จัตวา กลิ่นสุนทร : สุขภาพผู้สูงวัย ประเทศเตรียมตัวแค่ไหน?

เมื่อชีวิตเดินทางเข้าสู่วัยที่สูงขึ้น อวัยวะในร่างกายเริ่มเสื่อมถอย ย่อมมีความจำเป็นต้องนำเอาสิ่งทดแทนเข้ามาอยู่ในร่างกาย

จากความสามารถของมนุษย์ “ความก้าวหน้าทางด้านการแพทย์” ในการคิดค้นเรื่องการรักษาชีวิตให้ยืนยาว การเปลี่ยนอวัยวะของคนจึงเป็นไปได้เกือบทั้งหมดทั้งภายใน ภายนอก

หลังจากตัดใจยอมเสียเงินที่พยายามเก็บออมไว้จำนวนมากกว่าเพื่อตรวจรักษาในคลินิก หรือโรงพยาบาลเฉพาะทางของเอกชน เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่อง “ดวงตา” อันละเอียดอ่อน แทนที่จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า แต่กลับต้องผิดหวังกับบริการเรื่องการวินิจฉัยก่อนตรวจรักษา

ครั้งแรกที่ได้รับการตรวจสายตาก่อนได้พบจักษุแพทย์ และทราบว่าแต่ยังไม่เป็นต้อกระจกเหมือนผู้อาวุโสคนอื่นทั้งๆ ที่อยู่ในวัยที่ควรจะเป็นแล้ว จึงเว้นวรรคการได้พบแพทย์อีก 1 ปี แต่เมื่อถึงเวลานัดหมายกลับมิได้รับการตรวจรักษาสาเหตุเพราะหมดความอดทนกับการรอคอย

ตามที่ได้เล่าขานแล้วว่าเป็นสถานพยาบาล หรือโรงพยาบาลเอกชนซึ่งย่อมต้องให้บริการตรวจรักษาด้วยแพทย์อันเต็มไปด้วยความรู้ความสามารถที่คัดสรรมาแล้ว เพราะค่าบริการทางการแพทย์ ค่ารักษาพยาบาลต้องสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐทั่วๆ ไป

จริงๆ แล้วจะว่าไปยังไม่ได้มีอาการอะไรมากถึงขนาดจะต้องไปผ่าตัดเอาอวัยวะเทียม หรือเปลี่ยนเลนส์เข้ามาไว้ในตัวตรงดวงตาเพราะว่ายังไม่มีอาการอะไรปรากฏชัดเจน เพียงบางครั้งเท่านั้นที่รู้สึกว่าทนแสงจ้าจัดจ้านของแสงแดด แสงไฟไม่ค่อยได้ มีพร่ามัวบ้างนิดหน่อยเป็นธรรมดาสำหรับคนอายุขนาดเลข 7 นำหน้า

แต่นั่นคืออาการของต้อกระจกตามที่จักษุแพทย์ท่านบอกมาหลังจากที่ได้รับการตรวจ

 

เมื่อหุ้นส่วนชีวิตซึ่งอันที่จริงแล้วยังอยู่ในวัยที่ไม่สูงมาก แต่มีอาการตาพร่ามัวมองไม่ค่อยเห็นไม่ชัดเจนน้ำตาไหลจึงได้นัดไปพบหมอตายัง “คลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ” โรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนในบ้านจึงช่วยกันผลักดันให้ผู้สูงอายุที่สุดในบ้านอีกคนหนึ่งไปตรวจเสียในคราวเดียวกัน

จักษุแพทย์ใช้เวลาในการตรวจจากเครื่องมืออันทันสมัย และความสามารถที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาด้วยความชำนาญด้วยเวลาอันรวดเร็ว ปรากฏว่าทั้งสองคนเป็นต้อกระจก ซึ่งหุ้นส่วนชีวิตเธอตัดสินใจในการรักษาที่เรียกกันว่าผ่าตัดต้อฟังดูน่ากลัวมาก แต่จริงๆ แล้วทุกวันนี้เครื่องมือมันทันสมัยมากๆ รวมกับความเชี่ยวชาญชำนาญโรคของจักษุแพทย์ จึงเป็นเรื่องง่ายๆ ปกติธรรมดาไม่น่ากลัว และยากลำบากนัก

