กรองกระแส / บทบาทรัฐบาล ความชอบธรรมของสังคม จัดการรัฐธรรมนูญ

กรองกระแส

 

บทบาทรัฐบาล

ความชอบธรรมของสังคม

จัดการรัฐธรรมนูญ

 

แม้จะมีความพยายามรวบรวมเงินงบประมาณกว่า 3 แสนล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้องของประชาชน

ไม่เพียงเพื่อรักษาจีดีพีให้อยู่ที่ร้อยละ 3

หากเป้าหมายสำคัญอย่างที่สุดก็เพื่อสร้างกระแสให้เห็นว่าปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของประชาชน คือปัญหาสำคัญอันดับแรก

เพื่อมองข้ามและตัดประเด็น “การเมือง” ออกไป

กระนั้น ไม่ว่าปมอันเนื่องมาจากการถวายสัตย์ปฏิญาณตนเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ปมอันเนื่องมาจากการแถลงนโยบายรัฐบาลเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ปมอันเนื่องมาจากการเสนอขอยุบพรรคประชาชนปฏิรูปเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม รวมถึงปมอันเนื่องจากการออกพระราชกำหนดเพื่อยับยั้งพระราชบัญญัติเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม

ล้วนเป็นปัญหาในทางการเมือง ล้วนสะท้อนให้เห็นปมและความต่อเนื่องทางการเมืองจากรัฐบาลก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม ที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ ล้วนสะท้อนและแวดล้อมอยู่กับปมอันเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

ทั้งๆ ที่เป็นปมซึ่งรัฐบาลพยายามหลีกเลี่ยงแม้ว่าจะกำหนดเป็น 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วนตามแรงผลักดันอันมาจากพรรคประชาธิปัตย์

นี่คือทุกข์ นี่คือปัญหาบนบ่าของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 

เริ่มต้นที่รัฐธรรมนูญ

ตามด้วยการบิดผัน

 

ทุกอย่างดำเนินไปตามบทสรุปภายในพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา” ไม่ว่าจะเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป้าหมายคือพรรคพลังประชารัฐเป็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี”

ผ่านการเลือกตั้งมาแล้วด้วยอานิสงส์ของรัฐธรรมนูญสมประสงค์ตามเป้าหมายของพรรคพลังประชารัฐ

นายกรัฐมนตรีคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่นับจากเสียงขานชื่อจาก 251 ส.ส.ผนวกเข้ากับ 249 ส.ว. รวมเป็น 500 เห็นชอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน สภาพของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอย่างไร

เห็นได้จากปัญหาอันเนื่องแต่การถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่เพียงแต่ไม่ครบถ้วน หากมีบางถ้อยคำแต่งเติมเข้าไปและไม่เป็นไปตามมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญ

เห็นได้จากปัญหาอันเนื่องแต่การแถลงนโยบายของรัฐไม่เป็นไปตามบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 163 นั่นก็คือ เป็นผลสะเทือนจากการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 และการไม่ได้แจ้งรายละเอียดที่มาของเงินงบประมาณแต่ละนโยบายสำคัญ

เห็นได้จากการเล่นกายกรรมทางกฎหมายผ่านกระบวนการเลิกพรรคประชาชนปฏิรูปเพื่อนำไปสู่การเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญสะท้อนเจตนารมณ์อย่างเด่นชัดไม่ต้องการให้มีการควบรวมพรรคการเมืองอย่างที่ปรากฏในยุครัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540

เป็นการสรุปบทเรียนจากพรรคเสรีธรรม พรรคความหวังใหม่ พรรคชาติพัฒนา ควบรวมเข้ากับพรรคไทยรักไทยก่อนการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2548

ทั้งหมดได้กลายเป็น “เมล็ดพันธุ์” อันดีให้กับ 7 พรรคฝ่ายค้านร่วมในทางการเมือง

 

7 พรรคฝ่ายค้านร่วม

รัฐธรรมนูญคือเป้า

 

ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคอนาคตใหม่ ไม่ว่าพรรคเสรีรวมไทย ไม่ว่าพรรคเศรษฐกิจใหม่ ไม่ว่าพรรคประชาชาติ ไม่ว่าพรรคเพื่อชาติ ไม่ว่าพรรคพลังปวงชนชาวไทย มีจุดร่วมกันอยู่ 2 จุดอันทรงความหมายยิ่งทางการเมือง

1 ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ 1 ต่อต้านรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

คำประกาศร่วมกันก็คือ จะรณรงค์ทุกอย่างเพื่อนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อสกัดการสืบทอดอำนาจของ คสช.

แคมเปญ จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ คือเจตจำนงนี้

เป้าหมายก็คือ ต้องการให้เกิดความรู้สึก “ร่วม” ในทางสังคมเพื่อทำให้การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่กลายเป็นข้อตกลงใหม่ภายใต้จินตนาการทางการเมืองร่วมกัน

เมื่อบทบาทของรัฐบาล บทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นับแต่วันที่ 5 มิถุนายนเป็นต้นมา ล้วนสะท้อนให้เห็นภาวะพิกลพิการของรัฐธรรมนูญ ย่อมสร้างความชอบธรรมให้กับจินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่

กลายเป็นรัฐบาลต่างหากที่จัดพานในทางการเมืองให้กับฝ่ายค้าน กลายเป็นเงื่อนไขของพรรคประชาธิปัตย์ที่แสดงออกผ่าน 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วนเสริมความชอบธรรมในการยกร่างและบริหารจัดการรัฐธรรมนูญใหม่

และความพยายามของรัฐบาลและของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะหนีห่างจากประเด็นของรัฐธรรมนูญ กลับกลายเป็นว่ายิ่งหนี ยิ่งทำให้ติดอยู่ในวงล้อมและกับดักของรัฐธรรมนูญอันคณะของตนได้ยกร่างขึ้นมา

   ยิ่งบริหารรัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยิ่งสร้างเนื้อดินอันดีให้มีความจำเป็นต้องจัดการกับรัฐธรรมนูญมากยิ่งขึ้น กระทั่งกลายเป็นประเด็นหลักและเรียกร้องต้องการการจัดการกับรัฐธรรมนูญในที่สุด