“สีข้าง” เปลี่ยนทางเข้าถู

การทำให้ประชาชนแตกแยกเป็น 2 พวก 2 ฝ่าย แล้วปลูกฝังความเกลียดชังระหว่างฝ่ายให้รุนแรง จนถึงขั้นเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกไปในระดับตัดสินความถูกความผิดกันด้วยฝ่ายแทนคำนึงถึงเหตุผลในของความถูกต้องในเชิงคุณธรรม

แม้ทางหนึ่งจะทำให้การครอบงำความคิดเพื่อให้จัดการทางการเมืองง่ายขึ้น

ความที่คุณธรรมอ่อนกำลังลงเกินกว่าจะก่อให้เกิดเอกภาพทางความคิดของคนในชาติได้ ทำให้ความถูกต้องดีงามตามหลักคุณธรรมทำได้โดยไม่ต้องกังวลกับแรงต่อต้าน

เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ถูกครอบงำด้วยกรอบความคิด ขอเพียงเป็นพวก เป็นฝ่ายเดียวกัน ไม่ว่าจะทำอะไรก็ยอมรับได้ โดยถือว่ามีเหตุมีผลที่จะทำเช่นนั้น เพื่อให้ตัวเองรู้สึกว่านั่นเป็นสิ่งดีงาม

เช่นเดียวกัน หากเป็นคนละพวก คนละฝ่าย ไม่ว่าจะทำอะไรมีแต่รับไม่ได้ ต้องพยายามหาเหตุผลที่จะมาต่อต้าน เพื่อรักษาความรู้สึกว่านั่นเป็นความเลวร้ายไว้

สังคมที่คุณธรรมไร้พลังจะชี้นำความคิดคน การอยู่ร่วมกันแบบแบ่งพรรคแบ่งพวก ทำให้การเข้าควบคุมประเทศง่ายขึ้น เพราะไม่ว่าจะทำในสิ่ง หรือเรื่องราวที่เลวร้ายหรือสิ้นหวังแค่ไหน ย่อมมีฝ่ายหนึ่งเข้าข้างเสมอ

พลังประชาชนที่ไม่เป็นเอกภาพ ทำให้อำนาจของกองกำลังและอาวุธ เลยถึงอำนาจของทุนมีอิทธิพลในการกำหนดสังคมมากกว่าสิ่งอื่น

จะเห็นได้ว่าสังคมดำเนินไปด้วยเสียงร่ำร้องให้แก้ไขความไม่เป็นธรรมของการบังคับใช้กฎหมายให้ขรม สะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่นความเป็นธรรมซึ่งเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวสังคมให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมากขึ้น

ทว่า เสียงเรียกร้องนั้นเหมือนไม่ได้รับการสนใจรับฟัง

การปล่อยให้อยู่ร่วมกันแบบแบ่งฝักแบ่งฝ่ายดูจะเป็นประโยชน์สำหรับควบคุมให้ได้ผลมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้ว แม้กระทั่งการเลือกฝ่ายที่คิดว่าแน่นอนที่สุดก็ย่อมหนีไม่พ้นไปจากหลักอนิจจังที่เป็นกฎธรรมดาของธรรมชาติ

คนที่เคยอยู่ฝ่ายหนึ่ง เมื่อผ่านเหตุการณ์ ผ่านเรื่องราวที่กระทบต่อความรู้สึกนึกคิดมากขึ้นย่อมเป็นเรื่องปกติที่จะเลือกฝ่าย

เป็นเหตุให้ฝ่ายที่เชื่อว่ามีประชาชนเข้ารวมมากกว่า อาจจะเปลี่ยนแปลงเป็นมีแนวร่วมน้อยกว่า

ผลสำรวจของ “นิด้าโพล” เรื่อง “การเข้าพรรคและย้ายขั้วทางการเมือง” มีคำตอบที่น่าสนใจ

เมื่อคำถามที่ว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ คำตอบมากที่สุดร้อยละ 48.69 ไม่เห็นด้วย

เมื่อถามเรื่อง ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ 4 คน จะย้ายไปสนับสนุนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มากที่สุดคือร้อยละ 49.80 ไม่เห็นด้วย

แต่เมื่อถามถึงนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ จะย้ายขั้วไปเป็นฝ่ายค้าน คำตอบมากที่สุดร้อยละ 50.52 กลับเห็นด้วย

เช่นเดียวกับกรณีที่นายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ จะย้ายมาอยู่พรรคเพื่อไทย ส่วนใหญ่ร้อยละ 50.44 เห็นด้วย

ทว่า พอถามว่า หากพรรคเพื่อไทยบางคนย้ายขั้วไปสนับสนุนรัฐบาล มากที่สุดคือร้อยละ 53.14 ไม่เห็นด้วย

ยิ่งไปดูเหตุผลยิ่งสะท้อนชัด ในคำตอบที่เห็นด้วยก็จะบอกว่าเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. แต่พอไม่เห็นด้วยจะบอกว่าไม่มีอุดมการณ์

สภาวะที่เกิดขึ้น หากย้อนไปก่อนหน้ารัฐประหาร คำตอบในเชิงเหตุผลไม่น่าจะต่างไปจากนี้ เพียงแต่ที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยจะกลับข้างกัน

และตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าคิด

การแสวงหาอำนาจโดยสร้างความแตกแยก ทำให้ประชาชนแบ่งฝ่าย แล้วใช้กำลัง และแบ่งปันผลประโยชน์ที่เหนือกว่ายึดครองฝ่ายที่มีพลังมากกว่าไว้

วันหนึ่งพลังนั้นเปลี่ยนฝ่าย โดยที่สังคมยังยึดฝ่ายมากกว่าคุณธรรมอยู่เหมือนเดิม

น่าสนใจว่า สถานการณ์แห่งอำนาจจะเป็นอย่างไร