“Rapcher” มิติใหม่แห่งการเรียนการสอน “เด็กๆ” ชอบ “คุณครู” ก็สนุก

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน บางครั้งวิธีการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ คงไม่สามารถใช้และหวังผลได้เหมือนสมัยก่อน เช่นเดียวกับการศึกษา ที่ “สื่อการเรียนการสอน” มีความแพร่หลายและหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม จนเด็กๆ ถูกดึงดูดความสนใจจากสิ่งเร้าภายนอกห้องเรียนหลายรูปแบบ

ที่ปฏิเสธไม่ได้คงหนีไม่พ้นสื่อวิดีโอที่แพร่กระจายในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ โดยเฉพาะยูทูบและเฟซบุ๊ก

ช่องทางเหล่านี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

ข้อดีคือ เด็กๆ สามารถเรียนรู้และค้นคว้าสิ่งที่สนใจได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องรอเรียนรู้ในห้องเรียน

แต่ข้อเสียคือ มีคลิปวิดีโอจำนวนมากที่ดึงดูดเด็กๆ ไม่ให้ดำเนินชีวิตไปตามทิศทาง-แบบอย่างที่พวกเขาควรจะได้รับในวัยนั้น

นั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “มาสเตอร์ท็อป-อานนท์ แซ่เต็ง” ครูสอนวิชาสังคม ภาคภาษาอังกฤษ โรงเรียนเซนต์คาเบรียลที่โด่งดังในโลกโซเชียล จากคลิปการนำเนื้อหาในรายวิชาที่สอนมาประยุกต์เข้ากับการแร็พ โดยแต่งและเรียบเรียงออกมาในรูปแบบเพลงเพื่อให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น

ผลปรากฏว่าความคิดริเริ่มของมาสเตอร์หนุ่มรายนี้ สร้างอารมณ์ความรู้สึกแปลกใหม่ให้แก่นักเรียน จนเขากลายเป็นที่รักของเด็กๆ ในโรงเรียนเซนต์คาเบรียลไปแล้ว

เดิมทีมาสเตอร์ท็อปก็ใช้วิธีการสอนหนังสือตามหลักสูตรที่ทางโรงเรียนกำหนดไว้ให้เหมือนครูทั่วไป ผลที่ได้รับคือ เด็กๆ สนใจบ้าง ไม่สนใจบ้าง

แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้เขานำเพลงแร็พมาใช้ในการเรียนการสอนนั้น เริ่มขึ้นจากกลุ่มนักเรียนเอง

เมื่อวันหนึ่ง มาสเตอร์ท็อปได้มอบหมายให้นักเรียนหัดแต่งกลอนตามแบบ “สุนทรภู่” ปรากฏว่าเด็กๆ กลับแอบส่งกระดาษโน้ตให้กันระหว่างฝึกเขียนกลอน จนเขาต้องเดินเข้าไปขอดูกระดาษแผ่นนั้น

ก่อนจะพบว่าเด็กสื่อสารถึงกันเป็นภาษาแร็พ โดยใช้ถ้อยคำตามประสาวัยรุ่นทั่วไป อาจจะมีคำหยาบบ้าง แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น เพราะสิ่งที่เด็กๆ เขียนลงไปในแผ่นกระดาษ ล้วนเป็นข้อความที่คล้องจองกันจนน่าเหลือเชื่อ

เหตุการณ์ดังกล่าวผลักดันให้มาสเตอร์ท็อปเริ่มตระหนักว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ตัวเขาเองจะต้องปรับตัวให้เท่าทันเด็กนักเรียน

“เขาเขียนส่งเหมือนกับเป็นคำตามประสาวัยรุ่น อาจจะมีว่ากัน อะไรกันบ้าง เราก็ดุไปตามประสา กับ (ตำหนิ) ว่ามันไม่ใช่เวลา

“แต่ปรากฏว่า เราสงสัยว่าสิ่งที่เขาเขียนมันคล้องจอง มันเก่งมากเลยนะที่เขียนได้ขนาดนี้ เราก็เลยไปถามรุ่นพี่คนหนึ่งว่ามันคืออะไร เขาบอกว่า อ๋อ มันเป็นแร็พ เราก็เลยไปศึกษาว่า แร็พคืออะไร แล้ววัยรุ่นเดี๋ยวนี้เขาชอบดูกันไหม

“ปรากฏว่า อ๋อ วัยรุ่นเขาชอบดูกันช่วงนี้ เราก็เลยไปศึกษา ฟังแล้วก็รู้สึกว่าน่าจะเอามาปรับกับการสอนให้นักเรียนสนใจในวิชาเรียนของเราได้” มาสเตอร์ท็อปเล่า

คลิปแรกที่ทำให้ผู้คนเริ่มรู้จักครูหนุ่มแห่งเซนต์คาเบรียล คือเพลงที่สอนการใช้คำ “ค่ะ/คะ” ซึ่งมาสเตอร์ท็อปพบเจอการใช้คำคู่นี้อย่างผิดพลาดอยู่บ่อยครั้งบนโซเชียลมีเดีย และกังวลว่าหากไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะกลายเป็นปัญหาที่แก้ยากมากขึ้น

“ด้วยความที่เป็นครูภาษาไทยมาก่อน รักในวิชาภาษาไทยเหมือนกัน เวลาเห็นคนเขียนผิดแล้วเรารู้สึกว่าคำว่า “ค่ะ/คะ” เนี่ยนะมันง่ายมากเลย

“เรารู้สึกว่าใครๆ ก็อ่านคำนี้ได้ เอาคำว่า “ราคะ” ให้อ่าน ก็อ่านได้ว่า “ราคะ” แต่ทำไมพอเขียนคำว่า “คะ” “สวัสดีนะคะ” เอ้า เขียนเป็น “ค่ะ” ได้ยังไง

