การศึกษา / ร้องสอบ ‘ขรก.กองพระราชพิธีการศพฯ’ คนใกล้ชิดอดีต รมว.วธ.แห่ติด ‘ท็อปเท็น’??

การศึกษา

 

ร้องสอบ ‘ขรก.กองพระราชพิธีการศพฯ’

คนใกล้ชิดอดีต รมว.วธ.แห่ติด ‘ท็อปเท็น’??

 

กลายเป็นประเด็นร้อนๆ ท่ามกลางบรรยากาศที่ชุ่มฉ่ำไปด้วยฝน สำหรับการสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ ตำแหน่ง “นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ” สังกัดกองพระราชพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน ของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จำนวน 150 อัตรา ซึ่งสำนักพระราชวังได้โอนภารกิจงานเกี่ยวกับพิธีศพในพระราชานุเคราะห์ ให้ วธ.เป็นผู้รับผิดชอบ

แค่จัดสอบเองครั้งแรก ก็มีผู้ร้องเรียนกล่าวหาว่ามีการ “ทุจริต” เกิดขึ้นเสียแล้ว…

โดยกล่าวหาว่าผู้ที่สอบติดใน 10 อันดับแรกหลายๆ คน เป็น “อดีตทีมงาน” และ “คนใกล้ชิด” ของ “อดีตรัฐมนตรีว่าการ วธ.” คนหนึ่ง…

กลุ่มผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมจึงร้องเรียนไปยังนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการ วธ. และนายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัด วธ. ว่ากระบวนการสอบไม่โปร่งใส และมีแนวโน้มว่ามี “ข้อสอบรั่ว” เพราะผู้เข้าสอบบางคนรู้คำตอบล่วงหน้า

แต่เรื่องก็เงียบ…

จึงได้ทำเรื่องร้องเรียนต่อไปยังหน่วยงานภายนอก อาทิ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ศาลปกครอง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ฯลฯ เพื่อให้ตรวจสอบเรื่องนี้ให้กระจ่าง

ล่าสุด นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการ วธ. ได้สอบถามเรื่องดังกล่าวในที่ประชุมผู้บริหาร วธ. ซึ่งนายกฤษศญพงษ์รับว่ามีการร้องเรียนจริง และได้ตั้ง “คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง” แล้ว

โดยนายอิทธิพลได้สั่งการให้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เร่งสอบให้ครอบคลุมทุกประเด็นความสงสัย และให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว

และหากผลสอบข้อเท็จจริงครั้งนี้พบว่ากระบวนการสอบคัดเลือกไม่ถูกต้อง ก็สามารถ “ยกเลิก” ได้!!

 

การสอบคัดเลือกนักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ สังกัดกองพระราชพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน ครั้งนี้ เป็นการจัดสอบกรณีพิเศษเองโดยไม่ต้องผ่าน ก.พ.โดย วธ.ได้เปิดรับสมัครผ่านอินเตอร์เน็ตเมื่อวันที่ 24-30 พฤษภาคม 2562 ผู้เข้าสอบจะต้องสอบข้อเขียน (ปรนัย) คะแนนเต็ม 150 คะแนน ดังนี้

  1. ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
  2. ความรู้เกี่ยวกับการวางแผน การประสานงาน การบริหารจัดการภายในองค์กร และการบริหารงบประมาณ
  3. ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคม การเมือง
  4. ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานพระราชพิธี งานรัฐพิธี งานพิธี และศาสนพิธี
  5. ความรู้เกี่ยวกับพิธีการศพ
  6. ความรู้เกี่ยวกับงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม

และ 7. ความรู้เกี่ยวกับภารกิจ หน้าที่ของ วธ.

นอกจากนี้ ต้องทดสอบสมรรถภาพของร่างกายด้านความแข็งแรง ความคล่องตัว ความเร็ว ความอดทน คะแนนเต็ม 50 คะแนน โดยผู้เข้าสอบต้องวิ่งเป็นระยะทาง 1,000 เมตร ภายในระยะเวลาที่กำหนด

ซึ่งมีผู้สมัครสอบมากถึง 12,624 อัตรา มีสัดส่วนการแข่งขัน 1 ต่อ 84

แต่มีผู้สอบผ่านข้อเขียนเพื่อเข้ารับการประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่งเพียง 895 ราย

จากนั้น วธ.ได้ประกาศขึ้นบัญชี และยกเลิกบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการในตำแหน่งนักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน จำนวน 859 ราย ก่อนที่ วธ.จะออกประกาศยกเลิกการขึ้นบัญชี และการยกเลิกบัญชีผู้ได้รับคัดเลือกเพื่อบรรจุในตำแหน่งดังกล่าว เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน

โดยอ้างเหตุผลว่า เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือกได้กำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับการทดสอบสมรรถภาพของร่างกาย ซึ่งเป็นสาระสำคัญของการสอบคัดเลือก แต่ไม่ได้แจ้งประกาศหลักเกณฑ์ให้ทราบโดยทั่วไป อาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน เกิดความไม่โปร่งใส และไม่เป็นธรรม จึงมีผลให้ประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ในวันเดียวกัน วธ.ได้ออกประกาศเรื่องการขึ้นบัญชี และการยกเลิกบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุ 859 ราย และให้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกในลำดับที่ 1-150 ไปรายงานตัวเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการในวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าการยกเลิกการขึ้นบัญชี และการยกเลิกบัญชีผู้ได้รับคัดเลือกเพื่อบรรจุ แต่ต่อมาได้ประกาศเรื่องการขึ้นบัญชีฯ ในวันเดียวกัน เป็นเพราะสาเหตุใด!!

