โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/เหรียญดอกจิกใหญ่ 2513 หลวงพ่อโอด วัดจันเสน พระเกจิชื่อดัง-ปากน้ำโพ

หลวงพ่อโอด ปัญญาธโร

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

เหรียญดอกจิกใหญ่ 2513

หลวงพ่อโอด วัดจันเสน

พระเกจิชื่อดัง-ปากน้ำโพ

“พระครูนิสัยจริยคุณ” หรือ “หลวงพ่อโอด ปัญญาธโร” อดีตเจ้าคณะอำเภอตาคลี และอดีตเจ้าอาวาสวัดจันเสน ต.จันเสน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งเมืองสี่แคว

พระเครื่องและวัตถุมงคลที่จัดสร้าง-ปลุกเสกไว้ ล้วนเป็นที่ปรารถนา มีหลายรุ่น ได้รับความนิยมสูง

กล่าวสำหรับ “เหรียญดอกจิกใหญ่ หลังยันต์ดวง ปี พ.ศ.2513 หลวงพ่อโอด วัดจันเสน” เป็นเหรียญรุ่นแรก ที่สร้างขึ้นและปลุกเสกในวันเสาร์ 5 ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งในการสร้างวัตถุมงคล ถือฤกษ์วันเสาร์ 5 เป็นวันที่มีความขลัง

ที่พิเศษยิ่งคือ เหรียญดอกจิกใหญ่ ประกอบพิธีพุทธาภิเษกโดยหลวงพ่อพรหม วัดช่องแค เป็นประธาน

รวมทั้งยังมีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังถึง 10 รูปในยุคนั้น เข้ามาร่วมปลุกเสก

 

เหรียญมีขนาดความกว้าง 3 เซนติเมตร สูง 4.5 เซนติเมตร หนา 0.2 เซนติเมตร จำนวนการสร้าง เนื้อทองคำ 53 เหรียญ เท่าอายุหลวงพ่อโอดขณะนั้น เหรียญเงิน 500 เหรียญ เหรียญทองแดงรมดำ 3,500 เหรียญ เหรียญทองแดงผิวไฟ 3,500 เหรียญเหรียญอัลปาก้า 3,000 เหรียญ เหรียญส่วนหนึ่งถูกนำไปบรรจุในกรุที่หลุมลูกนิมิตลูกกลางอุโบสถวัดจันเสน

ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อโอดครึ่งตัว มีเส้นจีวรพาดเฉียงจำนวน 4 เส้น ขอบเหรียญจะมีเส้นซุ้มยกวนรอบเหรียญ 2 เส้น ระหว่างเส้นซุ้มจะมีลายกนกอยู่ด้านใน ด้านบนสุดจะเขียนว่า “รุ่น ๑” (เลขไทย) ด้านข้างตรงกลางเหรียญเขียนโค้งตามแนวใต้รูปว่า “พระครูนิสัยจริยคุณ (วิสุทธิ์ ปญฺญาธโร” มีวงเล็บเปิดแต่ไม่มีวงเล็บปิด และปีที่สร้างเป็นเลขไทยว่า “๒๕๑๓”

ด้านหลังเหรียญ ขอบเหรียญจะมีเส้นซุ้ม 2 เส้นวนรอบเหรียญ ระหว่างเส้นซุ้มมีเส้นตรงขีดเฉียงจากเส้นในไปหาเส้นนอก บนสุดของเหรียญจะมีตัวอักษรภาษาไทยว่า “วัดจันเสน” ใต้ชื่อวัดเป็นอักษรขอม

ตรงกลางเหรียญเป็นยันต์ดวงอิติปิโสมงกุฎพระพุทธเจ้า อ่านรวมได้ว่า “อิติปิโสวิเสเสอิ อิเสเสพุทธะนาเมอิ อิเมนาพุทธตังโสอิ อิโสตังพุทธะปิติอิ” ระหว่างช่องยันต์ดวง 4 ด้านมีองค์พระ 4 องค์ ด้านล่างสุดใต้ยันต์เขียนเป็นภาษาขอม ส่วนตรง 2 ข้างเหรียญเขียนเป็นภาษาไทยว่า “อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์”

ทุกวันนี้ เริ่มหายาก เพราะส่วนใหญ่ถูกตามเก็บเข้ากรุ

เหรียญดอกจิก หลวงพ่อโอด (หน้า-หลัง)

