คำ ผกา : จงเป็นเด็กดี

คำ ผกา

เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า “วันเด็ก” นั้น เกี่ยวข้องกับเป้าหมายของการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่อย่างยิ่ง

เพราะมีแต่ “สำนึกแห่งความเป็นชาติ” เท่านั้นที่จะทำให้สังคมและรัฐมองเห็นว่า “เด็ก” เป็นเป้าหมายแห่งการกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูทั้งทางกายและทางใจ

เลี้ยงดูทางกายให้แข็งแรง ฉลาดเฉลียว ก็เพื่อเป็นกำลังในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศชาติ

เลี้ยงดูทางใจก็เพื่อปลูกฝังให้เด็ก “รักชาติ” – เด็กที่ถูกปลูกฝังให้รักชาติ ย่อมโตขึ้นมาเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ สามารถเสียสละอะไรหลายๆ อย่างในชีวิตของตนเองเพื่อชาติได้

จะว่าไปแล้ว ตัวฉันเองไม่มีปัญหากับความรักชาติเลย เพราะปราศจากซึ่งความรักชาติ เราคงไม่มีนักต่อสู้ทางการเมืองคนสำคัญในประวัติศาสตร์

ถามว่าทำไมคนแบบ ปรีดี พนมยงค์ ทำไมคนแบบ จอมพล ป. พิบูลสงคราม คณะราษฎร เรื่อยมาจนถึงพลังนักศึกษาประชาชน ทั้งในสมัย 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ พฤษภาทมิฬ ยาวลงมาจนถึงทุกขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ หรือภาคประชาสังคมต่างๆ ฯลฯ

เหล่านี้ล้วนแต่ขับเคลื่อนด้วยความรัก “ชาติ” ทั้งสิ้น

เพราะหากไม่รักชาติ ไม่อยากเห็นชาติ เห็นสังคมดีขึ้น พวกเขาคงไม่คิดอยากจะเปลืองตัวมาเรียกร้องอะไรต่อมิอะไร หรือคิดจะขับเคลื่อน เปลี่ยนแปลงสังคม

สู้ก้มหน้าก้มตารับราชการ ทำงานแบบคน “อยู่เป็น” ชีวิตก็จะไม่ต้องตกทุกข์ได้ยาก ต้องติดคุกหรือลี้ภัย

แต่ความรักชาติมันเป็นปัญหาเมื่อเรามองเห็น “ชาติ” ไม่เหมือนกัน

บรรดานักเคลื่อนไหวทางการเมืองฟากฝั่งประชาธิปไตย เห็นว่า “ชาติเป็นของประชาชนทุกคน” ดังนั้น ประชาชนจึงมีสิทธิมีเสียงมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ

เวลาที่พูดว่า ผลประโยชน์ของชาติจึงหมายถึงผลประโยชน์ของประชาชนเสมอ

ความรักชาติในที่นี้จึงสัมพันธ์กับสิ่งที่เรียกว่าสาธารณประโยชน์

คำขวัญวันเด็กของไทยที่ใกล้เคียงกับการมองเห็นชาติเป็นเรื่องของ “สาธารณะ” มากที่สุดคือ คำขวัญวันเด็กปี 2499 ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ว่า “จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม”

ในสมัยต่อมา คำขวัญวันเด็ก มีความเกี่ยวข้องกับสาธารณประโยชน์น้อยลงแต่เกี่ยวกับการรักษาระเบียบวินัยของตัวเด็กเองมากขึ้น เช่น จงเป็นเด็กที่รักความสะอาด, จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า จงเป็นเด็กที่มีระเบียบวินัย

ความเป็นเด็กในกาลต่อมาจึงเป็นการดึงเด็กออกจากปริมณฑลสาธารณะ (ซึ่งนั่นหมายถึงการเมือง) แล้วให้เด็กหันไปหมกมุ่นอยู่กับการพัฒนาตนเองให้สะอาด ให้มีระเบียบ ให้มีสุขภาพแข็งแรง ให้ตั้งใจเรียน เพราะฉะนั้น หากจะมีเด็กออกมาพูดเรื่องการเมือง ตั้งคำถาม ประท้วง ต่อสู้ วิพากษ์วิจารณ์ผู้ใหญ่ ก็มักจะถูกตำหนิติติงว่า “หน้าที่ตัวเองมีทำไมไม่ทำ”, “มีหน้าที่ต้องเรียนหนังสือก็เรียนไปสิ ออกมาประท้วงทำไม” หรือ “เรียนหนังสือเอาตัวเองให้รอดก่อนแล้วค่อยคิดจะมาช่วยคนอื่น” เป็นต้น

