ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 สิงหาคม - 5 กันยายน 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
แม้จะเข้าพรรคเป็นครั้งแรก แต่ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้มากบารมีในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก็สร้างความฮือฮาด้วยการสั่งให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 5 คน ที่ควบตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลประยุทธ์ 2 พิจารณาตัวเอง ด้วยการลาออกจากการเป็น ส.ส. ภายหลังฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวตข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 2 ครั้งต่อเนื่อง
“บิ๊กป้อม” ไล่ชื่อ 5 รัฐมนตรีเรียงตัว เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรื่องดังกล่าวนี้มีความสำคัญมากเพียงใด
โดยไล่ไปตั้งแต่ 1. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
2. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
3. นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
4. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
5. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
เบื้องหลังที่ “บิ๊กป้อม” ต้องออกแอ๊กชั่นเช่นนั้น เพราะมือขวาอย่าง “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระซิบข้างหูให้อดีตนายทหารอาวุโส ผู้มากด้วยคอนเน็กชั่นทางการเมือง ต้องส่งสัญญาณด้วยการพูดให้รัฐมนตรีทั้ง 5 คนลาออกเสียที
นั่นเพราะ “ร.อ.ธรรมนัส” ได้รับมอบหมายจากทั้ง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร ให้ทำหน้าที่คุมเกมในสภา แก้ไขปัญหารัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ เพราะ “ผู้กองธรรมนัส” นับเป็นคนกว้างขวาง สามารถดีลได้กับทุกฝ่าย และยังมีความรู้จักมักคุ้นกับ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเป็นอย่างดี
“ร.อ.ธรรมนัส” เห็นว่าการที่รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำนั้นเป็นปัญหาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวตฝ่ายค้านเกี่ยวกับข้อบังคับการประชุมสภา เป็นเครื่องยืนยันแล้วว่า หากไม่ควบคุมเกมในสภาให้มั่นคงได้แล้ว รัฐบาลอาจล่มในไม่ช้าก็เป็นได้
นั่นจึงเป็นที่มาของการแก้ไขปัญหาด้วยการบีบให้รัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลาออก เพราะเห็นว่าการทำหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีที่มีงานล้นมือนั้น ย่อมกระทบต่อการทำหน้าที่ ส.ส.ในสภาอย่างแน่นอน ไม่มากก็น้อย
แต่กระนั้น รัฐมนตรีทั้ง 5 คน ยืนยันไม่ลาออกจากการเป็น ส.ส. โดยอ้างมติที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคและกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ซึ่งมีนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เป็นประธานยุทธศาสตร์ กทม. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นประธานยุทธศาสตร์ภาคอีสาน นายอนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท เป็นประธานยุทธศาสตร์ภาคกลาง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นประธานยุทธศาสตร์ภาคเหนือ และ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล เป็นประธานยุทธศาสตร์ภาคใต้
แต่สิ่งสำคัญที่ 5 รัฐมนตรีไม่สามารถลาออกได้คือ เพราะกลัวขาลอย หากเจอไม้ตายเมื่อโดนปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) และตัวเองหลุดออกไป ย่อมจะเคว้งคว้างอย่างไม่รู้ตัว
อีกประการสำคัญ ทั้ง 5 รัฐมนตรีที่ควบตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค พปชร. ล้วนมีบทบาทสำคัญในการคุม ส.ส.ในแต่ละกลุ่มก๊วน