“เราก็เลยรู้สึกว่า นี่ไง “โยคะ” อ่านได้ “คะ” ก็ต้องออกเสียงได้สิ เราก็เลยเอากลวิธีว่า เราแค่ตัด “โย” ออกไป ก็จะเป็นคำว่า “คะ” ที่เราต้องการสื่อแล้วนะ แต่จะสอนอย่างไร อธิบายอย่างไรให้คนมาฟัง เราก็เลยลองอัดเป็นแร็พดู ปรากฏว่าทำขำๆ คนก็ชอบ”

วิธีการสอนของมาสเตอร์ท็อปคือแต่งเนื้อแร็พให้เข้ากับรายวิชา และนำจังหวะเพลงต่างๆ จากในยูทูบมาประกอบ ให้เด็กร้องตาม แต่ละวัน จังหวะเพลงจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างความท้าทายให้กับนักเรียน ว่าจะร้องตามทำนองได้หรือไม่

ตอนนี้คุณครูนักแร็พ แต่งเพลงเพื่อใช้สอนเด็กนักเรียนมาแล้วทั้งหมด 3 เพลงคือ “ค่ะ/คะ” เพลงเกี่ยวกับหลักการใช้คำ ค่ะ/คะ ให้ถูกต้อง, “Map of Thailand” เพลงว่าด้วยแผนที่ประเทศไทย และ “Community” เพลงที่สอนว่าสังคมประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

สิ่งที่สังเกตได้จากวิธีการสอนแบบนี้คือ เด็กมีความสุขกับการเรียนอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งไปกว่านั้น มาสเตอร์ท็อปยังกลายเป็นที่รักของเด็กๆ

เรียกได้ว่าเดินไปทางไหน เหล่านักเรียนตัวน้อยๆ ก็วิ่งมาหา พร้อมกับร้องเพลงแร็พที่ใช้สอนในห้องเรียนให้ครูฟัง เพื่อสาธิตว่าพวกตนร้องเพลงได้/เข้าใจเนื้อหาของบทเรียนแล้ว

ขณะเดียวกัน ครูคนอื่นๆ ในโรงเรียนเซนต์คาเบรียลก็เริ่มสนใจวิธีการสอนแนวทางนี้มากขึ้น โดยเฉพาะ “มิสลูกปัด-วิสาข์ หนูสวัสดิ์” ครูประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์

“ตอนแรกคิดว่าถ้าเป็นแร็พ เด็กฟังไม่ทันหรอก แต่ก็กลายเป็นว่าเด็กเขาฟังทัน แล้วเด็กเขาก็ชอบด้วย ก็เลยรู้สึกว่า ถ้าหากเอามาใช้กับวิชาวิทยาศาสตร์ล่ะ

“แต่ว่าเราจะต้องเริ่มก่อนว่าเขา (เด็กๆ) ไม่รู้เรื่องอะไร ตอนนี้เขาสับสนกันระหว่างรูปแบบของสิ่งมีชีวิต เราก็เลยเริ่มที่จะถามมาสเตอร์ท็อปว่า มีปัญหาเรื่องนี้ อยากให้เด็กรู้เรื่องนี้ ก็เลยถามเขา (มาสเตอร์ท็อป) ว่าพอจะเป็นเพลงแร็พได้ไหม พอเป็นแร็พได้ เขาก็เชิญมาแร็พด้วยกัน” มิสลูกปัดกล่าว

ตอนนี้มาสเตอร์ท็อปและครูลูกปัดร่วมกันก่อตั้งเพจเฟซบุ๊ก “Rapcher” ขึ้นมา เพื่อใช้สื่อสารกับเด็กนักเรียนเซนต์คาเบรียล รวมถึงเด็กนักเรียนในพื้นที่อื่นๆ ที่สนใจ

โดยหวังว่านี่จะเป็นสื่อการสอนอีกหนึ่งช่องทางที่เด็กสามารถเรียนรู้ได้ แม้จะไม่ได้อยู่ในห้องเรียนก็ตาม

“สิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้คืออยากให้นักเรียนสนใจในการเรียนมากขึ้น เวลาเราไปสอนหนังสือ มันเป็นอารมณ์ของครูทุกคน ที่ต้องการให้เด็กสนใจเรียน ตั้งใจเรียนกับเรา แต่บางทีเด็กไม่ตั้งใจเรียน

“ช่วงแรกๆ เราจะคิดว่า ทำไมเขาไม่ตั้งใจเท่าที่ควร แต่พอเราย้อนกลับไปที่ตัวเองแล้ว มันเป็นปัญหาที่เราส่วนหนึ่งด้วย เราลองมาโทษเราบ้างว่า เฮ้ย เราทำดีพอหรือยัง อย่างผมก็ปรับปรุงตัว ด้วยการเอาแร็พมาติดอาวุธให้ตัวเองมากขึ้น พยายามหาความรู้ให้ตัวเองมากขึ้น สิ่งที่นักเรียนสนใจ ผมทำการบ้านมากขึ้น

“พอเข้าไปสอนในห้องเรียน นักเรียนก็ตั้งใจเรียนมากขึ้น ผลการเรียนการสอน มันก็ออกมาในรูปแบบของการจัดการศึกษาอยู่แล้ว เพราะเราวัดประเมินผล แล้วนักเรียนก็สามารถทำได้ดี

“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องรู้จักประเมินตัวเองว่าเราดีพอหรือยัง ถ้ายัง จงเปิดรับสิ่งใหม่ๆ จากเด็ก แล้วจะรู้ว่าเราควรทำอะไรต่อไป”

แร็พเชอร์ท็อปกล่าวทิ้งท้าย