ทีละเล็กทีละน้อย เด็กถูกสอนว่า ตัวเองมีหน้าที่ดูแลตัวเองให้ดี ด้วยการมีวินัย วินัยที่ใช้สอนเด็กแปลว่า ให้เชื่อฟัง ไม่สร้างปัญหา มีความอดทน ขยัน ประหยัด อันเป็นเรื่องปัจเจกบุคคลทั้งสิ้น

 

อย่างไรก็ตาม ต้องบันทึกไว้ว่า มีนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวเท่านั้น ที่ให้ความสำคัญกับคำว่าประชาธิปไตยในคำขวัญวันเด็ก นั่นคือ ในสมัยของ ชวน หลีกภัย คำขวัญปี 2536 คือ “ยึดมั่นในประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม” และในปี 2544 คือ “มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย”

คนที่เลือกคำขวัญวันเด็กเช่นนี้จะเชื่อในประชาธิปไตยอย่างจริงใจหรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับว่า อุดมการณ์ประชาธิปไตยถูกเลือกมาเป็นวาระของ “เด็ก” อย่างน้อยในบริบทการเมือง หลังพฤษภาทมิฬ 2535 และหลังจากที่เรามีรัฐธรรมนูญที่ว่ากันว่าเป็นมิตรต่อประชาธิปไตยมากที่สุดคือฉบับปี 2540

น่าเสียดายที่ชีวิตของประชาธิปไตยไทยนั้นเป็นเพียงชีวิต “ชั่วขณะหนึ่ง” มันเติบโตอยู่ในห้วงสั้นๆ ถูกฆ่าทิ้ง และถูกหลงลืมไปจากสังคมอย่างรวดเร็ว

ลืมตาขึ้นมาอีกที คำขวัญวันเด็กที่เน้น ระเบียบ วินัย ความสามัคคี การเชื่อฟังก็กลับมาอย่างคนคุ้นเคย

และเผลอใจไปชั่วขณะ ประชาธิปไตยก็ตายจากเมืองไทยไปตั้ง 12 ปีแล้ว ต่อให้เรามีรัฐบาลจากการเลือกตั้งมาบริหารอยู่เพียง 2 ปี ซึ่งสั้นเกินกว่าจะชุบชีวิตของประชาธิปไตยให้ฟื้นขึ้นมาได้

มิหนำซ้ำ การรัฐประหารครั้งล่าสุดยังพยายามขุดรากถอนโคนสิ่งที่จะเป็นเชื้อพันธุ์ของประชาธิปไตยในอนาคตออกจนหมดสิ้น

และเราควรบันทึกไว้อีกด้วยว่า เด็กไทยทุกคนที่เกิดหลังปี 2549 พวกเขายังไม่เคยเห็นและสัมผัสว่าประชาธิปไตยเป็นอย่างไร คืออะไร เมื่อรู้ความเขาก็เห็นประเทศไทยภายใต้ “ลุงตู่” เสียแล้ว และคำว่านายกรัฐมนตรีสำหรับพวกเขาก็คือ “ลุงตู่”

 

ในขณะที่วันเด็กสากลในที่อื่นๆ ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิเด็ก เสรีภาพของเด็ก การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก การตระหนักในปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กไม่ว่าจะเป็นปัญหาสงคราม ปัญหาการค้ามนุษย์ แรงงานเด็ก และการละเมิดสิทธิเด็กในรูปแบบต่างๆ

กิจกรรมวันเด็กของไทยกลับล้าหลังและย่ำอยู่กับที่เหมือนโลกหยุดเวลาเอาไว้ที่ปี 2500 ต้นๆ แล้วไม่ขยับไปไหนอีกเลย

เรายังมีโชว์อาวุธ โชงว์รถถัง โชว์ปืนใหญ่ ปลูกฝังอุดมการณ์ “ชาติ” แบบโบราณ

นั่นคือ มองว่าประเทศชาติคือหน่วยทางสังคมที่ต้องเผชิญกับภัยคุกคามและศัตรูของชาติอยู่ตลอดเวลา

ทั้งๆ ที่ในโลกแห่งความเป็นจริง ภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นภัยเศรษฐกิจและสภาวะชะงักงันของการพัฒนาประเทศ นับตั้งแต่ประเทศประสบกับความขัดแย้งทางการเมืองภายในมาตลอด 12 ปีที่ผ่านมา

(เป็น 12 ปีที่คนไทยทุกคนเหมือนนั่งหายใจทิ้งไปวันๆ และแทบไม่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งในทางภูมิปัญญา วัฒนธรรม และทางวัตถุเลย เช่น การสร้างระบบขนส่งในโครงการรถไฟความเร็วสูง ปานกลาง และ รางคู่ ซึ่งหากเราไม่ถูก “ฟรีซ” เอาไว้จากปัจจัยทางการเมือง ป่านนี้เราคงได้เห็นความคืบหน้า เปลี่ยนแปลงอะไรไปบ้างแล้ว)