 

แต่ภายหลังผู้ได้รับการคัดเลือกในลำดับที่ 1-150 บรรจุเป็นข้าราชการ และอยู่ระหว่างการฝึกปฏิบัติงานในการพิธีศพที่วัด เป็นเวลา 6 เดือน

กลับมีเสียงร่ำลือหนาหูว่า นอกจากผู้ที่สอบติดในอันดับต้นๆ จะเป็นอดีตทีมงาน และคนใกล้ชิดของอดีตรัฐมนตรีว่าการ วธ. เมื่อได้รับการบรรจุแล้ว บางคนกลับไม่ได้ไปฝึกปฏิบัติงานพิธีการศพที่วัดจริงๆ แต่มาช่วยงานผู้บริหาร วธ.บางคนอยู่ที่สำนักงานปลัด วธ.

ทั้งที่หลักเกณฑ์การสอบคัดเลือก ระบุชัดเจนว่าต้องอยู่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับพิธีการศพที่ได้รับพระราชทานในสังกัดสำนักงานปลัด วธ.เท่านั้น เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยห้ามโอนหรือย้ายไปส่วนราชการอื่น…

และห้ามใช้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกตามประกาศนี้ เพื่อบรรจุและแต่งตั้งนักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการที่ปฏิบัติภารกิจด้านอื่น…

อย่างไรก็ตาม มีคำถามว่าการทุจริตสอบครั้งนี้ ทำไม? อดีตทีมงาน และคนใกล้ชิดของอดีตรัฐมนตรีว่าการ วธ.จึงต้องมีคะแนนติดอยู่ใน “10 ลำดับแรก” เท่านั้น…

ก็เนื่องจากผู้ที่สอบได้คะแนน 10 ลำดับแรก จะไม่ต้องลงไปปฏิบัติงานที่วัด ไม่ต้องทำงานอยู่กับศพ ไม่ต้องพร้อมปฏิบัติงานที่วัดตลอด 24 ชั่วโมง

แต่จะได้ทำงานที่เกี่ยวกับ “เอกสาร” แทน…

ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ที่สอบบรรจุเป็นนักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการจำนวนมาก เมื่อต้องลงไปปฏิบัติงานจริง บางคนไม่สามารถปฏิบัติงานได้ และต้อง “ลาออก” ในที่สุด!!

 

เรื่องนี้ นายอิทธิพลยืนยันว่าพร้อมตรวจสอบกระบวนการสอบคัดเลือก แม้จะเป็นปัญหาที่เกิดก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้ที่สอบคัดเลือกอย่างถูกต้อง

โดยได้ย้ำให้นายกฤษศญพงษ์สอบให้ครอบคลุมประเด็นที่มีผู้ร้องเรียน หรือมีข้อสงสัย

และจะมี “เด็กฝาก” ของใคร?? หรือไม่…

เป็น “หน้าที่” ที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงต้องสอบให้กระจ่าง

ส่วนจะยกเลิกการสอบหรือไม่นั้น นายอิทธิพลระบุว่า ต้องรอดูผลสอบข้อเท็จจริง ขั้นตอนการสอบสวน ระเบียบ การประกาศ ขั้นตอนการสอบ หลักเกณฑ์การให้คะแนน โดยเรียงลำดับตามผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดลงมา เบื้องต้นจะดูว่าเกี่ยวข้องกับส่วนไหน ลำดับใด คงไม่ได้แขวนทั้งหมด เพราะจะมีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่

แต่ถ้าพบว่าการดำเนินการไม่ถูกต้อง ก็ “ยกเลิก” ได้…

เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ร้อง และไม่กระทบสิทธิผู้ที่เข้าสอบอย่างถูกต้อง

ด้านนายกฤษศญพงษ์ระบุว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจในการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีคำสั่งแต่งตั้งนายสมเกียรติ พันธรรม ผู้ตรวจราชการ วธ.เป็นประธานกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ส่วนจะใช้เวลาสอบสวนมากน้อยเท่าไรนั้น ไม่ทราบ แต่เป็นไปตามระเบียบ

ส่วนที่มีเสียงวิจารณ์ว่า มีผู้ได้รับการบรรจุบางคนไม่ได้ฝึกปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งที่วัด แต่เข้ามาทำงานอยู่ในสำนักงานปลัด วธ.นั้น นายกฤษศญพงษ์กล่าวว่า ไม่แน่ใจ อาจมาปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมายตามภารกิจที่เกี่ยวเนื่อง และความถนัด ส่วนงานในตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้ง เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม จะตรวจสอบว่ามีใครมาปฏิบัติหน้าที่โดยขาดจากตำแหน่งเดิมหรือไม่

ขณะที่นายสมเกียรติกล่าวว่า อยู่ระหว่างการสอบสวนข้อมูลในขั้นตอนการพิจารณาเอกสารที่ได้รับการร้องเรียน แต่ยังไม่เรียกผู้ร้องเรียนเข้ามาสอบถามข้อมูล ซึ่งรัฐมนตรีว่าการ วธ.และปลัด วธ.ย้ำให้ดำเนินการโดยเร็ว ครอบคลุมทุกประเด็น เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

     ต้องจับตาว่า “ผลสอบ” ที่ออกมา จะไขข้อสงสัย สร้างความกระจ่าง และให้ความเป็นธรรมกับผู้ได้รับผลกระทบหรือไม่??