เศรษฐกิจ / วัดฝีมือ ‘บีโอไอ’ ร่ายมนต์เอกชนซบไทย ยึดตัวเลขนำโชคหนึ่งร้อย…หนีเทรดวอร์

เศรษฐกิจ

 

วัดฝีมือ ‘บีโอไอ’

ร่ายมนต์เอกชนซบไทย

ยึดตัวเลขนำโชคหนึ่งร้อย…หนีเทรดวอร์

 

หนึ่งในภารกิจเร่งด่วนเพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ ทำอย่างไรจะได้เกิดการลงทุนมากๆ ในช่วงระยะเวลาอันสั้น

จึงทำให้หลายคนรอคอยมติประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจในวันที่ 30 สิงหาคม ที่มีสัญญาณจากทีมเศรษฐกิจ ว่าเป็นคิวพิจารณามาตรการกระตุ้นด้านการลงทุนของประเทศ ก่อนเสนอ ครม.ชุดใหญ่ให้เร็วที่สุดก็ไม่น่าเกิน 2 สัปดาห์จากนี้

หลังจากก่อนหน้านี้ประกาศมาตรการช่วยค่าครองชีพออกมาแล้ว และเปรยว่าจะใช้วงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจล็อตแรก 3.16 แสนล้านบาทให้เกิดเป็นรูปธรรม

สาเหตุต้องเร่งรัดการลงทุนโดยด่วน

เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดรายงานประเมินตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2562 ขยายตัวเพียง 2.3% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส หรือ 4 ปี 6 เดือน ตั้งแต่ไตรมาส 4/2557

ทำให้ครึ่งแรกปีนี้จีดีพีขยายตัว 2.6% เป็นที่มาให้ สศช.ถอยประมาณการจีดีพีเหลือ 3% จากเดิม 3.6% บนสมมติฐานส่งออกครึ่งปีแรกติดลบแล้ว 4.1% และทั้งปีติดลบ 1.2%

แม้ครึ่งปีหลังส่งออกอาจบวกได้ 3% เพราะหวังผลเร่งขยายตลาดและการย้ายฐานการผลิตจากสงครามการค้าสหรัฐกับจีน (เทรดวอร์) จากที่ลงทุนภาคเอกชนลดลงจาก 4.5% อยู่ที่ 3.7% เพราะเมื่อส่งออกลดลง กำลังการผลิตย่อมลดลง

จึงฝากความหวังไปที่การลงทุนใหม่ๆ โดยเฉพาะการย้ายฐานการลงทุนนานาประเทศผ่านบริษัทเอกชนหลายบริษัทที่เตรียมตัดใจย้ายฐานการลงทุนหลังเจอผลกระทบเทรดวอร์ทางตรงและทางอ้อม

ดังนั้น แม่งานเรื่องนี้หนีไม่พ้นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ต้องออกแรงและสร้างแรงดึดดูดให้เข้ามาลงทุนในไทยครั้งใหญ่อีกครั้ง

พร้อมแบกรับภารกิจตัวเลขจีดีพีตั้งเป้า 3% บนคาดหวังผลจากการย้ายฐานการผลิตหนีเทรดวอร์ และผลงานบีโอไอที่จะดึงดูดทุนนอกเข้าไทย!!

 

สัญญาณที่เห็นชัดเมื่อสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้บีโอไอเร่งดึงการลงทุนจากประเทศที่ต้องการย้ายฐานจากจีนที่กำลังหันมากลุ่มประเทศอาเซียนและต้องเลือกไทยเป็นอันดับแรก

พร้อมสั่งตั้งทีมเฉพาะกิจว่าด้วยเรื่องการดึงนักลงทุนที่ต้องการย้ายฐานการผลิตทันที และคิดมาตรการส่งเสริมการลงทุนพิเศษเพื่อเจาะนักลงทุนให้อยู่หมัด!!

ฟากบีโอไอเองเหมือนรู้ชะตา เร่งทำแพ็กเกจการลงทุนเพื่อดึงบริษัทที่ต้องการย้ายฐานการลงทุนจากจีนมาไทยประมาณ 100 บริษัท มีทั้งบริษัทจีนและบริษัทต่างประเทศลงทุนในจีน มาพร้อมกับ 3 แนวทาง คือ แพ็กเกจเฉพาะเพื่อดึงนักลงทุนที่หนีเทรดวอร์เสริมกับแพ็กเกจหลักที่ดำเนินอยู่ การตั้งทีมเฉพาะกิจเจาะนักลงทุนรายบริษัท และมาตรการทางการตลาดเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการลงทุน

มาตรการทั้งหมดเป้าหมายคือตัวเลขคำรับการส่งเสริมการลงทุนไทย 7.5 แสนล้านบาท หลังจากครึ่งปีแรก 2562 มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน 2.33 ล้านบาท รวม 758 โครงการ

จำนวนนี้เป็นการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) 1.47 แสนล้านบาท

 

สําหรับ 100 บริษัทที่บีโอไอเตรียมเคาะประตู อย่างบริษัทมีแผนย้ายฐานการผลิตออกจากจีน 48 บริษัทและเตรียมมาไทย 10 ราย

