วงค์ ตาวัน : คนที่เสียงแข็งไม่เอานิรโทษฯ

วงค์ ตาวัน

ไปๆ มาๆ รัฐบาลและ คสช. ก็มาเดินเครื่องเรื่องการปรองดอง-สมานฉันท์อย่างเอิกเกริกอีกครั้ง โดยมีการตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง ชื่อย่อว่า ป.ย.ป. ขึ้นมาขับเคลื่อนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

จนตอนนี้ตัวย่อ ป.ย.ป. อยู่บนหน้า 1 หนังสือพิมพ์แทบทุกวัน

แต่ก็เกิดข้อสงสัยและเสียงวิจารณ์ต่างๆ นานา ทำนองว่าทำไมมาฟิตเอาในช่วงสุดท้ายของ คสช. ช่วงที่ใกล้จะถึงเวลาแห่งการเลือกตั้งแล้วเต็มที

เข้าสู่อำนาจมาเกือบ 3 ปี เพิ่งจะมาจริงจังกันในระยะนี้

“ด้วยเพราะไม่มั่นใจถึงเป้าหมายของการตั้ง ป.ย.ป. ว่าจะนำไปสู่อะไรกันแน่!?”

บรรดาพรรคการเมือง ขบวนการเคลื่อนไหวมวลชนต่างๆ ที่ถือว่าเป็นผู้ที่อยู่ในข่ายที่จะต้องเข้าร่วมกระบวนการปรองดองสมานฉันท์

มีการแสดงท่าทีแตกต่างกันไป ขานรับบ้าง ไม่ยอมรับบ้าง

ขณะเดียวกันก็มีนักการเมืองบางพรรค และแกนนำม็อบบางม็อบ ออกมาชูประเด็นที่มักพูดอยู่บ่อยๆ ก็คือ

“การปรองดอง จะต้องไม่มีการนิรโทษกรรมหรือล้างผิด ให้กับผู้กระทำผิดทางอาญา เผาบ้านเผาเมือง รวมทั้งคดีทุจริตคอร์รัปชั่น!”

แน่นอนว่า คนที่พูดแบบนี้ เจตนาจะตีกัน ไม่ให้อีกฟากฝ่ายได้รับโอกาสในการพ้นคดี

เพราะฝ่ายที่ชูประเด็นนี้ คือ ฝ่ายที่ไม่ว่าจะนำม็อบเคลื่อนไหวเข้าข่ายผิดกฎหมายใดๆ ก็ตาม มักจะรอดพ้นด้วยเทคนิคทางคดี หรือการยื้อคดีจนยืดเยื้อไปไม่สิ้นสุด

ฝ่ายที่ไม่เอานิรโทษกรรมไม่ยอมให้ล้างผิดทางคดี ก็คือ ฝ่ายที่ไม่เคยต้องถูกดำเนินคดีหรือไม่เคยต้องเข้าคุกเข้าตะรางแม้แต่วันเดียว ไม่ว่าจะถูกกล่าวหาด้วยความผิดร้ายแรงขนาดไหน

ส่วนอีกฝ่าย เข้าคุกกันครั้งแล้วครั้งเล่า

“ดังที่เกิดคำกล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมมี 2 มาตรฐาน”

ฝ่ายหนึ่งเข้าคุกอยู่เรื่อย อีกฝ่ายไม่เคยต้องสูญสิ้นอิสรภาพ หรือพอโดนกล่าวหาเป็นคดี ก็สามารถหลุดรอดอย่างง่ายดาย

ดังนั้น คนที่ไม่เอานิรโทษกรรม เพราะมั่นใจว่า คดีของตนเองสุดท้ายต้องพ้นผิดด้วยเทคนิคทางกฎหมาย

เพราะเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบ

ลองหลับตานึกภาพดูง่ายๆ ว่า ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นมาหลายปีนี้ นักการเมืองฟากหนึ่ง แกนนำม็อบฟากหนึ่ง ทำอะไรก็ไม่เคยต้องเข้าคุกจริงหรือไม่

และคนฟากนี้แหละ ที่เสียงแข็งตลอดว่า ไม่ยอมให้มีนิรโทษกรรม ไม่ยอมให้ล้างผิดคนต้องคดีอาญา เผาบ้านเผาเมือง

หากนำเอาเงื่อนไขที่ว่า การต่อสู้ทางการเมืองแล้วใช้ความรุนแรงทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ เผาทำลายทรัพย์สินบ้านเมือง จนกลายเป็นคดีอาญา ไม่ควรได้รับนิรโทษกรรม ฟังแล้วดูดี เหมือนคนยึดมั่นในกฎหมายและไม่ยอมรับการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ใช้ความรุนแรง

หากจะเอามาตรฐานนี้จริง ก็ต้องย้อนกลับไปดูก่อนว่า ทุกม็อบทุกสีทางการเมืองนั้น กระทำผิดกฎหมายบ้านเมืองทั้งสิ้นใช่หรือไม่

“คำตอบคือ ใช่”

ฟากหนึ่งมีทั้งยึดสนามบิน ยึดทำเนียบรัฐบาล ปิดเมืองเพื่อทำให้เกิดรัฐล้มเหลว ไปปิดล้อมคูหาเลือกตั้ง ผลักไสคนที่จะใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย บีบคอก็มี

แล้วกระบวนการดำเนินคดีกับคนฟากนี้ เป็นมาตรฐานเดียวกันกับอีกฟากหรือไม่

อีกฟากนั้น โดนถึงขั้นข้อหาก่อการร้าย รวมทั้งอีกสารพัดคดี แล้วก็พาเหรดเข้าคุกกันเป็นว่าเล่น

ถ้าสามารถทำให้เกิดความยุติธรรมมาตรฐานเดียว แล้วเรียกร้องไม่ให้นิรโทษกรรมคดีอาญา อย่างนี้ก็ไม่มีใครว่า

“แต่นี่ความเป็นจริงบอกชัดเจน ความเป็นอิสรภาพของแกนนำแต่ละฝ่ายที่แตกต่างกันนั้น เห็นได้จะจะ”

ขณะเดียวกัน หากย้อนไปมองการต่อสู้ทางการเมืองของปัญญาชน ฝ่ายซ้าย ที่เข้าป่าจับปืนต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐบาล สู้รบกันจนล้มตายนับพันๆ ศพ ในสมรภูมิสู้รบตามป่าเขาทั่วประเทศ

สถานที่ราชการถูกบุกยึด ถูกเผาทำลาย

“นี่คือสงครามคอมมิวนิสต์ ที่เริ่มเสียงปืนตั้งแต่ปี 2508 และดุเดือดรุนแรงมากในช่วงหลังปี 2519”

แต่สุดท้ายเมื่อรัฐบาลและกองทัพ ยอมรับว่านี่คือสงครามที่มาจากการต่อสู้ทางการเมือง และต้องแก้ด้วยการเมือง

จึงเกิดคำสั่งที่ 66/2523 ลงนามโดย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

เปิดโอกาสให้ผู้ที่เข้าร่วมจับปืนร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ สามารถกลับคืนเมือง มาใช้ชีวิตปกติ และต่อสู้ทางความคิดอย่างสันติวิธีได้ โดยไม่ถือว่ามีความผิดทางอาญาใดๆ

“ทั้งที่จับปืนสู้รบกันจนตายเป็นเบือ แต่คำสั่งนี้ไม่ถือว่ามีความผิดทางอาญา!!”

ทำไมจึงมีคำสั่งเช่นนี้ได้ และผลก็คือ สามารถแก้ปัญหาสงครามคอมมิวนิสต์อย่างได้ผลทันที

หยุดสงครามความรุนแรงที่ลุกลามไปทั่วประเทศได้อย่างราบคาบ

ถ้ามัวแต่ตั้งแง่เรื่องความผิดทางอาญา ป่านนี้ยังไม่รู้ว่าสงครามจะสิ้นสุดหรือไม่!?

มีเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า 99 ศพ ในการสลายม็อบ นปช. เมื่อปี 2553 ซึ่งมีภาพนิ่งและวิดีโอปรากฏมากมาย เห็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำหน้าที่ตามคำสั่ง ศอฉ. เล็งยิงผู้ชุมนุม และลงเอยมีคนตายร่วมร้อย โดยที่คนตายซึ่งเป็นเสื้อแดงทุกศพไม่มีรายใดที่พกอาวุธติดตัว

ไม่มีผู้ชุมนุมที่ถูกยิงจนดับดิ้นแม้แต่รายเดียว ที่เข้าข่ายเป็นชายชุดดำ ดังที่รัฐขณะนั้นตั้งประเด็นเอาไว้ เพื่อเปิดทางให้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ติดอาวุธเข้าปราบปราม

คดีนี้ มีการดำเนินการขั้นต้น จนศาลได้ชี้ผลการไต่สวนชันสูตรศพแล้วว่า มี 17 ศพ ที่ตายด้วยกระสุนปืนจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการตามคำสั่ง ศอฉ.

“แต่จนป่านนี้ นักการเมืองที่รับผิดชอบ ศอฉ. ก็ยังไม่ต้องได้รับผลอะไรในทางกฎหมาย”

ยิ่งเหตุการณ์ที่วัดปทุมวนาราม ซึ่งมีคนถูกยิงตายภายในวัด 6 ศพ ต่อหน้าคนที่หลบอยู่ในนั้นนับพัน

มีภาพหลักฐาน โดยเฉพาะวิดีโอที่ถ่ายโดยตำรวจซึ่งรักษาการอยู่ในอาคารสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เห็นชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่รัฐยืนอยู่บนรางรถไฟฟ้าเล็งยิงลงไป

แถมผู้ถ่ายวิดีโอซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตชด. เชี่ยวชาญในยุทธวิธีการรบ ได้เคยเบิกความให้การว่า เจ้าหน้าที่ ศอฉ. ที่เล็งยิงจากรางรถไฟฟ้านั้น ไม่มีคนไหนที่ต้องคอยก้มหลบเลย ยืนยิงไปเรื่อยๆ

“แปลว่า ไม่มีการยิงจากอีกฝ่ายตอบโต้แต่อย่างใด!!”

ทั้งหลายทั้งปวง คดีนี้มีการใช้ข้อเทคนิคทางกฎหมายจนทำให้ไม่กลายเป็นคดีอาญาเรื่องการฆาตกรรมหมู่ กลายเป็นเพียงคดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ จะต้องส่ง ป.ป.ช. เท่านั้น

นักการเมืองบางคน ชอบพูดเสมอๆ ว่า สำหรับตนเอง ไม่ขอรับการนิรโทษกรรม พร้อมจะสู้คดีตามกฎหมาย และถ้าศาลชี้ว่าผิดก็พร้อมจะเดินเข้าคุก

“แต่ในทางปฏิบัติต่อสู้ทางเทคนิคกฎหมาย จนกระทั่งไม่เป็นคดีอาญาร้ายแรง”

เป็นแค่ข้อกล่าวหาทางระเบียบราชการ ให้ ป.ป.ช. ตัดสิน

คนส่วนนี้แหละที่กล่าวอย่างเสียงแข็งและดูเป็นคนดีมากๆ ว่า ไม่ยอมรับการล้างผิดคดีอาญา!