพระสำราญเสมอ ในยามที่มีพระดำรัสเป็นภาษาไทย (เสียม) ต่อเหล่านางรำและข้าหลวงเหล่านี้ ที่ส่วนใหญ่ก็พูดภาษาไทยโต้ตอบพระองค์

นั่นคือในส่วนที่นาฏศิลป์เขมรอาจเกี่ยวกับราชสำนักสยาม

ส่วนความเป็นกษัตริย์ 2 แผ่นดิน “นโรดม-สีโสวัตถิ์” ซึ่งต่างมีพระจริยวัตรและบุคลิกที่แตกต่าง ทว่าเต็มไปด้วยความน่าจดจำ

โดยเฉพาะความรักความหลงใหลต่อวัฒนธรรมนาฏศิลป์ผ่านทางขนบจารีตแบบราชสำนัก และพระราชอำนาจ จากการแสดงออกต่อเหล่าข้าหลวง-นางรำที่เต็มไปด้วยรัก โลภ โกรธ หลง

 

ดังนี้ แม้สารามณีจะตีพิมพ์หลังพระบาทนโรดมสิ้นพระชนม์ไปแล้ว 15 ปี กระนั้น พระบาทสีโสวัตถิ์-ในนามองค์อุปราช-ตัวละครที่มีบทรอง แต่กลับทรงกริ้วต่อเรื่องราวทั้งหมดที่พาดพิงพระเชษฐา ทว่า อันที่จริงแล้วออกจะแปดเปื้อนมาถึงพระองค์โดยตรง

โดยเฉพาะเรื่องส่วนตัวของกษัตริย์พระราชอำนาจในพระองค์ ต่อการให้คุณให้โทษเหล่านางสนมและข้าราชบริพาร

ตัวอย่าง “เจ้าคุณพระ” พระสนมนามว่า “เญียด” หรือ “(เจ้า) คุณพระเญียด” หัวหน้าคณะละครซึ่งถือสิทธิ์ดูแลสารามณีในฐานะที่นำตัวขึ้นถวายพระองค์ คุณพระเญียดนั้นมีอีกชื่อหนึ่งว่า “คุณเจ้าหยับ”

และเป็นหลักฐานที่ว่า “คุณเจ้าหยับ” ได้รับการแต่งตั้งทินนามจากในหลวง ซึ่งมักจะตามมาด้วยการเปลี่ยนชื่อเก่าอีกด้วย

ไม่เพียงแต่เท่านั้น ในคณะละครเหล่านี้ยังมีพระสนมนางรำคนอื่นๆ ที่พ่วงด้วยตำแหน่ง “คุณท่าน”, “คุณ” และ “หม่อม” ซึ่งล้วนแต่เคยปรากฏอยู่ในสยาม

เริ่มจาก “คุณท่าน” หัวหน้าคณะละครที่ “ในหลวง” วางพระทัยและรับสั่งให้ดูแลสารามณี โดยขณะนั้น ดูเหมือนคุณท่านจะมีอำนาจในการดูแลคณะละครเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือคณะละครของคุณพระเญียด หรือ “คุณพระญาติ” (ภาษาไทย)

ส่วนหัวหน้าคณะละครลำดับ 3 คือ “หม่อมสวน” เช่นเดียวกับคุณท่านและคุณพระเญียด ที่รับเงินประทานจากในหลวงมากพอจะเลี้ยงดูพ่อ-แม่และเหล่าข้าทาสอย่างสบาย รวมทั้งตำหนักส่วนตัวบริเวณหลังปราสาทบรรยงค์ของคุณท่าน คุณพระเญียดและหม่อมสวน

กระนั้นก็ยังมีพระสนมที่ทรงวางพระทัยและโปรดปรานมาก คือ “คุณนวน” ผู้ได้พำนักอยู่ในปราสาทเมขลาของในหลวง

อย่างไรก็ตาม กระนั้น ทรงมีหม่อมโปรดคนใหม่ที่หลงใหลโปรดปรานมากคือ “หม่อมหนูน้ำ” นางรำชาวเสียมผิวดำกรอกิก (ดำสนิท) แต่เต็มไปด้วยอารมณ์ขันและมีเสน่ห์ ทำให้องค์ในหลวงเกษมสำราญในช่วงท้ายรัชกาลที่ทรงประชวร

ทว่าหม่อมหนูน้ำผู้นี้ ตามท้องสารามณีเล่า โดยนอกจากจะเป็นสนมโปรดแล้ว เธอยังเป็นชู้รักกับเจ้านายแห่งวังหลังซึ่งก็คือองค์อุปราช หรือนัยทีนวนิยายที่หมายถึงพระบาทสีโสวัตถิ์