ได้แก่ Delta Electronics จากไต้หวัน ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ Merry lectronics จากไต้หวัน ผลิตหูฟัง Besser จากจีน ผลิตภัณฑ์แอลซีดี Sharp จากญี่ปุ่น ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ Ricoh จากญี่ปุ่น ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้สำนักงาน Xilinmen Furniture จากจีน ผลิตและออกแบบเฟอร์นิเจอร์ BFGoodrich จากสหรัฐ ผลิตยางรถยนต์ รวมทั้ง Sony จากญี่ปุ่น ผลิตสมาร์ตโฟน Harley Davidson จากสหรัฐ ผลิตรถจักรยานยนต์ Western Digital สหรัฐ ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์

นอกจากนี้ มีบริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาเลือกประเทศลงทุน 4 บริษัท ได้แก่ Kyocera จากญี่ปุ่น ผลิตอุปกรณ์สำนักงาน อยู่ระหว่างเลือกไทยกับเวียดนาม, HP จากสหรัฐ อยู่ระหว่างเลือกไทยกับไต้หวัน Casio จากญี่ปุ่น กำลังเลือกไทยกับญี่ปุ่น Microsoft จากสหรัฐ อยู่ระหว่างเลือกไทยกับอินโดนีเซีย รวมถึงยังมีอีก 9 บริษัทค้างคาอยู่ระหว่างตัดสินใจและยังไม่ได้เลือกประเทศอีกไม่น้อย

ล้วนเป็นโอกาสของไทยทั้งสิ้น

 

ส่วนมาตรการครั้งใหม่จะโดดเด่นกว่าครั้งก่อนๆ อย่างไร คงได้เห็นเร็วๆ นี้ หลายฝ่ายยังมองว่ามาตรการที่บีโอไอใช้ในการเทียบเคียงในการจัดทำมาตรการกระตุ้นลงทุนครั้งใหม่ จะเป็นมาตรการพิเศษเพื่อกระตุ้นการลงทุนในปีแห่งการลงทุน กำหนดสิ้นอายุมาตรการ 30 ธันวาคม 2562

หากยื่นลงทุนภายในปีนี้จะได้รับสิทธิและประโยชน์การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่กำหนดระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นสุดลง เงื่อนไขต้องเป็นกิจการในกลุ่ม A1 A2 และ A3 ยกเว้นกิจการที่ไม่มีที่ตั้งสถานประกอบการ เช่น กิจการขนส่งทางอากาศ และกิจการขนส่งทางเรือ เป็นต้น

และต้องเป็นโครงการที่ได้รับสิทธิและประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ รวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปี ต้องมีเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท

รวมทั้งยื่นขอเปิดดำเนินการภายในกำหนดเวลาครบเปิดดำเนินการ

 

ข้อมูลจากบีโอไอยังระบุถึงตัวเลขคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอว่า ตั้งแต่เริ่มใช้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่เมื่อปี 2558 จนถึงเดือนมิถุนายน 2562 มีคำขอเข้ามาแล้วรวม 6,365 โครงการ เงินลงทุนรวม 2.46 ล้านล้านบาท

จำนวนนี้เป็นโครงการลงทุนเอฟดีไอกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ 3,786 โครงการ ลงทุนรวม 1.33 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการจากญี่ปุ่น จีนและฮ่องกง สหรัฐ กลุ่มอาเซียน และกลุ่มยุโรป ในแง่อุตสาหกรรม ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

เมื่อย้อนหลังดูพบว่าโครงการส่วนใหญ่ทยอยลงทุนจริงใช้เวลา 1-3 ปี จากข้อมูลล่าสุด คำขอที่ยื่นในช่วงปี 2558-2560 (ไม่นับรวมปี 2561-2562 ซึ่งเพิ่งอนุมัติไม่นาน) มี 4,055 โครงการ ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริม 3,955 โครงการ และได้มาดำเนินการขอออกบัตรส่งเสริมแล้ว 3,519 โครงการ

ในจำนวนนี้ ได้มีการเริ่มลงทุนตามโครงการแล้ว 3,210 โครงการ หรือคิดเป็นอัตราเฉลี่ย 91% ของจำนวนโครงการที่ออกบัตรส่งเสริมทั้งหมด

ดังนั้น ในส่วนของมาตรการใหม่จึงมีโอกาสสูงที่กำหนดให้ยื่นคำขอภายในปี 2563 ส่วนการลงทุนจริงจะอยู่ช่วงเวลา 1-3 ปีภายหลังได้รับบัตรส่งเสริม

ภารกิจดึงการลงทุนครั้งนี้จึงเป็นโจทย์ท้าทาย เพราะการยื่นคำขอใช่ว่านักลงทุนจะเลือกไทย 100% ต้องอยู่ที่การลงทุนจริงเป็นสำคัญ

ทั้งหมดทั้งมวลจึงอยู่ที่บีโอไอว่าจะแสดงฝีมือร่ายมนต์ครั้งนี้อยู่หมัดหรือไม่?