เกษียร เตชะพีระ | เสรีนิยมใหม่ : กราฟช้างและกราฟเนส

เกษียร เตชะพีระ

สําหรับกรณีของไทย ในช่วงเศรษฐกิจการเมืองโลกอยู่ภายใต้อำนาจนำของเสรีนิยมใหม่ (จังหวะที่ 3 ในบทความตอนที่แล้ว) เหตุการณ์สำคัญคือวิกฤตเศรษฐกิจปี ค.ศ.1997 หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง ในจังหวะนั้นแหละที่ IMF และธนาคารโลกรวมทั้งรัฐบาลอเมริกันเข้ามาผลักดันให้เกิดแนวนโยบายเสรีนิยมใหม่ในเมืองไทยได้เต็มที่

รัฐวิสาหกิจเริ่มถูกแปรรูปขนานใหญ่ ข้าราชการโดยรวมเริ่มถูกเปลี่ยนเป็นพนักงานของรัฐ จึงมีการดำเนินนโยบายเสรีนิยมใหม่ในจังหวะนี้ในเมืองไทยได้

ผลของเสรีนิยมใหม่ก็คือพอคุณลดการคุมโดยรัฐ ปล่อยให้เกิดการหมุนเวียนของสินค้าและเงินทุนข้ามชาติโดยเสรี มันทำให้เศรษฐกิจโลกไร้เสถียรภาพ อัตราดอกเบี้ยแกว่ง ราคาหุ้นแกว่ง เกิดวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจถี่บ่อยกว่าช่วงเดินแนวทางเบร็ตตัน วูดส์ หลังสงครามโลกครั้งที่สองมาก

(ดูแผนภูมิและคำอธิบายประกอบ-กราฟ 1)

กราฟช้างขึ้นชื่อลือชามากในวงการเศรษฐศาสตร์การเมืองของโลกตั้งแต่มีการปล่อยกราฟนี้ออกมาในปี ค.ศ.2016 โดยบรังโก มิลาโนวิช (Branko Milanovi?) นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันเชื้อสายเซิร์บผู้ศึกษาความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจในขอบเขตทั่วโลก

กราฟนี้บอกว่าถ้าคุณเอาคนในโลกมาเกลี่ยกันตั้งแต่จนสุดถึงรวยสุดจำแนกเป็นสัดส่วน 100% (แกนนอนของกราฟ) ถามว่าในระยะ 20 ปี คือช่วง ค.ศ.1988-2008 ที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกดำเนินนโยบายเสรีนิยมใหม่นั้น รายได้ของประชากรทั่วโลกที่จำแนกตามกลุ่มรายได้ที่เหลื่อมล้ำแตกต่างกัน แต่ละกลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้นมากน้อยเท่าไหร่คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้เดิมของตัว?

มิลาโนวิชพบว่าพวกคนจนที่สุดในโลก (แกนนอน 0-5%) มีรายได้เพิ่มขึ้นไม่มากนัก ขณะเดียวกันในกลุ่มคนชั้นกลางระดับล่างของโลก (แกนนอน 20-70%) มีรายได้เพิ่มขึ้นพอสมควร แต่ก็มีพวกคนชั้นกลางระดับบนที่ (แกนนอน 70-95%) มีรายได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่ตกต่ำลงมา

ส่วนพวกรวยที่สุด (แกนนอน 95-100%) กลับมีรายได้เพิ่มพุ่งพรวดขึ้นไป

จะเห็นว่าการเพิ่มรายได้นั้นไม่ได้เพิ่มกันยกแผง บางส่วนมีรายได้เพิ่มสูง บางส่วนมีรายได้เพิ่มในอัตราที่ลดลงหรือเพิ่มน้อยกว่า

ในรอบ 20 ปีของเสรีนิยมใหม่ พบว่าจีนแก้ปัญหาความยากจนไปเยอะ เพราะเป็นแหล่งผลิตใหญ่ของโลก คนชั้นกลางจีนเกิดขึ้นมาในช่วง 20 ปีนี้ รวมทั้งคนชั้นกลางในประเทศกำลังพัฒนาและรายได้ปานกลางอื่นๆ

ส่วนคนที่เดิมค่อนข้างมีฐานะดีระดับคนชั้นกลางในโลกตะวันตก (โดยเฉพาะคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่นั่น) ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การเพิ่มรายได้กลับลดน้อยถอยลง ตรงนี้คือชนชั้นกลางในอเมริกาและยุโรป คือคนที่โหวตให้ทรัมป์ คนที่โหวตให้เบร็กซิท

สิ่งที่น่าสนใจคือ ใน 20 ปีที่โลกดำเนินแนวนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ คนในโลกได้ประโยชน์จากมันเท่ากันหรือไม่?