ส่วนผมออกอาการลังเลไม่ค่อยแน่ใจว่ามันจะเป็นมากมายถึงขนาดต้องผ่าตัดตามที่เรียกกันพยายามจะซื้อเวลาออกไปอีก แต่ในที่สุดก็ต้องยอมทำการรักษาหลังจากที่ถูกทั้งอธิบายชี้แนะ

จนถึงข่มขู่จากผู้มีประสบการณ์หลายๆ ฝ่ายว่าถ้าปล่อยทิ้งไว้ต่อไปมันจะกลายเป็นต้อหินซึ่งจะคืบคลานไปสู่การมองไม่เห็นได้

 

เราทั้งสองคนตัดสินใจผ่าตัดตา หรือสลายต้อกระจกโดยเลือกรักษากับ “คลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ” โรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งย่อมต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าในเวลาราชการปกติธรรมดา แต่คนไข้จะน้อยกว่าพอสมควรเนื่องจากว่าคนไข้จำนวนมากทั่วๆ ไปอาจไม่อยู่ในฐานะที่จะเลือกอะไรได้มากนัก ทั้งๆ ที่ใครๆ คงต้องการได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีด้วยกันทั้งนั้นเวลาเจ็บป่วย

สำหรับโรงพยาบาลของรัฐในเวลาราชการ เพื่อนพ้องบางท่านเล่าให้ฟังว่าได้เคยไปรับการตรวจตาหาต้อกระจกนี้แหละ ซึ่งในคนสูงวัยต้องเป็นกันเกือบร้อยทั้งร้อยตามสภาพธรรมชาติที่อะไรๆ ในร่างกายมันต้องเสื่อม ปรากฏว่าหลังการตรวจพบว่ายังไม่หนักหนานักหมอจึงนัดหมายข้ามปีเลยทีเดียว แปลว่าคนไข้เกี่ยวกับเรื่องตา และเรื่องต้องผ่าตัดสลายต้อมีคนไข้รอเข้าคิวมากไม่แตกต่างไปกว่าโรคอื่นๆ

ฉะนั้น ที่ยอมเสียเงินเพิ่มมากขึ้นเพื่อซื้อความสะดวกสบายคล่องตัวขึ้นอีก เท่ากับเป็นการช่วยกันแบ่งเบาความแออัดของคนไข้จำนวนมากทั่วๆ ไป ในเมื่อเราอยู่ในฐานะที่มีกำลังพอจึงคิดว่าตัวเองคงเดินมาถูกทางแล้วเพื่อช่วยเหลือสังคมของประเทศนี้ ขณะเดียวกันผมเองยังได้พึ่งพาสวัสดิการทางราชการของหุ้นส่วนชีวิตในการรักษาพยาบาลด้วยอีกเล็กน้อย

นึกถึงภาพประชาชนที่ยากไร้ซึ่งไม่สามารถเบิกจ่ายอะไรได้เหมือนข้าราชการในการรักษาพยาบาล การเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขแล้วก็ใจหาย อดเป็นห่วงสังคมประเทศชาติไม่ได้จริงๆ

 

อีกไม่นานบ้านเราจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งไม่ได้ทำงานแต่ต้องใช้ทรัพยากร ซึ่งเป็นภาระของรัฐบาลแน่ๆ ไม่ทราบตัวเลขของคนไทยที่อยู่ในวัยใกล้ๆ 60 ปีทุกวันนี้จำนวนเท่าไร? เขาเหล่านี้จะกลายเป็นคนสูงอายุในอีกไม่กี่ปี ปัญหานี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ของบ้านเรา ซึ่งไม่มั่นใจนักว่ารัฐบาลมีแผน มีนโยบายไว้รองรับอย่างไร? โดยเฉพาะเรื่อง “รักษาพยาบาล” การเข้าถึง “การสาธารณสุข”

สิ่งที่น่าเป็นห่วงกังวลของประเทศเราคงหนีไม่พ้นคนที่เสนอตัวเข้ามาบริหาร ต้องการมีอำนาจ หลงตัวเอง แต่ความสามารถน้อย ขาดนโยบายเฉียบคมลึกซึ้งเพียงพอต่อการแก้ปัญหาให้กับประชาชนประเทศชาติได้

นโยบายแบบเดิมๆ ไม่มีการคิดค้นพัฒนาให้ก้าวทันโลกทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์ที่มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

 

