เทศมองไทย : เมื่อความยุ่งยากของรัฐบาล เพียงแค่เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น!

เคยมีคนในแวดวงการเมือง แวดวงวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า ในยามที่ถอดเกราะ ปลดเปลื้องเครื่องกำบังทั้งหลายออกไป แล้วเดินออกมาคลุกฝุ่นตามกฎกติกาทางการเมืองแบบไทยๆ นักรบอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ต้องเจอะเจอกับสถานการณ์แบบนี้

แต่พลันที่อสุ อการ์วัล นักวิเคราะห์อาวุโสด้านกิจการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำสำนักงานดัคเคอร์ฟรอนเทียร์ในสิงคโปร์ นำเสนอเรื่องนี้ไว้ในเดอะ ดิโพลแมต เมื่อ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา

ก็อดนำมาบันทึกต่อเอาไว้อย่างเป็นงานเป็นการอีกครั้งไม่ได้

 

จุดเริ่มนั้นจำเพาะอยู่ที่การลาออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลของพรรคไทยศรีวิไลย์ ที่ทำให้เสียงข้างมากของรัฐบาลผสม 19 พรรคลดลงเหลือยอบแยบ เพียงแต่ 3 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ให้ยุ่งยากไปในหลายๆ เรื่อง

ซึ่งอสุ อการ์วัล ผู้เขียนชี้ว่า เพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้นเอง

ข้อสังเกตแรกของนักวิเคราะห์รายนี้คือ แม้ว่ารัฐบาลใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์จะยังคงมีเสียงข้างมากอยู่ในสภาล่าง แต่การบริหารจัดการลำดับความสำคัญของพรรคร่วมที่มีมากมายขนาดนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่จะเป็น “ความท้าทายสำคัญ” เพราะต่างฝ่ายต่างพรรคล้วนมี “วาระ” ของตนเองอยู่ด้วยกันทั้งนั้น

ความยุ่งยากประการนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่แสดงออกให้เห็นเป็นรูปธรรมมาแล้วในรูปของการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีที่ล่าช้าเสียเวลาไปไม่น้อยเพราะแย่งตำแหน่งกันภายใน

“ความเปราะบางของรัฐบาลอันเป็นผลมาจากความยุ่งยากภายในจึงเห็นได้ภายในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือน”

 

ในเวลาเดียวกัน อสุ อการ์วัล ตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า รัฐบาลยังต้องเผชิญกับพรรคฝ่ายค้าน ภายใต้การนำของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แห่งพรรคอนาคตใหม่ “ที่กลมเกลียวเหนียวแน่นกันมากเป็นพิเศษ” จากความรู้สึกเหมือนๆ กันว่า รัฐบาลได้ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ “จากการใช้รัฐธรรมนูญใหม่, ยืดระยะเวลาห้ามการเคลื่อนไหวทางการเมือง, ยุบพรรคการเมืองฝ่ายค้าน และบิดเบือนกฎกติกาเลือกตั้ง” ซึ่งไม่เป็นธรรมสำหรับพวกตน

ผลที่สืบเนื่องจากความรู้สึก “ไม่แฟร์” ที่ว่านี้ก็คือ การเคลื่อนไหวของรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ถูก “ตรวจสอบถี่ยิบ” และ “ขัดขวางการบัญญัติกฎหมาย” ในทุกเรื่อง “ซึ่งเป็นสิ่งที่อดีตผู้นำรัฐบาลทหารไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน”

“พล.อ.ประยุทธ์จะดิ้นรนอย่างยากลำบากในการดำเนินงานผ่านสภาตามระบอบประชาธิปไตย จะต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาสารพัดรอบๆ ตัว, การโจมตีด้วยเหตุที่เป็นเรื่องส่วนตัว และการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ว่าจะในเรื่องหลักการ, ความน่าเชื่อถือและทิศทางของแนวนโยบาย”

จนเป็นที่มาของอาการหลุด ระเบิดอารมณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ให้เห็นกันมาแล้ว

 

เมื่อนำเรื่องนี้ไปผสมผสานกับประเด็นที่เสียงข้างมากของรัฐบาลกำลังปริ่มๆ เต็มทีแล้ว ก็ยิ่งทำให้รัฐบาลตกอยู่ในภาวะ “เสี่ยงอย่างใหญ่หลวง”

“การรักษาการมีเสียงข้างมากเอาไว้ในสภาล่าง เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งยวดของรัฐบาลที่จะผ่านร่างกฎหมายสำคัญๆ อย่างเช่นร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี ในสภาพที่ต้องเผชิญกับฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง ซึ่งพยายามสกัดกั้นนโยบายสำคัญๆ ทุกๆ เรื่องให้ได้”

แบบที่ได้แสดงให้เห็นจากการคัดค้านงบประมาณทางด้านการทหารที่นำเสนอในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี 2563 นั่นแหละ

“การแปรพักตร์ของพรรคไทยศรีวิไลย์ เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของบรรดาความท้าทายทั้งหลายที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กำลังพานพบในระหว่างการบริหารงานครั้งนี้” อการ์วัลระบุ

“รัฐบาลนี้ยังคงจำเป็นต้องจัดการกับปัญหาความขัดแย้งภายใน, ปฏิกิริยาตอบกลับที่รุนแรงจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน, ความยุ่งยากในการผ่านร่างกฎหมายสำคัญๆ ทั้งหลาย และการท้าทายต่ออำนาจของรัฐบาล” ผู้เขียนไล่เรียงเอาไว้เป็นลำดับ ก่อนสรุปไว้ในตอนท้ายอย่างชัดเจน ดังนี้

“ในสถานการณ์เช่นนี้ เป็นเรื่องยากที่จะคาดหวังในทางที่ดีเกี่ยวกับอนาคตของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้งความคาดหวังว่าการดำเนินการใดๆ ของรัฐบาลนี้จะบรรลุผลสำเร็จ”

 

อย่างที่เกริ่นเอาไว้ตั้งแต่ตอนแรกนั่นแหละครับว่า เคยมีคนพูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ตั้งแต่ต้นมือ หลายคนเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็คงรู้และเตรียมตัวมาบ้างในระดับหนึ่ง

แต่ด้วยทุกอย่างบนเส้นทางที่ผ่านมาประกอบกันเข้า ผลลัพธ์ก็ไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น นอกจากลงเอยเป็นไปเช่นนี้

นี่ย่อมเป็นความจริงแท้ที่เลี่ยงไม่ออก หนีไม่พ้นครับ