ทราย เจริญปุระ | “เลือก” แล้วคอยรับ “ผล” จากมัน

“หรือเส้นทางของเรามันต้องเดินไปตามนี้ จบแบบนี้กันหมดวะพี่?”

อากาศหลังฝนตกชวนอึดอัด แมลงไร้ชื่อไต่ตอมตามขาวนเวียนเรี่ยพื้น ดอกไม้ในแจกันเล็กดูสดชื่นกว่าพวกเราที่นั่งคุยกันอยู่

-ไปต่อไม่ได้-

คำสั้นๆ ที่ยิ่งโตก็ยิ่งเจอ

ยิ่งทำอะไรเยอะ ก็ยิ่งเจอบ่อย

ฉันนั้นเป็นคนติดกับพื้นที่ปลอดภัยมาก ชอบการมีตารางชีวิต ชอบที่งานที่ทำมีกระดาษใบบอกให้ทุกวัน ว่าวันนี้ต้องทำอะไรบ้าง ทำอะไรก่อน ทำอะไรหลัง ไม่ต้องให้คอยเคว้งคว้างคิดเอง

เพราะทันทีที่ไม่มีอะไรให้เกาะยึด จิตใจฉันก็พร้อมจะลอยล่องไปสำรวจดินแดนใหม่ๆ ที่เพิ่งสร้างขึ้นในจินตนาการ เข้าไปหาความทรงจำ หยิบมันพลิกดูด้านนั้นด้านนี้ แล้วก็เอากลับมาผูกร้อยกับเรื่องจริงบ้างเท็จบ้างในหัวสมอง

แต่คนเราจะทำทุกอย่างเหมือนเดิมตลอดนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะชีวิตมีความหมายว่าเปลี่ยนแปลง

ดีที่สุดที่จะทำได้ ก็คือตั้งรับ

และพยายามเลือกทางที่ดีสุดจากคำตอบอันจำกัด

จริงๆ ช่วงนี้ฉันว่างเยอะเลย

ละครก็ไม่มีเรียกเข้ามา

คือมีนั่นแหละ, แต่ก็มีเหตุให้เลื่อน ให้เลิก ให้เปลี่ยน

หน้าปฏิทินที่เคยเต็มแน่นไม่มีที่ให้ขยับก็ว่างโล่ง

ทุกวันนี้ฉันเริ่มลงวันที่อาบน้ำแมว จ่ายค่าไฟ หรือทำเล็บแล้ว ให้ปฏิทินดูมีกิจกรรมความเคลื่อนไหวบ้าง ไม่ใช่เปิดไปดูทีไรก็ว่าง

เงียบ

พอแผนงานเปลี่ยน ชีวิตก็เปลี่ยน

จริงๆ มีอะไรหลายอย่างที่อยากเขียน อยากบอก แต่พอถึงเวลาหรือมีพื้นที่ก็กลับเขียนไม่ออกขึ้นมาเสียเฉยๆ

กลับมานั่งคิดว่าเรามีสิทธิ์ทุกข์ขนาดนี้ไหม

ทุกข์ขนาดไหนที่พอดีกับชีวิตเรา

เราฟูมฟายได้ไหม?

หรือจะโดนบอกให้ไปดูคน/หมา/ต้นไม้/ก้อนหิน หรืออะไรต่อมิอะไร อย่างที่คนเขามักให้ไปดูกัน เวลามีใครโอดครวญกับชีวิต

ดูคนนั้นสิ เขาขาขาด เขายังทำได้

ดูหมาสิ มันยังไม่ทิ้งลูก

ดูต้นหญ้านั่นสิ มันยังพยายามงอกงามท่ามกลางคอนกรีต

มันหนักก็วางสิ ถือเอาไว้ก็ไม่ต่างจากแบกหิน

อะไรเท่ๆ พวกนี้ที่ทำให้เรารู้สึกดูถูกความรู้สึกและความทุกข์ของตนเอง

ความพ่ายแพ้คงมีกลิ่นเฉพาะตัว

เพราะมันสามารถเรียกเพื่อนมาห้อมล้อมได้ทั้งที่ไม่ต้องแสดงออกมากมาย

ความล้มเหลวจะดาหน้ากันเข้ามาเกาะหลังไหล่ ความหดหู่ จังหวะที่ขยับเคลื่อน การถูกปฏิเสธ ตัวตนที่ค่อยๆ จืดจางลง คำถามวนซ้ำว่าเราทำถูกหรือยัง เรามาถูกทางหรือเปล่า เราควรจะหันหลังกลับ