ผู้จะสามารถครอบครองคณะละคร (รวมทั้งสนม) ทั้งหมดของพระเจ้าอยู่หัวองค์ก่อน เมื่อสิ้นพระชนม์ไปแล้ว และการได้ตกเป็นสมบัติของกษัตริย์พระองค์ใหม่นี้ รวมทั้งกรณีของหม่อมหนูน้ำด้วย

ทว่าโชคร้ายหม่อมหนูน้ำในสารามณีถูกจับได้และโทษฐานแห่งความอันร้ายแรงนั้น ทำให้เธอถูกนำตัวไปโบยและจองจำ

 

หม่อมหนูน้ำผู้นี้มีตัวตนอยู่จริงๆ ในสมัยรัชกาลพระบาทสีโสวัตถิ์

กล่าวคือ นอกจากจะเป็นสนมในพระองค์คนหนึ่งแล้ว เธอยังเป็นนางละครผู้รับบทนำในคณะละครแห่งวังหลวงอีกด้วย

จากหลักฐาน “การเสด็จประพาสฝรั่งเศสในพระบาทสีโสวัตถิ์ปี พ.ศ.2449” อันประกอบด้วย คณะนาฏศิลป์ผู้ติดตามเพื่อเปิดการแสดงขึ้นที่ปราสาทฌ็องอิลิเซ่ กรุงปารีส ต่อหน้าพระพักตร์ เชื้อพระวงศ์ กลุ่มชาติอินโดจีนและรัฐนิคมอื่นๆ คณะรัฐบาลและทูตานุทูต

และในบรรดา “Royal Noble Consort” หรือ 1 ใน 5 พระสนมผู้ตามเสด็จครั้งนั้น มีหม่อมหนูน้ำอยู่ด้วยคนหนึ่ง (**)

และ “หม่อมมะเฟือง” (neak Moneang Meah Fuoeng) พระสนมลำดับที่ 1 ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นหัวหน้าคณะละครมาก่อน แม้ในจดหมายเหตุรายวันเสด็จประพาสฯ จะบันทึกว่า พระองค์เจ้าหญิงโสมภาดี พระธิดาในพระบาทสีโสวัตถิ์เป็นองค์หัวหน้าคณะก็ตาม

โดยให้ข้อสังเกตว่า ในปี พ.ศ.2449 นั้น ฐานะของ “ภรรยาของพระมหากษัตริย์ที่ไม่ใช่เจ้านาย” ของกัมพูชาโดยตำแหน่งนี้ มีแต่ “เนียะ” และ “เนียะมะเนียง” เท่านั้น จากหลักฐานออกญาเวียงจวนน์ผู้บันทึกจดหมายเหตุตามเสด็จฯ ครั้งนั้น

หม่อมหนูน้ำ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “neak Nou Nam” (นัก/เนียะหนูน้ำ) มิใช่หม่อมดังในละครสารามณี

อย่างไรก็ตาม ในสารามณีนั้น มีตอนหนึ่งที่เกี่ยวกับการติดตามในหลวงไปยุโรป และสารามณีก็เป็น 1 ในนางรำเหล่านั้นด้วย

เป็นไปได้ว่า โรล็องด์ เมเยร์ น่าจะได้อ่านบันทึกฉบับเขมรของออกญาเวียงจวนน์ เมื่อย้ายมาประจำที่กัมพูชา นอกจากนี้ การที่เขาสามารถเข้านอกออกในวังหลวงแห่งนี้บ่อยครั้ง โรล็องด์ เมเยร์ จึงน่าจะเข้าถึงข้อมูลชั้นปฐมภูมิด้วยตนเอง จนนำไปสู่พล็อตเรื่องประโลมโลกย์-สารามณี ที่เงียบงันอยู่ในบรรณพิภพมาครบ 100 ปี

เช่นเดียวกัน 100 ปีให้หลังการเสด็จประพาส ที่โอลิวิเยร์ เดอ แบร์น็อง ลงมือแปลบันทึกออกญาเวียงจวนน์ ตีพิมพ์เผยแพร่ (2549)

และนำไปสู่ตำแหน่งต่างๆ ของเหล่านางสนมกษัตริย์เขมรเมื่อร้อยกว่าปีก่อน? ว่าเคยปรากฏอยู่จริงหรือไม่?

โดยเฉพาะตำแหน่ง “เจ้าคุณพระ” หรือ “คุณพระ” แห่งนิยายประโลมโลกย์

—————————————————————————————————————————–
(*) ความเห็นจากผู้เขียน : คำศัพท์เขมรในสารามณี มีทั้งพ้องเสียงและกร่อนรูปคำต่างๆ แต่ยังคงความหมายเดิม เช่น “หลวง-ในหลวง”, “คุณเจ้าหยับ-เจ้าคุณหยับ”, “เจ้าคุณพระ-คุณพระ”
(**) Voyage en France du roi Sisowath, โอลิวิเยร์ เดอ แบร์น็อง แปล, 2549