คำตอบคือไม่เท่ากัน คนที่ได้เยอะพอควรคือชนชั้นกลางในประเทศกำลังพัฒนาและรายได้ปานกลางทั้งหลายโดยเฉพาะจีนและไทย รวยขึ้นมามากเพราะเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์

ส่วนพวกที่เคราะห์ร้ายคือชนชั้นกลางในโลกตะวันตก ถูกทอดทิ้ง เพราะบรรดาโรงงานและการลงทุนในหัตถอุตสาหกรรมย้ายออกนอกประเทศไปลงทุนที่อื่นซึ่งค่าแรงถูกกว่า ภาษีต่ำกว่า การบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานและสิ่งแวดล้อมหย่อนคลายกว่า การลงทุนโดยตรงของต่างชาติได้สิทธิพิเศษกว่า

อำนาจนำของเสรีนิยมใหม่ที่ครองโลกอยู่ 20 ปีเริ่มเสื่อมถอยและประสบวิกฤตเพราะกราฟช้างนี้ พอเกิดวิกฤตซับไพรม์และเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ทั่วโลกเมื่อปี ค.ศ.2008 ไม่ช้านาน ผู้นำแบบประชานิยมอย่างทรัมป์ก็รุ่งขึ้นมา การที่เสรีนิยมกับประชาธิปไตยแยกจากกันเพราะเหตุนี้

ขอให้สังเกตด้วยว่าแนวนโยบายเสรีนิยมใหม่สร้างเงื่อนไขที่ต่างกันในแต่ละที่ ไม่เหมือนกันทั้งโลก บางที่คนรู้สึกดีขึ้น บางที่คนรู้สึกแย่ลง ที่แย่ลงก็หันไปหาประชานิยมทางการเมือง

2ปีต่อมา โธมัส พิกเคตี้ (Thomas Piketty) นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้เขียนหนังสือ Capital in the Twenty-First Century (ค.ศ.2013 ฉบับฝรั่งเศส, 2014 ฉบับแปลเป็นอังกฤษ) ก็รวมกลุ่มเพื่อนตั้งศูนย์วิจัยความไม่เสมอภาคของโลกแล้วทำงานวิจัยออกมาทุกปี

พิกเคตี้กับคณะได้นำเอากราฟช้างขอองบรังโก มิลาโนวิช ไปดู แล้วเทียบกับผลการสำรวจข้อมูลใหม่ของตน ก็พบว่ามันไม่ออกมาเป็นรูปช้างเสียเลยทีเดียว มันแบนราบกว่า

พวกเขาชี้ว่า หากนำรายได้ของคนทั้งโลกตั้งแต่ต่ำสุดถึงสูงสุดมาเกลี่ยกัน จะพบว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของคนมีรายได้น้อยที่สุดขึ้นมาได้รับส่วนแบ่งจากดอกผลโดยรวมของการเติบโตทางรายได้ในรอบ 20 ปีไปแค่ 12 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่คนมีรายได้สูงส่วนบนสุดยอดแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ได้ส่วนแบ่งจากดอกผลโดยรวมของการเติบโตทางรายได้ในรอบ 20 ปีไปถึง 27 เปอร์เซ็นต์ (Facundo Alvaredo et al, “The Elephant Curve of Global Inequality and Growth”, AEA Papers and Proceedings 2018, 108 : 103-108, https://doi.org/10.1257/pandp.20181073)

กราฟช้างจึงไม่ตรงกับความเป็นจริงนัก ถ้าพล็อตใหม่จะออกมาเป็นกราฟเนส (ตั้งชื่อตามสัตว์ประหลาดในตำนานที่ทะเลสาบล็อกเนส ประเทศสกอตแลนด์) ดังกราฟ 3

แผนภูมิความถี่ของวิกฤต แสดงร้อยละของโอกาสที่จะเกิดวิกฤต/ปี ใน 4 ช่วงระยะเวลา (ช่วงสุดท้ายแสดง 2 กลุ่มประเทศ)

Banking crises = วิกฤตธนาคาร, Currency crises = วิกฤตเงินตรา, Twin crises = วิกฤตฝาแฝดของ ธนาคารกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา, All crises = รวมวิกฤตทั้งหมด

แท่งกราฟ 4 กลุ่มแรกแสดงวิกฤตในประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้าและประเทศตลาดเกิดใหม่ 21 ประเทศ ส่วนแท่งกราฟกลุ่มที่ 5 รวมเอาข้อมูลเพิ่มเติมจากประเทศกำลังพัฒนา 35 ประเทศเข้าด้วยเป็นทั้งสิ้น 56 ประเทศ ภาพจาก Robert Wade, “Choking the South”, New Left Review II/38 March-April 2006, https://newleftreview.org/issues/II38/articles/robert-wade-choking-the-south