หยุดตรงนี้ หรือตัดทางใหม่

ตลกดีที่ฉันมาอ่านหนังสือเล่มนี้ในช่วงนี้

ผู้เขียนเขียนดีนะ ฉันชอบที่เขาพยายามอธิบายการทำงานและขอบเขตของสิ่งที่เราเรียกว่า “จิตใจ” ซึ่งสามารถย่อยแยก แตกแขนงไปได้แสนไกล

อะไรที่ทำให้เราเป็นเรา

เราเป็นใคร

เราคือการรวมตัวกันของกลุ่มอะตอมและเส้นประสาท

หรือจริงๆ มันมีอะไรที่เป็นนามธรรมกว่านั้นในการขับเคลื่อนชีวิตเรา

ในการทำให้เราเลือกเส้นทาง

ในการทำให้เราตัดสินใจอย่างที่เราทำ

ความบีบคั้น เศรษฐกิจ หรืออะไรพวกนี้ก็คงเป็นปัจจัยหนึ่ง

แต่อะไรทำให้คนรับมือกับปัญหาแบบเดียวกันไปคนละทาง

ฉันค่อนข้างประหลาดใจนิดหน่อย ที่ผู้เขียนมองอาการอัลไซเมอร์ตามเคสที่ยกมาในหนังสืออย่าง-ถ้าใช้ความรู้สึกของฉันก็คือ-โรแมนติก

แต่ก็นะ, เขามองอย่างหมอและผู้สังเกตการณ์

ไม่ได้มองในฐานะผู้มีตัวตนในความทรงจำที่ค่อยๆ หายไป

ฉันไม่เคยคิดว่าโรคนี้มันน่ารัก หรือเข้าใจได้ หรือโรแมนติกอะไรเลย

ไม่พยายามจะคิดแบบนั้นด้วยซ้ำ

มันห่วย มันหนัก มันแย่ มันใช้เงินเยอะ มันรุงรังชีวิตทุกคนที่ถูกลากเข้าไปในวังวน

พอคิดกับมันแบบนี้ ฉันก็จะมีแรงมากขึ้นในการรับมือ

เพราะรู้สึกตัวเองไม่ได้ห่วยมาก ก็นี่มันปัญหาใหญ่นี่หว่า ใครจะไปสบายๆ กับมันได้เล่า

ทุกข์ตรมเช่นฉันนี่ล่ะ ถูกต้องที่สุดแล้ว

แต่ฉันมองเรื่องทุกเรื่องในชีวิตแบบนี้ได้ไหม?

ห่วย แย่ ยาก รุงรัง ฟูมฟาย

หรือต้องมองแง่งามของมัน

หรือต้องทำอะไรที่คนเก่งๆ เค้าน่าจะทำกัน

มองวิกฤตเป็นโอกาส หรืออะไรแบบนั้น

ฉันแม่งเห็นวิกฤตเป็นวิกฤตเสมอ

และโอกาสมีค่าเท่ากับความเสี่ยง

ซึ่งทำไปแล้วก็ต้องมานั่งคิดว่าไม่น่าเสี่ยงเลย

ทั้งที่จริง, ชีวิตก็ถูกสร้างขึ้นมารับมือกับความเสี่ยงตลอดแหละ

แค่วันนี้จะพกร่มออกจากบ้านดีไหมนี่ก็เป็นการเลือกแล้ว

“พี่ก็ไปทางซื้อต้นไม้เลย นั่งดูต้นไม้ไป”

“เออ ตอนแม่ทรายดีๆ เค้าก็ชอบต้นไม้ แต่หนูเฉยๆ นี่ก็คงเลือกไปซักทางล่ะพี่ ไม่ให้ตัวเองฟุ้งซ่าน”

มันก็อย่างนี้ล่ะนะ

มันก็อย่างนี้ล่ะชีวิต

เราต้องเลือกอะไรซักอย่าง

แล้วคอยรับผลจากมัน

“จิตสำนึกแห่งพระเจ้า” (The Mind of God) เขียนโดย Dr.Jay Lombard แปลโดย รศ.ดร.สิรพัฒน์ ประโทนเทพ ฉบับพิมพ์ครั้งแรกโดย สำนักพิมพ์มติชน, กรกฎาคม 2562