เมอร์คิวรี่ : ทุ่มพันล้านต่อสัญญา “โมโตจีพี” 5 ปี การลงทุนราคาแสนแพงที่น่าเสี่ยง?

ศึกรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก รายการ” “โมโตจีพี”” ซึ่งประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเป็นปีแรกเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จได้กระแสตอบรับเป็นอย่างดี

รวมทั้งได้รับการโหวตให้เป็นรายการยอดเยี่ยมแห่งปี” “กรังด์ปรีซ์ ออฟ เดอเยียร์”” จากทั้งหมด 19 สนามทั่วโลก

ความสำเร็จที่ผ่านมา ทำให้ถือเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับการแข่งขัน” “โมโตจีพี 2019″” ที่ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ ช่วงวันที่ 4-6 ตุลาคม ปี 2562 นี้ ซึ่งจะต้องรักษามาตรฐานเดิม

หรือจะต้องยกระดับมาตรฐานให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมจากปีแรกที่ประเทศไทยเป็นเพียง “สนามน้องใหม่” เท่านั้น

 

ย้อนกลับไปประเทศไทยได้รับสัญญาจากเจ้าของลิขสิทธิ์ “ดอร์น่า สปอร์ต” ให้เป็นเจ้าภาพจัดศึกโมโตจีพีเป็นครั้งแรก ด้วยสัญญาระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2563 โดยมีค่าลิขสิทธิ์ปีละ 7.5 ล้านยูโร หรือประมาณ 277 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นปีละ 3 เปอร์เซ็นต์ ทำให้รวม 3 ปี จะมีค่าลิขสิทธิ์รวมสูงกว่า 850 ล้านบาท

นอกเหนือจากค่าลิขสิทธิ์จัดการแข่งขันแล้วยังจะมีงบประมาณด้านต่างๆ ในการจัดการแข่งขัน ทั้งการลงทุนสิ่งปลูกสร้าง อาคาร ถนน และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ที่คงทนถาวร รวมทั้งงบสนับสนุนเพิ่มเติมจากภาคเอกชน ทำให้เมื่อรวมแล้วจะใช้งบเฉียด 1 พันล้านบาทในการเนรมิต ” “ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์””

แต่จากความสำเร็จในการจัดโมโตจีพีปีแรกถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะได้กระแสตอบรับที่ดีจากแฟนมอเตอร์สปอร์ตทั่วทั่งโลกที่เดินมาชมติดขอบสนามรวมทั้งสิ้น 222,535 คน ซึ่งถือเป็นสนามที่มีผู้ชมสูงสุดของฤดูกาล 2018 จากทั้งหมด 19 สนาม รวมทั้งมีสื่อมวลชนมากกว่า 435 สำนักจาก 33 ประเทศทั่วโลกมาร่วมติดตามการแข่งขันด้วย

พร้อมกันนี้ ยังมีการแพร่ภาพไปยัง 207 ประเทศทั่วโลกสู่ 350 ล้านครัวเรือน หรือนับเป็นผู้ชมกว่า 800 ล้านคนทั่วโลก ทำให้ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอย่างมากสำหรับประเทศไทยที่จัดศึกโมโตจีพี เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างรายได้นับพันล้านเข้าสู่ประเทศแล้ว ยังเป็นการทำให้ทั่วทั้งโลกได้รู้จักกับประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

 

จากการเก็บข้อมูลในการแข่งขันโมโตจีพี 2018 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพครั้งแรกนั้น ทำให้เกิดรายได้รวมประมาณ 3,100 ล้านบาท แบ่งออกเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นในจังหวัดบุรีรัมย์ 2,470 ล้านบาท และเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง ทั้งจังหวัดขอนแก่น, สุรินทร์ และนครราชสีมา อีกเป็นจำนวน 630 ล้านบาท