เริ่มจาก “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” และ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” อดีต 2 ขุนพล กปปส. คุม ส.ส.กทม.เกือบทั้งหมด ยกเว้นนายสิระ เจนจาคะ ที่แปรพรรคไปอยู่กับกลุ่มสามมิตร
“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” และ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” แกนนำกลุ่มสามมิตรมี ส.ส.อยู่ในมือกว่า 30 คน ขณะที่นายสันติ พร้อมพัฒน์ บิ๊กเนมแห่ง จ.เพชรบูรณ์ มีบทบาทสำคัญในการนำพรรค พปชร.ชนะเลือกตั้งทั้ง 5 เขตเมืองมะขามหวาน
5 รัฐมนตรีจึงอ่านเกมออกว่า หากลาออกจาก ส.ส.แล้วไปทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีเพียงอย่างเดียว ก็จะส่งผลให้ ส.ส.ที่มีอยู่แตกแถว
ยิ่งหากถูกปรับออกจาก ครม. บทบาทในการคุมเกมในสภาย่อมหายไปด้วย ก็จะไร้ซึ่งพลังอำนาจในการต่อรองทางการเมือง
สิ่งที่เป็นเครื่องยืนยันว่ารัฐมนตรีทั้ง 5 คนจะไม่ลาออกเป็นแน่แท้คือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ตั้งข้าราชการการเมืองให้ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่จ่อเข้าวินไปเบื้องต้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนายภิรมย์ พลวิเศษ เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน นายธนกร วังบุญคงชนะ เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
แต่หาก 5 รัฐมนตรียอมลาออกภายหลัง ผู้ที่จะได้เป็น ส.ส. 5 คน จะประกอบด้วย
1. นายยุทธนา โพธสุธน หลานชายของนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
2. นายต่อศักดิ์ อัศวเหม อดีตรองนายกเทศบาลนครสมุทรปราการ
3. นายชวน ชูจันทร์ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค
4. นายภาคิม สมมิตรธนกุล ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์ภาคเหนือตอนบน
5. นายเดชนัฐวิทย์ เตริยาภิรมย์ ลูกชายนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ทั้งนี้ เมื่อไม่มีใครยอมลาออก การแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นคือ รัฐมนตรีที่เป็น ส.ส.ต้องสแตนด์บายที่อาคารรัฐสภาทุกวันพุธและพฤหัสบดี เป็นวันที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยรัฐมนตรีหลายคนแก้ไขปัญหาด้วยการไปทำงานของกระทรวงกันที่สภา
จึงไม่แปลกถ้าจะเห็นข้าราชการประจำกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นปลัด อธิบดี เดินเข้าๆ ออกๆ สภาอยู่บ่อยๆ นั่นก็เพื่อยื่นเอกสารให้รัฐมนตรีเซ็น เพราะนี่คือการแก้ไขปัญหารัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ
ไม่ได้มีแค่เพียงพรรค พปชร. เพราะนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) ออกมายอมรับเองว่าส่วนตัวได้ปักหลักใช้อาคารรัฐสภาเป็นที่ทำงานแล้วในตอนนี้
นั่นเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาแบบเฉพาะหน้า ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาว พรรค พปชร.มองไปถึงว่าจะทำอย่างไรจึงจะได้ ส.ส.ฝ่ายค้านเข้ามาเป็นแนวร่วมหรือกองหนุน ซึ่งเริ่มจะเห็นได้ชัดเมื่ออยู่ๆ มีข่าวว่าพรรคเศรษฐกิจใหม่ (ศม.) ที่ได้ ส.ส. 6 คน จะเปลี่ยนข้างไปสนับสนุนรัฐบาล
กระทั่งต่อมาพรรคเศรษฐกิจใหม่ นำโดย “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์” ซึ่งไม่ได้มีสถานะเป็นหัวหน้าพรรคแล้ว แถลงข่าวยืนยันว่าพรรคเศรษฐกิจใหม่ยังยืนยันอยู่ฝ่ายค้านต่อไป แต่จะขอโหวตสวนมติฝ่ายค้านในบางเรื่องที่พรรคเศรษฐกิจใหม่เห็นไม่ตรงกัน นั่นเท่ากับการเปิดทางให้มือดีลอย่าง “ร.อ.ธรรมนัส” ได้ไปตามจีบ
ในอนาคต พรรค พปชร.หวังเดินเกมตามจีบ ส.ส.จากพรรคอื่นให้หันมายกมือสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป
เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าการเมืองนั้น ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร เมื่อใดที่ผลประโยชน์ลงตัว เมื่อนั้นคนต่างขั้วก็สามารถจับมือ จูบปากกันได้