นอกจากงานโชว์ของกองทัพก็ยังจัดงานให้เด็กไปนั่งเก้าอี้นายรัฐมนตรี ซึ่งในช่วงที่เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ยังพอเข้าใจได้ว่า เออ…ไอ้เก้าอี้นายกฯ ตัวนี้ มันสามารถเป็นของใครก็ได้ เพราะใครก็ตามที่ชนะการเลือกตั้ง ชนะใจประชาชน ย่อมจะได้มานั่งบนเก้าอี้ตัวนี้ ดังนั้น มันจึงอาจเป็นฝันที่เป็นจริงของเด็กคนไหนก็ได้ แต่ในขณะที่เรามีนายกฯ มาจากการรัฐประหาร เราจะบอกเด็กที่ปีนขึ้นไปนั่งบนเก้าอี้นายกฯ ว่า?

“ล้มประชาธิปไตยนะลูก แล้วจะได้นั่งเก้าอี้ตัวนี้” – ????? –

กิจกรรมวันเด็กอื่นๆ ก็วนเวียนอยู่แค่เข้าสวนสัตว์ฟรี เข้าท้องฟ้าจำลอง ซึ่งก็มีแต่ในกรุงเทพฯ อีก ที่เหลืองานวันเด็กก็เป็นงานจัดเวทีเอาเด็กมาเต้น มาร้องเพลง ประกวด อ้างว่าเป็นการประกวดความสามารถ และดูเหมือนความสามารถเดียวที่สังคมไทยจะจัดประกวดให้เด็กได้นอกจากประกวดนางงามก็คือประกวดร้องเพลงกับเต้น

จากกิจกรรมวันเด็ก ทำให้เราเห็นได้ชัดว่า สังคมไทยเป็นสังคมขาดแคลนความรู้ เราแทบไม่มีมิวเซียมครบทุกจังหวัดที่สามารถจัดกิจกรรมวันเด็กที่กระตุ้นให้เด็กเกิดความอยากรู้อยากเห็น ตั้งคำถาม หรือเกิดแรงบันดาลใจใหม่ๆ

เราเคยได้ยินเรื่องราวของเด็กที่ไปดูเครื่องบินแล้วโตขึ้นอยากเป็นนักบิน

แต่เราไม่เคยได้ยินเรื่องราวของเด็กที่ไปเที่ยวมิวเซียมแล้วโตขึ้นอยากเป็นนักโบราณคดีหรืออยากเป็นภัณฑารักษ์เลย

อย่าว่าแต่กิจกรรมมิวเซียม แม้แต่กิจกรรมจากห้องสมุดประชาชนทั่วประเทศ ก็ไม่เคยได้ยินว่าได้จัดกิจกรรมวันเด็กที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านอย่างไร?

หรือส่งเสริมกิจกรรมให้เด็กสนใจในหนังสือ ในวรรณกรรม หรืออย่างน้อยสนใจเกี่ยวกับการใช้ห้องสมุด การค้นคว้าหาความรู้ ความบันเทิงจากห้องสมุด

 

ไม่เพียงแต่ขาดแคลนกิจกรรมทางปัญญา วัฒนธรรม ฉันกำลังทบทวนว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนอย่างไรบ้าง?

นโนบายเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนในที่นี้ไม่ใช่เรื่องของการจับเด้กแว้น เด็กสก๊อย หรือขู่ว่าจะจับพ่อแม่ของเด็กที่มีปัญหาไปเข้าคุก เพื่อกวดขันให้พ่อแม่กำราบลูกไม่ให้ออกมาก่อความเดือดร้อนนอกบ้าน แต่หมายถึงวิสัยทัศน์ของรัฐบาลว่า อยากได้พลเมืองแบบไหนในอนาคต

คำถามที่ว่าอยากได้พลเมืองแบบไหนในอนาคตย่อมสะท้อนออกมาในนโยบายเกี่ยวกับเด็กทั้งหมดตั้งแต่พวกเขาเกิด

เช่น มีนโยบายเกี่ยวกับสุขภาพของแม่และเด็กอยากไร จะกระตุ้นให้คนมีลูกมากหรือน้อย จากนั้นเป็นการวางนโยบายทางการศึกษาทั้งในและนอกโรงเรียน จะส่งเสริมการศึกษา การเรียนการสอนในห้องเรียนอย่างไร ต้องการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนในด้านไหน

วางแผนสำหรับการรองรับเศรษฐกิจในอีก 20 ปีข้างหน้าอย่างไร

และการศึกษานอกโรงเรียนที่หมายถึง สนามเด็กเล่น สนามกีฬา โรงละคร คอนเสิร์ตฮอลล์ ห้องสมุด ศูนย์การเรียนรู้ มิวเซียม หอศิลป์ ฯลฯ เหล่านี้ จะสร้างที่ไหน อย่างไร ลงทุนแค่ไหน และจะให้ทั่วถึงไปทั้งประเทศโดยไม่กระจุกทุกอย่างไว้ที่กรุงเทพฯ อย่างไร

รัฐบาลจะดูแลเยาวชนที่อยู่ในครอบครัวที่เปราะบางอย่างไร

เช่น กลุ่มเยาวชนที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการเป็นเหยื่อของยาเสพติดและองค์กรอาชญากรรม เยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาครอบครัว ซึ่งอาจมีตั้งแต่พ่อแม่อยู่ในเรือนจำ พ่อแม่มีปัญหาทางจิต พ่อแม่มีปัญหาชีวิตในมิติต่างๆ เยาวชนที่เป็นเด็กต่างด้าว เยาวชนที่ไม่มีสัญชาติ ฯลฯ

ฉันคิดว่าเราไม่ได้ยินวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเยาวชน ซึ่งในความหมายที่เชยที่สุดมันหมายถึงการสร้างคน และแน่นอนมันหมายถึงการสร้างอนาคตของชาตินั่นเอง

 

เขียนถึงตรงนี้ ก็เป็นอันกระจ่างแล้วว่า อย่าว่าแต่จะตั้งคำถามว่าเมื่อไหร่วันเด็กในเมืองไทยจะพูดเรื่องสิทธิเด็ก และเสรีภาพของเด็ก แค่ในความหมายที่เชยที่สุด ล้าหลังที่สุดว่า รัฐบาลไทยมีวิสัยทัศน์ว่าด้วยการสร้างพลเมืองอย่างไรผ่านนโยบายเยาวชน

เรายังไม่มี และฟังนโยบายการศึกษาจากผู้รับผิดชอบก็ได้ยินแค่เรื่องเปลี่ยนผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นครูใหญ่ – โอว ช่างเป็นวิสัยทัศน์ที่ปรีชาญาณยิ่ง

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่ต้องแปลกใจที่งานวันเด็กไทยจะเริ่มต้นคำขวัญเชยๆ และกิจกรรมแสนเฉิ่มแสนเชยและแทบจะหามิติแห่งการประเทืองสติปัญญาเด็กที่สะท้อนให้เห็นสังคมนี้เคารพและเห็นความสำคัญของเด็ก – ไม่มี

เราอยู่ในสังคมที่เห็นเด็กเป็น “เด็ก” มากกว่าเห็นเด็กเป็นมนุษย์ กิจกรรมวันเด็กของเราจึงมากไปด้วยการจับเอาเด็กมาประแป้งแต่งหน้าแต่งตัวแฟนตาซีต่างๆ นานาตามจินตนาการของผู้ใหญ่ จากนั้นก็จับเด็กมาแสดงโชว์ต่างๆ ตามรสนิยมของผู้ใหญ่ เพื่อพลีสความรู้สึกของผู้ใหญ่

เราอยู่ในสังคมที่คิดว่าเด็กคิดเองไม่ได้ กิจกรรมวันเด็กของไทยเกือบทั้งหมดสะท้อนการคิดแทนเด็กของผู้ใหญ่ คิดแทนว่าเด็กน่าจะชอบเล่นอันนี้ ดูอันนั้น แต่ไม่เคยคิดจะฟังว่าเด็กต้องการอะไร อย่างน้อยปีละวัน ที่ผู้ใหญ่ควรจะให้เกียรติเด็ก ฟังว่าเขาคิดอะไร พูดอะไรมากกว่าจะมุ่งจัดกิจกรรมที่ผู้ใหญ่ทึกทักเอาเองว่าเด็กต้องชอบหรือทำแล้วดีกับเด็ก

สังคมแบบเดียวกันนี้เองที่ในที่สุด พวกผู้ปกครองก็มักจะมองเห็นประชาชนเป็นเด็ก คอยคิดแทน คอยสั่ง คอยควบคุม และเฝ้ากรอกหูเราทุกวัน เรายังดูแลตัวเองไม่ได้ เราคือผู้ไม่รู้ประสา ดังนั้น เราพึงรัก เคารพและเชื่อฟัง และตระหนักในบุญคุณของผู้นำผู้หลักผู้ใหญ่

คำขวัญสำหรับประชาชนไทยคือ – จงเป็นเด็กดี