 

มีนามเดิมว่า วิสุทธิ์ แป้นโต เกิดเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2460 ที่บ้านเลขที่ 103 หมู่ที่ 7 บ้านหัวเขา ต.ตาคลี อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์

ช่วงวัยเยาว์ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนวัดหัวเขา อ.ตาคลี จบแล้วออกมาช่วยครอบครัวประกอบอาชีพ

อายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม 2481 ที่อุโบสถวัดหัวเขา อ.ตาคลี มีพระธรรมไตรโลกาจารย์ (ยอด) วัดเขาแก้ว อ.พยุหะคีรี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูนิปุณธรรมธร วัดตาคลี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูพิพัทธศีลคุณ วัดหัวเขา อ.ตาคลี เป็นพระอนุสาวนาจารย์

หลังอุปสมบท มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.2484 สอบได้นักธรรมชั้นเอก จากสำนักเรียนวัดมหาพฤฒาราม กรุงเทพฯ

ลำดับงานปกครอง พ.ศ.2489 เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดหนองสีนวล อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์

พ.ศ.2493 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดจันเสน

พ.ศ.2493 เป็นเจ้าคณะตำบลจันเสน

พ.ศ.2496 เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2510 เป็นรองเจ้าคณะอำเภอตาคลี

พ.ศ.2516 เป็นเจ้าคณะอำเภอตาคลี

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2500 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี

พ.ศ.2510 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท

พ.ศ.2520 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก

พ.ศ.2527 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ ในราชทินนาม พระครูนิสัยจริยคุณ

ด้านการศึกษา เป็นครูสอนนักธรรมของวัดดอน เขตยานนาวา กรุงเทพฯ (ในสมัยที่พระอาจารย์กึ๋น เป็นเจ้าอาวาส) เป็นครูสอนนักธรรม วัดหัวเขา และวัดหนองสีนวล อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ เป็นเจ้าสำนักเรียนวัดจันเสน

เป็นกรรมการตรวจประโยคธรรมสนามหลวง เป็นต้น

 

ศึกษาพุทธาคมจากพระเกจิชื่อดังหลายท่าน นอกจากนี้ ยังมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับหลวงพ่อรุ่ง วัดหนองสีนวล และหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ สองพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของอำเภอตาคลี ในฐานะที่เป็นหลานที่ใกล้ชิดโยมพ่อของหลวงพ่อโอด คือ นายชิต แป้นโต เป็นน้องชายแท้ๆ ของหลวงพ่อรุ่ง วัดหนองสีนวล และแม่ของนายชิต เป็นพี่สาวโยมแม่ของหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ

ดังนั้น หลวงพ่อโอดจึงเรียกหลวงพ่อรุ่ง และหลวงพ่อเดิมว่า “หลวงลุง”

ด้านการศึกษาด้านพุทธาคม เมื่อกลับจากการเป็นครูสอนนักธรรมที่วัดดอนยานนาวาแล้ว มาอยู่กับหลวงพ่อรุ่ง ที่วัดหนองสีนวล ซึ่งในระยะนี้เองที่ได้ศึกษาวิทยาคมต่างๆ จากหลวงพ่อรุ่ง

ส่วนหลวงพ่อเดิมนั้นมาที่วัดหนองสีนวลอยู่เป็นประจำ จึงได้ศึกษาวิชาต่างๆ อยู่เนืองๆ

ทั้งนี้ จากคำบอกว่ายังมีอาจารย์อยู่อีก 2 รูป คือ หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ในช่วงปี พ.ศ.2500 มักไปเยี่ยมเป็นประจำ

พระอาจารย์อีกรูป คือ หลวงพ่อเชน วัดสิงห์ ต.ทับยา อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี โดยไปอยู่เรียนวิชาทำตะกรุด

ด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญ เริ่มจากศึกษามาจากหลวงพ่อรุ่ง จากนั้นไปศึกษาต่อที่สำนักวิปัสสนาวัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ

ระหว่าง พ.ศ.2500 เปิดสำนักสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานที่วัดจันเสน โดยรับหน้าที่เป็นผู้สอนเอง

มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2532 สิริอายุ 72 ปี พรรษา 50