นับว่าศึกโมโตจีพีสร้างความคุ้มค่าอย่างมากให้กับประเทศไทย ทำให้ “กระทวงการท่องเที่ยวและกีฬา” โดย “การกีฬาแห่งประเทศไทย” (กกท.) วางแผนมองไกลเกินกว่า 3 ปี ด้วยการเตรียมที่จะขยายสัญญากับทางดอร์น่า สปอร์ตเพิ่มเติมออกไปอีก 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2564-2568 เพื่อหวังเพิ่มมูลค่า และสร้างรายได้มากยิ่งขึ้น

แต่แน่นอนว่า การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง รวมทั้งการลงจัดศึกโมโตจีพีด้วย ซึ่งจะมีการเพิ่มค่าลิขสิทธิ์จัดการแข่งขันสำหรับปีต่อๆ ไปเพิ่มขึ้นอยู่พอสมควร!

จากเดิม ดอร์น่า สปอร์ตคิดค่าลิขสิทธิ์ประเทศไทยปีแรกในปี 2561 อยู่ที่ 7,500,000 ยูโร (ประมาณ 277 ล้านบาท) และคิดเพิ่มอีก 3 เปอร์เซ็นต์ในปีต่อไป ทำให้ค่าลิขสิทธิ์ปีที่สองในปี 2562 จะอยู่ที่ 7,725,000 ยูโร (ประมาณ 278 ล้านบาท) และปีที่สามในปี 2563 จะอยู่ที่ 7,956,750 ยูโร (ประมาณ 294 ล้านบาท)

แต่การต่อสัญญาเพิ่มออกไปจะเพิ่มค่าลิขสิทธิ์เพิ่มสูงขึ้นเป็น 9,500,000 ยูโร (ประมาณ 380 ล้านบาท) บวกกับค่าลิขสิทธิ์ Title Sponsor อีก 1,500,000 ยูโร (ประมาณ 60 ล้านบาท) ทำให้ในปี 2564 ประเทศไทยจะต้องจ่ายลิขสิทธิ์ให้ดอร์น่า สปอร์ต รวมเป็นจำนวนถึง 11,000,000 ยูโร (ประมาณ 440 ล้านบาท)

อีกทั้งในปีต่อๆ ไปก็จะเพิ่มค่าลิขสิทธิ์จัดการแข่งขันอีก 3 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ค่าลิขสิทธิ์ Title Sponsor คงเดิมที่ 1,500,000 ยูโร (ประมาณ 60 ล้านบาท) ทำให้ในปี 2565 จะมีค่าลิขสิทธิ์อยู่ที่ 11,285,000 ยูโร (ประมาณ 451 ล้านบาท), ปี 2566 จะอยู่ที่ 11,578,550 ยูโร (ประมาณ 463 ล้านบาท), ปี 2567 จะอยู่ที่ 11,880,907 ยูโร (ประมาณ 475 ล้านบาท และปี 2568 จะอยู่ที่ 12,192,335 ยูโร (ประมาณ 487 ล้านบาท)

รวมระยะเวลา 5 ปี ประเทศไทยจะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ต่อสัญญาจัดโมโตจีพีสูงถึงกว่า 58 ล้านยูโร หรือประมาณ 1,970 ล้านบาทเลยทีเดียว!!!

 

จึงถือเป็นการลงทุนระยะยาว 5 ปีที่ค่อนข้างแสนแพง และมีความเสี่ยงสูงมากขึ้นตามลำดับ แม้ว่าข้อมูลตัวเลขจากการเป็นเจ้าภาพจัดโมโตจีพีปีแรกของไทยที่ผ่านมาจะฟันรายได้สูงถึง 3,100 ล้านบาท

แต่ในปีต่อๆ ไปนั้น ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะประสบความสำเร็จเช่นเดิมหรือไม่

เพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยในหลายด้าน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการท่องเที่ยว โดย กกท. เตรียมเสนอต่อรัฐบาลให้พิจารณาการสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์การแข่งขันจากเดิม 1 ใน 3 เพิ่มขึ้นเป็น 2 ใน 3 หรือ 100 เปอร์เซ็นต์เหมือนกับชาติอื่น

โดยยืนยันว่า รัฐบาลจะได้ประโยชน์กลับคืนมาทั้งในเรื่องของภาษีด้านโรงแรม และผู้ประกอบการร้านอาหารต่างๆ

“ดร.ก้องศักด ยอดมณี” ผู้ว่าการ กกท.ระบุว่า กกท. ได้ประสานกับดอร์น่า สปอร์ต ในการเจรจาต่อสัญญาเป็นเจ้าภาพโมโตจีพีออกไปอีก 5 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2568 และได้ต่อรองลดค่าลิขสิทธิ์แล้ว

แต่ดอร์น่า สปอร์ต ไม่ยอมลดให้ ซึ่งดอร์น่ายินดีที่จะให้ไทยต่อสัญญาออกไปอีก 5 ปี แต่จะมีการเพิ่มค่าลิขสิทธิ์ จึงเตรียมขอการสนับสนุนจากรัฐบาลเพิ่มขึ้นจากเดิม

“ดอร์น่าแจ้งว่ามีหลายชาติสนใจเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโมโตจีพี แต่ดอร์น่ายินดีที่จะให้ไทยต่อสัญญาออกไปอีก 5 ปี ส่วนช่วงเวลาจัดในปีต่อไปดอร์น่าอยากให้ไทยขยับมาจัดเป็นสนามที่ 2 ต่อจากกาตาร์ ในช่วงวันที่ 20-22 เดือนมีนาคมด้วย เพราะปีหน้าจะมีการเพิ่มสนามที่ฟินแลนด์ ทำให้ไทยจำเป็นต้องปรับแผนในการจัดปีหน้าด้วย” ผู้ว่าการ กกท.กล่าว

ขณะที่ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า เบื้องต้นมีมติเห็นชอบในหลักการให้ต่อสัญญาอีก 5 ปี แต่จะมีค่าลิขสิทธิ์ที่เพิ่มขึ้น จึงเตรียมขอความกรุณาไปยังรัฐบาลให้เพิ่มการสนับสนุน

แต่จะขอเก็บข้อมูลจากโมโตจีพีช่วงเดือนตุลาคมนี้ก่อนว่า มีความคุ้มค่า และเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากน้อยเพียงใด

 

สําหรับขั้นตอนหลังจากนี้ กกท.เตรียมจะเก็บข้อมูลรวบรวมสถิติต่างๆ จากศึกโมโตจีพี 2019 ว่าช่วยสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยที่คุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ โดยเตรียมที่จะชงเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการ กกท. และเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่าจะเห็นชอบในประเด็นการเพิ่มการสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์หรือไม่

การต่อสัญญาจัดศึกโมโตจีพีต่อไปอีก 5 ปี ประเทศไทยจะต้องลงทุนสูงถึงว่า 1,970 ล้านบาท เฉลี่ยแต่ละปีอยู่ที่ราว 400 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมกับงบประมาณจัดการแข่งขันด้านอื่นๆ ที่อาจรวมแล้วทำให้มีงบประมาณจัดการแข่งขันทั้งหมดทะลุกว่า 1,000 ล้านบาทต่อไป ทำให้จะต้องมีการพิจารณากันอย่างถี่ถ้วนกับการลงทุนในครั้งนี้…

แต่จากข้อมูลตัวเลขในศึกโมโตจีพี 2018 ที่ผ่านมา ประเทศไทยลงทุนไปเกือบ 1,000 ล้านบาท แต่สามารถสร้างรายได้สูงถึง 3,100 ล้านบาท ทำให้การขยายสัญญารักษาสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพต่อไปอีก 5 ปี จึงถือเป็นการลงทุนที่แสนแพง

แต่ก็น่าเสี่ยงอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว???