จรัญ พงษ์จีน : ชีวิตและมรดกของ “เปรม”

จรัญ พงษ์จีน

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา กลุ่มพลังมวลชน “คนรักป๋า” ในจังหวัดสงขลาและใกล้เคียงหลักแสนคน เข้าร่วมกิจกรรม “วิ่งตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับจังหวัดสงขลา หน่วยราชการทุกภาคส่วน เอกชน หลอมรวมใจร่วมกันจัดขึ้น ในโครงการ “99 ปีล้านความดีเพื่อรัฐบุรุษพลเอกเปรม ติณสูลานนท์”

เพื่อเชิดชูเกียรติและรำลึกถึงคุณงามความดีที่ “ป๋าเปรม” ได้ทุ่มเททำงานตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน โดยไม่หวังผลตอบแทน เป็นแบบอย่างในการทำความดีและเสียสละเพื่อประเทศชาติ และจังหวัดสงขลา

มี “คนสงขลา” ที่เป็นใหญ่เป็นโตในบ้านเมืองร่วมรำลึกมากมาย เป็นต้นว่า “นายวิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี “นายถาวร เสนเนียม” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม “นายนิพนธ์ บุญญามณี” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง

“กิจกรรมวิ่งตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” เริ่มตั้งแต่เช้ามืด มีจุดเริ่มต้นวิ่ง 3 เส้นทาง คือ 1.วิ่งออกจากโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ 2.เริ่มจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ และ 3.เริ่มจากบ้านติณสูลานนท์ อ.สิงหนคร เพื่อมาบรรจบกันบริเวณสวนประวัติศาสตร์ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

นอกจากนั้น ยังต่อด้วยกิจกรรมแปรอักษรของนักเรียนโรงเรียนมหาวชิราวุธกว่า 3,000 คน ด้วยคำว่า “เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน”

การจัดโครงการ “99 ปีล้านความดีเพื่อรัฐบุรุษพลเอกเปรม ติณสูลานนท์” ยังเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของ “ป๋า” ที่จะสนับสนุนการสร้างศูนย์ผ่าตัดโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยใน 14 จังหวัดภาคใต้

“คณะแพทยศาสตร์ มอ.” ขอเชิญผู้สนใจร่วมเป็นหนึ่งในล้านความดี เพื่อรัฐบุรุษพลเอกเปรม ร่วมบริจาคผ่านบัญชีออมทรัพย์ธนาคารกรุงเทพ สาขามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชื่อบัญชี “99 ปีรัฐบุรุษพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เพื่อผู้ป่วยผ่าตัดหัวใจ” เลขที่บัญชี 641-0-19590-0 อีกด้วย หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่มูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ 0-7445-1599

“พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” หรือ “ป๋าเปรม” เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2463 ที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนทหารม้า และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 9

ทำไม “ชาวสงขลา” จึงรักและเคารพ “ป๋าเปรม” ก่อนเข้าเรียนทหารในกรุงเทพฯ “พล.อ.เปรม” สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนวัดบ่อยาง เรียนต่อมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ เมื่อเรียนจบเข้ากรุง ศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

ชีวิตราชการหลังจบโรงเรียนนายร้อยฯ รุ่นที่ 5 สังกัดเหล่าทหารม้า เมื่อจบหลักสูตรการฝึก เข้าประจำการระดับผู้บังคับบัญชา จากนั้นเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา หลักสูตรผู้บังคับบัญชากองพัน เคยเข้าร่วมรบในสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่ปอยเปต ประเทศกัมพูชา ไต่เพดานตำแหน่งในกองทัพบกมาอย่างโชกโชน

เริ่มมีชื่อเสียงเมื่อครั้งได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 ดูแลพื้นที่ภาคอีสาน และในปี 2516 ได้รับแต่งตั้งเป็น “แม่ทัพภาคที่ 2” มีบทบาทโดดเด่นมาก จึงได้รับแต่งตั้งให้เข้าไลน์ 5 เสือ ทบ. เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และแค่ปีเดียว ในปี 2521ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ทบ. “พล.อ.เปรม” สัมผัสเก้าอี้การเมืองครั้งแรก เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย สมัยที่ “พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์” เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อด้วยตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม ควบผู้บัญชาการทหารบก

หลังจาก “นายพลบรั่นดี” ถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2523 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโหวตหยั่งเสียงเลือก “พล.อ.เปรม” ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ “ป๋าเปรม” เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2523 เป็นคนที่ 16 ของประเทศไทย โดยที่ดำรงตำแหน่งอยู่ตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล เป็นเวลา 8 ปี 3 สมัย ต่อด้วยสมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2526 สมัยที่ 3 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2531 สิ้นสุดด้วยการยุบสภาเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2531

หลังก้าวพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” เป็นองคมนตรี เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2531 และโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 สิงหาคม 2541 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี

กระทั่งถึงแก่อสัญกรรม เมื่อช่วงเช้าวันที่ 26 พฤษภาคม 2562 ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า สิริอายุ 98 ปี

 

ถามว่า ทำไมชาวสงขลาจึงรักและศรัทธา พล.อ.เปรม เพราะท่านมีสำนึกรักบ้านเกิด และให้ความสำคัญกับถิ่นกำเนิดตัวเอง เวลาลงไปราชการที่จังหวัดสงขลา ไม่ลืมแม้กระทั่งภาษาถิ่นตัวเอง นั้นคือภาษาปักษ์ใต้ “ป๋า” พูดภาษาเก่าตลอด

เหนือสิ่งอื่นใดคือความเจริญของจังหวัดสงขลา ที่จับต้องได้มากมายอันเป็นผลงานของ “พล.อ.เปรม” ไม่ว่าจะสวนสาธารณะ สวนประวัติศาสตร์ สนามกีฬา วัดวาอาราม โรงเรียน ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างประโยชน์ให้กับจังหวัดและ “คนสงขลา” ทั้งสิ้น

“สะพานติณสูลานนท์” หรือสะพานติณฯ เชื่อมระหว่างเมืองสงขลากับเกาะยอ ถ้าไม่มี พล.อ.เปรม เชื่อว่าคนจากฝั่งระโนด สทิงพระ หรือที่จะเดินทางมาจากนครศรีธรรมราช ก็ยังต้องใช้แพขนานยนต์ ซึ่งเมื่อสมัยก่อนใช้เวลานานมากกว่าจะเอารถลงเรือข้ามฝั่งจากหัวเขาแดงมาได้

“สะพานติณสูลานนท์” ลงมือก่อสร้างเมื่อครั้ง พล.อ.เปรมอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปลุกปล้ำกันหลายปีกว่าจะแล้วเสร็จ สามารถระบายการจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก

ด้วยคณูปการจำนวนมากที่ พล.อ.เปรมทำไว้ สร้างไว้กับบ้านเกิด ด้วยประการดังกล่าว วันจัดงาน “99 ล้านความดีเพื่อรัฐบุรุษพลเอกเปรม ติณสูลานนท์” วิ่งทดแทนคุณแผ่นดิน-ทำบุญอุทิศแด่ “ป๋าเปรม” ที่เคารพรัก คลื่นมนุษย์ชาวสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง จึงมาร่วมรำลึกถึงคุณงามความดีมืดฟ้ามัวดินเกือบแสนคน