ออกนอกเรื่อง กลับไปยังเรื่องของ “การบริหารจัดการน้ำ” ซึ่งเป็นเรื่องหลักใหญ่โตมาก เนื่องจากประเทศของเราเป็นประเทศเกษตรกรรม ถ้าหากขาดน้ำในการทำการเกษตรจนกระทั่งผลผลิตลดลงย่อมต้องส่งผลต่อปัญหา “เศรษฐกิจ” ของประเทศทันที

เกษตรกรไทยต้องพึ่งพาธรรมชาติกันตลอดชีวิตตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายจากอดีต เมื่อธรรมชาติพลิกผันเปลี่ยนแปลง ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล พวกเขาย่อมเดือดร้อน ตรงกันข้ามปีไหนฝนตกหนักจนน้ำมากเกินขนาดก็เดือดร้อนอีกเพราะน้ำจะท่วมจนไร่นาเสียหาย เรียกว่าทั้งขึ้นทั้งล่อง

สิ่งเดียวที่จะสามารถให้พวกเขาสามารถทำนาปลูกข้าว ทำไร่ปลูกพืชพันธุ์อื่นๆ ได้อย่างมีความสุข รัฐต้องลงทุนทำการ “บริหารจัดการน้ำ” สำหรับการเกษตรเหมือนอย่างประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก ไม่ใช่ปล่อยกันตามธรรมชาติ เรื่องแบบนี้ใครๆ ก็รู้กันทั้งนั้นแหละ แต่ไม่มีรัฐบาลไหนลงมือทำ

ความจริงรัฐบาลเพียงแต่ทำงานต่อยอดโครงการต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องเขื่อน เรื่องน้ำ เรื่องแก้มลิงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัฐกาลที่ 9 ประเทศย่อมจะดีขึ้นในแง่ของการทำการเกษตรอีกมาก ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นไปอย่างที่กล่าวว่าเมื่อถึงฤดูแล้งน้ำก็แห้งเหือดหายทำการเกษตรไม่ได้ ฤดูฝนน้ำกลับมากมายท่วมท้นไร่นาเสียหาย

พูดก็พูดเถอะ รัฐบาลที่ผ่านมาซึ่งมาจากการ “ยึดอำนาจ” มีกฎหมายพิเศษ ไม่มีฝ่ายค้านคอยท้วงติง มีเวลาทำงานได้อย่างมากเพราะเดินไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด แต่กลับไม่ได้ทำเรื่องการบริหารจัดการน้ำ เชื่อเถอะว่าปัญหาเรื่องขาดน้ำที่กำลังหน้าดำคร่ำเครียดแก้ปัญหากันอยู่ขณะนี้

ปีหน้าเราก็จะได้เห็นภาพซ้ำเช่นนี้อีก

 

คนในประเทศประกอบอาชีพไม่ได้อย่างราบรื่นคล่องตัว เศรษฐกิจย่อมจะเสียหายถดถอยตกต่ำ ในที่สุดประชาชนส่วนใหญ่จะจนลงจนถึงอดอยาก เหลือคนรวยที่ผูกขาดการค้าอยู่เพียงไม่กี่ตระกูล ปัญหาหลากหลายจะติดตามมาทั้งปัญหาสังคม ปัญหาเรื่อง “สุขภาพ” ซึ่งถึงอย่างไร “โรงพยาบาลของรัฐบาล” คงไม่มีทางที่จะเพียงพอต่อการบริการด้านการรักษาพยาบาล

ผมไม่รู้หรอกว่า การ “ผ่าตัดต้อกระจก” หรือ “สลายต้อ” สำหรับโรงพยาบาลของรัฐทั่วๆ ไปจะต้องใช้เงินมากสักแค่ไหน แต่สำหรับ “คลินิกนอกเวลาราชการ” ที่ผมกับหุ้นส่วนชีวิตไปรับการรักษาดวงตาทั้ง 2 ข้างนั้นราคาสูงพอสมควรหลังจากได้รับส่วนลดที่รัฐช่วยเหลือด้วยแล้ว

หลายสิ่งหลายอย่างดังที่เคยกล่าว เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ ยารักษาโรค เลนส์ อะไรต่างๆ ฯลฯ เหล่านี้ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศเราทั้งหมด ต้องสั่งซื้อนำเข้าจากต่างประเทศ จักษุแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ต่างล้วนต้องทำงานหนัก เนื่องจากผู้ป่วยมีเป็นจำนวนล้นหลามจริงๆ

โดยเฉพาะผู้ป่วยด้วยเรื่อง “ดวงตา” เพราะผู้สูงวัยมีแต่จะเพิ่มขึ้น